~เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนมีใจอยากไปทะเล เลยบึ่งรถไปเที่ยวบางแสน ระหว่างที่ได้นั่งเป็นตุ๊กตาหน้ารถตลอดทางจากกรุงเทพฯ นอกจากจะเป็นดีเจเปิดเพลงแก้ง่วงให้คนขับแล้ว ยังมีเวลาว่างหาความบันเทิงจากวรรณกรรมซิ่งๆ บนท้องถนน อย่างสติกเกอร์ท้ายรถด้วย ไม่ว่าจะเป็นคำคมเฟี้ยวๆ ที่เห็นแล้วขำจนสำลัก ฟอนต์ สีสันของ typography และความหมายของรูปหน้าผู้ชายหนวดเฟิ้มที่เราเห็นบ่อยๆ แล้วคิดว่าก็เท่ดี
~สิ่งที่ซ่อนอยู่หลังสติกเกอร์บันเทิงๆ เหล่านี้ คือวัฒนธรรม ความเชื่อ และตัวตนบางอย่างที่เราอาจจะไม่เคยคิดจะไปหาความหมายหรือที่มา วันนี้เลยอยากชวนผู้อ่านตาไวไปพลิกสติกเกอร์ อ่านวัฒนธรรมหลังกระจกระหว่างทางไปบางแสนด้วยกัน
ถนนบางนา-ตราด: เครื่องยนต์ติดล้อกับตัวตนของคนหาเช้ากินค่ำ
คันที่ 1, 2, 3: ‘หรรมน้อยแซงเลย’ ‘อยู่บ้านเมียด่า ออกมาจ่าจับ’ ‘วัยรุ่นสร้างตัว’
~ก่อนจะเคลิ้มๆ หลับ จู่ๆ ก็มีแสงสีชมพูแว้บมาเข้าตาเรา นั่นคือสติกเกอร์ typography สีแสบจับใจของรถกระบะขนส่งคันใหญ่ด้านหน้า มันเขียนไว้ว่า ‘หรรมน้อยแซงเลย’ โอ้โห! ช่างเป็นเมสเสจที่เล่นกับเบื้องลึกจิตใจชายชาตรีได้ดีทีเดียว เราเองเห็นแล้วก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ก็ขำจนตาตื่นแค่นั้นเอง
~สติกเกอร์ท้ายรถที่เราเห็นกันได้ทุกวันนั้นมีประวัติยาวนานกว่า 40 ปีแล้ว เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมย่อยที่โลดแล่นบนท้องถนนมานาน ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง กล่าวเอาไว้ในหนังสือ ‘วรรณกรรมเก็บตก’ พ.ศ. 2523 ว่าจุดเริ่มต้นของสติกเกอร์เหล่านี้นั้นมาจากการใช้สีชอล์ก หรือสเปรย์ขีดเขียนท้ายรถของคนขับรถบรรทุก ที่ทั้งเขียนคำคมสนุกๆ เพื่อเรียกสติสหายรถสิบล้อด้วยกันที่ขับมาด้านหลังให้ตื่นจากความง่วงงน และระบายความอัดอั้นตันใจของการขยับพวงมาลัยหาเงินหามรุ่งหามค่ำ บอกเล่าปัญหาที่เจอจากการเป็นแรงงานสิบล้อในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยแรงเงิน เหมือนเป็นสมุดไดอารี่ของพี่ๆ โชเฟอร์ยุคนั้นเลยก็ว่าได้
~จากสีชอล์กก็กลายมาเป็นสติกเกอร์ที่ทนแดดฝนและสีสันชัดเจนในที่สุด ในช่วงปีพ.ศ. 2555 สติกเกอร์ติดรถกลับมาบูมมากๆ ส่วนหนึ่งเพราะนโยบาย ‘รถคันแรก’ ของรัฐบาลในขณะนั้น และได้ขยายความป๊อปปูล่าร์ไปยังกลุ่มรถบ้าน และรถจักรยานยนตร์มากขึ้น จนกลายเป็น ‘อาชีพ’ กันเลยทีเดียว มีร้านรวงรับตัดสติกเอร์คำคมสิบล้อที่สามารถ customize คำได้ ผุดขึ้นมาเพียบ ตัวท็อปของวงการคือ ‘จิ้ง - พรชัย คล้ายโพธิ์ทอง’ นักออกแบบสติกเกอร์มือฉมังที่ฝากผลงานซิ่งๆ ติดรถมาแล้วนับไม่ถ้วน
~โดยสติกเกอร์ในยุคแรกๆ ยังคงความขลังของการเขียนด้วยมือเอาไว้ด้วย font ที่มีความฉวัดเฉวียนคล้ายลายมือ นิยมใช้สีสะท้อนแสงเพื่อเล่นกับไฟบนท้องถนน และแอดเพิ่มเส้น stroke สีขาวหรือสีดำเพื่อไฮไลท์ให้เห็นชัด แต่พอกาลเวลาผ่านไป font ที่ดูเก่าๆ old school ก็เริ่มล้าสมัย font ถูกปรับให้มีเหลี่ยมมนและตัวหนามากขึ้น เริ่มไล่สี gradient และเติมกราฟิกการ์ตูนอื่นๆ เข้ามาเพิ่มให้เร้าอารมณ์กว่าเดิม
~ด้วยความเจ้าบทเจ้ากลอนและความมีอารมณ์ขันของชาวไทย ตัวเนื้อหาของคำเองยังคงถูกถ่ายทอดในรูปแบบของคำคล้องจอง เน้นความฮาอ่านแล้วน้ำตาเล็ด โดยการสื่อความของคำแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่แสดงถึงวิถีชีวิตและพฤติกรรมร่วม หรือสะท้อนปัญหาสังคม อย่าง ‘รถไม่หรู แต่กูมีแดก’ ‘ไม่เคยลำบากอย่าปากดี’ ‘เมียซื้อเงินสด รถซื้อเงินผ่อน’ ‘ฉันเกิดในรัฐบาลที่ง่าว’ หรืออาจเป็นสติกเกอร์เพื่อความฮาล้วนๆ ไม่มีนัยยะอื่นผสมอย่าง 'ไม่ต้องไล่ กูไวได้แค่นี้' 'กินทุกที่ ขี้ทุกปั๊ม' หรือ 'ดีใจจัง คันหลังก็หลง'
~แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มที่น่าสนใจ คือการติดสติกเกอร์ประกาศตัวตนของตัวเอง เช่น ‘วัยรุ่นสร้างตัว’ ‘บรรทุกซิ่งวิ่งสร้างตัว’ หรือ ‘จิ๊กโก๋ทำกิน’ เพื่อบอกกับสังคมว่าการขับรถบรรทุก กระบะ หรือแม้กระทั่งรถมอเตอร์ไซค์ซิ่งๆ นั้นไม่ได้ทำไปเพื่อก่อกวนเพื่อนร่วมทาง แต่พวกเขากำลังวิ่งอยู่บนเลนแห่งการทำมาหากิน แม้มักจะถูกสื่อแสดงภาพจำอัตลักษณ์ในแง่ลบ แต่พวกเขาก็กำลังก่อร่างสร้างตัวไม่ต่างกับอาชีพอื่นๆ คำคล้องจองสีสันแสบทรวงพวกนี้จึงไม่ได้ถูกติดไว้อย่างไร้จุดหมาย มันเป็นการแสดงตัวตนของคนชายขอบที่แสนแยบยล
~ไม่แน่ใจนักว่าสติกเกอร์คำคมเหล่านี้มีอยู่ในประเทศอื่นๆ ไหม แต่ที่ไทย สิ่งนี้กลายเป็น ‘วัฒนธรรมย่อย’ ที่ถูกเอามาใช้ในสื่ออยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเพจทางโซเชียลที่รวบรวมคำคมรถบรรทุกซึ่งมียอดไลก์สูงกว่า 200K หรือแอป ‘ติ๊กเกอร์’ ที่ให้ผู้ใช้เข้าไปดาวน์โหลดสติกเกอร์สิบล้อกันเองได้ ดังเป็นพลุแตกเมื่อปีพ.ศ. 2556 ไหนจะของเล่นเด็กใน 7/11 ที่เอาโมเดลรถคอกหมูขนของเล็กๆ มาขายพร้อมกับสติกเกอร์ซิ่ง ให้คนได้ลองครีเอทรถซิ่งฉบับคนทำมาหากินกันเอง นอกจากนี้ยังมีหรือสิ่งพิมพ์ โฆษณาอีกมากมาย ที่หยิบเอาซิกเนเจอร์ของสิ่งนี้ไปใช้ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมย่อย ที่ค่อยๆ คลืบคลานมาเป็น Pop Culture กระแสหลักเรื่อยๆ
คันที่ 4: หน้าคนดังติดบังโคลน
~เราแวะปั๊มให้ข้อเท้าขวาของคนขับได้พักเบรค จู่ๆ ก็มีรถบรรทุกคันเบ้อเร่อเลี้ยวเข้ามาจอดไม่ห่างจากซองจอดของเรา ที่เตะตาสุดๆ คือรูปหนุ่มเคราเฟิ้มใส่หมวกเบเรต์ที่ติดอยู่ตรงบังโคลนหลัง เห็นแล้วเรารู้ทันทีว่าคือ ‘เช เกวารา’ จากเพลงของวงคาราบาวแน่นอน
~“~เช ยังไม่ตาย เขาอยู่ท้ายรถบรรทุก เขียนถ้อยคำสนุก ใครบ้างอยากรู้ที่มา~”
~เราคิดในใจ “อยากรู้ค่ะลุงแอ๊ด” เลยเปิดเพลงนี้ฟัง พร้อมเสิร์ชดูทันที ‘เช เกวารา’ คือนักปฎิวัติหนุ่มชาวอาร์เจนตินาอุดมการณ์แรงกล้า ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นแรงงาน ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูลุยๆ แววตาที่แน่วแน่และมุ่งมั่น ทำให้ภาพถ่ายหลายๆ ภาพของเขา กลายเป็นหนึ่งสติกเกอร์สุดทรงพลังของคนหาเช้ากินค่ำ หรือสิงห์รถบรรทุก
~เช เกิดมาพร้อมโรคหอบหืด ทำให้เขาไม่สามารถทนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คลุ้งมลพิษของเมืองใหญ่ได้ ครอบครัวเขาจะย้ายมาอยู่เมืองเล็กๆ ที่ชื่อ ‘อัลตรากราเซีย’ พอเริ่มเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เช ตัดสินใจเรียนแพทยศาสตร์ ส่วนหนึ่งเพื่อหาทางรักษาอาการหอบของเขาเอง แต่แล้วเส้นทางการแพทย์ก็พาเขาไปพบเส้นทางใหม่ เขาออกเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์กับเพื่อนรุ่นพี่ ‘อัลแบร์โต กรานาโด’ ไปทั่วอาร์เจนตินา และแถบอเมริกาใต้ เพื่อศึกษาเรื่องหอบหืด แต่ภาพติดตาจากทริปนั้นกลับเป็นความยากจนแร้นแค้น ที่เป็นผลพวงจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม เรื่องราวการเดินทางทั่วอเมริกาใต้ของเขา ถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบภาพยนตร์ ‘The Motorcycle Diaries : Notes on a Latin Amarican Journey’
~ทริปนั้นจุดประกายความมุ่งมั่นที่จะต่อต้านการขูดรีดของระบบทุนนิยมเพื่อคนชนชั้นแรงงาน เชยอมทิ้งสถานะ ‘แพทย์อนาคตไกล’ ไว้ข้างหลัง แล้วออกเดินทางต่อสู้เพื่อพี่น้อง เข้าร่วมกองกำลังปฏิวัติคิวบา จนกลายเป็นนักปฏิวัติที่ปลดแอกประชาชนในแถบอเมริกาใต้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง สุดท้ายเขาถูกจับตัวในขณะที่กำลังพยายามปฏิวัติโบลีเวีย และถูกประหารด้วยอายุเพียง 39 ปีเท่านั้น
~ภาพที่เขาใส่หมวกเบเรต์สุด iconic นั้นถูกถ่ายโดยช่างภาพที่ชื่อ ‘กอร์ดา’ โดยที่ตัวเขาเองไม่รู้เลยว่า ภาพนี้จะกลายเป็นภาพทรงอิทธิพลที่สุดภาพหนึ่ง ซึ่งสะท้อนแนวคิดของชนชั้นแรงงานทั่วโลกมีเหมือนๆ กัน นั่นก็คือก็การไม่ยอมศิโรราบต่อระบบศักดินาและทุนนิยม ข้ามทวีปมาเป็นแฟชั่นของสิงห์รถบรรทุกเมืองไทย และกลายเป็นหนึ่งใน Pop Culture ของกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่พักใหญ่
ทางด่วนบูรพาวิถี: รถรากับศรัทธาและความเชื่อแบบไทยๆ
คันที่ 5: รถคันนี้จะสีอะไรก็ได้
~รถอีกคันที่เตะตาเราคือรถเก๋งสีขาวธรรมดาๆ อายุอานามน่าจะไม่ต่ำกว่า 10 ปี ที่กระจกหลังด้านล่างๆ ติดป้ายว่า ‘รถคันนี้สีบรอนซ์’ เห็นแล้วเป็นต้องหลุดยิ้ม เพราะนี้คือสติกเกอร์ที่เราเห็นมานาน แม้ว่าจะไม่ได้ป๊อปปูลาร์เหมือนสมัยเรายังเด็ก แต่ก็ยังมีให้เห็นประปรายบนท้องถนน
~แล้วทำไมเราต้องติดป้ายบอกสีรถ (ที่แท้จริง) ด้วย? จากที่เคยได้ยินมา เขาบอกว่ามันมาจากตำนาน ‘ผีแม่ม่าย’ ของทางภาคอีสาน หรือเหตุการณ์ที่ผู้ชายในหมู่บ้านพากันเสียชีวิตต่อๆ กันโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งมีเหตุการณ์ผีแม่หม้ายอาละวาด ล้างบางผู้ชายในหมู่บ้านแห่งหนึงในแถบอีสานไปกว่า 20 คน ผู้คนในหมู่บ้านพากันเอาเสื้อสีแดง และป้าย “บ้านนี้ไม่มีผู้ชาย” ออกมาแขวนกันแทบทุกครัวเรือน หนึ่งใน logic ‘รถคันนี้สี xxx’ ก็คล้ายคลึงกับเหตุการณ์นี้ ที่เอาไว้บอกว่าสิ่งลี้ลับต่างๆ ว่า “นี่ไม่ใช่รถที่เธอตามหานะจ้ะ” โดยมีความเชื่อว่าคนที่อยู่ในมิติแห่งความตาย ไม่สามารถมองเห็นภาพเป็นสีได้
~อีกสตอรี่ที่เราเคยได้ยิน ก็คือการติดเอาไว้ ‘แก้เคล็ด’ เพราะตามความเชื่อแบบไทยๆ แล้ว เราทุกคนมีสีประจำตัวหรือประจำวันเกิด แต่รถเก๋งในตลาดดันมีสีที่หลากหลายไม่มากพอกับความต้องการทางความเชื่อนี้ เอาเข้าจริงไม่มีใครอยากติดสติกเกอร์ไปเรื่อย แต่เพื่อความสบายใจติดไว้หายกังวลกว่า
~ที่น่าสนใจสุดๆ คือเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะบางคนก็อยากจะซื้อรถตามสีที่ถูกโฉลกกับตัวเอง แต่สีเหล่านั้นดันเป็นสีที่มีเปอร์เซ็นต์การเกิดอุบัติเหตุมากกว่า เช่น รถสีเข้มอย่าง ดำ แดงเข้ม น้ำตาล น้ำเงิน ที่อาจมองเห็นได้ไม่ชัดนักในช่วงกลางคืน ทำให้ต้องเลือกซื้อรถสีอื่น แล้วมาติดป้ายสีเข้มๆ เหล่านี้แทนเพื่อแก้เคล็ด ซึ่งวิจัยจาก Kunsan National University และ Wonkwang University ยืนยันแล้วว่าสีรถมีผลกับทัศนวิศัยจริงๆ นี่เป็นอีกเหตุผลของการติดสติกเกอร์นี้ ต่อมามีคนติดกันเพิ่มขึ้นจนเปลี่ยนจากความเชื่อเป็นแฟชั่น ผู้ผลิตรถยนตร์อย่าง Chevrolet ถึงกับออกแคมเปญขายสติกเกอร์ให้กับลูกค้ากันเลยทีเดียว
คันที่ 6: วัดท่าไม้ วัดดูยูมีน?
~“ปี๊นนนน ปิ๊นๆๆๆ” จู่ๆ ก็มีเสียงแตรจากด้านหลังขณะที่รถเราวิ่งอยู่เลนขวาสุด มองผ่านกระจกข้างแล้วเห็นเป็นรถปิคอัปคันเบิ้ม แต่งล้อแม็กซ์อย่างเฟี้ยว ค่อยๆ เร่งสปีดแซงซ้ายเราไปแบบงงๆ ที่กระจกหลังของรถคันนี้มีสติกเกอร์ ‘วัดท่าไม้’ ติดอยู่ เห็นแล้วรู้ทันทีว่า นี่แหละรถของศิษย์มีครู ครูที่ว่าก็คือ พระครูปลัดอุเทน สิริสาโร เจ้าอาวาสวัดท่าไม้
~แรงบันดาลใจในการคิดแคมเปญสร้าง awareness ของวัดท่าไม้นั้น มาจากสติกเกอร์อุโบสถหินอ่อน วัดหลวงพ่อโสธร จ. ฉะเชิงเทรา แต่วัดท่าไม้เองในยุคนั้น ยังไม่ได้มีอะไรเป็นจุดเด่นนัก จึงหยิบเอาชื่อวัดสุด iconic มาเป็นสติกเกอร์ ปลุกเสก แลัวแจกจ่ายให้กับลูกศิษย์ลูกหา โดยเริ่มจากกุศโลบายอยากให้ทุกคนช่วยเหลือกันบนท้องถนน คันไหนติดสติกเกอร์นี้ก็จะรู้เลยว่าเป็นศิษย์ครูเดียวกัน ต้องเกื้อกูลกัน และเป็นสื่อให้ชาวบ้านแถวนั้นทราบว่า มีคนต่างถิ่นเข้ามาทำบุญ ต้องอำนวยความสะดวก โดยสติกเกอร์นี้เองก็มีกิมมิกที่เราอาจจะไม่รู้ วัดท่าไม้สีเหลืองใช้สำหรับรถของคนที่มาถือศีล มารักษาศีล ส่วนวัดท่าไม้สีขาวสำหรับคนที่มาไหว้พระ ขอพรทั่วไป
~นอกจากุศโลบายเชื่อมใจคนขับศิษย์วัดเดียวกันแล้ว พระสมุห์จารุตอาภากโร (หลวงพี่โซ่) เลขานุการเจ้าอาวาส ให้แนวคิดเพิ่มเติมไว้ว่าสติกเกอร์สุดขลังเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ทรงอิทธิพลมากๆ อย่างหนึ่ง ที่ช่วยสร้างรายได้ให้ทั้งวัดและจังหวัดสมุทรสาคร เรียกว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธทางการตลาดแบบ Offline ที่เข้าถึงคนทุกชนชั้น แค่เราเห็นสติกเกอร์ก็ทำให้เราอยากหยิบมือถือขึ้นมาค้นหาชื่อวัดแล้ว
จุดชั่งน้ำหนักรถบรรทุก: ฉกฉวยพื้นที่สร้างสรรค์ มาเป็น ‘ส่วย’
~พอเราเห็นความบันเทิงมามากพอ มันก็ทำให้เราย้อนคิดไปถึงข่าวเมื่อปีพ.ศ. 2566 เรื่อง ‘ส่วยรถบรรทุก’ ซึ่งก็ดูจะมีความเกี่ยวเนื่องกับสติกเกอร์ที่เราเห็นกันจนชินตา จนไม่ตั้งคำถามกับที่มาหรือฟังก์ชันของสติกเกอร์แต่ละอัน
~จนกระทั่งได้รู้ว่าสติกเกอร์บางอันมันไม่ได้เอาไว้แสดงตัวตนหรือวัฒนธรรมบางอย่าง แต่มันถูกเอาไปใช้แบบทึมๆ เทาๆ เพื่อให้สามารถขนของน้ำหนักเกินผ่านด่านได้ฉลุย หรือวิ่งนอกเวลาที่กำหนดได้สบายๆ ส่วยสติกเกอร์จะมีสัญลักษณ์หรือรูปต่างกันตามฟังก์ชัน เช่น พระอาทิตย์ยิ้ม กระต่าย ผลไม้ กังฟูแพนด้า ชินจัง โดราเอมอน ประเทศไทย ใบไม้ ดาว ตัวอักษรไทย-อังกฤษ และอื่นๆ อีกเพียบ ซึ่งแต่อันก็จะทำหน้าที่บ่งบอกว่าครอบคลุมพื้นที่ใด จ่ายเงินให้ใคร และสามารถใช้ได้ในพื้นที่ไหนบ้าง
~ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไรที่จากสติกเกอร์ธรรมดาๆ จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการทุจริตเพื่อผลประโยชน์ เพราะการฉกฉวยความคิดสร้างสรรค์มาเป็นทางลัดทำเรื่องไม่เข้าท่า หรือหาช่องโหว่เพื่อเอาเปรียบคนอื่น สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ อย่างรอบตัว อยู่ที่ว่าเราจะรู้ตัวเมื่อไหร่ว่าสิ่งเหล่านี้มันกำลังกัดกินเราแบบเนียนๆ และเราจะหยุดขบวนการนี้อย่างไร?
ถึงทะเลแล้ว!
~เราถึงทะเลโดยสวัสดิภาพ ได้อัดเพิ่มศัพท์ใหม่ และความรู้ระหว่างทางไปอย่างเต็มเปี่ยม แถมยังได้รูปสติกเกอร์ฮาๆ ไปลงโซเชียลอีกหลายรูป พอปัดๆ ดูภาพที่ถ่ายมาทั้งหมดแล้วก็รู้สึกดีชอบกล ที่บนท้องถนนเมืองไทยมีอะไรให้ผู้สัญจรได้ดูเพลินๆ คลายเครียด (หรือเครียดกว่าเดิมก็ไม่รู้นะ) เหมือนได้อ่านวรรณกรรมท้องถนน ที่ไม่ต้องใช้เงินมากมายไปหาซื้อ แต่ได้เรียนรู้วิถีชีวิต ตัวตน และความเชื่อของคนรอบตัวได้อย่างสนุกสนาน ยิ่งในโลกที่ AI กำลังเข้าใกล้ชีวิตเรามากขึ้นเรื่อยๆ อดคิดไม่ได้ว่าในอีก 20 30 ปีข้างหน้า วรรณกรรมบนถนนซิ่งๆ ที่อยู่คู่เมืองไทยมานาน จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?
อ้างอิง
เอกกมล จิระกุลชา และ อดิพล เอื้อจรัสพันธุ์