ตั้งแต่ที่ผู้เขียนได้สัมผัสกับคำว่า “แฟนคลับ” มานานกว่า 15 ปี รู้สึกได้เลยว่าไม่ว่าจะเป็นแฟนด้อมไหนๆ ก็มักจะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความครีเอทีฟ บ่อยครั้งที่มีเรื่องเหนือความคาดหมายมาให้เห็น เช่น ทำโปรเจกต์รถแห่ ติดป้ายโปรเจกต์กับรถตุ๊กตุ๊ก ติดสติกเกอร์เครื่องบิน เพื่อโปรโมทศิลปินในดวงใจ หรือแม้แต่สิ่งที่ค่อนข้างจะนามธรรมสุดๆ อย่างการซื้อดวงดาวให้ศิลปิน ที่อยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกันในครั้งนี้ ผ่านมุมมองของผู้รับ ผู้ให้ และคนภายนอก ถึงสาเหตุที่ทำให้มันยังคงมีอยู่ แม้ปัจจุบันคนจะรู้กันอย่างกว้างขวางแล้วว่าไม่ได้มีผลต่อชื่อของดวงดาวในทางสากลเลยก็ตาม
ย้อนรอย Star Register
ถ้าจะค่อยๆ วิเคราะห์กันไปที่ละขั้น เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าจริงๆ แล้วกิจกรรมที่เราเรียกกันติดปากว่าการซื้อดวงดาวนั้นคือ Star Register หรือการซื้อสิทธิ์ในการตั้งชื่อดวงดาวที่มีอยู่ในระบบสุริยจักรวาลผ่านเอเจนท์ที่มีอยู่ในตลาด โดยมีราคาหลักพันต้นๆ ขึ้นไป แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ชื่อที่ลงทะเบียนกันไปจะไม่มีผลต่อชื่อดวงดาวนั้นในความจริง เพราะโลกนี้มีหน่วยงานที่คอยทำหน้าที่นี้อยู่แล้วคือ สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU)
ในอดีตเชื่อว่ากลุ่มแฟนคลับอาจจะยังไม่รู้เรื่องนี้กันสักเท่าไหร่ ทำให้มันได้รับความสนใจและถูกส่งต่อความนิยมกันมาตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2011 (อ้างอิงช่วงปีที่ศิลปินวง Super junior มีดวงดาวของตัวเอง) แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป มีคนเริ่มหาคำตอบในเรื่องนี้กันมากขึ้น ก็ทำให้หลายคนรู้แล้วว่าไม่มีผลต่อชื่อดวงดาวจริง ซึ่งถ้าเป็นคนทั่วไปอาจเลิกใช้วิธีนี้ในการให้ของขวัญศิลปินไปเลย เพราะรู้สึกไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่าย แต่กับแฟนคลับอาจไม่ใช่แบบนั้น เพราะเมื่อ 4 ปีก่อนการซื้อดวงดาวได้เดินทางมาถึงแฟนด้อมของศิลปินไทยแล้ว โดยมีแฟนคลับต่างชาติของนักแสดงหนุ่ม สิงโต ปราชญา เป็นผู้ปลุกกระแสนี้ขึ้นมา จนทำให้ตอนนี้การซื้อดวงดาวกลายเป็นวัฒนธรรม Cross Culture อย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้
เปิดมุมมองของผู้รับ
มุมมองแรกที่เราอยากลงไปเจาะคือ “ผู้รับ” อย่างศิลปินนักแสดง ว่าเขามีความรู้สึกนึกคิดต่อเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่พลาดที่จะชวน เล - ทะเล สงวนดีกุล นักแสดงที่โด่งดังจากซีรีส์วายหลายเรื่อง และกำลังถ่ายทำซีรีส์รีเมค Sing Again อยู่นั้น มาพูดคุยกันในฐานะผู้ได้รับดวงดาวที่มีชื่อตัวเองมาแล้วถึง 2 ดวง (laylayyo, YoonTalay)
Q: ความรู้สึกเมื่อได้มีดาวเป็นของตัวเอง
A: ช่วงแรกไม่เคยรู้จักกิจกรรมนี้มาก่อนเลย ตอนที่เห็นในทวิตว่าแฟนคลับซื้อดาวดวงแรกให้ ยังคิดว่าเป็นการส่งดาวในเฟซบุ๊ครึเปล่า (หัวเราะ) ก็เพิ่งได้ศึกษาตอนนั้นว่ามันคืออะไร พอรู้ก็คิดว่าน่ารักมาก เพราะมันไม่เหมือนกับของขวัญทั่วไป แต่เหมือนเป็นแลนด์มาร์คอะไรซักอย่างของเรามากกว่า ซึ่งการซื้อดาวจะมีประกาศนียบัตรให้ด้วยนะ ตอนนี้ผมก็เอามาตั้งไว้ที่บ้านแล้วก็มองมันทุกวันก่อนออกไปทำงานว่า เอ้อ! ออกไปทำงานแล้วนะ เหมือนได้เติมพลังให้ตัวเอง
Q: คิดอย่างไรกับกิจกรรมนี้
A: คิดว่ามันเป็นความครีเอทีฟของแฟนคลับที่อยากทำอะไรให้ศิลปินที่ตัวเองชอบ มันคือการทำอะไรซักอย่างเพื่อสนับสนุนเขาและส่งกำลังใจให้เขา ในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่มีคุณค่าทางจิตใจ
Q: ข้อดี-ข้อด้อยของการได้รับดวงดาว ที่ไม่มีผลทางดาราศาสตร์
A: ของขวัญหลายอย่างมันก็มีความหมายของมันครับ อย่างป้ายโปรเจกต์วันเกิดหรือจอที่ MBK ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยโปรโมตเรา แต่ว่าดวงดาวเนี่ยพอได้มีชื่ออยู่ในนั้นมันก็จะอยู่ตลอดไป อยากดูเมื่อไหร่ก็กดเข้าไปดูได้ หรือถ้าอยากกลับไปย้อนดูคำอวยพรจากแฟนคลับจากโปรเจกต์นั้น ก็แค่ย้อนดูตามแฮชแท็ก ซึ่งเวลาที่เราทำงานหนักหรือว่าเครียดจากอะไรมา สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้เราอัปพลังขึ้นมาได้ แต่ด้วยความที่มันเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกเป็นหลัก บางครั้งคนภายนอกอาจจะเข้าไม่ถึงว่าจะทำไปทำไม
Q: พลังของแฟนคลับจากนี้และอนาคต
A: ผมคิดว่าในอนาคตมันจะมีความสร้างสรรค์หรือมีอะไรแปลกใหม่ขึ้นมาอีกเรื่อยๆ บางอย่างที่เมื่อก่อนอาจจะยังไม่มีก็จะได้เห็นมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร
ดวงดาว LAYLAYYO
พลังของแฟนคลับคือสิ่งที่ให้ศิลปินไปต่อได้
เพราะกำลังใจจากพวกเขาทำให้เรารู้ว่ามีคนรอชมผลงานอยู่ และจะมีแรงสู้กับงานต่อไปได้
Q: ทิ้งท้ายถึงแฟนคลับ
A: นอกจากดวงดาวที่ได้รับแล้ว ผมชอบมากเวลาที่แฟนคลับไปไหนมาไหนด้วยกันในชีวิตจริง มันเหมือนว่าเราทำให้เขาได้มาเจอกับคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน เหมือนเรามีส่วนช่วยสร้างสังคมให้เขา ก็อยากให้ทุกคนอยู่ด้วยกันแบบมีความสุข
“จากที่คุยกับทะเล เราสรุปได้ว่าการซื้อดวงดาวหรือทำโปรเจกต์ใดๆ ล้วนมีผลดีต่อจิตใจของผู้รับทั้งสิ้น แม้มันจะไม่มีผลการรองรับตามหลักสากลเลยก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ช่วยเติมพลังให้ศิลปินได้เป็นอย่างดี”
ฟากฝั่งผู้ให้
มาต่อกันที่ทางด้าน “ผู้ให้” กันบ้าง ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลมาจากแฟนคลับมาประมาณ 30 คน ทั้งที่เคยร่วมโดเนทซื้อดาวและไม่เคยร่วมมาก่อน พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
สาเหตุที่แฟนคลับตัดสินใจโดเนทซื้อดาวหรือวางแผนจะซื้อดาวในอนาคต คือ อยากส่งกำลังให้ศิลปินโดยที่ไม่ต้องใช้ค่าจ่ายสูงเกินไป คิดว่ากิจกรรมน่าสนใจ แปลกใหม่ และเป็นของขวัญที่ความหมายดีในแง่ของการเป็นแสงสว่างส่องทางให้กันและกัน มีคุณค่าทางใจ เหมือนของแทนใจที่สำคัญ ประมาณว่า “ถ้าเธออยากได้ ถึงจะเป็นดาวเราก็จะหามาให้” โดยกว่า 80% ของผู้ที่ร่วมโดเนทรู้อยู่แล้วว่าการซื้อดาวไม่มีผลต่อชื่อดวงดาวนั้นจริงๆ แต่อยากทำให้ศิลปินในโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิด ฉลองยอด Followers เป็นต้น ซึ่งยอดโดเนทของแต่ละคนเฉลี่ยอยู่ที่หลักร้อยบาท
ในขณะที่แฟนคลับที่ไม่ร่วมโดเนทมองว่า นอกจากคุณค่าทางจิตใจแล้ว นี่เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งที่แทบจะไม่มีประโยชน์ในด้านอื่นเลย เป็นนามธรรมเกินไป จับต้องไม่ได้ ไม่คุ้มค่ากับการจ่ายเงินถ้าเทียบกับการขึ้นป้ายตามสถานที่ต่างๆ น่าจะเอาเงินไปทำอย่างอื่นมากกว่า เช่น ทำกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสังคม เพื่อภาพลักษณ์ศิลปินในระยะยาว และตอนนี้ไม่ได้มีความแปลกใหม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว รู้สึกจำเจ รวมทั้งคิดว่าเป็นของขวัญที่อาจเป็นความสุขทางใจในระยะสั้นเท่านั้น เพราะมีโอกาสที่ชื่อดาวของเราจะซ้ำกับของอีกเว็บหนึ่งได้ และเว็บไซต์มีโอกาสถูกขายต่อได้ตลอด แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีปัญหากับการซื้อดาวของคนอื่น เพราะถ้าไม่สร้างความความเดือนร้อนให้ใครก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
ดวงดาว YOONTALAY (คู่จิ้น)
“จะเห็นได้ว่าในกลุ่มของแฟนคลับเอง ถึงจะชื่นชอบศิลปินคนเดียว ก็ไม่ได้มีความคิดตรงกันเสมอไป ดังนั้นในแง่ของผู้ให้เราเลยอาจจะสรุปไม่ได้ว่าตกลงแล้วมันเป็นกิจกรรมที่ดีหรือไม่ดี และควรสนับสนุนให้มีต่อไปไหม แต่สิ่งที่เราได้จากการพูดคุยครั้งนี้ คือ ต่างคนต่างก็มีสไตล์การทำเพื่อศิลปินที่แตกต่างกันไป แม้ว่าจะคิดไม่ตรงกันกับเพื่อนร่วมด้อมก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะอยู่กันแบบเข้าใจ ตราบใดที่ไม่สร้างผลเสียให้ศิลปิน เพื่อนแฟนคลับและสังคมโดยรวม”
ความในใจของคนนอก
ส่วนความคิดเห็นของคนภายนอกในฐานะผู้สังเกตการณ์ ส่วนใหญ่คิดเหมือนกันคือ เข้าไม่ถึงกิจกรรมนี้สักเท่าไหร่ เพราะจับต้องไม่ได้ ยากที่จะประเมินความคุ้มค่า ถ้าว่ากันด้วยเรื่องการเป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาด การซื้อดวงดาวไม่ใช่เครื่องมือที่ดีนัก เพราะค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ไม่สามารถโปรโมตศิลปินหรือสร้างผลลัพธ์ทางบวกอื่นได้ แต่ถ้ามองในเรื่องของคุณค่าด้านจิตใจและความหมายที่ดี ก็ถือว่าตอบโจทย์มาก เพราะการมีดาวที่มีชื่อตัวเองเป็นเรื่องค่อนข้างพิเศษ นอกจากนี้บางส่วนให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ศิลปินคือ บุคคลสาธารณะที่อยู่ได้ด้วยการมีคนรู้จักเยอะ ดังนั้นโปรเจกต์ต่างๆ ที่ทำให้ศิลปิน ถ้าสามารถให้คุณค่าทางด้านจิตใจควบคู่ไปกับการใช้โปรโมตศิลปินได้ก็น่าจะดีกับทุกฝ่ายมากขึ้น
“สำหรับความเห็นของคนนอก ผู้เขียนคิดว่าคำแนะนำในช่วงท้ายค่อนข้างน่าสนใจ การลงทุนหนึ่งครั้ง แต่ได้ผลตอบรับที่มากกว่าหนึ่งด้าน ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำโปรเจกต์ซ้ำซ้อนได้”
อย่างไรก็ตามผู้เขียนคิดว่ากิจกรรมซื้อดวงดาวจากมุมมองของทั้ง 3 ฝ่ายนั้นไม่มีใครถูกผิด เพราะต่างก็วิเคราะห์จากจุดที่ตัวเองยืนอยู่ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคุณค่า ความคุ้มค่า หรือประโยชน์ สิ่งที่จะตอบคำถามได้คือ ความพึงพอใจของคนที่มีส่วนร่วมเป็นสำคัญ ถ้าทำแล้วสบายใจและไม่เดือดร้อนใครจะทำต่อไปก็ได้ย่อมได้
ติดตามและอัพเดทข่าวสารของทะเล สงวนดีกุล ได้ที่ laylayyo, @talaylayyo, LAYYO Gaming