Culture

‘สกิลสุดพิสดารกับมื้ออาหารในต่างโลก’ (Tondemo Skill de Isekai Hourou Meshi) อนิเมะญี่ปุ่นผู้ทำหน้าที่เป็น Soft Power ด้านอาหาร

‘สกิลสุดพิสดารกับมื้ออาหารในต่างโลก’ หรือ ‘Tondemo Skill de Isekai Hourou Meshi’ แต่เดิมเป็นนิยายที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จนได้รับการดัดแปลงมาเป็นหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น (มังงะ) และล่าสุดถูกดัดแปลงมาเป็นการ์ตูนอนิเมชัน (อนิเมะ) จำนวน 1 ซีซั่น 12 ตอน

Photo Credit: MAPPA Co., Ltd.

โดยสกิลสุดพิสดารกับมื้ออาหารต่างโลก เป็นการ์ตูนประเภทต่างโลก (Isekai) ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘มุโคดะ’ หนุ่มพนักงานเงินเดือนอายุ 27 ปี ถูกอัญเชิญไปยังต่างโลกเพื่อต่อสู่กับปีศาจ ซึ่งผู้ที่ถูกอัญเชิญมาจะถูกเรียกว่า ‘ผู้กล้า’ โดยปกติแล้วผู้กล้าจะได้รับ ‘ทักษะพิเศษ’ (Skill) ที่ค่อนข้างโกงเพื่อจะต่อสู้กับปีศาจได้ แต่!

มุโคดะผู้โชคร้ายกลับไม่มีพลังพิเศษอะไรเทือกนั้นเลย ได้มาเพียงสกิล ‘Net Super’ สำหรับการซื้อสินค้าจากญี่ปุ่น เพื่อส่งตรงมายังต่างโลกได้ ชีวิตของมุโคดะในฐานะของผู้กล้าจากต่างโลกจึงจบไป และหันไปผจญภัยทำอาหารร่วมกับสัตว์อสูรในตำนานอย่าง ‘เฟนริร’ (Fenrir) แทน

Photo Credit: MAPPA Co., Ltd.

ด้วยการดำเนินเรื่องของการ์ตูนเรื่องนี้เป็นรูปแบบการผจญภัย และใช้ชีวิตประจำวัน จุดเด่นของการไปต่างโลกเรื่องนี้ก็คงจะไม่ต่างอะไรกับการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ในแนวเดียวกันมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้มันพิเศษกว่าเรื่องอื่นคือ ‘การทำอาหารที่มาจากประเทศญี่ปุ่นในต่างโลก’ หากมองในมุมมองความบันเทิงมันก็คือ การ์ตูนตลก ชีวิตประจำวันไม่ได้หวือหวาอะไร แต่ในแง่มุมของโลกภายนอก มันเป็นยิ่งเสียกว่าการ์ตูนเสียอีก

สกิลสุดพิสดารที่มาพร้อมกับ ‘Soft Power’ ในอาหารญี่ปุ่น

ปัจจุบันอำนาจละมุน ,อำนาจอ่อน หรือที่จะเรียกกันว่า Soft Power ถูกใช้ในบริบทของสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นประเทศนั้นๆ ที่ต่างประเทศเห็นแล้วสามารถจดจำ และระบุได้ถึงเอกลักษณ์เหล่านั้น ตามทฤษฎีแล้วอำนาจอ่อน เป็นแนวคิดทางการเมืองการปกครอง ในยุคที่ความรุนแรงไม่สามารถใช้แก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ ผู้นำประเทศต่างๆ ล้วนหาสิ่งที่มีความสามารถในการกดดันประเทศอื่นโดยปราศจากการใช้กำลัง หรือความรุนแรง

เป็นจุดเกิดของอำนาจละมุน ที่ถือว่าเป็นสิ่งที่สร้างอิทธิพลให้ประเทศหนึ่งรู้สึกอยู่ภายใต้อำนาจโดยไม่ใช้กำลัง แนวคิดของอำนาจละมุนในปัจจุบันมีการตีความที่หลากหลายขึ้นเพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้ตามยุคสมัยได้ จากตอนแรกที่มีอำนาจเพียงแค่ทางการเมืองการปกครอง แต่ในปัจจุบันมีอำนาจในด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนมาก

Photo Credit: Goldmedia

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries คือชื่อเรียกสากลส่วนในประเทศไทยจะใช้คำว่า Creative Economy Agency ดูแลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ประกอบไปด้วย 15 ประเภท) ที่อำนาจละมุนมีบทบาทอย่างมากในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ออกมา โดยมีเป้าหมายเพื่อการส่งออกให้เป็นอำนาจรูปแบบหนึ่ง

โดยอำนาจละมุนจะมีรูปแบบอยู่ด้วยกัน 3 ลักษณะหลักๆ ที่แบ่งประเภทตามต้นทุนของประเทศนั้นๆ เพื่อสร้างอำนาจ

  1. ต้นทุนทางการเมืองการปกครอง การเป็นประเทศมหาอำนาจ การเป็นประเทศประชาธิปไตย ล้วนถือว่าเป็นต้นทุนที่สร้างอำนาจละมุนให้แก่ประเทศได้ทั้งสิ้น ตัวอย่าง สหรัฐอเมริกาที่มีอำนาจถึงแม้จะไม่ต้องใช้ความรุนแรง หรือจะเป็นประเทศฝรั่งเศสที่เป็นหนึ่งในประเทศที่โดดเด่นด้านประชาธิปไตยคุณค่า และต้นทุนของประชาธิปไตยจึงสร้างอำนาจละมุนให้แก่ประเทศโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง
  2. ต้นทุนทางวัฒนธรรม เป็นต้นทุนที่เห็นได้มากที่สุด และเหมาะสมที่สุดในบริบทของเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากทุกประเทศมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปคนทั้งประเทศสามารถรับรู้การมีอยู่ของมันได้ อีกทั้งยังมีความสามารถที่โดดเด่น อย่างการเป็นภาพจำ เอกลักษณ์ให้กับประเทศได้ อำนาจละมุนที่มีต้นทุนมาจากวัฒนธรรมจึงมีผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ประเทศเกาหลีกับการนำเสนออาหารของประเทศลงไปในซีรีส์และส่งออก จนผู้ที่ได้รับชมเกิดความต้องการในการรู้จักและอยากทานตาม และฝั่งยุโรป
  3. นโยบายต่างประเทศ เป็นต้นทุนที่มักจะยึดโยงกับต้นทุนทางวัฒนธรรม เรียกได้ว่าเป็นส่วนช่วยในการส่งเสริมต้นทุนทางวัฒนธรรมให้เข้าถึงประเทศอื่นได้มากยิ่งขึ้นนั้นเอง

ต้นทุนทั้ง 3 ลักษณะนี้ เป็นสารตั้งต้นของการเกิดอำนาจอ่อนที่จะสร้างอำนาจให้กับประเทศเจ้าของต้นทุนได้ แต่ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ คือ ‘กลุ่มเป้าหมาย’ หรือก็คือประเทศเป้าหมายที่อยากจะส่งออกอำนาจไปนั่นเอง นั่นหมายความว่า ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนประเทศนั้นเข้าใจสื่อที่ส่งไป ไม่ว่าจะจากการแปลภาษา หรือใช้ตัวช่วยอื่นๆ ให้เข้าใจได้

Photo Credit: MAPPA Co., Ltd.

กลับมาที่การ์ตูนเรื่อง สกิลสุดพิสดารกับมื้ออาหารต่างโลก ที่เราเรียกว่าเป็นอำนาจอ่อนของประเทศญี่ปุ่นได้เต็มปากนั้น มีเหตุผลอยู่หลายประการ ตัวการ์ตูนไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์การเป็นอำนาจอ่อนหรอก เพียงแต่ว่าองค์ประกอบของมันใช้ต้นทุนที่เป็นวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอย่าง ‘อาหาร’ มันจึงมีความสามารถในการเป็นอำนาจอ่อน คล้ายกับกรณีของประเทศเกาหลีที่มักจะใช้อาหาร สถานที่ เข้ามาโปรโมทประเทศอย่างเนียนๆ ในซีรีส์

ทีนี้การ์ตูนเรื่องนี้จึงมีความสามารถสูงพอที่จะสร้างผลกระทบให้ประเทศอื่นๆ ในความต้องการอาหารที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง แบรนด์ของประเทศญี่ปุ่นหลายแบรนด์ก็เข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนเพื่อหวังว่ากระแสของการ์ตูนจะผลักดันยอดขาย ซึ่งมันสร้างยอดขายที่ถล่มทลายในประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก

ในกรณีนี้เราจะกล่าวในมุมมองที่ประเทศไทยคือ เป้าหมายของอำนาจละมุน การ์ตูนได้ถูกนำเข้ามา และแปลภาษาให้คนไทยสามารถเข้าใจได้ ตรงกับแนวคิด ดังนั้น ประเทศไทยได้ถูกอำนาจละมุนจากญี่ปุ่นโจมตีเรียบร้อยแล้ว เรารู้จักวัฒนธรรมอาหารของเขาไปอย่างไม่รู้ตัว ถือเป็นการใช้อำนาจละมุนที่ประสบความสำเร็จครั้งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น

อาจจะเกิดคำถามขึ้นได้ที่ว่า ‘ต้องมีกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่หรือถึงจะเรียกว่าอำนาจละมุนได้?’ ใช่แล้วในส่วนของเป้าหมายเราจะคุยกันในหัวข้อถัดไป แต่ไทยคือเป้าหมายแน่นอน

Photo Credit: NHK

นโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของญี่ปุ่น

เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนคงจะได้ยินเรื่อง ‘Cool Japan’ มาอยู่บ้างพูดให้เข้าใจง่ายๆ มันคือ นโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศ โดยสิ่งที่โดดเด่นคือ การ์ตูนอนิเมชัน ที่โด่งดังเป็นอุตสาหกรรมหลักของวงการบันเทิงญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ผู้คนทั่วโลกล้วนรู้จักว่ามันคืออะไร

ในจุดนี้จะตอบคำถามของความเป็นกลุ่มเป้าหมาย จากนโยบายนี้ กลุ่มเป้าหมายของเขาคือ คนในประเทศ และคนต่างประเทศที่ชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่น เป็นเหตุผลที่เราบอกว่า ไทยคือเป้าหมาย เพราะคนไทยมีความผูกพันกับการ์ตูนญี่ปุ่นมาหลายสิบปี ไม่แปลกเลยที่จะมีการนำเข้ามาตลอด จึงเป็นช่องทางของการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ง่ายที่สุด

นั่นทำให้เงื่อนไขของอำนาจละมุนสมบูรณ์ขึ้นมา กลายเป็นอำนาจละมุนจากวัฒนธรรมอาหารที่ปรากฏในการ์ตูนเรื่องนี้ สร้างผลกระทบให้กับคนไทย และสร้างผลดีทางด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ประเทศไทยยังถูกอำนาจละมุนของประเทศเกาหลี และจีนเข้าเล่นงานอยู่ในทุกวันนี้ ทั้งอาหารเกาหลีที่อยู่เกลื่อนบ้านเมืองเรา หรือจะเป็นหม้อไฟหมาล่าของจีน เรียกได้ว่า เรารับอำนาจอ่อนของทุกประเทศเข้ามาเลยก็ว่าได้ แต่ไทยก็มีการส่งออกเช่นกันนะ อย่าง ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ อาหารไทยต่างๆ ที่ต่างชาติชื่นชอบ

Photo Credit: YG Entertainment

แต่มักจะมีบางอำนาจที่ผู้คนมักเข้าใจผิด อย่างกรณีของ ‘ลิซ่า’ ในเพลง ‘LALISA’ ที่มีการใช้องค์ประกอบของประเทศไทยใน MV จนคนเข้าใจว่านี่คือ อำนาจละมุนของไทย แท้จริงแล้วไม่ใช้เลย การใช้องค์ประกอบใน MV เป็นต้นทุนของไทยก็จริง แต่สิ่งที่นำเสนออยู่ในเพลงนั้นคือ ‘K-Pop’ ต่างหาก ถ้าจะพูดให้ถูก เพลง LALISA คืออำนาจละมุนของประเทศเกาหลีด้วยต้นทุนของเพลง K-Pop ต่างหาก ไม่ใช่อำนาจละมุนของไทยแต่อย่างใด

ดังนั้นนโยบายของประเทศมีผลต่อการสร้างอำนาจละมุน ที่จะส่งออกไปเป็นพลังให้แก่ประเทศได้ ซึ่งในความเป็นจริงประเทศไทยยังขาดความเข้าใจในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล่านี้อยู่มาก

การสนับสนุนที่ประเทศไทยต้องการ

ความเข้าใจคือ สิ่งแรกที่อยากจะให้เกิดขึ้น เราต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ว่าอะไรคือการส่งออกอำนาจละมุนกันแน่ ผู้คนมักจะบอกว่า มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลแต่ความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็น เนื่องจากอำนาจละมุนถูกใช้อยู่ในบริบทของเศรษฐกิจแล้ว ใครก็สามารถนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือได้

Photo Credit: GamingDose

กรณีของประเทศไทยเคยมีอำนาจละมุนที่น่าสนใจอยู่ตัวหนึ่งคือ เกมสยองขวัญ ‘Home Sweet Home’ ที่ใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ ความเชื่อของไทยเป็นต้นทุนในการสร้างเกมเพื่อหวังจะให้เป็นอำนาจละมุนอีกหนึ่งอันของประเทศ มีช่องทางการส่งออกที่ชัดเจน เรียกได้ว่า มันจะเป็นอำนาจละมุนอยู่แล้ว แต่!

รัฐบาล และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ แถมยังกล่าวหาว่า ผู้พัฒนาสร้างผลงานที่ส่งผลให้กับความเชื่อของไทย ทั้งๆ ที่การกระทำของพวกเขาเป็นการสร้างอำนาจละมุนที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก และมีความสามารถด้านเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยได้อย่างชัดเจน เพียงแต่ถูกขัดขวางด้วยกลุ่มคนที่ควรจะผลักดันเรื่องนี้อย่างรัฐบาลเอง

ดังนั้น ความต้องการของประเทศไทยคือ ‘การสนับสนุน’ ที่ต้องสนับสนุนให้คนในประเทศมีความสามารถอย่างเต็มที่ในการส่งออกอำนาจเหล่านี้ออกไปสู่ข้างนอกให้ได้เหมือนกับกรณีของประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี ที่สามารถส่งออกวัฒนธรรมอาหารออกมาได้โดยไม่ถูกรัฐบาลขัดขวาง

Photo Credit: MAPPA Co., Ltd.

ท้ายที่สุดนี้ กรณีตัวอย่างของการ์ตูนเรื่อง สกิลสุดพิสดารกับมื้ออาหารต่างโลก ก็เป็นแบบอย่างในการถอดแบบที่ดี ไม่ต้องใช้อะไรมาก แค่นำอาหารของประเทศตัวเองมาสร้างเป็นองค์ประกอบในเรื่องราว แค่นี้ก็สามารถสร้างอำนาจละมุนที่กระแทกใจคนไทยที่ได้รับชมไปได้แล้ว แค่เห็นก็น้ำลายไหลอยากทานเนื้อวากิว A5 ขึ้นมาทันที

ซึ่งประเทศไทยก็สามารถทำได้นะ ทำให้ต่างชาติน้ำลายไหลอยากทานอาหารไทยจากละคร ภาพยนตร์ หรือวิดีโอเกม แต่น่าเสียดายที่การสนับสนุนมันช่างไม่เหมาะสมเอาเสียเลย หวังว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในครั้งนี้จะมีนโยบายที่พูดถึงอำนาจละมุนในบริบทเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น ผู้คนจะได้เห็นช่องทางในการนำต้นทุนที่มีอยู่ในพื้นที่มาสร้างเป็นรายได้ได้มากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมาก็มีทั้งสุราท้องถิ่น ไอศกรีมลายกำแพงวัด ที่โด่งดังบนโลกออนไลน์ อีกแค่เพียงนิดเดียวเท่านั้น สิ่งพวกนี้ก็สามารถกลายมาเป็นอำนาจละมุนของประเทศไทยได้แล้ว ขาดเพียงแค่ที่นโยบายสนับสนุนเท่านั้น

อ้างอิง

Joseph Nye