Culture

Unsilenced: ในวันที่การพูดถูกจำกัดด้วยกฎหมาย และเสียงของนักเคลื่อนไหวถูก ‘SLAPP’

เชื่อว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเรื่องการเมืองเป็นที่พูดถึงในวงสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งการเคลื่อนไหว เปิดโปง การส่งเสียงของเหล่านักกิจกรรม รวมไปถึงกลุ่มคนทั่วไปมีมากขึ้น และหลายๆ ครั้งเราจะพบเห็นกระแสที่ออกมาเปิดโปงการลิดรอนเสรีภาพในการออกเสียงด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งหนึ่งวิธีที่เราอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักก็คือ ‘SLAPP’ หรือคดีการฟ้องปิดปาก

SLAPP (Strategic Lawsuits Against Public Participation) หรือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ พูดง่ายๆ ว่าการฟ้องปิดปาก ซึ่งนี่คือ วิธีการต่อต้านการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยใช้การฟ้องร้องทางกฎหมายเพื่อเงียบเสียงเหล่านั้นลง ส่วนใหญ่มักจะเป็นการที่รัฐ หรือองค์กรธุรกิจฟ้องร้องบุคคล หรือกลุ่มคน ที่ใช้เสียงเพื่อแสดงความคิดเห็น เปิดโปง หรือตั้งคำถามกับความไม่ยุติธรรมในสังคมที่พวกเขาอยู่ ‘อย่างถูกต้องตามกฎหมาย’ แต่กลับถูกใช้กฎหมายโจมตี หรือข่มขู่ เพื่อให้ ‘เงียบเสียง’ ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องหมิ่นประมาท หรือฟ้องร้องในกระบวนการยุติธรรม

ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก การใช้ SLAPP เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะนับว่า นี่คือการเอื้อให้คนรวย คุกคามประชาชนที่ออกมาส่งเสียงเพื่อสาธารณะ ทั้งยังเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่ออกมาใช้เสียงของพวกเขาอีกด้วย จนเกิดเป็น ‘กฎหมาย Anti-SLAPP’ ขึ้นมาในหลายประเทศ เพื่อป้องกันกรณีการฟ้องปิดปากแบบนี้ แต่ทำไมเรากลับเห็นเหล่านักเคลื่อนไหวในไทยยังคงถูกปิดปากด้วยวิธีนี้อยู่ หรือเป็นเพราะในบ้านเราไม่มีกฎหมายนี้?

ส่งเสียง = เสี่ยงคุก?

พูดถึงแง่มุมของการใช้กฎหมาย ‘กฎหมายหมิ่นประมาท’ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในหลายๆ ประเทศ เพื่อปกป้องประชาชนจากการถูกโจมตี หรือเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จของบุคคลนั้นๆ แต่ในไทยต่างออกไปนิดหน่อย เพราะบ้านเรามี ‘กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา’ ซึ่งหมายความผู้กระทำความผิดจะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา และต้องระวางโทษ ‘จำคุก’

นี่คือ ช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้เหล่า SLAPPers หรือผู้ที่ฟ้องปิดปากประชาชน ใช่โทษเหล่านี้ในการกดดัน และข่มขู่ให้ประชาชนที่ส่งเสียงออกมาต้องวางมือ และเงียบเสียงไปเอง ซึ่งนี่ไม่ใช่การใช้กฎหมายเพื่อการแสวงหาความยุติธรรมอย่างที่มันควรจะเป็น

จากข้อมูลของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) ระบุว่า ระหว่างปี 1997 - 2019 มีการยื่นฟ้องคดี SLAPP ในประเทศไทยกว่า 212 คดีความ และจากจำนวนนั้นมี 196 คดี ที่เป็นคดีอาญาที่ต้องระวางโทษร้ายแรงถึงขั้นจำคุก โดยการเก็บสถิติของ iLaw ยังช่วยเสริมในกรณีนี้อีกด้วยว่า การเพิ่มขึ้นของกรณี SLAPP แปรผันตามการเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมในสังคม

ข้อมูลจากเวทีเสวนาแนวทางการจัดการกับ SLAPP ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในงานสัปดาห์ UNDP B+HR ในเดือนมิถุนายน 2023 Pochoy Labog นักวิจัย และผู้แทนศูนย์ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ได้เปิดเผยว่า กว่า 40% ของการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนใน ASEAN เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้งกัน ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2023 มีคดีความที่เป็นคดี SLAPP เกี่ยวกับธุรกิจถึง 146 คดี โดยประเทศไทยครองอันดับที่ 1 ด้วยจำนวน 51 กรณี

Photo Credit: Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล

หนึ่งในกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้คือ กรณีของ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ถูกบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้า Gulf Energy Development ฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและอาญา โดยเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท เนื่องจากเจ้าตัวได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจผูกขาดการผลิตพลังงานไฟฟ้า

ถึงกรณีการฟ้องร้องแบบนี้จะมีเป้าหมายหลักเป็นเหล่านักเคลื่อนไหว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นกับคนธรรมดา หรือชนชั้นกรรมาชีพได้

ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2016 เมื่อบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจฟาร์มไก่ ได้ทำการฟ้องหมิ่นประมาทลูกจ้างชาวเมียนมาจำนวน 14 คน เนื่องจากพวกเขาขอความช่วยเหลือจากองค์กร NGO เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านค่าจ้าง และเวลางาน จนทำให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ แต่ภายหลังศาลมีคำตัดสินยกฟ้องกรณีนี้ไปในที่สุด

จากกรณีที่ยกตัวอย่างขึ้นมานี้ เราก็พอจะเห็นได้แล้วว่า กฎหมายในบ้านเรายังมีช่องโหว่ที่ทำให้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีประชาชนที่ปกป้องสิทธิของตัวเอง และความเป็นธรรมในสังคม จนอาจขัดต่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม แต่ก็ใช่ว่า ในประเทศไทยจะไม่มีการพูดถึงกฎหมายป้องกัน SLAPP

Photo Credit: The Council of Europe

กฎหมายต่อต้านการปิดปากที่รอการผลักดัน

หากว่ากันตามรายละเอียด ประเทศไทยก็ยังไม่มีการออกกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก หรือ Anti-SLAPP Law ออกมาบังคับใช้อย่างจริงจัง แต่ยังถือว่าเป็นข่าวดีที่ในกระบวนการทางกฎหมายมีการพูดถึงกรณีนี้มากขึ้น และได้รับการผลักดันมากขึ้น

กฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องปิดปากถูกผลักดันในประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายปี โดยเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565 ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และมีมติอนุมัติหลักการ ก่อนจะนำไปเสนอให้รัฐสภา ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้ว เห็นควรให้แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่มีในร่างดังกล่าว

ทั้งนี้กฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งได้กำหนดให้มี กฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law) และสอดคล้องกับมาตรา 63 ประกอบมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

โดยกฎหมายดังกล่าว จะครอบคลุมถึงการคุ้มครองประชาชนที่ถูกฟ้องคดีปิดปาก อันเนื่องจากการให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็น แก่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปากนี้ เพราะมีอำนาจในการใช้กลไกทางกฎหมาย และพิจารณาว่าบุคคลใดสมควรได้รับความคุ้มครอง และความช่วยเหลือ

จากบทสัมภาษณ์ของ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ต่อสำนักข่าวอิศรา ระบุไว้ว่า ‘กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก เคยยื่นเข้าสู่สภาแล้วหลายรอบแล้ว ซึ่งตัวกฎหมายยังอยู่ในสภา’ ดังนั้นกฎหมายนี้จะถูกผลักดันอย่างไรก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป

ซึ่งในหลายๆ ประเทศทั่วโลกมีการใช้ Anti-SLAPP Law เกิดขึ้นแล้ว เช่น การปรับใช้กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปากในหลายๆ รัฐของอเมริกา และแคนาดา, การให้สิทธิอัยการในการสอบสวน และยกฟ้องกรณี SLAPP ของประเทศเยอรมนี ไปจนถึงอิสราเอล และประเทศร่วม ASEAN อย่างฟิลิปปินส์ ก็มีการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปากแล้วเช่นกัน

เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของ ป.ป.ช. ภาคประชาชน หรือผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่นี่คือสิ่งที่ภาครัฐควรมองเห็นความสำคัญ และผลักดันต่อไป เนื่องจากผู้ที่เป็น SLAPPer ก็คือผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย และเอื้อให้องค์กรเอกชนสามารถโจมตีประชาชนได้นั่นเอง

อ้างอิง

iLaw

PPTVHD 36

​​UNDP Thailand

The Standard

สำนักกฎหมาย

สำนักข่าวอิศรา