Culture

ตรุษจีนของชาวไทย ในยุคที่ความเป็นมาอาจจะถูกให้ความสำคัญมากกว่าความเป็นไป

ประเทศไทยถูกหล่อหลอมมาด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งด้านความเชื่อ เชื้อชาติ วัฒนธรรม และอื่นๆ จนก่อให้เกิดความสวยงามของการร่วมพัฒนาวัฒธรรมที่ดึงรากของเรามาร่วมกับความเป็นตัวของตัวเองได้ดี และวัฒนธรรมจีนก็เป็นส่วนหนื่งในนั้น โดยไทยและจีนมีประวัติศาสตร์กันมายาวนานทั้งด้านการค้าขาย การสานสัมพันธ์ และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างมาก จากผลสำรวจของ Nida poll ของปี 2023 พบว่ากว่า 24% ของคนไทยมีเชื้อสายจีนนั้นนับเป็น 16 ล้านคนโดยประมาณ

ตรุษจีนเป็นหนึ่งในเทศกาลที่สำคัญที่สุดของคนไทยเชื้อสายจีน และด้วยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดความแตกต่างทางวัฒนธรรมของการฉลองวันตรุษจีนในไทยตามไปด้วย ก่อขึ้นมาให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และความเป็นอยู่ของคนไทย-จีนในประเทศ 

ในจีนนั้นวันขึ้นปีใหม่จะมีเวลายาว 7 วันเต็ม เป็นโอกาสให้กันลูกหลาน หรือใครที่อยู่ไกลได้กลับบ้านไปฉลองกับครอบครัว ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของธุรกิจ และการบำรุงรักษาไว้ซึ่งวัฒธรรมอย่างเข้มแข็งในประเทศ ส่วนของไทยมีการฉลองตรุษจีนอยู่ 3 วันซึ่งแบ่งเป็นวันจ่าย คือวันที่จะมีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อเตรียมการสำหรับพิธีในวันถัดไป โดยคนไทย-จีนดั้งเดิมค่อนข้างให้ความสำคัญกับของไหว้มากๆ เพราะความหมายที่ของไหว้แต่ละอย่างสื่อถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และตัวเลือกของของไหว้เหล่านั้น ในอดีตไม่ได้หาง่ายได้ทั่วไปเหมือนอย่างในประเทศจีน ต่อมาคือวันไหว้ ที่จะเป็นวันกราบไหว้เทพเจ้า บรรพบุรุษ รวมถึงวันรำลึกถึงญาติพี่น้องที่เสียไปแล้วด้วย วันสุดท้ายคือวันตรุษจีน หรือที่หลายคนเรียกว่าวันเที่ยว เป็นวันขึ้นปีใหม่ที่ทุกคนจะได้พบปะกัน เฉลิมฉลองด้วยการแต่งกายสวยงาม และออกไป “เที่ยว” หาคนรู้จัก หรืออยู่กับครอบครัว ญาติพี่น้องที่ยังอยู่กับเรา

อย่างที่พูดกันไปเบื้องต้นของไหว้ และพิธีต่างๆ มีความหมายและความสำคัญของแต่ละที่ไป อย่างเช่นของจีนแผ่นดินใหญ่ จะมีการกินเกี๊ยวเป็นมื้อสุดท้ายก่อนวันก้าวเข้าสู่ปีใหม่เพราะเกี๊ยวมีรูปร่างเหมือนเงินในสมัยก่อน หรืออย่างส้มที่ใช้ไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะคำว่าส้มในภาษาจีนมีความหมายว่า ‘โชคดี’ หรือ ‘ทอง’ อีกส่วนนึงที่หลายคนที่ไม่มีเชื้อจีนน่าจะสงสัย (หรือ มีเชื้อจีนแต่ก็ยังสงสัย) คือการจุดประทัด ที่ทำเอาหมาเห่า หรือคนทำเอาสะดุ้งตื่นกันนั้น มีความหมายคือการปัดเป่าความโชคร้าย หรือการไล่ภูติผีปีศาจที่คิดไม่ดีออกไป

เด็กๆ หลายคนคงรู้เกี่ยวกับ อั่งเปา และ แต๊ะเอีย และอาจจะไม่รู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน อั่งเปา คือซองสีแดงที่ใช้ใส่เงิน ส่วนตัวเงินเองคือ แต๊ะเอีย โดยมักจะใส่เป็นเลขคู่ อย่าง 8 เพื่อความหมายว่าเป็นการให้เงินทองทวีคูณขึ้นไป

พูดถึงเด็กๆ สิ่งที่น่าสนใจอีกส่วนนึงจากผลสำรวจของ Nida Poll คือการค้นพบว่ากว่า 12% ของครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนในตอนนี้ไม่ได้ไหว้ตรุษจีนแล้ว โดยเหตุผลส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องจากเวลา การทำงาน เข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนรุ่นใหม่มากขึ้น ทำให้อาจจะไม่มีเวลากลับบ้าน หรือเข้าร่วมพิธีตรุษจีน บวกการการที่ผลกระทบของเหตุผลข้างต้นเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ในเวลาเดียวกัน คนรุ่นก่อนที่รู้ขั้นตอนวิธีการไหว้นั้นมีอายุเยอะ หรือล้มหายตายจากไปแล้ว

ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าสงสัย น่าสนใจ และน่าเสียดายที่ดูเหมือนจำนวนคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เข้าร่วม ไม่ได้สนใจ หรือไม่รู้วิธีการฉลองตรุษจีนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น ถึงแม้จะรู้ความเป็นมาของวัฒนธรรม แต่เวลา การเติบโต และการงาน เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตมากขึ้น จนด้านหนึ่งของเราอาจจะถูกหล่อหลอมกับส่วนของความเป็นมา แต่ถูกกาลเวลาดันออกไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไป

อ้างอิง

Nida

ChinaReportAseanThailand

ThaiPBS

Britannica

Asianinspirations

Chula