“ศรีมาลา เมียผู้ใหญ่บ้าน” แดร็กควีนสไตล์ไทยลูกทุ่งต่างจังหวัด รสมะม่วงเปรี้ยวราดซอสมะมาวน้ำปลาหวาน

ศรีมาลา’ คือชื่อของแดร็กควีนไทยผู้เข้าประกวดรายการแข่งขัน Drag Race Thailand Season 2 ที่มาพร้อมกับฉายา ‘เมียผู้ใหญ่บ้าน’ เธอคือแดร็กควีนที่นำเสน่ห์ความเป็นไทยต่างจังหวัด กลิ่นอายของไทยลูกทุ่งแบบ ยุ้ย ญาติเยอะ, รจนา สารคาม ไปจนถึงคุณแม่พุ่มพวง และเติ้ง ลี่จวิน ที่ผสมผสานกับป๊อปดิสโก้วิทนี่ถึงบริทนี่สเปียร์มารวมกันจนกลายเป็นแดร็กควีนเมืองไทยที่มีสไตล์หวานเปรี้ยวในไทยที่น่าจับตามองสุดๆ นบทความนี้เราเลยชวนพูดคุยทำความรู้จักให้มากขึ้นตั้งแต่ที่มาของชื่อ เพลงลูกทุ่ง การทำงานแดร็ก ชีวิตต่างจังหวัด และคำแนะนำถึงแดร็กรุ่นใหม่ๆ 

ศรีมาลา เมียผู้ใหญ่บ้าน ชื่อนี้มาจากไหน?

คำถามแรกที่เราถามถึงชื่อสุดติดหูนี้ เธอจึงเล่าตำนานกำเนิดศรีมาลาที่มีเรื่องราวเริ่มจาก ชื่อของภรรยาลูกชายขุนแผน ไอศกรีมดอกไม้ ไจ๋ ซีร่า มาจนถึง Yellow Chanel ว่า 

“ชื่อนี้มันเริ่มจากเราอยากตั้งชื่อแดร็กตัวเองที่มีความเป็นไทยแบบไทยมากๆ ตอนแรกไปเจอชื่อนี้มาตอนสมัยพาเด็กไปทัศนศึกษาที่วัดป่าเลไลย์ เจอชื่อ ศรีมาลา เป็นชื่อแฟนของลูกชายขุนแผน ก็ชอบว่ามันติดหูจัง ฟังแล้วสวย ต่อมาก็เจอมุกในเทยเที่ยวไทยว่า ศรีมาทำไม...ก็ศรีมาลา ต่อมาเจอที่ไอศกรีมดอกไม้ชื่อ ศรีมาลา ที่ทำจากดอกดาหลามีรสมะม่วงเปรี้ยวราดซอสมะนาวน้ำปลาหวาน แต่พอมาเลือกชื่อนี้จริงๆ ก็คือตอนที่พี่ไจ๋ ซีร่า ศิราถ่ายรูปไอศกรีมศรีมาลาแล้วแท็กเรามาว่า ศรีมาลา ก็ยิ่งชัดเจนว่านี่คือชื่อของฉัน ศรีมาลา จากนั้นก็บอกทุกคนว่าชื่อ ศรีมาลาและเริ่มเปิดตัวในฐานะแดร็กควีนกับการเล่นชาเลนจ์ของเพจ Yellow Chanel” 

Photo credit: yellow.channel

“เมียผู้ใหญ่บ้าน ฉายานี้มาตอนไปร้องเพลงกับกลุ่มเพื่อนๆ บริทนี่จากเพจ We're Slave 4 Britney Thailand ตอนจับไมค์ร้องเพลง เพื่อนก็บอกว่าเหมือนเมียผู้ใหญ่บ้านมาช่วยสามีหาเสียง ประกอบด้วยก็เคยชอบเพลงของ รจนา สารคาม เมียผู้ใหญ่บ้านมากก็เลยเป็น ศรีมาลา เมียผู้ใหญ่บ้าน”

ลูกทุ่ง นั้นมีอิทธิพลสร้างพลังกับแดร็กของศรีมาลาอย่างไรบ้าง 

แดร็กของศรีมาลานั้นมีสไตล์ที่เหมือนจดหมายรักถึงวัฒนธรรมไทยต่างจังหวัด ทั้งเพลงไทยเก่า วัฒนธรรมเพลงลูกทุ่ง และประสบการณ์ความรักต่อหมอลำ เธอเล่าถึงอิทธิพลของลูกทุ่งตั้งแต่เด็กที่หล่อหลอมมาจนกลายเป็นตัวตนแดร็กว่า 

“ลูกทุ่งมันเติบโตมากับเรา ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัด เราอิน เราก็เอามาผนวกกับการเป็นแดร็ก เอามารวมกัน ตอนเป็นเด็กก็ชอบรายการลูกทุ่งบันเทิง หนูช๊อบชอบ ชอบยุ้ย ญาติเยอะ ชอบนั่งฟัง ชอบดูหมอลำที่มีจินตรา ศิริพร อำไพพงษ์ ชอบไปหน้าฮ่านดูหมอลำ เพราะตอนนั้นที่อุดรธานีเป็นความบันเทิงเดียวที่อีสาน”

“ตอนเด็กๆ อยากเป็นหมอลำ เราชอบมองขึ้นไปบนเวที อยากเห็นตัวเองบนแสงสี มันคงจะเริ่ดถ้าได้เป็นดวงดาวจรัดแสงอยู่บนเวที หลังจากเรียนจบ ปวช ก็ไปอยู่กับวงหมอลำ ตอนแรกก็ไปเป็นแดนเซอร์แล้วเขาก็เห็นแววว่าเรากล้า ก็ได้มาเล่นตลก แต่งเป็นผู้หญิง ก็เรียนแต่งหน้าจากการดูคนอื่นแต่งหน้าแล้วก็แต่งๆ ฝึกฝนมาเรื่อยๆ จนแต่งหน้าเป็น เริ่มแต่งหน้าเป็นแดร็ก มันมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ การแต่งหน้าต้องทำไปเรื่อยๆ ถึงจะสวยขึ้น” 

“กว่าจะรู้จักคำว่า แดร็กควีนก็ตอนที่ได้เข้ามาดูโชว์ที่กรุงเทพที่ได้มาเจอนางโชว์สมัยพี่เพชรา พี่แอนเน่ เมย์วอง พอได้เห็นโชว์ที่นางโชว์ไม่ต้องเป็นกะเทยแปลงเพศมีนม ผมยาว นางโชว์ที่เปลี่ยนลุคไปมาได้ ก็เริ่มได้รู้จักว่านี่คือแดร็กควีน ตั้งแต่ตอนนั้นเราก็อยากเป็นมากๆ แล้วก็ได้มารู้จักพี่ไจ๋ ซีร่า ได้ใส่วิกพี่ไจ๋แล้วก็เริ่มจากแต่งตามก่อนที่จะพัฒนาสไตล์ของตัวเองมาเรื่อยๆ มาจนออดิชันแดร็ก เรซ ไทยแลนด์ซีซั่น 2”

ถ้าพูดถึงลูกทุ่งแล้วสิ่งแรกๆ ที่จะนึกถึงก็คือแม่ผึ้ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ และศรีมาลาก็เคยแข่งชาเลนจ์พุ่มพวงในแดร็ก เรซ ไทยแลนด์เราเลยถามศรีมาลาว่า ถ้าจะแนะนำให้คนรุ่นใหม่ หรือแดร็กรุ่นใหม่รู้จักพุ่มพวง ดวงจันทร์ จะแนะนำว่าอย่างไร

“จะแนะนำว่าแม่ผึ้งคือ ผู้หญิงที่มีความมหัศจรรย์มาก ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้เรียนหนังสือเลย เขาฟังเพลงแล้วสามารถพูดและร้องออกมาได้ อ่านหนังสือไม่ออก แต่เป็นนักสู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้หลายคน แม่ผึ้งเริ่มจากเป็นคนที่ไม่มีอะไร แต่มีความฝัน อยากมีบ้าน อยากมีรองเท้าสีแดง แล้วแม่ผึ้งก็สู้จนได้ทุกอย่างที่ฝัน แม่ผึ้งเป็นไอคอน แม่ผึ้งคือ มาดอนน่าเมืองไทย ถึงสมัยเราเกิดไม่ทันแต่ก็รู้จัก เพราะแม่ผึ้งเป็นตำนานที่ทุกวันนี้คงก็ยังพูดถึงอยู่ มีงานประจำปีที่วัดทับกระดาน วัดเอกมัย มีหุ่นขี้ผึ้ง คิดว่าสมัยนี้เด็กๆ สามารถหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้เยอะ”

สถานการณ์แดร็กไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง 

ศรีมาลาเล่าว่าตอนนี้ถึงไม่ได้มีโชว์ที่ The Stranger Bar (House of Drag Queens) ที่พี่ M Stranger Fox เขาให้โอกาสเราแสดง ถ้ามันเปิดเราก็สามารถไปติดตามดูนางโชว์ได้ที่นี่ ตอนนี้แดร็กก็มีออกรายการบันเทิง แต่งแดร็กลงโซเชียลมีเดีย และก็ทำงานอื่นรอจังหวะไปก่อน ตัวนางก็ทำงานอยู่ร้านอาหารไทย

ศรีมาลาเล่าว่า แดร็กไทย เป็นวัฒนธรรมที่มีมาตั้งนานแล้วและควรได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้ เพราะมันคือวัฒนธรรมที่เริ่ดของเมืองไทย

“สมัยก่อนเราก็ไม่รู้จักว่า แดร็กควีนคืออะไร พอได้เห็นเราก็รู้ว่า แดร็กอยู่กับเมืองไทยมานานมาก เพียงแต่คนไทยไม่เคยใช้คำนี้ มันอยู่กับวัฒนธรรมไทยมานานมาก สมัยก่อนก็มีแดร็กควีน มันอยู่ในละครก่อนๆ เจ้าสาวสองเงา หรือแม้กระทั่ง Miss ACDC ที่เราเองก็เคยได้ตำแหน่งในปี 2019 ก็เริ่มมาจากกะเทยแต่งกันเอง เป็นงานรื่นเริงประจำปี แดร็กควีนไทยมันโคตรเจ๋งเลย ในสื่อหลักยังไม่ให้ความสำคัญมาก จนมีจุดประกาย มันเป็นวัฒนธรรมป๊อปที่ปังมากนะ ควรจะมีพื้นที่ในสื่อและการสนับสนุนจากภาครัฐมากกว่านี้ด้วยซ้ำ”

คำแนะนำถึงแดร็กรุ่นใหม่

คำถามสุดท้ายที่เราถามศรีมาลาคือ ถ้ามีแดร็กควีนรุ่นใหม่ต่างจังหวัดมาขอคำแนะนำกับศรีมาลาว่า อยู่ต่างจังหวัดอาจจะไม่มีแพลตฟอร์มเท่ากับการอยู่ในเมืองหรือไม่มั่นใจในสไตล์แดร็กตัวเองเลย ศรีมาลาจะให้คำแนะนำอย่างไรบ้าง 

“ด้วยความประเทศไทย มันมีความเจริญอยู่แค่ในเมือง มันคือความเหลื่อมล้ำเหมือนกันนะที่ทำให้คนต่างจังหวัดต้องดิ้นรนเข้ามาอยู่กันในเมือง แดร็กต่างจังหวัดควรมีพื้นที่ให้โชว์ออฟนะ ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียมันมีพลังที่แดร็กสามารถใช้โชว์ตัวเองได้ แดร็กควีนหลายคนดังมาจาจาก Tiktok มันมีช่องทางให้เราได้สร้างตัวตน คิดว่าก็ต้องค้นหามันให้เจอที่เหมาะกับเรา ถ้ามันเป็นสิ่งที่เราชอบ แดร็กมันเป็นตัวของเรา เราก็ต้องต่อสู้หาทางทำมันต่อไป เราต้องคิดว่า เราจะไม่ยอมตกเป็นทาสของคุณหรอกค่ะ แล้วมันจะเริ่ด” 

ติดตามและอัปเดตผลงานแดร็กสไตล์หวานอมเปรี้ยวทั้งหมดได้ที่ miss_srimala