“ซีตรอง พลอยปภัส” ดาวรุ่งดวงใหม่แห่งวงการ Speed Skate

“9.47.71 นาที / 5,000 ม.
5.54.31 นาที / 3,000 ม.
1.42.46 นาที / 1,000 ม.”

นี่ไม่ใช่สูตรคำนวณทางฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์แต่อย่างใด แต่เป็นสถิติที่ดีที่สุดของ ซีตรอง - พลอยปภัสร์ นาคสวัสดิ์ นักกีฬา Speed Skate ระยะไกลวัย 12 ปีทำได้ 

ถ้าถามว่าสถิติเวลาประมาณนี้อยู่ในระดับไหน ต้องบอกเลยว่าระดับประเทศ กับผลงานที่เคยประชันกับรุ่นใหญ่ พร้อมยืนยันความสำเร็จด้วยเหรียญทองแดง Inline Speed Skate 1,000 ม. รุ่นบุคคลหญิง ในกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 46 (2018) และอีกหลายรางวัลในรุ่น U12 เช่น เหรียญทอง 1,000 ม., 5,000 ม. และเหรียญเงิน 3,000 ม. รายการ Inline Speed Skate - SAT VIRTUAL SPORTS (NEW NORMAL) 2021 เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ซีตรองกลายเป็นนักกีฬาดาวรุ่งดวงใหม่ที่น่าจับตามองมากๆ ในช่วงนี้

รู้จักดาวดวงใหม่

ซีตรองเป็นเด็กเกาะสมุยจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มเล่นกีฬาสปีดสเก็ตมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เพราะคุณพ่อพามาฝึกกับ ‘โค้ชชลัมภ์ ผึ่งผาย’ จนได้เป็นนักกีฬารุ่นแรกของ Suratthani Extreme Sport Club

ซีตรอง: มาลองเล่นเพราะเห็นเพื่อนเล่นมาก่อนแล้วมันน่าสนุกดี ได้ใส่รองเท้าที่เท่มากค่ะ (หัวเราะ) ตอนนั้นกีฬานี้ใหม่มากสำหรับเกาะสมุย เวลาไปเล่นที่ไหนคนก็จะสนใจ

โค้ช: สมัยนั้นสปีดสเก็ตยังถือเป็นกีฬาที่เล่นยากและใหม่สำหรับที่นี่ คนก็จะสนใจมากเป็นพิเศษ ด้วยล้อรองเท้าจะใหญ่กว่าโรลเลอร์เบลดทั่วไป (>100 มม.) แถมยังทำความเร็วได้พอๆ กับจักรยานเลย 

โค้ชชลัมภ์ ผึ่งผาย

ก้าวแรกสู่สนามแข่ง

หลังจากเริ่มฝึกฝนได้ไม่นาน ซีตรองก็เริ่มติดตามรุ่นพี่ไปลงแข่งตามสนามต่างๆ ตั้งแต่ 7 ขวบ แม้ตอนนั้นจะยังไม่ได้เหรียญอะไร แต่ก็ต้องขอตามไปด้วยทุกครั้ง ตามสไตล์เด็กที่ชอบออกไปเจอประสบการณ์ใหม่ ไปเปิดหูเปิดตาเจอเพื่อนใหม่ จนวันหนึ่งเมื่อเห็นรุ่นพี่ได้เหรียญกันบ่อยขึ้น ก็เริ่มมีแรงฮึดในใจว่าอยากได้บ้าง 

“ตอนนั้นถามคุณพ่อตลอดว่าเมื่อไหร่หนูจะได้เหรียญสักที แล้วก็ซ้อมมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาได้เหรียญทองแดงในกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 46 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ข้ามไปลงแข่งรุ่นบุคคลที่มีแต่นักกีฬารุ่นใหญ่และได้รางวัล ก่อนจะได้รางวัลอื่นตามมา”

อุปสรรคระหว่างทาง

แม้จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในสังคมที่มีพัฒนาหลายอย่างจนพร้อม แต่ด้วยความที่เป็นรุ่นบุกเบิกของทีมโค้ช กว่าจะมาถึงวันนี้เส้นทางการฝึกฝนของซีตรองก็ไม่ง่ายซะทีเดียว เพราะมีอุปสรรคในเรื่องของเวลาและสถานที่ซ้อม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาฝีมือ

โค้ชชลัมภ์เล่าให้เราฟังว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทีมยังไม่มีสนามสเก็ตที่ผู้ใหญ่ใจดีสร้างให้เหมือนทุกวันนี้ ต้องไปต่อคิวซ้อมกับกีฬาอื่นในสวนสาธารณะ ค่อนข้างลำบากเพราะเขาเลิกใช้สนามกันประมาณ 20:00 น. กว่าจะได้เริ่มซ้อมก็ดึกแล้ว โดยใช้สนามได้แค่ประมาณ 1 ชั่วโมง และแค่บางวันเท่านั้น อีกทั้งยังต้องระวังการชนกับคนอื่นด้วย 

เป้าหมายที่จะไปให้ถึง 

เมื่อทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายปลายทางของซีตรองและผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังก็เริ่มชัดเจนขึ้น นั่นคือ การได้เป็นหนึ่งในทีมชาติไทย และไปให้ไกลถึงระดับโลก อย่างน้อยก็มีโอกาสได้ไปเยือนรายการชิงแชมป์โลกสักครั้ง

โค้ช: การฝึกซ้อมจะเอาเวลาที่เป็นสถิติระดับโลกและระดับประเทศในแต่ละระยะเป็นตัวตั้ง แล้วเอาเวลาที่ซีตรองทำได้ไปเทียบดูว่าเป็นอย่างไร ควรฝึกอะไรเพิ่มเติมเป็นสเต็ปถัดไป เพื่อให้อยู่ในระดับใกล้เคียงหรือดีกว่าสถิติเดิมนั้นให้ได้ อย่างน้อยก็ต้องใกล้เคียงกับพี่ๆ ทีมชาติ ส่วนเรื่องอาหารก็สำคัญ จะมีผู้ช่วยโค้ช (ชุติพนธ์ นครังสุ นักกีฬาสปีดสเก็ตทีมชาติไทย) ช่วยดูแลเรื่องโภชนาการในแต่ละวันด้วย ถ้าวันไหนซ้อมระยะไกลมาก ก็จะเน้นโปรตีนและวิตามินมากหน่อย

ซีตรอง: ตอนนี้กำลังเตรียมตัวแข่งขันรายการชิงแชมป์ประเทศไทยอยู่ค่ะ และปีหน้ามีกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 47 ที่จังหวัดศรีสะเกษ ก็จะลงแข่งระยะไกลเหมือนเดิมค่ะ

เป็นนักกีฬาตั้งแต่เด็กคือความสนุก

หนึ่งในคำถามที่เรามักจะถามกับนักกีฬาที่เริ่มเดินเส้นทางนี้ตั้งแต่เด็กอยู่เสมอคือ ‘ชีวิตนักกีฬามันลิดรอนชีวิตวัยเด็กไหม’ เพราะในอดีตเราเคยได้ยินหลายคนพูดว่าการฝึกซ้อมกีฬาอย่างหนักตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้สูญเสียช่วงเวลาแห่งความสุขไป 

ซึ่งคำถามนี้ซีตรองบอกกับเราด้วยรอยยิ้มว่า “ไม่ค่ะ” เพราะการได้ซ้อมและแข่งขันทำให้ได้ไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ มากกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันด้วยซ้ำ ปีหนึ่งมีอย่างน้อย 5 สนามแข่งทั่วประเทศ (สถานการณ์ปกติ) ส่วนเวลาซ้อมทั้งโค้ชและครอบครัวก็ช่วยบาลานซ์ให้เป็นสัดส่วน มีเวลาให้เรียน และมีเวลาพักผ่อนแบบไม่เหนื่อยจนเกินไป ทำให้วันนี้เธอเองก็ยังสนุกกับสปีดสเก็ตอยู่ 

นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมกับการ ‘กลัวเจ็บ’

มาถึงเรื่อง ‘อุบัติเหตุและความเจ็บ’ สิ่งที่เกิดขึ้นได้กับกีฬาเอ็กซ์ตรีมทุกประเภท ยิ่งกับกีฬาท้าความเร็วอย่างสปีดสเก็ตที่เราเชื่อว่ามันอาจจะเกิดได้มากกว่าปกติด้วยซ้ำ

ซีตรอง: กลัวอุบัติเหตุบ้างเหมือนกันค่ะ เคยทั้งล้มทั้งคางแตก แต่ก็เล่นมันมาเรื่อยๆ เพราะใส่อุปกรณ์เซฟตี้ตลอด ทั้งตอนซ้อมและแข่ง มีสนับมือ สนับศอก สนับเข่า และหมวกกันน็อค

โค้ช: มันเป็นกีฬาความเร็ว ต้องยอมรับว่าอุบัติเหตุระหว่างการซ้อมหรือแข่งมีได้ตลอด การกลัวเจ็บก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้านักกีฬาใส่อุปกรณ์เซฟตี้แล้วก็จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ส่วนโค้ชมีหน้าที่สอนเทคนิคการทรงตัว และวิธีการล้มให้เจ็บน้อยที่สุด

แชร์เทคนิคในวันที่แพ้

แน่นอนว่าการแข่งขันมีทั้งแพ้และชนะสลับกันไปตามปัจจัยต่างๆ ดังนั้นเรื่องสุดท้ายที่เราเลือกมาพูดคุยจึงเป็นเทคนิคในการเอาชนะความเสียใจ เพราะขึ้นชื่อว่าเด็กก็มักจะมีความเซนส์ซิทีฟเรื่องการพ่ายแพ้อยู่พอสมควร 

ซีตรองบอกว่าผ่านจุดที่เคยร้องไห้เสียใจสมัยไม่ได้เหรียญมาสักพักแล้ว เป็นตอนที่ตามพี่ๆ ไปแข่งช่วงไม่กี่ขวบ แต่ตอนนี้ไม่ได้เสียใจมากขนาดนั้นแล้ว ซึ่งโค้ชเล่าเสริมว่าเป็นเพราะโค้ชจะรู้คร่าวๆ อยู่แล้วว่าเวลาของน้องจะอยู่ลำดับที่เท่าไหร่ ถ้าทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้แล้ว ถึงแม้จะไม่ได้เหรียญก็จะบอกน้องว่าทำดีแล้ว แค่วันนั้นอาจไม่ใช่วันของเรา เพื่อทำให้น้องภูมิใจในสิ่งที่เขาทำได้ แต่ถ้าวันนั้นแพ้เพราะทำเวลาได้ไม่ดี โค้ชก็จะบอกเหตุผลให้รู้ว่าเป็นเพราะอะไร และต้องกลับไปซ้อมแบบไหน

สุดท้ายนี้ทั้งซีตรองและโค้ชฝากว่า “กีฬาสปีดสเก็ตเป็นกีฬาที่จะช่วยให้ห่างไกลจากการติดโทรศัพท์ไปเลย เพราะต้องใช้สมาธิสูงและใช้เวลาฝึกกัน 2 - 3 ชั่วโมง แต่ถ้าผู้ปกครองอยากให้เด็กเล่นกีฬานี้จริงๆ ควรศึกษาข้อมูลให้ดีและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะว่าสามารถเกิดอันตรายขึ้นได้ตลอด”

ติดตามผลงานของซีตรองและ Suratthani Extreme Sport Club ทั้งหมดได้ที่ Roller Skate Koh Samui, Monkey Dome Koh Samui และ SISC