ความสัมพันธ์ของ Fanbase (ฐานแฟน) และ Fandom (แฟนด้อม หรือ ด้อม) กับผลงานของในโลกของสื่อเป็นอะไรที่ถูกสร้างร่วมกันมาตั้งแต่มีการแสดงครั้งแรก มีหนังสือเล่มแรก มีละครเรื่องแรก และหนึ่งในกลุ่มแฟนที่เหนียวแน่นมากๆ กับผลงานที่พวกเขารักนั่นคือแฟนของ Star Wars ที่ประกอบไปด้วยสื่อหลากรูปแบบทั้งภาพยนตร์ คอมมิค ทีวีซีรีส์ อนิเมชัน และหนังสือ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ และฐานแฟนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยทีเดียว แต่พอสื่อแบบนี้มีความใหญ่มากๆ พร้อมกับด้อมที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ทำให้ปฏิสัมพันธ์ของตัวแฟรนไชส์ และแฟนอาจจะแน่นแฟ้นถึงขั้นที่มันอาจจะเข้ามาคาบเกี่ยวกันมากจนแยกแฟน กับสื่อออกจากกันไม่ได้
การที่สื่ออย่าง Star Wars มีอายุค่อนข้างมากทำให้หลายคนที่โตมากับแฟรนไชส์ได้มีความประสบความสำเร็จจนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำผลงานใหม่ๆ ไม่ว่าจะนักแสดงอย่าง Daniel Creig ที่เคยรับบทบาท Cameo ในภาพยนตร์มาแล้วด้วย หรือถ้าตัวอย่างในตอนนี้คือ Dave Filoni ผู้เริ่มมาจากการเป็นแฟนคลับจนได้รับเลือกจาก George Lucas (ผู้ให้กำเนิด Star Wars) ให้ช่วยสร้าง Animation Studio ของ Star Wars จนตอนนี้เขาได้ไต้ขึ้นมาคุมงานสร้างทีวีซีรีส์หลายเรื่อง รวมถึงกำลังจะได้กำกับภาพยนตร์ Star Wars เรื่องแรกของเขาอีกด้วย
แต่บางทีแฟรนไชส์หนัง กับแฟนก็ไม่ได้มีการเข้ากันได้อย่างที่คิด ด้วยความใกล้ชิดที่มีมากขึ้นในยุคของอินเตอร์เน็ตทำให้การพูดคุย และการติชม หรือในหลายๆ ครั้ง การจิกหัวด่า ต่อผลงานใหม่ๆ มีให้พบเห็นได้มากขึ้น และง่ายขึ้น อย่าง Star Wars เองก็โดนอยู่บ่อยครั้งโดยในช่วงปี 2017 ที่ภาพยนตร์ The Last Jedi ออกฉายถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างใหญ่ของกลุ่มแฟน Star Wars เพราะทำให้ด้อมถูกแบ่งเป็น 2 ฝั่งนั่นคือฐานแฟนดั้งเดิมที่อยากคงความเป็น Star Wars ไว้ เล่าเรื่องแนวเดิม คงความคลาสสิกไว้ และฐานแฟนที่อยากจะเห็นสิ่งใหม่ๆ และเรื่องราวใหม่ๆ รูปแบบใหม่ๆ ในจักรวาลที่พวกเขารักทำให้เกิดการถกเถียงมากมายบนโลกออนไลน์จนมันส่งผลกระทบต่องานเบื้องหลังของภาพยนตร์เรื่องต่อไป “The Rise of Skywalker” การเปลี่ยนผู้กำกับ การโละบทใหม่ เปลี่ยนชื่อเรื่อง เป็นการที่สตูดิโอพยายามจะทำให้ทุกคนสมหวังจนทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่ว่าจะกลุ่มแฟนกลุ่มไหนก็เห็นเป็นเสียงส่วนใหญ่ว่าออกมาเละเทะ ไม่ใช่แค่เพราะสตูต้องการจะทำให้ทุกคนแฮปปี้แล้ว กระแสทั้งลบ และบวกจากแฟนที่แรงมากๆ เองก็ทำให้สตูดิโอสั่นได้เหมือนกัน และพฤติกรรมแฟนบนโลกออนไลน์หลายๆ คนก็ทำให้แม้แต่แฟนๆ เองก็แขยงที่จะเข้าร่วมวงสนทนา
กรณีน่าสนใจคือตัวละคร Anakins Skywalkers ที่นักแสดงอย่าง Hayden Christiansen ผู้เป็นแฟนของ Star Wars อยู่แล้วก่อนที่จะได้มารับบทที่ถึงแม้จะถูกล้อในช่วงแรกเพราะบทพูดที่ชวนขำ แต่เวลาผ่านไปตัวเขากลับเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ได้รับความรักจากแฟนๆ เป็นอย่างมากทุกครั้งที่เขากลับมารับบทในโปรเจ็กอื่นๆ
แต่เรื่องราวแบบเดียวกันไม่สามารถพูดได้กับประสบการณ์ของนักแสดงอีกหลายคนเช่น Jake Lloyd ผู้แสดงเป็น Anakin Skywalker วัยเด็กที่ได้รับผลกระทบจากกระแสลบของแฟนๆ ในยุคที่อินเตอร์เน็ตยังไม่มีเขตความปลอดภัยมากขึ้นอย่างทุกวันนี้ รวมทั้งการถูกรอบล้อมไปด้วยนักข่าวในวัยเพียงแค่ 8 ขวบทำให้เขาต้องโตขึ้นมาด้วยภาวะความเครียด จนทำให้เขามีปัญหาทางจิต อีกนักแสดงที่โดยกระแสลบจากแฟนๆ เป็นอย่างมากคือ Kelly Marie Tran ในบท Rose Tico ในภาพยนตร์ The Last Jedi ที่ถูกแฟนตาหน้าว่าเป็นเครื่องมือการพลักดันความแตกต่าง หรือที่หลายคนเรียกมันว่าการ “ยัดเยียด” นักแสดงเอเชียเข้ามา ที่กระแสลบจากแฟนๆ รวมถึงคอมเม้นเหยียดๆ การที่เธอเป็นคนเชื้อสายเอเชีย ทำให้เธอหมดกำลังใจในการแสดง และปิดโซเชียลมีเดียของเธอไปเลยทุกช่องทาง ซ้ำรอยสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Ahmed Best นักแสดงของ Jar Jar Bink จาก Star Wars: Prequal ที่ก็โดนคำด่าทอมากมายจากแฟนๆ จนท้อไปเหมือนกัน
แต่ฐานแฟนไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้อง ติชมด่าทอ หรือติดตามแฟรนไชส์เหล่านี้เท่านั้น ด้อมหลายด้อมยังมีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างในกรณีของ Star Wars เองก็มีองค์กรที่ชื่อว่า 501st Legion หรือ Vader’s Fist ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งโดย Albin Johnson และ Tom Crews เมื่อปี 1997 โดยเป็นกลุ่ม Closplay ผู้แต่งตัวเป็นทหาร และพนักงานของ Imperiel กลุ่มตัวร้าย(?) ในเรื่อง แต่ในโลกของเรากลุ่ม 501st ใช้ความรักต่อ Star Wars ของพวกเขาร่วมกันเพื่อหายอดบริจาค หรืองานการกุศล ทำให้ในปี 2004 ในหนังสือ Suvivor’s Quest ของ Timothy Zahn ได้มีการพูดถึงกลุ่ม 501st เป็นกลุ่มในจักรวาล Star Wars นับว่าเป็นการดึงเอากลุ่มแฟนเข้าไปมีตัวตนในโลกที่พวกเขารักเป็นครั้งแรก จากนั้นเป็นต้นมา กลุ่ม 501st ก็ได้ร่วมงานสร้างกับสตูดิโอทั้งในภาพยนตร์ ในทีวีซีรีส์ และอื่นๆ แต่ก็ยังไม่ทิ้งงานด้านการกุศล โดยกลุ่มนี้เริ่มในอเมริกาจนตอนนี้ได้ขยายไปสู่ 59 ประเทศทั่วโลก และหนึ่งในนั้นคือประเทศไทยของเรากับกลุ่ม 501st Thailand ที่ร่วมนำโดยคุณ อาร์ต-อธิศ รุจิรวัฒน์ แฟนพันธุ์แท้ Star Wars ผู้ถูกคัดเลือกจากกลุ่ม 501st Thailand ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปเดินขบวนกับ George Lucas เมื่อปี 2007 ด้วย และด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแฟนและสตูดิโอ ทำให้กลุ่ม 501st ถือว่าเป็นกลุ่มด้อมตัวอย่างที่น่ายกย่องเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นว่าในปัจจุบันพลังของแฟนด้อมมีผลค่อนข้างมากต่อผู้ผลิตสื่อ ความกลัวในการรักษาฐานแฟน แต่ก็ต้องการอยากทำไอเดียใหม่ทำให้การหาเส้นทางดำเนินการสร้างเป็นเรื่องที่ยากขึ้นยิ่งกับยุคที่ทั้งโซเชียลมีเดียโพส ทั้งคอมเมนต์วิ่งเร็ว และรุนแรง ทำให้ในฐานะผู้สร้างไม่ว่าทั้งเป็นสตูดิโอใหญ่ หรือผู้สร้างอินดี้เล็ก มันก็ยากที่จะไม่สนใจสิ่งที่ผู้คนอาจจะพูดถึงผลงานของเราบนโลกออนไลน์ ส่วนในฐานะแฟน การแยกแยะผลงานที่สื่อผลิตออกจากความชอบของเรา การติชมผลงานของสิ่งที่เรารักไม่ใช่ปัญหา แต่เมื่อการติชมนั้นไม่มีการคิดวิเคราะห์อยู่เบื้องหลัง มันก็ง่ายที่เสียงของเราจะไปพังความตั้งใจของใครบางคน จนบางครั้งเราควรจะต้องกลับมามองดูถึงพลังที่สื่อมีต่อผู้คนอย่างเรา และที่สำคัญพลังที่ผู้คนอย่างเรามีต่อสื่อ ให้รู้ไว้ว่าในหลายๆ ครั้งการกระทำของเราในฐานะ “แฟน” มันอาจจะมีพลังมากกว่าที่เราคิด
“May The 4th Be With You”
อ้างอิง