Culture

‘ทะลุแก๊ส’ เคลื่อนไหวทางการเมืองในมิติที่หลากหลาย เพื่อสะท้อนชนชั้นกลางระดับล่าง

ภาพการชุมนุมปะทะกัน ที่ได้เนรมิตให้ย่านสามเหลี่ยมดินแดงกลายเป็นสมรภูมิทางการเมือง ถูกบดบังไปด้วยกลุ่มควันแก๊สน้ำตา และเสียงระเบิดปิงปองจากกระสุนปืน กลายเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ม็อบแยกดินแดง ที่เกิดการรวมตัวกันเพื่อขับไล่รัฐบาล ที่ไร้ซึ่งแกนนำ การปราศรัย และกิจกรรมทางการเมืองที่ชัดเจน ซึ่งมักจะจบลงด้วยความรุนแรงจาก คฝ. ที่มาพร้อมน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และการล้อมจับ เพื่อสลายการชุมนุม ทำให้ 'กลุ่มทะลุแก๊ส' ใช้กำลังปะทะ หรือที่หลายคนมองว่า 'ความรุนแรง' ทำให้พวกเขาถูกมองและตีตราทางสังคมว่าเป็นกลุ่มอันธพาล กลุ่มที่ชอบใช้กำลัง หรือ 'ผู้ก่อเหตุร้าย' จากการประโคมข่าวของสื่อต่างๆ พวกเขารวมตัวกันขับเคลื่อนทางการเมืองในวิถีทางแบบนี้เพื่ออะไร เพื่อใคร และทำไปเพราะอะไรกันแน่ ‘แก๊ป’ – จิรภาส กอรัมย์ 1 ในแกนนำ จะมาบอกเล่าปรากฏการณ์ทะลุแก๊ส รวมไปถึงแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขาต้องออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

จุดเริ่มต้นของ กลุ่มทะลุแก๊ซ

ผมเคลื่อนไหวตั้งแต่สมัยเสื้อแดง แล้วมาเป็นม็อบราษฎรช่วงปี 63 ส่วนเเพจเปิดวันที่ 20 สิงหาคม 2564 เพื่อจุดประสงค์ในการอัพเดตเหตุการณ์ ประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้รู้เกี่ยวกับม็อบดินแดง ซึ่งช่วงนั้นม็อบดินแดงไม่โดนนับรวมกับม็อบที่ผ่านมาในเชิงสันติวิธี เพราะหลายๆ คนบอกว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับม็อบดินแดง เราเปิดเพจเพื่อให้สังคมรู้ว่า ม็อบทะลุแก๊สของเรามีจุดประสงค์เพื่ออะไรในการเคลื่อนไหว

การเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่หวั่นแม้วันมี (แก๊ส) น้ำตา กลายเป็นที่มาของชื่อกลุ่ม

เกิดจากช่วงที่มีการต่อสู้ที่ดินแดงครับ มวลชนวิ่งหนีแก๊สน้ำตา เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาเยอะ เลยได้ชื่อว่า 'ม็อบทะลุแก๊ส' ส่วนเพจที่ใช้ 'ซ' เพื่อเลี่ยงคำบัญญัติไทย

จุดเด่นหรือจุดแข็งของกลุ่ม กลุ่มทะลุแก๊ซ คืออะไร?

เรามีทีมลงหน้างานที่พร้อมลงตลอดเวลา และมีทีมออนไลน์ที่อยู่หลังบ้านเพื่ออัพเดตเหตุการณ์ตลอดเวลา ซึ่งเราไม่ต้องรอคำสั่งจากใครในการทำงาน เราสามารถทำได้เลย โดยมีทีมงานประมาณ 20 กว่าคน แบ่งเป็นทีมหลังบ้านเกือบ 10 คน

กลุ่มทะลุแก๊ซ มีการขับเคลื่อน และเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร?

ขับเคลื่อนทุกประเด็นทางสังคม เพราะทุกประเด็นสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงครับ

รูปแบบหรือวิธีการทำงานของ กลุ่มทะลุแก๊ซ เป็นอย่างไร?

จริงๆ ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรตายตัวครับ ใครอยากจะทำอะไรก็สามารถทำได้เลย เน้นความไวเป็นหลักครับ บางคนที่ทำงานร่วมกันทุกวันนี้ยังไม่รู้จักกัน เอางานชนงานอย่างเดียวด้วยอุดมการณ์ที่ตรงกัน

สิ่งที่ กลุ่มทะลุแก๊ซ ทำ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของกลุ่มคนรุ่นเก่าหรือไม่ (และกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไร?)

คนรุ่นเก่าเขาเน้นเชิงสันติวิธี เหมือนกับเขาแอนตี้ความรุนแรงจากพวกผม เหมือนพวกผมก่อความวุ่นวายและอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของม็อบที่เขาเคยทำมา จนเกิดการต่อต้านกลุ่มทะลุแก๊ซ เราเลยเข้ากับคนอื่นไม่ได้ในช่วงแรกๆ เช่น มีอยู่ช่วงหนึ่งที่กลุ่มทะลุแก๊ซโดนจับเยอะๆ เขาเรียกร้องให้กองทุนไม่ประกันตัวพวกผม มันเหมือนเข้ากันไม่ได้ แต่ ณ ตอนนี้พวกเขาก็เริ่มเข้าใจเรามากขึ้นแล้ว เพราะหลังจากปี 64 เราก็มาคิดกันใหม่และเปลี่ยนวิธีการกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ผมเลยเริ่มเสนอการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากขึ้นครับ 'ยืนหยุดขัง' เพื่อปรับเปลี่ยนข้อเรียกร้องและมองเราในแง่ดีบ้างว่าเราทำได้ทุกอย่าง ไม่ได้ใช้แต่ความรุนแรง และที่เราแสดงความรุนแรงช่วงนั้น เราแค่เพียงต้องการปกป้องมวลชนและม็อบที่จะโดนสลายการชุมนุม

คนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่เขาเห็นด้วย เหมือนเขาเข้าใจ เพราะคนที่อยู่หน้างานหรืออยู่แนวหน้าจะเป็นคน Gen เดียวกันที่รู้ว่าเราโดนอะไร แล้วเราต้องทำอย่างไร เราต้องสู้อย่างไร แบบเชิงตอบโต้

เหตุผลที่ต้องออกมาเคลื่อนไหว และนำไปสู่ 'ม็อบทะลุแก๊ส' ที่ดินแดง คืออะไร?

ช่วงนั้นมีการชุมนุมของม็อบราษฎร หรือ ของกลุ่มทะลุฟ้า ที่จะเดินไปบ้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วก็เกิดการสลายการชุมนุม พวกเราเลยรวมตัวกันเหมือนช่วยพวกเขา แล้วพอพวกเขาเลิกไป มันเหมือนมีควันหลงของคนที่ยังอยากสู้ต่อ เช่น ชนชั้นแรงงานหรือเด็กช่างกลที่ยังอยากสู้ต่อ เลยรวมตัวกันอยู่ที่ดินแดง ตอนนั้นยังไม่มีประกาศการชุมนุม แต่ทุกคนก็ยังมาเพราะพวกเขาได้รับผลกระทบจากการบริหารประเทศ พวกไรเดอร์ วินมอเตอร์ไซค์ เขาได้รับผลกระทบ และเขาก็ยังอยากสู้ต่อเพื่อไปยื่นข้อเรียกร้องให้ประยุทธลาออก อันนี้คือเหตุผลหลัก ณ ตอนนั้น

ปัญหาสังคมที่ต้องพบเจอและเผชิญ และมีวิธีการจัดการ

ไม่ค่อยมีใครอยากเข้าร่วมชุมนุมกับเราด้วยครับ คือ เขาจะมองว่ามีแต่ความรุนแรง เวลาประกาศชุมนุมไปสังคมก็ไม่ค่อยอยากร่วมเพราะกลัวความรุนแรง เขาเลยจะไปในม็อบเชิงสันติมากกว่า ทำให้การเคลื่อนไหวของเรามีกลุ่มคนที่น้อยลง ไม่มีแรงขับเคลื่อน หรือ แรงกดดันที่จะไปต่อรองกับข้อเรียกร้องที่เราเสนอ

ข้อเรียกร้องทางการเมือง สังคม รวมไปถึงสิ่งที่ต้องการผลักดันของ 'กลุ่มทะลุแก๊ส' คืออะไร

ช่วงนี้ผมอยากเรียกร้องเรื่องเพื่อนครับ เพราะทะลุแก๊ซโดนจับไปเยอะ อยากขับเคลื่อนให้สังคมได้รู้ว่ามีเพื่อนเราโดนจับอยู่ในเรือนจำอีกเยอะและอยากให้พวกเขาได้รับอิสรภาพ ขอแค่สิทธิประกันตัวก่อนก็ได้ครับ เราอยากได้สิทธิประกันตัวของเพื่อนเรา ช่วงนี้เราขับเคลื่อนแต่เรื่องนี้เลยครับ (ประมาณ 10 กว่าคน)

ผลกระทบที่เราได้รับจากการใช้ความรุนแรงโดย 'เจ้าหน้าที่รัฐ' มีมากน้อยแค่ไหน

อันดับแรกเลยคือ ร่างกายได้รับการบาดเจ็บครับ พวกผมโดนกระสุนยางยิง โดนทุบตีครับ ทำเหมือนกับเราไม่ใช่มนุษย์ครับ เวลาที่เราโดนจับเราโดนกระทืบ อันที่สองคือ พวกเขาพยายามยั่วยุให้สังคมมองว่าเราใช้ความรุนแรงกับเขาซึ่งมันทำให้ภาพลักษณ์เราเสีย

คิดว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงไปได้ไหม

ช่วงที่มีม็อบปี 64 เราหลีกเลี่ยงความรุนแรงไม่ได้เลยครับ แต่ช่วงนี้ผมพยายามหลีกเลี่ยงครับ แต่เจ้าหน้าที่พอรู้ว่าเป็นเรา เขาจะจัดชุด เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน หรือ คฝ. มาตลอดครับ เราพยายามบอกทุกคนครับว่าเราจะไม่ปะทะ เพราะมันยังหลีกเลี่ยงได้อยู่ อย่างล่าสุดเราตั้งใจจะไปยื่นหนังสือที่เรือนจำ ทางเรือนจำประกาศปิดเลยครับ พร้อมเอากำลังเจ้าหน้าที่มา ซึ่งจริงๆ ถ้าเราไปยื่นหนังสือธรรมดาและขอร้องเรียนเฉยๆ มันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่พอเขาประกาศปิด เตรียมกำลังไว้ไม่ให้เข้าเรือนจำ มวลชนที่ไปก็จะเกิดการยั่วยุกันไปมา และเกิดการใช้ความรุนแรงกันขึ้น

ความยากง่าย หรือ ความท้าทายในการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนสังคมในประเด็นการเมือง

จริงๆ มันง่ายครับ ไม่ได้ยากมาก เพราะเราอยากทำเราทำได้เลย เราไม่ต้องรอเงินสนับสนุนหรือรอคำสั่งจากใคร เช่น เพื่อนเราโดนแกล้งในเรือนจำ เราก็ตัดสินใจที่จะทำในการยื่นหนังสือ เราก็ทำได้เลย ผมคิดว่าง่ายกว่าหลายกลุ่มที่ต้องมาประชุมและวางแผนหรือรอคำสั่ง เพราะพวกผมคิดปุ๊บตกลงทำก็เอาเลย

แนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุแก๊ส ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร?

มันต่างจากตอนที่พวกเราชุมนุมแรกๆ เพราะช่วงนั้นมันเกิดการปะทะทำให้หลายคนสนใจ แต่พอมาช่วงนี้มันไม่ค่อยมีใครสนใจ เพราะมันไม่ค่อยเป็นข่าว เหมือนเราทำกิจกรรมซ้ำๆ แล้วคนมันเบื่อ เลยทรงตัวมาตั้งแต่ปี 65 จนถึงปีนี้ก็ 2 ปีแล้วที่ทรงตัวมา คนไม่ค่อยสนใจ เท่าไรครับ

เรายังมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงจากวันแรกๆ ที่เราทำมา เพราะมันไม่มีการตอบรับอะไรที่เขาตอบรับเราเลย มันมีอยู่อันเดียวคือ เวลาเราประกาศ หรือ เราจะทำอะไร ตำรวจจะตอบรับตลอด (หัวเราะ)

เหตุการณ์ หรือ เรื่องราวอะไรที่เกิดขึ้นกับเรา แล้วเรารู้สึกจดจำแบบไม่มีวันลืม

เวลาที่พวกผมทำกิจกรรมแล้วคนโดนจับ เหมือนกับผมพาพวกเขาไปโดนจับ หรือ พาเขาไปโดนทำร้าย ตั้งแต่ปี 64 มาที่ประกาศว่าจะเดินว่าจะเคลื่อน จนมีคนโดนยิง โดนจับ โดนทำร้าย ทำให้ผมรู้สึกผิด เรายิ่งทำ คนยิ่งโดนจับ และจะมีคนด่าตามมา มันเหมือนเป็นบาปอยู่ในใจ วันที่น้องวาฤทธิ์ ตาย ผมก็รู้สึกผิดเหมือนกัน ถ้าเราไม่ประกาศการชุมนุมวันนั้น ก็คงไม่มีใครตาย มันเศร้า มันแย่ มันทำให้เราท้อ ไม่กล้าทำเพราะไม่อยากให้ใครไปโดนอีก พอทำไปทำมาคนของเราเหลือน้อยลง กลายเป็นเพื่อนที่อยู่ใกล้ตัวโดนจับเข้าไปตอนปี 65 โดนจับไป 10 คน ตอนนั้นไม่เหลือใครที่จะมาช่วยแล้ว เพราะเหลือกันอยู่ 3 คน

ความรู้สึกหวาดกลัวเหล่านั้นที่เกิดขึ้นเปลี่ยนให้เราคิดมากขึ้น ทำให้เราคิดหาวิธีว่าทำอย่างไรให้มันสันติมากขึ้นหรือลดความรุนแรงลง มันทำให้เราปรับเปลี่ยนวิธีได้เยอะเลย

สื่อของภาครัฐ ประโคมภาพเหมือนกับว่าเราใช้ความรุนแรง ซึ่งเขาอยากให้คนสนใจในการสื่อสารลักษณะนั้นของเขา บอกเรารุนแรง เราปะทะเจ้าหน้าที่ เราทำร้ายเจ้าหน้าที่ มันทำให้คนสนใจและอ่านข่าวเขา ซึ่งทั้งๆ ที่เขาก็รู้นะครับว่าความจริงเป็นอย่างไร เพราะปกติม็อบก็จะอยู่ตรงแยกดินแดงไม่เคยไปเคลื่อนเพื่อให้ตำรวจบาดเจ็บล้มตาย ก็มีแต่เจ้าหน้าที่เข้ามาไล่ยิงพวกเราแล้วก็ออกไป เหมือนภาครัฐก็สั่งเขาด้วยครับ

ทะลุแก๊ซ เราเป็นแค่มวลชนอิสระ เราไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากใคร เรารุนแรงเพื่อการปกป้องม็อบหรือมวลชนที่จะโดนสลายการชุมนุมหรือโดนเจ้าหน้าที่ทำร้ายแค่นั้นเอง เราไม่ได้ปั่นป่วนเมืองหรือตั้งใจจะก่อเหตุวุ่นวาย

'รางวัลสิทธิมนุษยชนคนธรรมดา' ปี 66

ผมรู้สึกดีมากครับ เหมือนมีผู้ใหญ่หรือมีใครสักคนเห็นในสิ่งที่เราทำ ตอนแรกผมคิดว่าที่ผมทำมาไม่มีใครเห็นหรือสนใจ คือมันไม่มีใครสนับสนุนหรือไม่มีผู้ใหญ่คนไหนที่คอยให้คำแนะนำ แต่รางวัลนี้มันทำให้ผมรู้ว่าเขามองเห็นในสิ่งที่เราทำ จริงๆ ผมอยากให้คนอื่นได้มากกว่าผมด้วยซ้ำ ทั้งตะวัน หรือ แบม เพราะเขาเสียสละเยอะกว่าผม ที่ผมได้เพราะเขาอาจจะมองว่าผมจัดกิจกรรมบ่อยๆ โดยที่ไม่ได้ขอการสนับสนุนจากใคร หรือ คำแนะนำจากใคร เราทำกันเอง และเขาเห็นบ่อยขึ้น และช่วงนี้พวกผมเคลื่อนไหวบ่อย เขาเห็นแล้วคงให้

คิดว่ายังมีความหวังไหม สำหรับ 'คนรุ่นใหม่' ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ทุกสิ่งที่ออกมาสู้พวกผมก็หวังตลอด มีความหวังตลอด ยิ่งเปลี่ยนรัฐบาลตอนเลือกตั้งผมก็มีความหวังมากขึ้นว่า มันต้องคุยง่าย ต้องเจรจาง่าย แต่ช่วงนี้เริ่มไม่มีความหวังเพราะว่าเพื่อนโดนจับเข้าไปเยอะขึ้น โดยที่ไม่ได้ประกันเลย ขนาดช่วงรัฐบาลประยุทธยังปล่อยให้ประกัน แต่พอเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลชุดนี้เหมือนเขาไล่เก็บ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาไม่ให้ประกัน มันเหมือนเป็นคำสั่งที่เขาทำให้คนข้างบนดูประมาณว่า กูจัดการและเก็บเข้าไปแล้วนะ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะได้ประกันง่ายกว่ารัฐบาลประยุทธ์ด้วยซ้ำ แต่กลับเป็นแบบนี้ แล้วพวก พรก. ฉุกเฉิน น้องๆ ผมโดนไป 1 ปี 4 เดือน ผมงงเลยเพราะปกติไม่เคยมีใครโดนตัดสินแบบนี้ เต็มที่ก็รอลงอาญาหรือเสียค่าปรับ อย่างเก็ท โสภณโดนพรบ.เครื่องเสียง โดน 4-5 เดือน จริงๆ ปรับที่สน.แค่ 200 บาท

เขาได้อำนาจมาอย่างไรจากใคร เขาต้องทำให้ผู้ที่ให้อำนาจเขานั้นรู้ว่ากูอยู่ฝั่งมึงนะ กูไม่ได้เลือกฝั่งเด็กหรือประชาชน

นอกจากการเมือง ยังมีเรื่องอะไรในสังคมอีกบ้าง ที่สร้างวัตถุดิบในการทำงานของเรา

เรื่องคอร์รัปชั่นทั่วไปที่เกิดขึ้นในสังคมครับ เพราะช่วงนี้ผมได้ทำงานเกี่ยวกับเรื่องการคอร์รัปชั่นในชุมชนอยู่ด้วย พวกส่วย การคอร์รัปชั่น และสิ่งที่ผมไม่ชอบที่สุดเลยคือ ระบบอุปถัมภ์ แค่มีนายที่ดีหรือรู้จักตำรวจ ก็มีอภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น เช่น การขายของตามข้างทาง หรือ ร้านบุหรี่ไฟฟ้า แค่รู้จักตำรวจก็ทำได้แล้ว ผมรู้สึกว่ามันไม่แฟร์ หรือ บางคนขับรถเข้าด่านโทรหานายก็ได้ไป ระบบนายกูใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพบเจอและรู้สึกว่ามันไม่ใช่มาตลอด

อีก 10 ปีน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครับ มันก็ครบ 100 ปีปฏิวัติแล้ว ผมคิดว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เหมือนอายุของคนนั้นก็ไม่น่าจะถึง และช่วงนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านคนปกครอง และวันนั้นผมก็น่าจะทำงานตรงนี้อยู่ ผมเคยฟุ้งๆ ว่าอยากให้เกิดสงครามไปเลยในช่วงเปลี่ยนแปลงเพราะคนใหม่ขึ้นมาเหมือนปกครองไม่ได้ ทำให้เกิดการแบ่งแยก และ เกิดการสู้กัน ผมมองไปถึงตรงนั้น

ตั้งแต่เริ่มตั้งกลุ่ม เห็นการเปลี่ยนแปลง และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปอย่างไร

น่าจะเรื่องสถาบันครับ เพราะตั้งแต่สมัยเสื้อแดง 10 ปีที่แล้วการที่ใครมาพูดเรื่องสถาบันคือไม่ได้เลย ผมต้องแอบคุยกับเพื่อนไม่กี่คน แต่พอมาทุกวันนี้ สิ่งที่ม็อบราษฎรทำ มันสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อความคิดของคนเยอะมาก บางคนบอกว่า ชุมนุมของม็อบราษฎรตอนนั้นไม่เห็นมีอะไรแปลกๆ แต่ผมคิดว่ามันเปลี่ยนเยอะมากสำหรับคนที่อยู่ในประเทศนี้ เหมือนเขาได้เรียนรู้เยอะและเปิดกว้างมากขึ้น รวมไปถึงสิทธิและสิ่งที่ตัวเองจะต้องปกป้อง

ให้เป็นเปอร์เซ็นต์ก็น่าจะเกินครึ่งเพราะช่วงนั้นถูกระบบอนุรักษนิยมครอบงำเยอะ ผมให้ 80% เลยสำหรับการเปลี่ยนแปลง ณ ตอนนี้ แต่มีโอกาสครบ 100% แน่นอนครับ เพราะเดี๋ยวคนเหล่านั้นก็ตาย

แก๊ป และ กลุ่มทะลุแก๊ซ กับทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอนาคต

อนาคตยังไม่รู้ครับ แต่ตอนนี้ผมอยากเอาเพื่อนออกเฉยๆ ตอนนี้เราพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เพื่อนออกเร็วๆ คือ เรามีการร่วมมือกับหลายๆ กลุ่ม เช่น การเสวนากับกระบวนการยุติธรรมไทย อยากให้มีระบบลูกขุน ซึ่งจริงๆ เราทำเยอะและทำหลายเรื่องมาก เรื่องเพื่อนออก ผมคาดหวังว่าปีหน้าจะได้รับการประกันตัว เพราะเหมือนช่วงนี้เขาเพิ่งได้รัฐบาลมา เขาอาจต้องการความสงบรึเปล่า ปีหน้าน่าจะมีอะไรดีๆ ขึ้น และพรบ.นิรโทษกรรมที่ยื่นไปผมอยากให้เขาตอบรับมา อาจทำให้ได้อิสรภาพปีหน้าครับ

อยากให้สนใจการเมืองและนักโทษทางการเมืองนะครับ เพราะเขาทำเพื่อทุกคน ไม่ได้ทำเพื่อใคร