ทรงเจ้าเข้าผี (Spirit Mediumship) เป็นคำที่ฟังแล้วน่ากลัว ดูลี้ลับและเต็มไปด้วยคำถามว่า มันคืออะไรกันแน่ ร่างทรงทำอะไรกัน การไปหาร่างทรงเป็นความเชื่อที่งมงายหรือเปล่า ในบทความนี้จะชวนมาสำรวจทำความเข้าใจว่า ทุกวันนี้ร่างทรงทำอะไรกันบ้างและปรับตัวอย่างไรให้อยู่ในสังคมไทยมาได้อย่างยาวนาน
วัฒนธรรมการทรงเจ้าเข้าผีเป็นวัฒนธรรมที่มีมานานของคนชาติพันธุ์ไท มีมาในไทยก่อนตั้งแต่ศาสนาพุทธและพราหมณ์จะเข้ามา มีมาก่อนยุคสุโขทัยและก็ยังมีอยู่ยืนหนึ่งมาถึงปัจจุบัน แถมยังป็อปสุดๆ ในช่วงปี 2540 ด้วยที่ การไปหาร่างทรงเป็นหนึ่งในทางเลือกของการรักษาพยาบาลความเจ็บป่วยยอดนิยมที่ทำให้ วงการแพทย์และวงการงานวิจัยต่างตั้งคำถามว่า ทำไมเวลาคนไทยป่วยจึงมีวัฒนธรรมการรักษาโดยไปพบร่างทรงแทนที่จะไปพบแพทย์ ทั้งๆ ที่ยุคนั้นวิทยาศาสตร์ก็มีความก้าวไกล จนมีงานวิจัย ‘ทรงเจ้าเข้าผีในวัฒนธรรมสุขภาพไทย’ ของ ‘พัฒนา กิติอาษา’ ที่มาหาคำตอบเรื่องนี้แล้วพบว่า มันเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการรักษาอีกทางที่ไม่ได้เยียวยาแค่ร่างกาย แต่เยียวยาจิตใจจิตวิญญาณด้วยและการไปหาร่างทรงก็เป็นหนึ่งในความเชื่ออันหลากหลายของคน
“คนธรรมดาสามัญ ชาวบ้านกลุ่มต่างๆ หมอลำทรง หมอลำผีฟ้า คนทรง คนป่วย ลูกศิษย์และญาติพี่น้องของพวกเขาไม่ใช่คนโง่ ไม่ใช่คนที่งมงายกับไสยศาสตร์ พิธีกรรม ความเชื่อหรือวิญญาณที่ไม่มีตัวตนอยู่ตลอดเวลา ในทางตรงกันข้าม พวกเขาต่อสู้ดิ้นรนหาทางออกให้กับปัญหาสุขภาพของตนเอง มีวิธีคิดและมุมมองต่อปัญหาสุขภาพของตนเอง”
ไม่ใช่ทุกครั้งที่คนไปพบร่างทรงเพื่อให้ได้รับการรักษา บางคนไปหาร่างทรงเพื่อปรึกษาปัญหาความสัมพันธ์ บางคนไปหาร่างทรงเพื่อช่วยให้ทำพิธีกรรมก็มี ร่างทรงมีหน้าที่หลากหลายและสามารถทำได้หลายอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้ที่มาติดต่อขอความช่วยเหลือผ่าน ‘การเข้าทรง’ ซึ่งก็คือ การติดต่อผีหรือวิญญาณผ่านคนทรงโดยทั่วไป ซึ่งร่างทรงจะติดต่อกับวิญญาณ/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ตามแต่จุดประสงค์ของผู้มาติดต่อ ร่างทรงมีการแบ่งประเภทแบบกว้างๆ ตาม การเข้าทรง พื้นที่และวัฒนธรรมไว้ 3 รูปแบบ
1. คนทรงเจ้าชุมชนชนบท เป็นการทรงเจ้ากับผีของความเชื่อและพิธีกรรมศาสนาดั้งเดิม ที่ผู้หญิงจะมีบทบาทในการนำพิธีมากกว่าเช่น หมอลำทรง หมอลำผีฟ้อน หมอลำเหยา ผีบรรพบุรุษต่างๆ พิธีกรรมของร่างทรงกลุ่มนี้จะเน้นการใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นมาช่วยรักษา การฟ้อนรำ การใช้เสียงแคนในการรักษาความเจ็บป่วย และปลุกขวัญกำลังใจคนในหมู่บ้านด้วย
2. คนทรงเจ้าชุมชนกึ่งเมือง จะเน้นเข้าทรงวิญญาณของวีรบุรุษ วีรสตรีที่สำคัญกับประวัติศาสตร์ เช่น บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ เจ้าเมืองตามเขตต่างๆ เช่นจังหวัดโคราช ที่มีร่างทรงย่าโม
3. คนทรงเจ้าเขตเมืองและปริมณฑล เป็นกลุ่มการทรงเจ้าที่พึ่งมีไม่นานเท่าสองรูปแบบหลัก ความต่างของร่างทรงกลุ่มนี้คือการทรงที่เน้นพิธีกรรมรวมกับธุรกิจมากขึ้น มีความร่วมสมัย ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ไต้หวัน และ เกาหลี เช่น ร่างทรงเทพเจ้าแม่กวนอิม เจ้าแม่กาลี มีตำหนักเทพ หรือ ร่างทรงบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตัวละครในวรรณคดี มีบริการให้ความช่วยเหลือแบบธุรกิจมากขึ้น
ตั้งแต่งานศึกษา 2543 ‘ทรงเจ้าเข้าผีในวัฒนธรรมสุขภาพไทย’ มาจนถึงงานปี 2560 ‘การกลายเป็นสํานักปฏิบัติธรรมของสํานักทรง: ระบบความเชื่อกับการปะทะประสานองค์ประกอบทางวัฒนธรรมในโลกสมัยใหม่’ ของ ‘อลงกรณ์ จิตนุกูล’ มีข้อเสนอที่ค้นพบจากงานศึกษาที่อธิบายได้ชัดเจนว่า ทำไมร่างทรงถึงยังมีความจำเป็นในสังคมไทยและปรับตัวอยู่ร่วมอยู่มาได้ทุกยุคทุกสมัย
ร่างทรงตอบปัญหาว่า “ทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้นกับฉัน” “ทำไมฉันถึงเคราะห์ร้าย” ได้ และเน้นไปยังการรักษาที่มากกว่าอาการเจ็บป่วยทางกายเป็นหลักอย่างเดียวเหมือนวัฒนธรรมการรักษาของแพทย์สมัยก่อน ที่เน้นมองคนเป็นเคสๆ การไปพบร่างทรงก็เหมือนการไปพบที่ยึดเหนี่ยวเยียวยาจิตใจและจิตวิญญาณ ถ้าร่างทรงไม่สามารถปรับตัวให้สามารถช่วยให้คนออกจากความทุกข์ เยียวยาได้ อาชีพนี้ก็คงจะสูญหายไป
ร่างทรงเองก็มีการปรับตัวไปกับวิทยาศาสตร์ ยุคสมัยเหมือนกัน ทุกวันนี้ร่างทรงไม่ได้จะทำเพียงแค่ สื่อสารกับวิญญาณอย่างเดียวในวัฒนธรรมเดียว ไม่ได้เชื่อแต่วิญญาณที่สื่อสาร แต่ทุกวันนี้ร่างทรงเองก็รับวัฒนธรรม ความเชื่ออื่นเข้ามาช่วยด้วยอย่าง มีสำนึกทรงที่สอนธรรมะ ให้แนวทางปลดทุกข์แก่ผู้คน สอนภาวนาฟรี มีการเชื่อมโยงรับความเชื่ออื่น วัฒนธรรมอื่นมาช่วยแก้ไขปัญหาคนให้พ้นทุกข์ ไม่ยึดติดกับความเชื่อชุดเดิม มีการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ พร้อมให้ทางออกที่เป็นไปได้จริงตามทางวิทยาศาสตร์และยุคสมัยมากขึ้นทำให้ ร่างทรงจึงยังคงมีมาอยู่ได้ทุกวันนี้
ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ตราบใดที่คนยังทุกข์ มีปัญหา มีความเคว้งคว้างในจิตใจ มีคำถามต่อการมีอยู่ของตนเอง ทำไมถึงต้องฉัน การทรงเจ้าเข้าผีของอาชีพร่างทรงก็จะยังคงมีอยู่คู่ชีวิตผู้คนต่อไปไปอีกนานในฐานะ อีกหนึ่งวัฒนธรรมการรักษาของผู้คนให้พ้นทุกข์และใช้ชีวิตให้ที่ดีขึ้น
อ้างอิง
พัฒนา กิติอาษา.(2543).ทรงเจ้าเข้าผีในวัฒนธรรมสุขภาพไทย. https://bit.ly/3z33p6k
อลงกรณ์ จิตนุกูล.(2560).การกลายเป็นสําานักปฏิบัติธรรมของสํานักทรง: ระบบความเชื่อกับการปะทะ ประสานองค์ประกอบทางวัฒนธรรมในโลกสมัยใหม่. https://bit.ly/3xSDvkx