SOISA:M สถานที่เงียบสงบในซอยลึก แต่ไม่ได้เป็นสถานที่ลับของนักเสพศิลป์ หลายคนที่อยู่ในวงการศิลปะ แฟชั่น คงเคยผ่านหู ผ่านตามาบ้าง กับ “โชน ปุยเปีย” ดีไซน์เนอร์ไทยในแวดวงแฟชั่น ที่ช่วยคืนชีพเสื้อผ้าธรรมดาให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง วันนี้เราจะพาไปตะลุยห้องเสื้อของ “โชน ปุยเปีย” ห้องแห่งงานสร้างสรรค์ของวงการแฟชั่นสไตล์ minimal แต่ดีไซน์ maximum เพื่อให้ได้เห็นความพิถีพิถันจากแนวคิด และนำมาร้อยเรียงเรื่องราวทุกอย่างผ่านเส้นไหมจนมาเป็นเสื้อผ้าในแบรนด์ “SHONE PUIPIA” อย่างทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาอยู่ในวงการแฟชั่น
ต้องท้าวความให้ทุกคนฟังก่อนเลยว่า “ครอบครัวปุยเปีย” เป็นครอบครัวที่อยู่ในแวดวงศิลปะมานานตั้งแต่รุ่นใหญ่แบบคุณย่า จนส่งต่อมาถึงรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งยีนเด่นของบ้านปุยเปียที่ถูกส่งต่อและถ่ายทอดกันมาตามสายเลือดของศิลปะจนทำให้โชนได้คลุกคลี และมีโอกาสในการสานต่อเรื่องราวศิลปะในแบบของตัวเอง โชนเล่าให้เราฟังว่า “เติบโตมาในสภาพแวดล้อมของศิลปะ คิดว่าถ้าโตไปคงอยากทำอะไรในด้านครีเอทีฟ แต่ไม่เคยอยากไปทาง Fine Art เหมือนกับคุณพ่อ คุณแม่เลยสักครั้ง จนมาเจอศาสตร์ของแฟชั่น โชนได้ลองทำอะไรกับเสื้อผ้า ลองแปลงจากของ 2 มิติ ให้กลายมาเป็น 3 มิติ และได้สร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาที่มันใกล้ชิดกับร่างกาย โชนมองว่ามันเป็นศิลปะที่สามารถสวมใส่ได้”
กว่าจะมาทำแบรนด์อย่างจริงจัง เขาเริ่มจากการที่หยิบจับ และสร้างอะไรทีละเล็กละน้อยก่อน ประจวบเหมาะกับเวลาที่มันพอดิบพอดี และจังหวะชีวิตที่ใช่ ก็ทำให้เขาถูกชักชวนให้ไปจัด Exhibition ที่พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม (MAIIAM) เพื่อแสดงงานคอลเลคชั่น ของโชนในช่วงสมัยเรียน ตั้งแต่ปี 1 – ปี 4 นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นแรกของการ debut stage ในฐานะของดีไซเนอร์ไทยเลยก็ว่าได้ โชนยังเล่าให้ฟังอีกว่า โดยปกติแล้วคนที่เรียนจบมาด้านแฟชั่นแบบนี้ก็คงมีความใฝ่ฝันที่จะได้ไปฝึกหัดตามห้องเสื้อใหญ่ๆ เพื่อฝึกฝน ฝึกมือจนนำประสบการณ์เหล่านั้นกลับมาพัฒนาต่อจนเป็นแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง เดิมทีโชนเองก็ไม่ได้คิดว่าจะสร้างแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเองเลย แต่พอถึงจุดหนึ่งโชนก็อยากมีพื้นที่ที่สามารถจัดแสดงงานของตัวเอง เพื่อให้มันเป็นในรูปแบบที่โชนต้องการและแสดงถึงความเป็นตัวตนของโชนจริงๆ จึงเป็นที่มาของการเกิด SOI SA:M และ “SHONE PUIPIA”
สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของเสื้อผ้า SHONE PUIPIA
“ความ Minimal ในโครง แต่ Maximum ใน Details” เสื้อผ้าของโชนจะใช้การทำที่พิถีพิถัน ในแต่ละชิ้น ในแต่ละงานก็จะมี Cutting หรือลูกเล่นที่แตกต่างกันออกไป โชนให้ความสำคัญกับเรื่องตัดเย็บและวัสดุจะใช้เป็นอย่างมาก บางชิ้นงานก็ใช้เวลาผูกผ้าด้วยมือจนกินเวลาไปร่วม 2 เดือนก็มี บางชิ้นงานอยากให้มี Texture ก็ทำการวาดมือแล้วนำไปปริ้นท์สกรีน หรือแม้กระทั่งบางชิ้นงานก็นำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บมารีไซเคิลให้เป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ งานทุกชิ้นของโชนจะมีเทคนิคของ “Hand Craft” เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องตลอด โชนจะเป็นคนที่คอยคิดค้นและเทคนิคใหม่ๆ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับงาน และเป็นการ Challenge ตัวเองไปอีกทางด้วย โชนพูดตลอดการสนทนาว่าเสื้อผ้าไม่สามารถใส่ความคิดและเทคนิคของเขาลงไปได้อย่างเดียว แต่ในฐานะดีไซน์เนอร์ ตัวเขาเองก็เปรียบเสมือนผู้ที่ทำหน้าที่ในการช่วยดึงตัวตนของคนๆ หนึ่งให้ออกมา และอธิบายผ่านเสื้อผ้าเหล่านั้น เพราะสำหรับโชนแล้ว เขามองว่าเสื้อผ้าเป็นเหมือนเครื่องมือสื่อสารที่ใช้เป็นตัวกลางบอกความเป็นตัวเองได้ดีที่สุด เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนอื่นเห็นเราจากภายนอก และเข้าใจความเป็นตัวตนของเราได้ผ่านเสื้อผ้าที่เราใส่ออกมา
งานทุกชิ้นของโชนจะเล่นเรื่องสีเป็นหลัก อยากให้คนมองแล้วรู้สึกสนุก และมีความสุขตลอดเวลา โชนจะพยายามใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในเนื้องานด้วย แต่ในทุกๆ คอลเลคชั่นที่ผ่านมาก็จะมีสีแดงเข้ามาเป็นส่วนประกอบเสมอ เพราะมันมีพลังบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่ามีอิทธิพล โชนแอบกระซิบให้เราฟังอีกว่า “อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวตนของโชนที่เป็นคนเร่าร้อนก็ได้” (หัวเราะ)
Character Vs. Charisma
ทุกครั้งที่เราให้โชนเล่าเรื่องตัวเอง โชนจะมีความเคอะเขินและพูดน้อยอยู่เสมอ แต่เมื่อไรที่เขาเริ่มพูดถึงงานของเขา ทั้งเสื้อผ้า หรือกระบวนการต่างๆ เขากลับเป็นคนที่อธิบายทุกอย่างได้อย่างละเอียด “โชนเป็นคนพูดน้อย นิ่งๆ เงียบๆ (หัวเราะ) โชนไม่ค่อยชอบพูดไม่ค่อยชอบอธิบาย แต่อยากให้งานมันพูดด้วยตัวของมันเอง” โชนมักจะพูดถึงการตัดเย็บเสื้อผ้าและแนวคิดของเขาให้เราฟังว่าสิ่งหนึ่งที่มันเป็นจุดเด่นคือ “งานของโชนมันทำออกมาเป็น made to order และข้อดีของมันคือการที่คนๆ หนึ่งจะเลือกซื้อเสื้อผ้าของโชนไป เขาก็จะได้ใส่ตามไซส์ ตามขนาด ตามแบบที่ตัวเองต้องการจริงๆ มันคือความวิเศษของเรื่องราวการเนรมิตเสื้อผ้าให้บุคคลนั้นๆ อีกทั้งโชนยังคิดว่าวงการเสื้อผ้าก็ถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ทำลายระบบธรรมชาติอย่างมาก ดังนั้น การทำเสื้อผ้าแบบ made to order ก็ยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ยังพอช่วยพยุงสิ่งแวดล้อมได้ อย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นเสื้อผ้าที่ผลิตมาออกมาในปริมาณมากๆ แต่ผลิตตามความต้องการของคนจริงๆ” นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เป็นความแตกต่างที่ดูลงตัวของแบรนด์ SHONE PUIPIA
เปิดห้องชมงานสร้างสรรค์เบื้องหลังความสำเร็จ
ปกติงานทุกงานที่เป็นเสื้อผ้าของโชนมักจะได้ออกสู่สายตาประชาชนทุกชิ้น แต่ใครจะรู้ว่ามีอีกหนึ่งสิ่งที่ก็ถือป็นชิ้นงานที่เป็นเบื้องหลังของความสำเร็จในเสื้อผ้าแต่ละคอลเลคชั่น แอบแฝงตัวอยู่ด้วย กว่าจะเป็นเสื้อผ้าแต่ละชิ้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และน่าจะมีอีกส่วนหนึ่งที่หลายคนอาจจะลืมคิดไปด้วยซ้ำ โชนพาเราแวะไปดู และเยี่ยมชม ชิ้นงานแบบ 2D ที่รวบรวมความคิดของโชนและปะติดปะต่อเรื่องราว และควบรวม Collection ไว้ด้วยกัน นั่นก็คือ Collage (คอลลาจ) โชนเล่าว่า “เมื่อก่อนโชนจะทำ Collage ทุกครั้งก่อนเริ่ม Collection เราจะสะสมรูปภาพต่างๆ มาเพื่อแปะและทำให้เป็น Collage ซึ่งโชนเล่าว่า Collage จะช่วยให้ประมวลผล และสามารถสร้างเป็นธีมใหม่และเป็น Collection ขึ้นมาใหม่ได้ ถือเป็น Process Work ที่ดี ถ้ามีเวลาและมีโอกาสก็อยากจะทำ Collage อีก” นอกจากรับบทเป็นดีไซเนอร์แล้วโชนเองก็ยังมีอีกมุมน่ารักๆ คือเป็นเชฟเพราะโชนเป็นคนที่ชอบทำขนม และชอบกิน โชนถึงกับต้องกระซิบให้เราฟังว่า “ในอนาคตก็มีแพลนจะเปิดคาเฟ่ ณ ที่แห่งนี้ อาจจะแอบมีขนมของโชนทำมาวางขายบ้าง” (หัวเราะ) หรือแท้ที่จริงแล้ว ผลงานที่โชนยังไม่ได้ออกสู่สายตาของคน คือ ขนมกันแน่
ถ้าวันนี้ไม่มีเสื้อผ้า ไม่มีแฟชั่น
“โลกมันคงหม่นหมองไปมากกว่านี้ เพราะมันก็เป็นส่วนช่วยเยียวยาจิตใจเราได้ มันให้ความสุขเราได้ประมาณหนึ่ง ที่ผ่านมาก็รู้สึกว่าโชคดีที่ยังสามารถทำงานที่เรารักต่อไปได้ และอย่างน้อยๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นในช่วงเวลาที่เราเครียด และก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามี่ความหวัง ซึ่งมันก็เลยเป็นที่มาของชื่อโปรเจ็กต์ล่าสุด Cloud Busting ซึ่งเป็นชื่อเพลงของ Kate Bush เนื้อเพลงมันเป็นเรื่องการให้ความหวัง และการรอวันที่ดีขึ้นกว่าเดิม”
โชนพูดต่อว่า “ตอนนี้วงการเสื้อผ้ามันสนุกกว่าเดิมตรงที่สมัยนี้เริ่มมีเด็กรุ่นใหม่ที่มาทำอะไรให้มันมี Energetic มากขึ้น เริ่มมีหลายแบบมากขึ้น ดีไซเนอร์ไทยก็เริ่มมีความแตกต่างกัน และมีหลายแนวกว่าแต่ก่อน มีหลายคนที่ออกมาทำแบบโชนซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดี เหมือนคนให้ความสำคัญกับเสื้อผ้ามากขึ้น”