![](https://cdn.prod.website-files.com/649174dcab676e52a64ce81a/64926e15c4b7189b31532908_BabyGhost_01-2.jpeg)
สิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยมีอะไรบ้าง? เมื่อเราลองไล่นึกดูภาพที่ผุดขึ้นมาอาจมีทั้งน้ำแดงในศาลพระภูมิ ผ้าหลากสี ผีกระสือ ผีปอบ และอีกมากมาย ไสยศาสตร์น่าจะเป็นในสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยอย่างดี และไสยศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่ในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่เคียงคู่กับผู้คนอย่างยาวนาน
‘กุมารทอง’ หนึ่งในความเชื่อทางไสยศาสตร์เกี่ยวกับวิญญาณเด็กที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และปัจจุบันสังคมไทยความเชื่อและการอุปถัมภ์กุมารทองได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ผู้คนหันมาเลี้ยงดูกุมารทองด้วยความเชื่อต่างๆ บางคนเลี้ยงเพื่อโชคลาภ บางคนเลี้ยงดูเปรียบเสมือนลูก นอกจากความเชื่อทางไสยศาสตร์แล้วกุมารทองยังแสดงให้เห็นถึงการทับซ้อนกันของการให้ความหมายเกี่ยวกับเด็กและค่านิยมในสังคมไทย คนในสังคมมักมองเด็กเป็นสิ่งที่อ่อนแอต้องการผู้ปกครองในการดูแล และเมื่อโตขึ้นเด็กต้องตอบแทนบุญคุณ การให้ความหมายเกี่ยวกับเด็กในสังคมไทยนั้นถูกส่งต่อถึงกุมารทอง
![](https://cdn.prod.website-files.com/649174dcab676e52a64ce81a/64926e17c4b7189b31532a30_Baby-Ghost_02.jpeg)
กุมารทองคืออะไร? ร่างกายของทารกในครรภ์ที่ถูกปลุกเสก รูปปั้นที่มีวิญญาณเด็กอาศัยอยู่โดยเกิดจากการปลุกเสกของผู้เชี่ยวชาญด้านเวทมนต์โดยการนำวิญญาณเด็กมาใส่ในรูปปั้น หรือเป็นวิญญาณเด็กที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้อุปถัมภ์โดยสมัครใจ ไม่ว่าความหมายเป็นแบบไหน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการอุปถัมภ์กุมารทองในสังคมปัจจุบัน ความคิดเรื่องเด็กในมุมมองของศาสนาและค่านิยมไทยมีส่งผลต่อการอุปถัมภ์และความหมายของกุมารทองทั้งสิ้น
ศาสนาพุทธไม่ได้มองว่าเด็กเป็นแก่นกลางของศาสนา เด็กในศาสนาพุทธถูกมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากผลกรรมในอดีต เด็กจึงถูกวางกรอบมาพร้อมกับหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ และการตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ที่เลี้ยงมา จนเกิดเป็นค่านิยม ‘ความกตัญญู’ เด็กในมุมมองของศาสนาพุทธส่งผลต่อการอุปถัมภ์กุมารทอง กุมารทองมาพร้อมกับหน้าที่และการตอบแทนบุญคุณต่อผู้อุปถัมภ์ ผู้อุปถัมภ์เลี้ยงกุมารทอง กุมารทองจำเป็นต้องตอบแทนบุญคุณโดยการช่วยให้ผู้อุปถัมภ์มีความมั่งคั่งเจริญรุ่งเรืองจนไปถึงปกป้องจากอันตราย
![](https://cdn.prod.website-files.com/649174dcab676e52a64ce81a/64926e16c4b7189b31532a20_Baby-Ghost_03.jpeg)
นอกจากศาสนาแล้วค่านิยมเกี่ยวกับเด็กในสังคมไทยยังมีส่วนในการให้ความหมายของกุมารทอง เด็กในสังคมไทยมักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่อ่อนแอ ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ จำเป็นต้องมีผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่มาคอยดูแล ความคิดและความเชื่อนี้จึงถูกส่งต่อมาถึงการให้ความหมายของกุมารทอง กุมารทองจึงเป็นสิ่งที่ต้องมีผู้อุปถัมภ์และเลี้ยงดู ไม่สามารถเป็นอิสระหรือดูแลตัวเองได้
เด็กในมุมมองของศาสนาพุทธและค่านิยมในสังคมไทย แสดงให้เห็นว่าแม้กุมารทองเป็นสิ่งที่มีพลังเหนือธรรมชาติ แต่กุมารทองไม่มีความสามารถในการปกครองตัวเองกลับจำเป็นต้องมีผู้อุปถัมภ์เพื่อเลี้ยงดู และกุมารทองยังถูกผูกติดกับค่านิยมแบบไทยๆ อีกด้วย
![](https://cdn.prod.website-files.com/649174dcab676e52a64ce81a/64926e16c4b7189b31532a23_Baby-Ghost_04.jpeg)
ปัจจุบันสังคมไทยการอุปถัมภ์กุมารทองไม่ใช่แค่เรื่องรางทางไสยศาสตร์เท่านั้น แต่กุมารทองถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัว ผู้อุปถัมภ์มีสถานะและเรียกแทนตัวเองว่าเป็น ‘พ่อ/แม่’ ส่วนกุมารทองอยู่ในสถานะที่เป็น ‘ลูก’ เมื่อกุมารทองกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว กุมารทองจึงมีหน้าที่ของความเป็นลูกที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในความสัมพันธ์ต่างตอบแทนที่มีแนวคิดเรื่องบุญคุณและความกตัญญูมาเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามกุมารทองวิญญาณเด็กเป็นร่องรอยของสิ่งมีชีวิตที่พบได้ชั่วขณะหนึ่ง และเป็นช่องว่างที่ยังไม่เกิดใหม่ การเลี้ยงดูกุมารทองในสถานะของคนในครอบครัวผู้อุปถัมภ์ต้องเข้าใจว่ากุมารทองมีอายุขัย สักวันหนึ่งกุมารทองต้องเกิดใหม่ ผู้อุปถัมภ์ที่มีสถานะเป็นพ่อ/แม่ไม่สามารถจะผูกรัดให้กุมารทองอยู่ด้วยตลอดไป การใช้คาถาในการควบคุมกุมารทองเพื่อให้อยู่กับตนเองตลอดไปเป็นการกระทำที่โหดร้าย
![](https://cdn.prod.website-files.com/649174dcab676e52a64ce81a/64926e16c4b7189b31532a27_Baby-Ghost_05.jpeg)
นอกจากมุมมองเรื่องเด็กในสังคมไทยส่งผลต่อการให้ความหมายของกุมารทองแล้ว สถานะของกุมารทองจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากบริบทเดิมมาก กุมารทองจากเรื่องมนต์ดำทางไสยศาสตร์สู่สถานะกึ่งเทพ
หลายคนอาจรู้จักกุมารจากวรรณคดีเรื่องขุนแผน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากุมารทองเป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่อดีตช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่องราวในวรรณคดีเรื่องขุนแผน เริ่มต้นจากขุนแผนกำลังออกตามหากุมารทอง และเจอนางบัวคลี่ซึ่งเป็นหญิงที่มีลักษณะตรงตามตำรา ขุนแผนจึงตีสนิทกับหมื่นหาญพ่อของนางบัวคลี่จนยอมยกลูกสาวให้ แต่ก็มีเรื่องให้ผิดใจกัน ทำให้หมื่นหาญให้นางบัวคลี่ไปวางยาขุนแผน ซึ่งตอนนั้นนางบัวคลี่ก็ตั้งท้องอยู่ด้วยและเคยเอ่ยว่าจะยกลูกให้เป็นกรรรมสิทธิ์ของขุนแผน ขุนแผนรู้ว่าจะถูกฆ่าจากโหงยพรายซึ่งเป็นวิญญาณเด็กผู้หญิง ขุนแผนจึงฆ่านางบัวคลี่และควักลูกในไส้มาทำกุมารทอง พิธีกรรมในการทำกุมารทองจากวรรณกรรมเรื่องขุนแผนเกิดจาก ‘มนต์ดำ’ ที่เป็นเวทมนต์ทางไสยศาสตร์ กุมารทองของขุนแผนมีสถานะเป็นผู้รับใช้ ส่วนขุนแผนมีลักษณะเป็นผู้พิทักษ์
![](https://cdn.prod.website-files.com/649174dcab676e52a64ce81a/64926e16c4b7189b31532a1d_Baby-Ghost_06.jpeg)
ปัจจุบันผู้คนที่เลี้ยงดูบางกลุ่มจัดหมวดหมู่ของกุมารทองจาก ‘ผี’ เป็น ‘กุมารเทพ’ ที่มีลักษณะเป็นสัตว์สวรรค์กึ่งเทพที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ วิธีการจัดหมวดหมู่และกำหนดสถานะของกุมารทองใหม่เป็นการลดความสัมพันธ์ของวิญญาณกับผี และให้ความหมายแก่กุมารทองใหม่จากมนต์ดำทางไสยศาสตร์สู่สถานะกึ่งเทพ กุมารทองที่มีสถานะเป็นกุมารเทพมักจะถูกตั้งวางอยู่ที่เดียวกับพระพุทธรูป แต่วิถีของชาวพุทธมีการจัดลำดับสูงและต่ำ แม้กุมารเทพจะวางอยู่ในที่ประดิษฐานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่พระพุทธรูปจะอยู่ตั้งวางอยู่ในที่ที่สูงกกว่ากุมารเทพ
![](https://cdn.prod.website-files.com/649174dcab676e52a64ce81a/64926e17c4b7189b31532a4f_Baby-Ghost_07.jpeg)
ไม่ว่าจะมองว่ากุมารทองเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวหรืออยู่ในสถานะกึ่งเทพ สิ่งที่แสดงให้เห็นคือ
กุมารทองเป็นตัวแทนของการพลิกกลับบทบาทโดยผู้อุปถัมภ์พยายามจัดการพลังเหนือธรรมชาติของวิญญาณเด็กเพื่อให้ดำเนินชีวิตเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง แม้ว่าปัจจุบันวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่คนในสังคมให้การยอมรับ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไสยศาสตร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยร่วมสมัยgเช่นกัน
อ้างอิง
Megan Sinnott. 2014. Baby Ghosts: Child Spirits and Contemporary Conceptions of Childhood in Thailand. TRaNS. 2021, 9(1): pp. 293 - 317