“บอม” โค้ชสอนกีฬาผู้บุกเบิก Street Fight แห่งอีสาน

ในยุคที่อะไรหลายๆ อย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไป บางมุมของสังคมก็มีความเครียดแฝงอยู่ลึกๆ โดยเฉพาะในช่วงมรสุมข่าวร้ายแบบนี้ ผู้คนเริ่มมองหาอะไรทำผ่อนคลายความตึงเครียด ดูหนัง ฟังเพลง แต่สำหรับคนบางกลุ่มแค่นั้นอาจจะยังไม่พอ เขาต้องการปลดปล่อยพลัง ใช้แรงกายที่หนักและรุนแรง เหมือนคำว่า “ร่างกายต้องการปะทะ” 

อยากให้ลองนึกถึงหนังเรื่อง Fight Club ไม่ใช่หน้าหล่อๆ ของแบรด พิตต์ แต่อยากให้นึกถึงกีฬาลับๆ แบบอันเดอร์กราว ที่ทุกคนจะแอบบอกต่อๆ กัน เพื่อที่จะเข้าร่วมสมาคม มาต่อสู้กันแบบไม่มีกฎกติ ข้อบังคับ เป็นคนลดความเครียด ผ่อนคลาย และความบันเทิงของคนบางกลุ่ม แต่ที่มันสนุกอาจจะเพราะว่ามันคือเรื่องที่ต้องแอบทำ ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ และไม่ว่าใครก็สามารถขึ้นเวลามาซัดหน้ากันได้แค่จ่ายเงินลงสมัคร

ที่มันน่าตื่นเต้นกว่านั้นกว่าคือ มีการจัดการต่อสู้ที่คล้ายกันนี้ขึ้นจริง และมีแล้วในประเทศไทย แถมกำลังกระจายความสนใจไปยังภาคอีสาน เพราะหลังจากถูกจัดขึ้นมาครั้งแรกในภาคอีสาน โดยฝีมือโค้ชสอนกีฬามหาวิยาลัย ได้รับกระแสตอบรับที่ดีกว่าที่คาดไว้

"บอม" รณชัย ตรุณจันทร์ อดีตโค้ชสอนกีฬามหาวิทยาลัย ที่มีประสบการณ์ด้านศิลปะการต่อสู้แบบผสม มาตั้งแต่ปี 2012 ได้เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของความสนใจที่จะนำเอาสตรีทไฟท์เข้ามาจัดเป็นครั้งแรกในภาคอีสานที่จังหวัดมหาสารคาม

“อีสานสตรีทไฟท์มันเริ่มจากที่ในกรุงเทพฯ ไฟท์คลับไทยแลนด์เนี่ย มันเริ่มมีการจัดสตรีทไฟท์ก่อน แล้วเป็นช่วงที่รายการของศิลปะการต่อสู้ระดับสมัครเล่นดรอปลง มันไม่ค่อยมีการแข่งขันกัน ลูกศิษย์เราก็เลยไม่มีเวทีที่จะไปแข่งขัน แล้วทั้งลูกศิษย์และรุ่นน้องก็ส่งเสริมให้เราจัดขึ้น เขาอาจจะมองว่ามีเราคนเดียวมั้ง ในที่นั่นตอนนั้นที่สามารถที่จะจัดได้”

ในช่วงที่มีการจัดสตรีทไฟท์ขึ้นครั้งแรกๆ ที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่ว่าจะราบรื่นซะทีเดียว เพราะยังถือว่าเป็นกิจกรรมกีฬาที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ยังไม่มีกฎกติกาอะไรเป็นข้อบังคับ ดูไม่มีความปลอดภัย แถมไม่ว่าใครหน้าไหนก็สามารถสมัครเข้าไปบวกกันได้เลย โดยที่ไม่ต้องเป็นมวยมาก่อน สังคมคนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นกิจกรรมที่ป่าเถื่อนไปเสียด้วยซ้ำ บอสบอกว่าจับตาดูเวทีนี้อยู่นานจนถึงช่วงที่ไฟท์คลับไทยแลนด์ ได้ยื่นขอจดทะเบียนสมาคมไฟท์คลับ เพื่อให้กฎหมายรองรับการจัดเวทีการต่อสู้แบบสตรีทขึ้น

ถึงเวลาออกโรง

“ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ผมจะยังไม่กล้าจัด เพราะกีฬาประเภทนี้ ก็ยังไม่ได้มีพระราชบัญญัติกีฬามวย มารองรับ เพราะว่ามันไม่ใช่มวย”

บอมเริ่มจากการตั้งเฟสบุ๊คแฟนเพจปล่อยโพสเรื่องสตรีทไฟท์ ตื่นเช้าขึ้นมาตกใจกับจำนวนคนเข้ามาแสดงความสนใจ และแชร์โพสต่อออกไปเป็นหลักพันคนในชั่วข้ามคืน การจัดสตรีทไฟท์ภาคอีสานจึงเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน ขอใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย จนเกิดข้อพิพาทขึ้นเพราะสตรีทไฟท์ถึงแม้จะมีกฎหมายรองรับแล้ว แต่ยังดูดิบเกินไปที่จะจัดขึ้นในสถานศึกษา งานสตรีทไฟท์ครั้งแรกจึงจบลงกลางคัน หลังจากนั้นได้ระดมทุนจนสามารถจัดครั้งที่ 2 ขึ้น และได้รับความสนใจพอสมควร ทุกอย่างดำเนินไปได้ถึงแม้ฟลอร์ต่อยมวยจะเพิ่งจัดหาเสร็จภายในวันงาน แต่ก็เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ ผู้เข้าชมและผู้สมัครเข้าต่อสู้ต่างสนุกสนานกับบรรยากาศในครั้งนั้น

ไม่มีกติกาเลยเหรอ?

“เราให้ต่อยยกเดียวสองนาที ไม่มีแพ้มีชนะ ห้ามแทงเข่าเข้าหน้าและฟันศอกทุกกรณี ป้องกันการบาดเจ็บไม่เหมือนอย่างมวยอาชีพที่เขาจะให้ทำได้ เราเซฟเต็มที่ หลังจากจบสองนาทีเขาก็จะลงไปทำความรู้จักกัน แนะนำตัวเป็นเพื่อนกัน ขอเฟสบุ๊คกัน”

การต่อสู้แบบสตรีทไม่ได้ทำให้คนเกิดการแตกแยกหรือเกลียดชังกัน แต่กลับกลายเป็นสร้างสังคมและมิตรภาพจากความชื่นชอบอีกด้านหนึ่งที่เราคิดไม่ถึง

ต่อสู่แบบสตรีท

“ความเป็นสตรีท มันคือการสู้กันโดยที่ไม่มีเวที”

ด้วยภาพมองออกมาแล้วดูเป็นอันเดอร์กราว ถึงจะมีการสวมนวมเพื่อความปลอดภัย แต่คนที่เข้าสมัครไม่มีความเป็นมวยมาก่อน เปรียบได้กับการชกต่อยทะเลาะวิวาททั่วไป แต่มีอุปกรณ์ป้องกันให้ เหมือนการดู “คนสองคนทำท่าว่ายน้ำใส่กัน” บอสอธิบายในมุมของอดีตโค้ชกีฬาอาชีพ 

“มีเพื่อนผมมาชวนให้ไปจัดสตรีทไฟท์ที่ยิมมวย ว็อดดาฟัค? ถ้าจัดที่ยิมมวยมันจะเรียกว่า สตรีทไฟท์ได้ไง”

คนแบบไหนเขาอยากจะต่อยกัน

“รอบที่จัดที่มหาสารคามมีคนอายุ 48 มาต่อยด้วย รุ่นน้าเลย หรือกลุ่มคนออกกำลังกาย มีพลังเยอะอยากจะปลดปล่อย ต่อมาคือกลุ่มคนที่เป็นพระเอกการ์ตูน ฝันอยากเป็นเหมือนในการ์ตูน อยากลองสู้แบบของจริง มาโดนเตะทีเดียวจุกก็มี อีกกลุ่มก็วัยรุ่นที่เขาอยากจะพิสูจน์ตัวเอง หรือแม้แต่กลุ่มคนที่เคยไปเข้าคอร์สมวยอยากลองวิชาก็มี”

“มีบอกคนที่วอล์คอินเข้ามาสมัครหน้างาน แล้วเลือกคนที่เห็นแล้วดูเก่ง อยากท้าขึ้นต่อยด้วยเลยก็มี”

กลุ่มคนที่เข้าร่วมสมัครต่อยในสตรีทไฟท์ต้องบอกว่าไม่ใช่แบบที่เราคิดเลยว่าจะต้องเป็นพวกหัวรุนแรง อันธพาล ชอบการทะเลาะวิวาทต่อยตี เรียกได้ว่าเป็นเวทีที่ทำให้เห็นความหลากหลายของตัวตน ไม่ใช่แบบในมุมของนักกีฬาอาชีพ แต่เป็นในแบบของคนธรรมดาที่แสดงบทความตัวเองออกมาเมื่ออยู่บนเวทีต่อสู้ ซึ่งคงไม่ได้เห็นมุมนี้กันได้บ่อยๆ

อยากบอกอะไรกับคนที่สนใจสตรีทไฟท์บ้าง

“สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือฟันยาง อย่าลืมฟันยาง อย่ามาขอยืมกันในสนาม ใครเขาจะกล้าให้ ฮ่าๆๆ”