Culture

Eat Live Move ชวนไปวนลูปกับ Positive Energy ที่ 'Slowcombo' ใช้ชีวิตให้สนุกและมีความสุขง่ายๆ แบบไม่ต้องเร่งรีบ!

'สามย่าน' ย่านเก่าแก่ที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน หรือ ที่หลายๆ คน ณ ตอนนี้อาจจะรู้จักในเวอร์ชั่น 'สามย่านมิตรทาวน์' ก็ดี ซึ่งก็ถือว่าเป็นละแวกเดียวกัน ตัวชุมชน ตึกรามบ้านช่อง และอาหารการกินที่หลากหลาย รวมทั้งวิถีชีวิตและเรื่องราวที่น่าสนใจ ทำให้ 'Slowcombo' อยากจะเชื่อมโยงผู้คนกับพื้นที่ตรงนี้ให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ด้วยการสร้าง Community Space ที่รวบรวม การกิน การใช้ชีวิต การขับเคลื่อนและเคลื่อนไหว ทั้งร่างกายและจิตใจ ผ่านอาหารและกิจกรรมต่างๆ ที่ทำมานานกว่า 3 ปี

โดยมี ‘โต๋’ – นุติ์ นิ่มสมบุญ (Creative Director & Co-Founder) และ ‘แบงค์’ – วริช ฟองอมรกุล (Business Development Director) ที่มุ่งมั่น ตั้งใจ และเลือกสรรทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างดี ด้วยความหวังที่อยากให้ชุบชีวิตให้ชุมชนแห่งนี้และผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมเยือนมีความสุขและสนุกไปกับการใช้ชีวิตแบบง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง

จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิด Slowcombo

โต๋: พอเรามีอายุ และมีประสบการณ์มาเรื่อยๆ เริ่มคิดว่าสิ่งที่ทำผ่านๆ มาในอาชีพคืออะไร และสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งไม่ได้หมายถึงการทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง แต่มันมีอะไรที่เราสนใจและทำได้ดีบ้าง บางคนไปปลูกผักทำสวนทำไร่ คือด้วยอาชีพของเราที่อยู่ในแผนของสเปซใหญ่ๆ พวกห้างโน่นนี่นั่น ผมทำบริษัทชื่อ slowmotion เป็น Creative Design Studio ทำแคมเปญให้ห้าง บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ และสื่อต่างๆ เลยเอาความสามารถเหล่านี้มาทำสเปซให้แปลกใหม่ในกรุงเทพฯ ที่เราสามารถอยู่กับมันแล้วมีความสุข

Mindfulness Play ground - 'สนามฝึกฝนความสุข'

โต๋: Mindfulness Play ground - สนามฝึกฝนความสุข หรือ Core Idea ของที่นี่ พอเราเริ่มมีอายุมากขึ้น เราเริ่มสนใจเรื่องสุขภาวะของตัวเองมากขึ้น เรารู้สึกว่าเวลาพูดเรื่องนี้ทำไมกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อตลอดเวลา จะไปหาสื่อหรือหนังสืออ่านก็ไม่ค่อยมีใครพูดเรื่องพวกนี้ให้มันสนุกขึ้น เลยคิดว่าถ้ามีพื้นที่ตรงนี้เทิร์นเรื่องพวกนี้ให้มันสนุกและเข้าถึงคนได้ง่ายแม้กระทั่งตัวเราเอง เพราะเราคิดจากตัวเองและเพื่อนๆ เป็นหลัก เรามีเพื่อนที่พูดเรื่องพวกนี้ให้ฟังและเมินหน้าหนีก็เยอะ สมมุติมีเพื่อนสนิท 10 คน อาจมาแค่ 3 คน หรือ คนที่อินเรื่องพวกนี้ไปเลยก็มีในวัยประมาณนี้ แล้วทำไมไม่ทำให้เพื่อนอีก 7 คนเข้าใจเรื่องพวกนี้ ที่เคยเมินหน้าหนี แค่เข้ามาลองก็ได้

Space ที่เราสามารถรวบรวมสิ่งที่เราชอบเพื่อทำมันให้ออกมาอย่างสร้างสรรค์ในแบบที่ตัวเองถนัด ปกติถ้าพูดถึง Community Mall อาจไม่ค่อยมีเรื่องครีเอทีฟมากเท่าไหร่ ถ้าพูดถึง Space ที่เราสนใจเรื่องหลากหลาย เราสามารถเอาทุกอย่างมารวมกันด้วยคำว่า Creative คิดว่าน่าจะเป็นจุดเด่นของที่นี่ – โต๋

กลุ่มคนที่เข้ามาใช้บริการ

โต๋: กลุ่มนักศึกษาด้วยโลเคชั่นละแวกนี้ บวกกับกลุ่มคนที่มีความสนใจ จริงๆ ปักธงไว้เป็น Gen Z พวกกลุ่มวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ เพราะอยากให้สิ่งที่เรากำลังจะบอกเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้มากที่สุด เพราะเรารู้สึกว่ามันสำคัญ เราไม่อยากให้เขามีภาพด้านเดียวว่าสุดสัปดาห์นี้ต้องไปคาเฟ่เพื่อไปถ่ายรูป ซึ่งไม่ได้บอกว่าสิ่งนี้ผิดนะครับ แต่อยากให้เขาคิดถึงเรื่อง Well-being หรือ จิตใจของเขาในอีกแบบหนึ่ง

แบงค์: เพราะเรื่องตัวกิจกรรมของเราค่อนข้างมีความหลากหลาย มีเรื่อง Creative, Mindfulness และ Sustainability ว่าจริงๆ มันมีทางเลือกเหล่านี้อยู่

แรงบันดาลใจของการตกแต่งและการดีไซน์

โต๋: ตึกนี้เป็นตึกเก่าของจุฬา เราไปขุดคุ้ยมาพบว่าแต่ก่อนเป็นโรงหนังเกรดบี อาจารย์จุฬาเคยเล่าให้ฟังว่า ที่นี่คือที่นอนที่จ่ายในราคา 5 บาท ต่อมาก็เทิร์นไปเป็นคณะสถาปัตย์จุฬา ณ ตอนนั้นเรามองว่ามันไม่สวย ดูแล้วงงๆ พอเรารู้แล้วว่าตึกนี้เคยเป็นโรงหนังมาก่อน เราเลยตัดสินใจรื้อใหม่หมดเลย เพื่อให้เห็นโครงสร้างของตึกที่อยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์สถาปนิกจุฬา ตอนที่กำลังทุบตึกอยู่ นั่งดูกับอาจารย์เพื่อประมาณว่าทุบแค่ไหนถึงจะพอดีและสวย บางจุดเลยปล่อยไว้แบบนี้เลย เพราะคอนเซ็ปต์ของตึกเกี่ยวข้องกับเรื่องภายใน ภายในเลยปล่อยดิบๆ ไปเลยมากที่สุดเท่าที่ทำได้ มันคือ Raw Beauty หรือ ความสวยงามจากภายใน

เหตุผลของการเลือกพื้นที่ Community ที่สามย่าน

โต๋: แต่ก่อนผมอยู่แถวเอกมัย ผมย้ายออฟฟิศมาที่นี่ รู้สึกว่าสุขุมวิทมันแน่นแล้ว เลยตัดสินใจหาที่ พอมาดูแถวนี้รู้สึกชอบ รู้สึกมีพลังและวัฒนธรรมอะไรบางอย่างที่ทั้งเก่าและใหม่มิกซ์กันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ตอนเด็กๆ เราค่อนข้างคุ้นกับแถวนี้ ผมเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตอนเด็กๆ ชอบมากินข้าวที่เชียงกง (สวนหลวง) ตอนนั้นจุฬาฯ เขากำลังมีแผนพัฒนาพื้นที่บางอย่าง เรารู้สึกว่าน่าสนใจพื้นที่ตรงนี้ น่าจะเป็นพื้นที่ระยะยาวที่ไม่สามารถเทิร์นเป็นสิ่งใหม่ 100%

แบงค์: นอกจากนำเสนอคอนเซ็ปต์ใหม่เรื่องกิจกรรมที่หลากหลาย เรายังนำเสนอโซนใหม่ให้กับกรุงเทพฯ ด้วย ชั้น 2 Energy Space ปกติต้องไปภูเก็ต พังงา พะงัน หรือไปที่บาหลี คุณถึงจะได้ทำกิจกรรมเหล่านี้ บางกิจกรรมเราต้องไปหาครูตามต่างจังหวัด แต่ตอนนี้ครูเข้ามาหาเราเอง วันก่อนมาจากพะงันก็มี เขาก็เปิดให้ลองเรียนฟรีโดยชวนคนแถวนี้มา แล้วเราก็เข้าไปนั่งฟังเขา เป็นการเทสไปในตัวด้วยว่าคลาสมันลึกไปไหม ดีไหม และปรับเข้ากับชีวิตคนแถวนี้ยังไงได้บ้าง

ที่มาที่ไปของชื่อ และโลโก้ ‘Slowcombo’

โต๋: มาจากชื่อบริษัทเก่าครับ Slowmotion ผมคิดว่าคนเรามันไม่ต้องเร็วเสมอไป คนชอบพูดว่า เวลาเห็นอะไรที่สวยงามเราจะอยู่กับอันนั้นได้นานไม่ว่าคุณจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม พอมาทำที่นี่ ด้วยความที่มันมีหลายกิจกรรม เลยเพิ่มคำว่า Combo เข้าไป อารมณ์แบบเด็กสั่งแมคโดนัลด์ชุดคอมโบ เลยเอามารวมกับ Slow เพื่อให้เกิดการอยากได้สิ่งที่ชอบจริงๆ ส่วนโลโก้ Font ดำ-เหลือง พื้นขาว ก็เหมือนจิตใจคนครับ เลื้อยๆ ไหลไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

กิจกรรมที่น่าสนใจใน Slowcombo

แบงค์: ชั้นแรก Eat Wyisel ชั้นที่ 2 Live Slowly ชั้นที่ 3 Move Creatively เรียกสั้นๆ ว่า Eat Live Move คือทั้ง 3 อย่างเป็นเรื่องเบสิกที่เราสามารถทำให้ไม่น่าเบื่อ ทำให้มันสนุกยังไงได้บ้าง ไม่ได้หมายถึง Owner หรือ Founder เท่านั้น หมายถึงคนที่เข้ามาใช้บริการกับเราและร้านค้าต่างๆ ด้วย ทั้ง ECOSYSTEM และ organizer ด้วย ลองดูว่าเขามีคอนเซ็ปต์อะไร หรือ เขาจะนำเสนออะไรเข้ามาครับ

บางคลาสเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจมากๆ เบสิกคนไทยเราไม่ค่อยพูดเรื่องซีเรียสหรือเรื่องภายในจิตใจ กับคนที่เราไม่รู้จักอยู่แล้ว เลยตั้งโจทย์ว่า เราจะทำเวิร์กช็อปเหล่านี้ที่นอกจากจะเข้าใจง่ายแล้ว จะทำยังไงที่พูดออกไปแล้วไม่ไปกดดันเขา อันนั้นคืออีกพอยท์หนึ่ง – แบงค์

เกณฑ์ในการคัดเลือกร้าน หรือกิจกรรมต่างๆ ของ Slowcombo

แบงค์: เรื่อง Mission เขา ว่ามันตรงกับคอนเซ็ปต์ของตึกไหม Crative, Mindfulness และ Sustainability ถ้าคุณมี 1 ใน 3 คอนเซ็ปต์นี้ เราเริ่มเปิดใจคุยกันง่ายขึ้นแล้ว แต่นอกจากนั้นเราต้องดู agenda ว่ามีอะไรเพิ่มขึ้นรึเปล่า เพราะในแง่ของ Sustainability ก็มีคนทำเพื่อ Marketing เราจึงอยากจะเลือกคนที่เต็มที่กับคอนเซ็ปต์พวกนี้ นำเสนอเรื่องออริจินัล ไม่ยึดติดกรอบเดิม หรือ ดั้งเดิมมากเกินไป ก็คอนเนกกันไม่ยาก

โต๋: แต่คีย์เวิร์ดของที่นี่คือคำว่า 'Balance' เราอยากได้คนที่พร้อมจะร่วมทำไปกับเรา ได้ลองผิดลองถูกไปพร้อมๆ กัน ถ้าคุยแล้วเห็นเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งผมวัดจากตัวเองได้ แค่มีความพยายามเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เกิด Aware นิดหนึ่ง ด้านการเลือกกิจกรรม ถ้าเป็นด้าน exhibition ของเด็ก หรือ คนที่เข้ามาติดต่อพื้นที่ เราก็จะดู Mission เขาว่าเขาอยากทำเพื่ออะไร เราเคยมี Exhibition ของเด็กปี 1 หรือ 2 ที่เคยเข้ามาขอพื้นที่ เข้ามาคุยกันว่าอยากโชว์เรื่องอะไร อยากทำงานสกรีนปริ้นท์ เพื่อทำโค้ดของเขาเองเกี่ยวกับจิตใจ เราก็ดูว่ามันเข้ากับคอนเซ็ปต์เราไหม ก็เหมือนกับการเลือกร้านค้าหรือคนที่จะเข้ามาทำกิจกรรม ไม่ได้มีเกณฑ์ตายตัว เราพยายามส่งคนในทีมเราเข้าไปลอง เพื่อเลือก เพราะด้วยศาสตร์พวกนี้ที่มีเยอะ บางคนใช้กัญชาเข้าร่วมด้วย เราก็ต้องดูว่ามันเหมาะไหม

ฟีดแบ็กของผู้ที่เข้ามาใช้บริการ

โต๋: ส่วนใหญ่จะเป็นแง่บวกนะครับ ถ้าพุ่งไปที่กิจกรรมคนที่มาน่าจะแฮปปี้เกือบ 100% ถ้าอีกแง่สำหรับฟีดแบ็กสเปซข้างล่าง หรือ พื้นที่รวมๆ เราชอบไปแอบยืนฟังหน้าประตูว่าเด็กกลุ่มนี้เขาพูดถึงเรายังไง ซึ่งส่วนใหญ่จะงงๆ กับสถานที่นิดหนึ่ง อันนี้คือสิ่งท้าทายที่เราต้องแก้กันไป

มีคนมาทำนิทรรศการ Biomaterials มันก็ไปถึงคนกลุ่ม Gen Z หรือคนที่มีแนวคิดแบบใหม่ หรือ 'ตลกยืนเดี่ยว' Stand-up Comedy เคยมาจัดข้างล่าง มันอาจจะดูคนละขั้วกับเรา หรือ พี่สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ หรือ Mr. Z (มิสเตอร์ซี) จะมาใช้พื้นที่ทำ Anniversary ของเขา ซึ่ง 3 อย่างนี้ต่างกันสิ้นเชิง แต่มี Mission เดียวกันคือทำให้เราแฮปปี้ได้ ก็นั่งคิดเล่นๆ ถ้ามีรถมาเปิดตัวที่นี่จะเป็นรถอะไรนะ (หัวเราะ)

แบงค์: กลุ่มที่ชอบเลยก็จะเข้าใจเร็ว พวกอีเวนท์ทำให้เรามีโอกาสดีๆ ชัดมาก เพราะเรามีช้อยส์ใหม่ๆ ให้เป็นอีกตัวเลือก ซึ่งมีฟีดแบ็กที่โดดเด่นตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า

ความนิยมของเทรนด์การดูแลสุขภาพแบบ Well-being ในไทย

โต๋: มันอาจจะเป็นเพราะเทรนด์มั้งครับ หมายถึงว่าเราเห็นต่างชาติทำมากขึ้น ทำให้คนเห็นมากขึ้น สิ่งที่ทำมาอาจกลายเป็นศาสตร์ที่โมเดิร์นขึ้นแล้ว ทำให้คนรู้สึกหยิบจับง่ายมากยิ่งขึ้น ทำให้คนสนใจมากขึ้น

เทรนด์การดูแลสุขภาพแบบ Well-being ในต่างประเทศ

โต๋: อันนี้เคยคิดเหมือนกันครับ ผมเรียกว่ามันคือศาสตร์ของการ Communication แต่มันถูกเอาไปตีฟูให้คนเห็นว่ามีสิ่งใหม่มากขึ้น อยู่ดีๆ ก็มีคำว่า Well-being โผล่ขึ้นมา จริงๆ มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก เพราะเราเรียนเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก รุ่นพ่อรุ่นแม่เราก็กินเจ สวดมนต์ ทำสมาธิ แต่เราเบื่อเท่านั้นเอง พอมีคนทำให้มันโมเดิร์นขึ้น มันก็คือเรื่องเดิมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา เพราะเราเห็นมันในรูปแบบใหม่

แบงค์: ถ้าคอนเนกกันได้ มันง่ายมาก การทำสมาธิของเราแค่เปลี่ยนบริบท มีครูจากชาติพันธุ์อื่นมาสอน Gen Y พอทำงานหนักๆ มันก็แย่ ทำให้เกิดภาวะ Burnout มันเลยกลายเป็นเทรนด์เรื่องการดูแลจิตใจ

ความสัมพันธ์ของ Mindfulness กับ Well-being

โต๋: เกี่ยวอยู่แล้ว เพราะมันต้องอยู่ด้วยกัน เพราะ Well-being คือ เราจะรู้สึกดียังไง ซึ่งก็แล้วแต่คน อะไรที่ทำให้เขารู้สึกดี จิตดี ร่างกายดี เฮลตี้ก็ทำไปเถอะ แต่ Mindfulness คือ แม้เรื่องต่างๆ จะดีเท่าไหร่ แต่ไมาได้นั่งนิ่งๆ อยู่กับตัวเอง มันอาจจะไม่ได้ดีมาจากภายใน อาจเป็นคำที่ตอบได้ระหว่างผิวๆ Mindfulness อาจทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น อาจไม่ได้มีความสุข แต่ได้นั่งทบทวนและนึกถึงตัวเอง

'ถ้าจิตใจไม่ดี ร่างกายและสุขภาพก็จะแย่ตามไปด้วย'

แบงค์: มันสัมพันธ์กัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันต้องหาความสมดุล เพราะบางคนโฟกัสแต่ร่างกาย บางคนโฟกัสที่จิตใจ ผมอายุเท่านี้คงปฏิเสธเรื่องจิตใจไม่ได้ มันสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องกลับมาหาวิธีของเรา แต่สูตรสำเร็จมันใช้ไม่ได้กับทุกคน โฟกัสในสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไม่ซีเรียสกับอนาคตมากเกินไป

ปัญหาส่วนใหญ่ของคนเมืองหลวง

โต๋: ความไม่ปลอดภัย เพราะเราใช้ชีวิตแบบไม่เซฟตี้ ต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง ออกมาสูดอากาศข้างนอกเรายังกลัว เดินห้างก็กลัว รู้สึกว่าเรื่องพวกนี้ทำให้อยู่ในเมืองใหญ่แล้วไม่สบายใจ 100%

แบงค์: คนในเมืองอาจคิดว่าความสุขมันต้องมาจากข้างนอก แต่เราลืมไปเลยว่ามันสามารถทำขึ้นมาเองได้ ซึ่งเราลืมไปว่ามันทำยังไง ซึ่งเป็นเรื่องง่ายด้วย อย่างผมจะพักผ่อนให้เพียงพอ ใช้เวลากับคนที่เรารัก หากิจกรรมที่คุณเคยชอบเพื่อกลับไปทำใหม่ หากิจกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้คุณรู้สึกมีชีวิตชีวาและตื่นเต้น

ความท้าทายในการทำ Slowcombo

โต๋: เรายังถือว่าเป็นเรื่องใหม่อยู่ในวงการ Space Community และเรื่องที่ชาเลนจ์ที่สุดคือ การบาลานซ์ Mission ที่ตัวเองชอบกับเรื่องธุรกิจที่ทำ ก็พยายามบาลานซ์มันให้ดี

แบงค์: เป็นเรื่องใหม่ของ Mindfulness Playgrond เราเห็นสเปซเกิดขึ้นเยอะ แต่เราอาจจะเป็น No.1 เจ้าแรกที่มาลองสายนี้ ด้วยคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ค่อนข้างคุ้นกันอยู่แล้ว ทำเลก็ใหม่ เพราะสามย่านไม่มีอะไรแบบนี้ และเป็นพอยท์ที่พี่โต๋ตั้งใจเลือก เพราะตรงนี้เป็นจุดศูนย์รวมของกลุ่มเป้าหมายที่มีความชอบในด้านที่ไม่ได้ซ้ำซะทีเดียว

มีโมเมนต์ที่รู้สึกประทับใจในการทำ Slowcombo

โต๋: พอเราเป็นเจ้าของสเปซเอง เราจะทำอะไรก็ได้ เด็กมาขอใช้พื้นที่เราก็กล้าให้ มีครั้งหนึ่งผมเดินไปกินหมี่เย็นแถวๆ นี้ ไปเจอเด็กเสิร์ฟก็คุยเล่นกับเขา ผมถามเขาอยากเป็นอะไร เขาตอบว่าอยากเป็นนักร้อง ที่เขาย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯ เพราะเขาอยากเป็นนักร้อง ลุคดูดี ผมเลยชวนเขา (พาที) มาร้องเพลงงานเปิดตัว Slowcombo เขาก็มาจริงๆ หลังจากนั้นเขาก็หายไปเลย คงอยากไปเป็นนักร้องจริงๆ เพราะเขามาทำงานแค่อาทิตย์ละวันสองวันเพื่อไปร้องเพลงแทน มันไม่มีอะไรถูกผิด เพราะเขาตั้งใจดีเราเลยอยากจะช่วยเขา ถ้าเกิดเขาได้เป็นเขียนไขและวานิชในยุคหน้าใครจะไปรู้ เป็นโมเมนท์เล็กๆ ของสเปซที่ทำให้คอมมูนิตี้ของเรา หรือ เรื่องในสังคมที่เราอยากให้มันเป็นไป ด้วยการทำสิ่งง่ายๆ แค่นี้แหละ

หรือนิทรรศการข้างบน ที่จัดเป็นช่างภาพ เขาถ่ายรูปไว้เยอะมาก ซึ่งผมเคยคุยกับเขาแบบเล่นๆ แต่เขาไม่กล้าโชว์ผลงาน มีเว็บไซต์ มี IG คนติดตามผลงานเยอะมาก แต่ติดตรงไม่กล้าแสดงงาน ผมเลยชวนมาโชว์วันเปิดตึกแบบพาทีเลย เขามานะครับ มาแบบจริงจังมาก เขาไปเอาอาร์ตนิทรรศการรุ่นใหญ่มาทั้งทีมแบบจริงจัง เราเห็นความตั้งใจและรู้สึกว่ามันดี เพราะทุกสิ่งทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยสิ่งเหล่านี้แหละ

แบงค์: ไม่ใช่ Slowcombo ที่พยายามอยู่ฝ่ายเดียว แต่ทุกคนช่วยกันทุกฝ่าย ร้านค้าก็ดูแลโปรดักส์ของเขาดีมาก แถมยังมาเชิญชวนเราให้ทำสิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน เป็นสิ่งที่ผมสัมผัสได้ทุกอาทิตย์ คาเฟ่ที่เปิดข้างล่าง ที่เราเปิดโอกาสให้มาเปิดแบบหมุนเวียนสับเปลี่ยนกัน อย่างร้านเกี๊ยวซ่าที่ออกไปแล้ว เขาก็ไปเปิดหลายที่มาก ทำให้เราเห็นสิ่งที่เราทำกับเขาแล้วเราต่อยอดได้จริงๆ แค่นี้ก็แฮปปี้แล้ว

อุปสรรคของการทำ Slowcombo

โต๋: ปัญหามีทุกวัน เป็นเรื่องเบสิก เพราะเรายังใหม่ แม้ทีมเราคนน้อยแต่เราก็แน่นปึ้ก ทีมเรามีความพิเศษในด้านที่เขารับผิดชอบ เรามีทีมที่ปรึกษาที่แน่นปึ้ก Sustainability Development Goals ของ UN มันยากตรงที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา แต่ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับโลก พอเราขับเคลื่อนด้วยความปึ้กแล้ว ผมคิดว่ามันน่าจะดี

แบงค์: โลเคชั่นเราอยู่ตรงตลาด แต่เราอยากให้คุณเปลี่ยนการมีตติ้งมาจุดใหม่ๆ แบบ ที่นี่ดู อาจจะเกิดไอเดียใหม่ๆ ในการจัดการชีวิตของคุณต่อ มาที่นี่ด้วย MRT สามย่าน เดินมา 500 เมตร ตึกอยู่ห่างจากสามย่านมิดทาวน์ 200 เมตร

หัวใจสำคัญของการทำ Slowcombo

แบงค์: ผมคิดว่าความกล้า เพราะมันเป็นเรื่องใหม่จริงๆ บางทีต้องอาศัยลูกบ้าประมาณหนึ่ง เพราะมันเป็นเรื่องใหม่ มันอาจไม่ได้อยู่ในขนบเดิม อาจดูเหมือนล้มเหลว และมีความวุ่นวายเกิดขึ้น เพราะว่าเราไม่รู้ว่าต้องจัดการอะไรบางอย่าง จุดนี้จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สิ่งใหม่

โต๋: เราอยากให้ทุกคนกล้าคุย กล้ากินอาหารรสชาติเดิมๆ ที่เฮลตี้ขึ้น หรือ กล้าคิดออกนอกกรอบ ต้องกล้าและต้องบาลานซ์ให้ดี ทั้งเรื่องที่คุณทำอยู่และเรื่องชีวิตคุณ

สิ่งที่ได้รับจากการทำ Slowcombo

โต๋: ข้อดีคือ ผมได้พักในแต่ละวัน เพราะเรารู้สึกแฮปปี้และสนุกไปกับมัน เบื่อๆ ก็ไปนั่งโยคะ หรือ นิ่งๆ อยู่ในนั้น มันก็บาลานซ์ตัวเองได้ดี อาจได้คำหรือข้อคิดแปลกๆ ใหม่ๆ ซึ่งไม่ได้เฉพาะแค่ครู แต่รวมไปถึงเด็กๆ ที่มานั่ง Biomaterials ก็ให้ข้อคิดกับเราได้ในแต่ละวัน เหมือนเราได้ความรู้ใหม่ๆ โดยที่เราไม่ต้องไปค้นหา ได้เอาอะไรนิดๆ หน่อยๆ ไปปรับใช้ในชีวิต

แบงค์: สถานที่ทำงานอยู่ตรงกลางตลาด ผมรู้สึกว่าพวกเราและทีมงานทุกคนได้กลับมาคอนเนกกับสถานที่และผู้คน เพราะมันไม่ใช่แค่ออฟฟิศ ผมเชื่อว่า หลายๆ คนหลังจากโควิดอาจจะไม่เหมือนเดิม เรื่องคอนเนกชั่นอาจห่างไป แต่ตอนนี้น่าจะเริ่มกลับมา เพราะที่มีคือ สถานที่ ที่มีผู้คน มีอาหารอร่อยๆ Slowcombo ให้สิ่งนี้ ซึ่งมันเคยมีอยู่ แต่เราแค่ลองเรียกมันกลับมา

ความคาดหวังในการทำ Slowcombo

โต๋: อยากให้คนที่เห็น Mission เดียวกันกับเราเข้าใจ มาร่วมลงเรือลำเดียวกัน เรารู้แล้วว่าเป็นเรื่องที่คนเห็นแล้ว และต้องมีเรื่องพวกนี้อยู่ในตัว แค่ทำให้มันสำเร็จ ผมเห็นคนที่อื่น หรือ สเปซที่อื่นที่เริ่มเอาเรื่องพวกนี้เข้าไปเยอะขึ้น แต่เรื่องพวกนี้ยิ่งมีเยอะ ยิ่งใส่เข้าไปในทุกๆ ที่ ยิ่งดี เพราะทำให้คนมีช้อยส์มากขึ้น เราอยากเป็นพื้นที่ๆ ดีที่สุดถ้าพูดตรงๆ เพราะเราเลือกทุกอย่างเอง และทุกอย่างคราฟต์หมดเลย เลยคิดว่าจุดจบมันน่าจะโอเค และจะแฮปปี้มากๆ ถ้าผู้เช่าเต็มทั้งตึกแล้วครับ และเป็นไปตามคอนเซ็ปต์ที่เราวางไว้ เดี๋ยวรอดูกัน

เราอยากเป็นคอมมูนิตี้ที่สร้างแรงบันดาลใจ เราอยากเจอกับเพื่อนๆ ที่คิดเหมือนกัน อาจเป็นตัวธุรกิจ หรือ ออแกไนซ์เซอร์เอง เรื่องดีมันทำยาก เพราะฉะนั้น เราต้องมาช่วยกันผลักดันและทำงานนิดหนึ่ง

อยากให้คนเข้าใจ ถ้าวันหนึ่งคนรู้จักเรามากยิ่งขึ้น บางทีไม่ต้องไปหาพื้นที่พักที่ต่างจังหวัด แต่มาที่ Combo ได้ – แบงค์

Slowcombo ในอนาคต

แบงค์: ผมคาดหวังให้พื้นที่ตรงนี้เต็ม ปีหน้า Quarter แรก จะพยายามทำให้เต็มทุกพื้นที่ เพื่อให้ร้านค้ามันฟู ระยะใกล้เราเริ่มมองเห็น Potential เร็วๆ นี้วันที่ 9-10 ธันวาคม เราจะจัดตลาดคริสต์มาสเลย เพราะการจัดตลาด เป็นวิธีการที่ Sustainability กับเราที่สุด ซึ่งมีตีมพิเศษด้วย เดี๋ยวรอดูโซเชี่ยลมีเดีย

โต๋: พาร์ทที่เป็นกิจกรรม หรือ การเวิร์กช็อปต่างๆ เรามีเซอร์วิสที่สามารถไปจอยกับองค์กรใหญ่ๆ ที่เขาต้องการเรื่องพวกนี้ วันก่อนมีบริษัททดลองเหมือนเอาท์ติ้งวันหนึ่ง ที่มีกิจกรรมของเรา Eat Live Move ครบ ตอนนี้เริ่มเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้องค์กรบางองค์กรแล้วครับ ทำเรื่อง Well-being ให้เขาครับ

วิธีดูแลสุขภาพตัวเองเบื้องต้นแบบ Well-being

โต๋: นอกจากดูแลสุขภาพกาย ผมชอบไปเกาะต้นไม้

แบงค์: ผมเลิกดื่มมานานแล้วครับ ไปทางคอมบุชะ กาแฟ มันจะเหลือช้อยส์ไม่เยอะ เหมือนเลือกกินมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าบังเอิญเจอใส่ในอาหารอยู่แล้ว บางอย่างมันมีแก๊สอยู่หรือบ่มไว้นานแล้วก็ดื่มได้ ตอนนี้รู้ว่าตัวเองไม่มีเวลาออกกำลังกาย 100% เลยเปลี่ยนเป็นออกตอนเช้าบริเวณเตียงให้ได้ 15-20 นาที ฟิกเลยว่าต้องสั้น ห้ามทำเยอะ และเดินในสวน