Culture

ชวยคุยกับ ‘TFLOW’ ผู้ชายที่มอบครึ่งชีวิตให้บีบอย

‘TFLOW’ – กันตภณ รอดสะอาด อาจเป็นชื่อที่ใครบางคนเพิ่งจะรู้จักได้ไม่นาน ในฐานะนักกีฬาเบรกกิ้ง(บีบอย)ทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองแดง ซีเกมส์ครั้งที่ 32 และการฝ่าด้านคู่แข่งสุดโหดไปถึงรอบ 16 คน ในเอเชียนเกมส์ครั้งล่าสุด แต่สำหรับวงการบีบอยบ้านเรา ชายหนุ่มวัย 28 ปีคนนี้ไม่ใช่นักเต้นหน้าใหม่ เพราะเขาทั้งเต้น แข่ง และอยู่กับมันมาเกินครึ่งชีวิตแล้ว โดยปัจจุบันเป็นหนึ่งในสมาชิกทีม 11Highlow (ทีมไทย) และ YB Brother green (ทีมนานาชาติ)

อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘กว่าครึ่งชีวิต’ ที่กล่าวไป ไม่ได้หมายความถึงประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงความทุ่มเทที่มากมายด้วยเหมือนกัน บทสนทนาระหว่างเราและ TFLOW ในครั้งนี้ จึงจะเต็มไปด้วยความน่าสนใจในหลายแง่มุมของบีบอย และแพสชั่นที่แทรกอยู่ในแทบทุกขณะ

TFLOW เกิดในสวนสาธารณะ

ถึงจะจั่วหัวมาแบบนี้ แต่ไม่ได้แปลว่า TFLOW เกิดจากกระบอกไม้ไผ่แต่อย่างใด แต่เราเชื่อว่านี่จะเป็นการรีแคปเส้นทางนักเต้นบีบอยของเขาได้แบบเห็นภาพที่สุด เพราะเจ้าตัวเล่าว่าจุดเริ่มต้นของเขาเกิดจากสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง

“ผมเป็นคนชอบเต้นมาตั้งแต่เด็กแล้ว และตอนผมอายุ 14 ก็ไปเห็นว่าสวนสาธารณะแถวบ้านเขามีกลุ่มที่เต้นบีบอยกันอยู่ ก็เลยเข้าไปขอเขาเต้นด้วย แต่ตอนแรกผมยังไม่รู้เลยนะว่าที่เต้นอยู่มันคือบีบอย แค่รู้สึกว่ามันเท่ดี ผมก็เรียนรู้ ฝึกกับเพื่อนๆ พี่ๆ เอาตามสวนสาธารณะ ไม่เคยไปเรียนในสตูดิโอเลย”

ก่อนจะ Win ก็เคยวืดมาก่อน

TFLOW เล่าว่า หลังจากเดบิวต์เป็นหนึ่งในชาวแก๊งบีบอยได้ไม่นาน เขาก็เริ่มลงแข่งในงานต่างๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ โดยได้เล่าย้อนถึงการแข่งครั้งแรกว่า ถึงจะเป็นงานเล็กๆ แต่ก็เป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้เขามาถึงทุกวันนี้

“งานแรกเป็นงานจัดกันเอง อันเดอร์กราวนด์หน่อยๆ คือเหมือนพี่ๆ เจ้าถิ่นที่เราไปซ้อมอยู่เขาจัดขึ้นมาเพื่อเป็นการซัพพอร์ตคนในกลุ่ม ไม่ใช่งานที่ยิ่งใหญ่อลังการ แต่เน้นฟีล เน้นมัน เน้นสนุก เป็นงานเล็กๆ เต้นกันที่พื้น แล้วก็มี Cypher ยืนล้อมๆ กัน ผมไม่ได้รางวัล แค่รอบแรกยังไม่เข้าเลย (หัวเราะ) แต่ว่ามันทำให้มีกำลังใจขึ้นเยอะ ผมคิดว่ามันเป็นงานที่ดี มันช่วยซัพพอร์ตกัน เพราะถึงการจัดงานจะเกิดที่ถิ่นเรา แต่ก็เปิดให้คนอื่นมาดู มาแข่งได้”

จริงจังไปอีกขั้นกับการเป็นนักกีฬาทีมชาติ

หลังจากได้รับกำลังใจจากงานแข่งครั้งแรกในชีวิต เขาก็ได้พัฒนาฝีมือตัวเองขึ้นเรื่อยๆ จนได้มีโอกาสไปแข่ง และได้รางวัลจากงานทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่หลายครั้ง อีกทั้งเพิ่งเสร็จสิ้นหน้าที่การเป็นนักกีฬาทีมชาติชุดซีเกมส์และเอเชียนเกมส์ไปหมาดๆ ซึ่งนี่นับว่าเป็นครั้งแรกที่ TFLOW ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

“ผมตื่นเต้นนะ เราเคยไปแข่งต่างประเทศในนามตัวแทนประเทศไทยบ่อยๆ อยู่แล้ว แต่เพิ่งเคยไปแข่งในฐานะนักกีฬา ก็เลยมีประสบการณ์ที่แปลกใหม่เยอะมาก อย่างการยอมรับมากขึ้น ทั้งคนรอบตัว คนในครอบครัว ส่วนกติกาการแข่งก็คล้ายกับงานอื่น แต่ไวบ์จะต่าง เช่น ปกติงานบีบอย เราก็จะมีแต่คนฮิปฮอปทั้งหลาย ชาวแก๊งทั้งหลาย เวลาอยู่รวมกันเยอะๆ อาจจะดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่อันนี้งานมันดูสะอาดมาก (หัวเราะ) และค่อนข้างเป็นทางการ จริงจัง มีระบบที่ซับซ้อนมากขึ้น มีการจัดแรงก์นักกีฬา นับอัตราแพ้ชนะ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดีนะครับ เพราะทำให้เราแอ็กทีฟตัวเองมากขึ้น และมีกำลังใจมากขึ้น”

(แสดงว่าก่อนหน้านี้ที่บ้านไม่ยอมรับที่เราเต้น?)

ช่วงแรกผมแอบเต้น ไม่บอกเขา แต่เราจะไปฝึกเต้นแล้วกลับบ้านตรงเวลา จนวันหนึ่งเขามารู้ว่าเราสามารถเต้นได้ ก็พูดว่า “เต้นแร้งเต้นกา เต้นทำไม ทำไมไม่ไปหางานทำ” จนผมต้องไปหางานทำ แต่เลิกงานผมก็ไปเต้นเหมือนเดิม และสุดท้ายผมก็ออกจากงานมาเต้นอย่างเดียว ผมโชคดีที่พอจะใช้บีบอยหาเลี้ยงตัวเองได้ แต่ก็ใช่ว่าบีบอยทุกคนจะทำแบบนี้ได้ เพราะงานโชว์มีไม่เยอะ ถึงมีก็ค่าตัวน้อย แล้วพอที่บ้านเห็นว่าเราเต้นเป็นอาชีพได้ก็เริ่มยอมรับมากขึ้นครับ

สิ่งที่เปลี่ยนไปเมื่อบีบอยกลายเป็นกีฬา

ถ้าไม่นับเรื่องการยอมรับของคนใกล้ตัว ก็จะเป็นเรื่องการหาสปอนเซอร์ได้ง่ายขึ้น ของผมเองก็มีพวกคอร์สปลูกผมมาแล้ว อีกเรื่องก็คือการปรับตัว พอเราเป็นนักกีฬา เป็นที่รู้จัก คนก็จะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราได้ง่ายขึ้น ก็จะมีมิจฉาชีพเข้ามาหลอกได้ง่ายขึ้น ผมเจอมาแล้วกับการหลอกโอนเงิน ก็คิดว่าเป็นอะไรที่พวกบีบอยต้องระวัง และปรับตัวให้ทัน

ถ้าอยากให้บีบอยไทยไปได้ไกลผู้ใหญ่ต้องสนับสนุนหลายอย่าง

อีกหนึ่งตำนานของ TFLOW นอกจากจะเข้ารอบ 16 สุดท้ายในเอเชียนเกมส์ หางโจวแล้ว คือการให้สัมภาษณ์ว่าผู้ใหญ่ควรเข้ามาสนับสนุนเรื่องการปลูกผมให้นักกีฬา ซึ่งเป็นเรื่องที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง แต่เป็นปัญหาใหญ่ของชาวบีบอย

“ต้องเข้าใจว่าบางคนอาจจะไม่ได้ร่วง อย่างต่างชาติเขาต้องใช้หัวเยอะมาก แต่เขาก็ไม่เป็น เพราะเขามีหลายอย่างที่ช่วยซัพพอร์ตได้ เช่น พื้นดีๆ แต่ของผมเนี่ยเต้นบนพื้นสวนสาธารณะมาตลอด (ยกเว้นตอนเป็นนักกีฬา) ซึ่งมันเป็นพื้นอิฐ ถึงใส่หมวกก็ไม่ช่วยอะไร แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ เพราะเราขายวิญญาณให้มันไปแล้ว และผมคิดว่ายังมีบีบอยอีกหลายคนที่เจอปัญหานี้เหมือนกัน”

“นอกนั้นก็เป็นเรื่องสถานที่ซ้อม เพราะว่าพื้นดีเราก็มีชัยไปกว่าครึ่ง และเรื่องการทำให้คนสนใจบีบอยมากขึ้น ผมอยากให้มีเด็กรุ่นใหม่เกิดขึ้นมากกว่านี้ เพราะยุคนี้ประชากรบีบอยมันน้อยลงแล้ว อาจเพราะไม่มีหนัง ไม่มีมีสื่อจูงใจ คือสมัยก่อนมันยังมีเรื่อง Big Boy ที่ทำให้คนมาเต้นบีบอยเยอะมากๆ”

Photo Credit: descandez

มุมมองเมื่อบีบอยกลายเป็นกีฬา แต่ยังถูกมองว่าดิบ เถื่อน ใต้ดิน

“ยังมีคนอีกมากที่มองบีบอยเป็นเรื่องอันเดอร์กราวนด์ เพราะอาจจะยังไม่รู้ว่าบีบอยบรรจุเป็นกีฬาแล้ว แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะว่าจุดกำเนิดมันมาจากตรงนั้น แต่แค่อยากจะฝากถึงผู้ใหญ่ หรือพี่ๆ น้องๆ ว่า ถ้าสนใจอยากจะเต้นบีบอยหรือส่งลูกมาเรียนเต้นก็มากันได้เลย ไม่ต้องกลัว เพราะผมพูดเลยว่าถึงจะเจ็บปวดร่างกายบ้าง แต่ไม่มีใครตายเพราะบีบอย”

นี่คือเรื่องราวของ ‘TFLOW’ ผู้ชายที่มอบครึ่งชีวิตให้บีบอย เพราะมองว่าบีบอยให้อะไรกับตัวเองเยอะมาก ทั้งเปลี่ยนเด็กขี้อายในอดีต ให้เป็นคนกล้าแสดงออกต่อหน้าคนนับร้อยพัน และเปลี่ยนเด็กที่แค่ชอบเต้นในสวนสาธารณะ ให้เป็นนักเต้นมืออาชีพ

ทั้งนี้ เขาทิ้งท้ายว่าการเป็นนักเต้น นักกีฬา และการคว้ารางวัลมามากมายในตอนนี้ ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเขา เพราะเขายังมีแชมป์ Red Bull BC One เป็นเป้าหมายสูงสุดที่อยากไปให้ถึง ซึ่งกำลังพยายามอย่างหนักอยู่

ติดตาม TFLOW ได้ที่

Facebook: Tflow Phrasumen

Instagram: tflow4e