“โสเพณี” ชื่อเรียกกลุ่มเฟซบุ๊กจ้อจี้ที่แฝงการใช้งานจริง!?

เมื่อพูดถึงเรื่องของชีวิตการทำงาน แน่นอนแหละที่อาชีพ โสเภณี คงไม่ค่อยติดอันดับเท่าไร ถ้าไม่ใช่ในวงที่คุยกันหยอกล้อขำขัน แต่วันนี้เราจะมารู้จักกับคอมมูนิตี้บนเฟซบุ๊กที่เปิดพื้นที่ให้คุณได้แสดงตัวตนว่าคุณคือใคร ในฐานะคนทำงานบริการ

มาม่าซังโรส บัญชีอวตารเฟซบุ๊กผู้ก่อตั้งกลุ่ม “โสเพณี”

Photo Credit มาม่าซังโรสเพณี

มาม่าซังโรสพูดเกี่ยวกับเรื่องการให้กำเนิดกลุ่มมาจากประเด็นที่ในเฟซบุ๊กกรุ๊ปหนึ่งในเรื่อง “ทำงานขายบริการถูกกฎหมาย” แต่กลับไม่ได้รับอนุมัติ จึงนำเรื่องนี้เข้าไปคอมเมนท์ภายในกลุ่ม จนโพสประเด็นดังกล่าวถูกเผยแพร่และได้รับความสนใจจำนวนมาก จึงได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้คนได้มีโอกาสถกกันในเรื่องการขายบริการอย่างไม่จำกัด ทั้งในประเด็นเรื่องจริง และประเด็นจ้อจี้ 

แน่นอนว่าถ้าเราเป็นสมาชิกกลุ่ม จะเห็นว่ามีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การเล่าเรื่องแขกคนเมื่อคืน การดีลงานในแบบทีเล่นทีจริง จนดูไม่ออกว่านี่กำลังขายกันจริง หรือแค่เอาฮากันแน่ แต่อย่างที่บอก “แฝงไปด้วยการใช้งานจริง”

มันคือคอมมูนิตี้จริงๆ ของ “โสเภณี” ด้วยหรือเปล่า?

“ทุกอาชีพควรมีสิทธิในการพูดคุยเปิดมุมมอง”

“เราไม่ได้มองว่าคนนี้เป็นโสเภณีหรือไม่ เราให้ความเสมอภาคทุกอาชีพในการพูดคุยเปิดมุมมองกัน หากมีการรับงานจริงในกลุ่ม ก็คงเป็นไปตามความพอใจของพวกคนในกลุ่มเอง มีการเล่าขำๆ ด้วยว่า มีโพสขอแลกเปลี่ยนเป็นทุเรียน ข้าวสารก็มีนะ (หัวเราะ)” 

ในมุมของความถูกต้อง มาม่าซังโรส พูดถึงในประเด็นที่ว่าประเทศไทยเองยังไม่เปิดรับเรื่องนี้ เพราะคำว่าโสเภณี มันโยงเข้ากับการค้ามนุษย์ เพราะการค้ามนุษย์เป็นเรื่องผิดกฎหมายมาแต่ไหนแต่ไร เป็นตราบาปเลยว่าการค้ามนุษย์ สิ่งแรกที่นึกถึงต้องเป็นโสเภณีอยู่แล้ว จึงกลายเป็นว่าโสเภณีเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

“ในแง่ของกฎหมายถ้าคนเรามีเซ็กส์ได้ ทำไมถึงเอาเซ็กส์มาแลกเป็นเงินไม่ได้ เพราะมันคือสิทธิในร่างกายของเราเอง”

มาม่าซังโรส กล่าวเป็นคำถามให้วิเคราะห์สั้นๆ ว่าในประเด็นที่ว่างานขายบริการทำไมถึงไม่ถูกกฎหมาย

ประเด็นเรื่องของ โสเภณีหรือพนักงานขายบริการยังไม่จบ เพราะเรายังมีอีกมุมมองนอกจากสิทธิเสรีภาพในการพูดคุยทุกเรื่องได้อย่างอิสระแล้ว ยังมีในแง่มุมของนักรณรงค์ที่เล่าถึงข้อกฎหมายและคำถามที่เขาต้องเจอมาตลอดหลายปี

ต้น SirisakPosh ChaitedSpice 

คุณต้นพูดให้เราฟังในฐานะของคนที่เคยทำงานที่ได้ชื่อว่า โสเภณี ด้วยมุมมองที่เปิดกว้างกับประเด็นคำถามหลักๆ จากสังคมที่พบมาตลอดหลายปีของการเป็นนักรณรงค์

Photo Credit SirisakPosh ChaitedSpice

ประเด็นแรก “พนักงานบริการ” ควรเป็นงานถูกกฎหมาย?

“สิ่งที่อยากรณรงค์ เราอยากให้พนักงานบริการไม่ถูกมองว่าเป็นอาชญากร แต่ถ้าเรารณรงค์ให้ถูกกฎหมายหมายความว่ามันจะมีกฎหมายใหม่เข้ามาควบคุมเรา ซึ่งตอนนี้ภาครัฐกำลังทำอยู่และมันไม่เวิร์ค”

“ในหลายประเทศเมื่อทำให้ถูกกฎหมายได้แล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องที่ดี มันคือการลดคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แบ่งชนชั้น ละเมิดสิทธิต่างๆ อย่างอาชีพอื่นๆ ไม่ได้มีอาชีพไหนที่มี พรบ. มาจำกัด มีแค่เรื่องจรรยาบรรณ ถ้ายกตัวอย่าง แม่ค้าส้มตำมี พรบ. ให้ถูกกฎหมายขึ้นมาจะเป็นยังไง? แม่ค้าต้องขายราคาตามกฎหมายกำหนด คุณภาพจะต้องตรงตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าขายเกินราคาก็เท่ากับว่าทำผิดกฎหมาย เราเลยใช้คำว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะถ้าเทียบกับแม่ค้าส้มตำเขาขายข้างทางก็ไม่ผิดกฎหมาย ถูกต้องไหม?”

Photo Credit Katherine Hanlon

ประเด็นที่สอง เมื่ออาชีพนี้ถูกกฎหมายจะทำให้เด็กและคนจะแห่มาทำอาชีพนี้ไหม?

“เรากำลังพูดถึงคนที่มีความสมัครใจในการทำอาชีพนี้ แต่ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้ผู้เยาว์หรือคนที่ถูกบังคับเข้ามาทำงานนี้ ถ้าเซ็กส์เวิร์คเกอร์ไม่ผิดกฎหมาย กฎหมายแรงงานจะควบคุมเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือผู้เยาว์แทนโดยไม่จำเป็นต้องมี พรบ. แยก”

ประเด็นที่สาม ศีลธรรมกับงานขายบริการ?

“ทุกคนมีโอกาสในการทำลายศีลธรรมเท่าเทียมกัน”

“คนพูดกันเหลือเกินว่าอาชีพ กะหรี่ทำลายศีลธรรม ทำลายสถาบันครอบครัว ลองย้อนกลับมาคิดอีกที จริงๆ แล้ว ทุกคนมีโอกาสทำลายศีลธรรมเท่าเทียมกัน อย่าได้โยนบาปมาให้เซ็กส์เวิร์คเกอร์ การที่คนเราจะทำลายศีลธรรมมันเกี่ยวกับอาชีพไหม? คนเป็นหมอ เป็นครู ก็ยังสามารถเป็นคนที่ทำผิดศีลธรรมได้อย่างที่เห็นในข่าว การทำลายศีลธรรมไม่ใช่เรื่องของอาชีพ แต่เป็นเรื่องของจิตสำนึกของแต่ละบุคคล”

คำถามที่ต้องฟังแล้วได้สติปนขำจากคุณต้นก็คือ “ทุกวันนี้ที่คนเขามีชู้กัน เขาเป็นชู้กับกะหรี่เหรอคะ?” 

เป็นคำพูดที่ได้ยินแล้วเหมือนตื่นจากภวังค์ของกรอบวัฒนธรรมที่ทำให้เรามองว่ามันคืออาชีพที่ผิดศีลธรรม กลับมาคิดดูอีกที คนที่จะนอกใจคู่ครองไปมีชู้มักจะเลือกคนที่ใกล้ชิด คนที่ทำงานเดียวกัน หรือเพื่อนของเพื่อนมากกว่าที่จะเลือกสาวขายบริการมาเป็นเมียน้อย

Photo Credit We-Vibe WOW Tech

สิ่งที่เราขับเคลื่อนกันอยู่ก็คือ ยกเลิก พรบ. ปราบปรามการค้าประเวณีปี พ.ศ. 2539 แล้วคุ้มครองเราตามกฎหมายแรงงานทั่วไป และงานขายบริการเป็นงานเหมือนลูกจ้างทั่วไป ยุติการเอาผิดกับพนักงานบริการ 

“การขายบริการไม่ใช่อาชญากรรม”

มาม่าซังโรสและคุณต้นยกตัวอย่างขึ้นมาให้เราได้มองเห็นภาพเปรียบเทียบชัดเจนแจ่มแจ้ง ไขข้อสงสัยในทุกเรื่องอย่างเฉียบคมประเด็นของ “โสเพณี” ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปกับหลายๆ คน ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าพนักงานบริการในอนาคตจะได้รับการยอมรับมากขึ้นขนาดไหนในสังคมไทย

อ้างอิง

https://www.facebook.com/sirisakposh.chaitedspice.3

https://www.facebook.com/profile.php?id=100061635922583

https://www.facebook.com/groups/183322263678763