Culture

สังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ กับเหล่านวัตกรรุ่นใหม่ ในงาน Social Spark โดย SYSI Youth x สสส.

‘Social Spark ลงทุนความฝัน จุดไฟนวัตกร เปลี่ยนสังคม’ งานรวมไอเดีย และผลงานนวัตกรรมของคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่อยากเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น พวกเขามารวมตัวกันเพื่อนำเสนอตลาดนัดนวัตกรรมทางสังคม และพิทชิ่งโปรเจกต์ นำเสนอนวัตกรรมทางสังคมต่อสาธารณะ งานนี้จัดขึ้นโดย สมาคมรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม 2023 ที่อาคารสสส. ในบทความนี้เราได้เก็บภาพบรรยากาศของงาน และบทสัมภาษณ์สุดพิเศษจากเหล่านวัตกรภายในงานครั้งนี้ว่า คนรุ่นใหม่ในคอมมูนิตี้ที่หลากหลายทั้งเด็กมัธยม เด็กมหา’ลัยทุกวันนี้กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลง และให้ความสนใจกับประเด็นอะไรในสังคมไทยกันบ้าง

‘Homeroom อาณาจักรพิทักษ์ความสุข’ ของ ‘กรีก’ และ ‘กรีซ’ ศิลปินอิสระ นักออกแบบการเรียนรู้ห้องเรียนศิลปะ ที่อยากให้เด็กๆ มี Self-Esteem ที่ดีขึ้น

กรีก และกรีซ เป็นนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องการจะทำงานกับเด็ก และผู้ปกครองด้วยการใช้ศิลปะเป็นตัวกลางเพื่อช่วยเพิ่ม Self-Esteem ของเด็ก เพราะพวกเธอเชื่อว่า ศิลปะไม่ควรจะทำให้ใครต้องเกลียดตัวเอง ด้วยการสร้างห้องเรียนศิลปะสำหรับเด็กๆ ในต่างจังหวัด แบ่งปันเรื่องราว และงานศิลปะจากเด็กๆ ที่จุดประกายความหวังให้สังคมพร้อมกับเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เชื่อว่า ศิลปะไม่ควรจะมีพื้นที่ไว้แค่ในตัวเมือง ทั้งสองคนได้แชร์เรื่องความฝัน และเหตุผลของการสนับสนุน ‘ศิลปะไม่ควรจะทำให้ใครต้องเกลียดตัวเอง’ ไว้ว่า

กรีก: สำหรับเราฝันในวัยเด็กอาจจะเป็นการอยากเรียนศิลปะที่ทำให้ตอนโตขึ้นเราเลยมีเป้าหมายเลยว่า อยากกลับไปเปิดห้องเรียนศิลปะที่จังหวัดอ่างทอง เพราะที่จังหวัดเราไม่มีห้องเรียนศิลปะเลย เราต้องรอถึงวันอังคารที่จะได้เรียนศิลปะ เราเลยคิดว่า ถ้ามันมีพื้นที่ให้เด็กเรียนศิลปะแล้วตอนนี้เราก็ทำมันได้

สำหรับเรารู้สึกว่า การทำตามฝันไม่ได้มันไม่เป็นไร เพราะว่าในความคิดของเราทุกคนอาจจะมีภาพในฝันที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ การเมือง เศรษฐกิจ มันไม่เป็นไร จริงๆ เรารู้สึกว่ามันคือ การได้พยายามทำฝันนั้นให้กลายเป็นความจริง

กรีซ: เราไม่ค่อยมีฝันในวัยเด็กเท่าไร เพราะเราอยู่กับปัจจุบันในทุกวันที่เกิดขึ้น ไม่ค่อยมีฝันอะไร ในอนาคตเราก็เคยคิดนะว่าจะทำอะไรบ้าง จนเข้ามหา’ลัยเราเรียนศิลปะแล้วโกรธว่า เราเรียนมหา’ลัยแล้วเราอยากเป็นครูที่ไม่ใช่แบบที่เคยเจอมา ความฝันมันมาช่วงยี่สิบปลายๆ แล้วมันก็ทำให้เราได้มาเจอกรีก ความฝันมันมาผสมกัน แล้วก็ทำห้องเรียนศิลปะด้วยกัน จริงๆ เราว่า ฝันมันไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่เปลี่ยนแปลงโลกก็ได้ การฝันของบางคนมันจะเป็นแค่ตื่นมาวันนี้อยากกินข้าวหมูกรอบก็ได้ แล้วก็หาร้านกิน เราโตมาแบบนั้นมากกว่าว่า เอาตัวเองให้ไหวก่อนจะช่วยคนอื่น เพราะสุขภาพจิตสำคัญมาก เราไม่จำเป็นต้องวิ่งตามกงล้อที่สังคมสร้างขึ้นมาก็ได้ เราสร้างกงล้อด้วยตัวเองได้

‘MAKE HAPPEN’ โปรเจกต์แผนที่จาก ‘AD4ALL’ ที่เชื่อว่า ถ้าวัยรุ่นได้การเข้าถึงความรู้ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จะช่วยเพิ่มโอกาสช่วยชีวิตผู้คนในไทยได้มากขึ้น

โปรเจกต์นี้คือ แผนที่รวบรวมเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า (AED) ทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้คนเข้าถึงเครื่องช่วยชีวิตพื้นฐานที่ทุกคนควรจะเข้าถึงได้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนเดินทาง หรือดำเนินชีวิต สำหรับผู้มีความเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคความดันสูง รวมถึงบุคคลทั่วไปด้วย ในบทความนี้เราได้สัมภาษณ์กับตัวแทนของทีม ‘นโม’ นักเรียนมัธยมปลายอายุ 18 ปี จากจังหวัดเชียงใหม่ที่เล่าถึงแรงบันดาลใจ และมุมมองของวัยรุ่นที่มองเห็นว่า ในไทยยังมีช่องว่างการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์สูง

นโม: แรงบันดาลใจที่ทำให้เริ่มสนใจทำโปรเจกต์นี้คือ ตอนแรกผมเริ่มทำ เพราะผมไปโรงพยาบาลแล้วผมเห็นว่ามีผู้ป่วยโรคหัวใจเยอะ โรคหัวใจเป็นโรคที่สำคัญมาก พอผมไปค้นข้อมูลสถิติผมก็พบว่า เรื่องหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโลก และในประเทศไทยด้วย แล้วหลังจากเกิดโรคหัวใจ ถ้าอยากจะให้คนรอดชีวิตเราต้องมีเครื่อง AED ช่วยด้วย เพราะการปั๊มมันมีโอกาสแค่ 5% ถ้าใช้เครื่องช่วยมันจะเพิ่มเป็น 50% มันเลยทำให้เราสนใจทำสิ่งนี้

ผมคิดว่า ในปัจจุบันวัยรุ่นเข้าถึงความรู้ทางการแพทย์ สุขภาพ และอุปกรณ์ได้ยากนะ เพราะถึงจะบอกว่ายุคนี้มีอินเทอร์เน็ต ใครๆ ก็ค้นข้อมูลได้ง่าย แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าเราจะต้องเสิร์ชหาอะไร เราค้นข้อมูลทางการแพทย์ สุขภาพไปอาจจะเจอเฟกนิวส์ ผมคิดว่า ปัจจุบันเรื่องอุปกรณ์ในไทยยังขาดแคลนอยู่มาก อย่างเครื่อง AED ที่จะมีกระจุกกันอยู่ในตัวเมือง แล้วในบางอาคารก็จะอยู่หลบๆ ตามมุม เพราะด้วยราคาเครื่องมันหลักแสน ทำให้ไม่ใช่ทุกพื้นที่จะมีได้ ผมเลยคิดว่า การแชร์ข้อมูลว่า มันเป็นสิ่งที่ช่วยคนได้ก็สำคัญ

‘Dreamvation’ (blissgiver.team) ตู้ขยะกระตุ้นเศรษฐกิจ Role Model จากกลุ่มนวัตกรรมทางสังคมที่อยากเห็นคนไทยปรับพฤติกรรมการแยกขยะ เพื่อช่วยสิ่งแวดล้อม

โปรเจกต์นี้เราได้คุยกับตัวแทนทีมสองคนได้แก่ ‘นท’ (notennap) และ ‘ลูกไม้’ (thhemais) ที่ทำโปรเจกต์เพื่อให้เด็กๆ รู้ว่า ‘สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว’ มีทัศนคติการแยกขยะที่ดี และลงมือทำจริงเพื่อหวังเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการสร้าง Role Model ด้านสิ่งแวดล้อม

นท: เราต้องยอมรับว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยมีการจัดการขยะ หรือจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นแค่แบบแผนแต่เราไม่มีกฎหมายที่มาจัดการอะไรในเรื่องนี้มันทำให้คนทุกวัยมีทัศนคติที่ดีว่า เราควรจะทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อม แยกขยะนะ คนรู้ว่าดี แต่ก็อาจจะไม่มีใครทำอะไรจริงๆ จังๆ

ลูกไม้: เราคิดว่าในอนาคตมันควรมีการเพิ่มหลักสูตรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ควรเพิ่มในเชิงปฏิบัติมากขึ้น เพราะมันคือเรื่องใกล้ตัวสำหรับคนทุกวัย มันต้องมีทัศนคติที่ดีและต้องลงมือทำจริงด้วย

‘In-nature’ โปรเจกต์ที่นำคำว่า Inner Child และ Mother Nature มาชวนคนกลับไปอยู่กับธรรมชาติ

ผ่านกิจกรรมตัวกลางมากมายไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร การบันทึก การ์ด ผ่านเครื่องมือหลายๆ อย่างให้กลับมาอยู่กับธรรมชาติมากขึ้นเพราะพวกเขาเชื่อว่า ‘การใช้เวลากับธรรมชาติมันช่วยให้คนเราเห็นคุณค่าในตัวเอง’ และ ‘ทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายขึ้น’ เราได้คุยกับ ‘มล’ (monature.journey) ตัวแทนของทีม ที่แชร์ประเด็นสำคัญของเรื่องธรรมชาติกับเราไว้ว่า

มล: เราเชื่อว่าการเข้าถึงธรรมชาติ ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เรารู้สึกว่าอย่างในเมืองมันก็มีความเหลื่อมล้ำ มันมีแค่สวนสาธารณะมันไม่เหมือนกับป่าในต่างจังหวัด สำหรับเราโจทย์ที่ท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้คนได้เข้าถึงธรรมชาติ ในความเห็นเรา เรารู้สึกว่าระบบการศึกษาต้องเอื้อให้มีการเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้เห็นคุณค่าการเรียนรู้ในธรรมชาติ สวนสาธารณะ พฤกษศาสตร์ ป่าชุมชน เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือห้องเรียนขนาดใหญ่ ถ้าระบบเอื้อให้ครูออกนอกห้องเรียน ได้ออกจากงานเอกสารมาจัดการเรียนการสอนนอกห้องเรียนมันจะช่วยให้วัยรุ่นได้เรียนรู้เยอะมาก

ถ้าถามว่าคิดว่าอะไรเป็นตัวกลางพาเด็กๆ กลับสู่ธรรมชาติ เราคิดว่าตรงนั้นมันคือประสบการณ์ตรงของครูจากการเล่นกับธรรมชาติ ถ้าครูเห็นความสำคัญของธรรมชาติครูเขาจะถ่ายทอดสิ่งนี้ไปสู่เด็กได้แต่มันก็ยากมากๆ ที่จะทำให้เด็กทุกวันนี้ออกจากโลกเทคโนโลยีแล้วมาเชื่อมต่อธรรมชาติมากขึ้นและการสนับสนุนให้เด็กรุ่นใหม่ใช้เวลากับธรรมชาติหน้าที่นี่ไม่ใช่แค่ของครูแต่มันคือหน้าที่ของทุกคนที่ควรจะได้เห็นธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น เห็นค่าในระบบนิเวศของเรา เห็นคุณค่าธรรมชาติจากข้างในของเราและเราเชื่อว่าการใช้เวลากับธรรมชาติมันช่วยให้คนเราเห็นคุณค่าและมีความมั่นคงในตัวเองมากขึ้น สิ่งนี้คือแก่นที่ธรรมชาติทำให้คนเรารู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยวในโลกใบนี้

‘Aridanta’ โปรเจกต์ปรับเปลี่ยนลูกระนาดใน 3 จังหวัด ให้ใช้พลังงานกลจากแรงเหยียบผลิตกระแสไฟฟ้าในท้องถิ่นจาก ‘อริส’ (rr1ssy) และ ‘ตะห์‘ (fqttqqh)

อริส: พวกเราชื่นชอบในเรื่องเทคโนโลยี อยากแก้ไขปัญหารอบตัวในสังคมทำให้สังคมที่เราอยู่ดีขึ้นด้วยการทดลองกับเรื่องใกล้ตัวที่ใช้ในชีวิตประจำวันทุกวันอย่าง อีกเหตุผลที่มาทำเรื่องพลังงานเพราะเรามองว่าการใช้พลังงานปัจจุบันในไทยไม่ค่อยรักษ์โลกเท่าไร เราใช้พลังจากเหมือง หรือไฟฟ้าซึ่งมันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เราตั้งคำถามว่ามันจะมีวิธีใช้พลังงานจากสิ่งอื่นไหม ที่สามารถเป็นพลังงานสะอาดได้ในอนาคต ทำให้พวกเราไปค้นคว้าว่า พลังงานแบบไหนเหมาะกับพื้นที่ของเรา จนไปเจอสิ่งที่เหมาะที่นำมาสู่การพัฒนาโปรเจกต์ที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใกล้ตัวที่มีมากที่สุด

‘เดียร์’ จากทีม ‘เรื่องหลังเขา’ ที่เชื่อในการทำลายมายาคติเรื่องป่า ด้วยการสร้างบอร์ดเกมเพื่อการศึกษาที่ช่วยให้คนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของป่าได้มากขึ้น

เดียร์: เรื่องหลังเขาคือ บอร์ดเกมการศึกษาประวัติศาสตร์ป่าไม้ และที่ดินที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก และพวกเราต้องการจะย่อยเนื้อหามันออกมาให้สื่อสารได้เข้าใจได้ง่ายและสนุก เรามาทำสิ่งนี้เพราะทีมงานเราทำงานกับเรื่องนี้อยู่แล้ว เรามีทีมงานที่อยู่ในองค์กรเพื่อสังคม และกลุ่มชาตินาพันธุ์ที่เชื่อว่ามันมีมายาคติเกี่ยวกับป่าหลายอย่างที่ไม่เป็นความจริงอย่างคนป่าเผาป่าเอง ไร่เลื่อนลอย มันเป็นการผลิตวาทกรรมทางการเมืองที่เราอยากหยุดต่อการสร้างมายาคติ ด้วยการสื่อสารข้อมูลด้วยรูปแบบบอร์ดเกม

‘Flip’ (whereareyounowofficial) พื้นที่กระบวนการเรียนรู้เรื่อง Self-Esteem ให้วัยรุ่นเชื่อมั่น และค้นพบความมั่นคงภายในตัวเอง

โปรเจกต์ที่ ‘ปิ่นเจน‘ ตัวแทนของทีมที่การตั้งคำถามกับตัวเองในช่วงวัยรุ่น ที่คิดว่าตัวเองมีปัญหาทางสุขภาพจิต จนได้มีเวลาทำงานกับตัวเองไปเจอแก่นของมันว่า ที่มาของคือเรื่อง Self-Esteem ที่ต่ำมาก และ ‘ไออุ่น’ ตัวแทนทีมที่สนใจเรื่องสุขภาพจิต

ปิ่นเจน: เราคิดว่าความฝันในวัยเด็กของเราคือการมีความฝันเพราะโตมาในประเทศที่มันฝันยาก เรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีที่ให้เราฝัน เราคิดว่าการทำโปรเจกต์นี้ทำให้เราได้เห็นว่าการจัดเวิร์กช็อป หรือกระบวนการเรียนรู้ Self-Esteem มันช่วยวัยรุ่นได้เยอะมาก และมันควรจะเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างออกแบบให้เหมาะกับพื้นที่ในโรงเรียนที่ช่วยให้เด็กได้รู้จักตัวเอง มี Self-Esteem ที่ดี ได้เติบโตในโรงเรียนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย และการแนะแนวจากโรงเรียนมันไม่ควรจะเป็นแค่การถามว่า นักเรียนอยากจะไปเรียนต่อที่ไหนแล้วก็อยู่แค่ตรงนี้

ไออุ่น: เรารู้สึกฝันที่อยากให้มีระบบที่เอื้อให้เราฟังมากขึ้น จริงๆ เรารู้สึกว่า ในฐานะเด็กต่างจังหวัดการจะเข้าถึงกระบวนการแบบนี้มันยากมาก เราไม่อยากให้มันมีแค่ในกรุงเทพ เราอยากให้มันมีในต่างจังหวัดมากขึ้น เพราะเราคิดว่ามันมีช่องว่างเรื่องสุขภาพจิต Self-Esteem อยู่ เราอยากให้เด็กต่างจังหวัดได้เข้าถึงพื้นที่ และกระบวนการรู้จักตัวเอง ดูแลสุขภาพจิต เข้าใจตัวเองมากขึ้นไปจนถึงทัศนคติที่ให้ความสำคัญสุขภาพจิตมากขึ้น

‘น่าน’ (narnnrang) และ ‘จีจี้’ (genatsu) ตัวแทนของ ‘Death Talk ความตายและชีวิต’ นวัตกรรมสังคมที่เชื่อว่า ความตายเป็นเรื่องที่ทุกคนเรียนรู้ได้ และการเรียนรู้ความตายช่วยให้คนมองเห็นคุณค่าของชีวิต

น่าน: ก่อนอื่นต้องเริ่มเล่าว่าพวกเราเริ่มโปรเจกต์นี้มาจากการตั้งคำถามกันเองว่าในไทยทำไมความตายถึงพูดถึงไม่ได้ ทำไมการพูดถึงความตายต้องถูกแปะป้ายว่าเป็นเรื่องไม่ดี เรื่องต้องห้ามพวกเราเลยมีความคิดที่อยากจะทำให้การพูดถึงความตายเป็นเรื่องปกติก็เลยเปิดเพจขึ้นมาในรูปแบบอีเวนต์ จัดกิจกรรมให้คนเรียนรู้เรื่องความตายว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเสียชีวิตอย่างเดียวเพราะความตายมันโยงกลับมาที่ชีวิต มันพูดถึงการเห็นคุณค่าในชีวิตตัวเองด้วยได้ผ่านการสื่อสารเรื่องความตาย เรามีหลายโปรเจกต์มาก มีทั้งโปรเจกต์ที่ชวนคนตั้งคำถามและให้ความรู้ว่าถ้าวันหนึ่งต้องตาย เราเตรียมตัวพร้อมหรือยัง

จีจี้: พวกเราเชื่อว่าการพูดถึงความตายมันไม่ควรเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับเด็กมัธยม เด็กรุ่นใหม่ ปัจจุบันเราก็ยังเคยเจอนะว่าเราไม่ควรสื่อสารเรื่องความตายกับวัยรุ่นหรือเยาวชนมันจะทำให้เด็กกลัว ยังไม่ถึงเวลาแต่เราเชื่อว่าความตายเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถพูดและเรียนรู้เกี่ยวกับมันได้แต่ต้องเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยอย่างถ้าเป็นเด็กอนุบาลก็อาจจะเป็นนิทานที่ทุกวันนี้ก็มีนิทานเด็กที่พูดเกี่ยวกับความตายให้เหมาะสมกับเด็ก ดังนั้นเราคิดว่าเด็กรุ่นใหม่เรียนรู้เรื่องความตายได้แต่สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือจะสื่อสารและสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้รับสารอย่างไรหากเราจะคุยกับพวกเขาเรื่องความตาย

Social Spark คืองานที่เต็มไปด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ บอร์ดเกม เวทีนำเสนอพิทชิ่งการลงทุน วงสนทนาของผู้คนที่มีความสนใจประเด็นที่หลากหลายทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพจิต ความตาย ความเหลื่อมล้ำทางการสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูล บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่สนใจหรือกำลังสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยให้สังคมไทย พื้นที่ท้องถิ่นของพวกเขามีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและจากการสำรวจ สอบถามวัยรุ่นในงานมากมันทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังให้ความสนใจกันมากขึ้นคือประเด็นสิ่งแวดล้อม สุขภาพจิต การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำาการเข้าถึงความรู้ของเด็กต่างจังหวัด การเข้าถึงศิลปะหรือการเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ของคนทั่วไปและในมุมมองคนรุ่นใหม่หลายคนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของทางออกที่จะช่วยแก้ไขปัญหาโครงสร้างสังคมได้