Culture

หนังไทยที่ถูก Remake กับความน่าสนใจของวงเวียนกลไกในวงการภาพยนตร์

เป็นที่พูดถึงกันในหลายปีที่ผ่านมากับกระแสในวงการภาพยนตร์โดยเฉพาะในฮอลลีวูดกับเรื่องการเอาหนังเก่ากลับมาทำใหม่ (Remake) ทำภาคต่อ (Sequel) ทำภาคก่อน (Prequel) หรือ การเอาหนังมาทำใหม่ที่อาจจะต่อจากภาคเดิม หรืออาจจะไม่ต่อก็ได้ (ในวงการเรียกกันว่า Re-quel) โดยไม่ว่าจะเป็นการเอากลับมาทำในรูปแบบใดก็ตาม ทุกครั้งที่เกิดขึ้น มักจะโดยกระแสตีกลับเกี่ยวกับเรื่องวงการภาพยนตร์เอาแต่ของเก่ากลับมาขาย ไม่มีแล้วกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์หรืออะไรใหม่ๆ ทำให้ดูเหมือนถ้ากระแสตีกลับแบบนี้หนังพวกนี้ต้องขายไม่ได้แน่ แต่หลายๆ โปรเจ็กต์กลับทำเงินได้มากมายจนทำให้สตูดิโอก็เอาหนังเก่ากลับมาทำใหม่เรื่อยๆ

แต่เรื่องหลักๆ เลยคือการ Remake ที่ในช่วงปี 2000s ขึ้นมาเกิดการเอาหนังกลับมาทำใหม่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และหนึ่งกระแสที่มากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือนำภาพยตร์ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษไปทำใหม่ในฮอลลีวูดโดยปัจจัยสำคัญเลยคือเรื่องภาษาที่ กว่า 60% ของชาวอเมริกาเลือกที่จะไม่ดูหนังหากเป็นภาษาอื่น หรือต้องอ่านซับ แต่ไม่ใช่อเมริกาแต่ฝ่ายเดียว หลายประเทศอย่างจีน อินเดีย และอื่นๆ ก็มีการนำเอาภาพยตร์ของประเทศต่างๆ ไป Remake ในภาษาของตัวเองอีกด้วย โดยภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องก็ถูกผลกระทบจากส่วนนี้เช่นกัน วันนี้เรามีข้อสังเกต 3 รูปแบบกับภาพยนตร์ไทย  5 เรื่องที่ถูกทำไปทำใหม่ในต่างประเทศกับประเด็นที่น่าสนใจ

สยองขวัญนำร่อง

ภาพยนตร์สยองขวัญถือว่าเป็นหญิงในชื่อเสียงของไทยมาหลายสิบปี ทั่วโลกให้การยอมรับว่าบ้านเราเมืองเรานั้นทำหนังผีดี และน่ากลัวมากๆ โดยหนึ่งในหนังถูกทำใหม่ที่เป็นที่พูดถึงมากๆ ในยุคต้นปี 2000s จะมีอยู่ 2 เรื่อง นั่นคือ 1. Shutter กดติดวิญญาณ จากปี 2004 ที่ถูกนำไปสร้างในอเมริกาด้วยชื่อเดียวกันในปี 2008 และ 2. สิบสามเกมสยอง จากปี 2006 ที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็น 13 Sins ในปี 2014

โดยทั้งสองเรื่องข้างต้นถูกทำไปทำใหม่เป็นภาษาอังกฤษ ในกรณีของ สิบสามเกมสยองไม่น่าแปลกใจมาก เพราะเป็นภาพยนตร์ที่ในตัวเนื้อเรื่องที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากทำให้การเปลี่ยนแปลงทางภาษา และวัฒนธรรมเป็นไปได้ค่อนข้างดี แต่ที่เป็นที่น่าเสียดายคือความรุนแรงด้านงานภาพ และภาษาที่ในหลายส่วนถูกตัดออกหรือปรับใหม่เพื่อให้เข้ากับคนหมู่มากได้เพิ่มขึ้น ส่วนในกรณีของ Shutter มีเรื่องน่าสนใจอยู่ตรงที่นอกจากเรียนภาษาเป็นอังกฤษแล้ว โลเคชั่นยังถูกเปลี่ยนจากไทยเป็นญี่ปุ่นอีกด้วย ซึ่งคราวว่าน่าจะเป็นผลมาจากกระแสภาพยนตร์สยองขวัญจากญี่ปุ่นในช่วงนั้นเองเหมือนกัน เช่น The Ring จากปี 1998 และ Jo-on ภาค 1 และ 2 จากปี 2000-2002 แต่ไม่ใช่แค่นั้น Shutter ยังถูกนำไปทำใหม่อีก 2 ครั้งโดยทีมอินเดียโดยใช้ชื่อเรื่องว่า Sivi ในปี 2007 เป็นภาษาทมิฬ และ Click ในปี 2010 เป็นภาษาฮินดี

ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ

ถึงแม้ว่าเราจะเห็นภาพยนตร์ภาษาต่างๆ ทั่วโลกจะถูกทำไปสร้างใหม่เป็นภาษาอังกฤษแต่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกก็มีการนำโปรเจ็กท์นอกประเทศไปทำเหมือนกัน เช่นเดียวกับ Shutter กดติดวิญญาณ อินเดียที่ก็เป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ใหญ่มากๆ ก็ได้มีการนำเอาภาพยนตร์สยองขวัญอีกเรื่องนั่นคือ แฝด จากปี 2007 ไปทำใหม่ในชื่อ Alone เป็นภาษาฮินดีในปี 2015 ที่ถ้าดูตัวอย่างจะเห็นกลิ่นอายความสยองของเวอร์ชันต้นฉบับอยู่ด้วย แต่ถ้าไปดูโปสเตอร์จะตกใจเพราะหน้าหนังกลายเป็นปกนิยายโรแมนติก

อีกหนึ่งเจ้าใหญ่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์คือประเทศจีนที่มีทั้งการนำโปรเจ็กท์นอกประเทศมาทำ และส่งเงินออกไปสมทบให้กับประเทศอื่นๆ ด้วย โดยหนังไทยที่ถูกนำไปทำใหม่ล่าสุดเลยคือ แฟนเดย์…แฟนกันแค่วันเดียว หนังไทยปี 2017 ที่ถูกสร้างเป็นหนังรักจีนนำแสดงโดยนักแสดงใหญ่อย่าง Angelababy โดนหนังถูกเปลี่ยนชื่อเป็น I Remember ในปี 2020  โดยเรื่องน่าสนใจอยู่ที่เวอร์ชันไทยก็ไปเป็นที่นิยมในจีน แล้วเวอร์ชันจีนเองก็กลับมาทำรายได้ในไทยเช่นกัน

ทำใหม่ผู้กำกับเดิม?

กรณีสุดท้ายนี่ถือว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ นั่นคือกรณีของภาพยนตร์ Bangkok Dangerous จากปี 1999 ที่ถึงแม้จะเป็นโปรดักชันไทย นักแสดงไทย แต่กำกับโดยผู้กำกับฝาแฝดที่หลายคนเรียกว่าพี่น้องแปงชาวฮ่องกง (ประกอบด้วย แดนนี่ แปง และ ออกไซด์ แปง) ที่หลายผลงานของพวกเขาทำร่วมกับประเทศไทย โดยหนังบู๊สุดโหดอย่าง Bangkok Dangerous เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักในประเทศไทย และด้วยความเท่ และมันส์ของหนัง ทำให้ถูกฮอลลีวูดซื้อไป Remake โดยมีค่ายอย่าง Liongate เป็นผู้จัดจำหน่ายให้ แต่ที่สำคัญมากๆ ในกรณีนี้ก็คือ พี่น้องแปงยังถูกทาบทามให้ไปกำกับเวอร์ชันทำใหม่นี้ด้วย ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยในวงการภาพยนตร์ โดยครั้งก่อนก็คือผู้กำกับชาวออสเตรีย Michael Haneke ที่กำกับหนังคัลท์ๆ อย่าง Funny Game ปี 1997 ซึ่งได้เสียงตอบรับดีเช่นกัน ก่อนที่เขาจะได้ได้กำกับ Funny Game อีกครั้งในปี 2007 ในรูปแบบภาษาอังกฤษที่กระแสดีไม่แพ้กัน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่น้องแปง เพราะ Bangkok Dangerous เวอร์ชันทำใหม่ไม่เป็นที่สนใจทั้งในเชิงรายได้ และคำวิจารณ์

แต่จริงๆ การ Remake ไม่ใช่เรื่องใหม่ อะไร แถมในบางกรณียังมีความน่าสนใจในเชิงประวัติศาสตร์ อย่างภาพยนตร์ A Star is Born ที่มีมาแล้วกว่า 4 เวอร์ชัน 1951, 1954, 1976, และ 2018 

แต่ทุกเวอร์ชันมีความแตกต่างกันไปมากๆ เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ และการเสียดสีของวงการฮอลลีวูด และผู้คนในนั้นในช่วงปีที่แต่ละเวอร์ชันถูกสร้างขึ้น 

เพราะฉะนั้นการ Remake ถึงแม้ว่าเราจะเห็นว่าตอนนี้การทำหนัง Remake มันอาจจะสะท้อนความหิวเงินของสตูดิโอใหญ่ๆ ในวงการภาพยนตร์ และส่วนใหญ่มักจะออกมาเละเทะทั้งในด้านงานสร้าง และเสียงวิจารณ์ แต่ในเชิงรายได้ หลายๆ โปรเจ็กท์ยังได้คงทำเงินเยอะ หรือพอทำเงินอยู่ และคนดูทั่วไปมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนภาพยนตร์ที่เป็นไอเดียใหม่ๆ หรือเป็น Original หน่อย เพราะฉนั้นถ้าหากต้องการให้สตูดิโอเปิดรับ หรือทำโปรเจ็กท์ใหม่ๆ ในฐานะคนดูเอง เราก็ต้องสนับสนุนโปรเจ็คใหม่ๆ ด้วย

เพราะถ้าเราไม่สนับสนุนงาน Original เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้นเช่นกัน

อ้างอิง

nimelb


bangkokbiznews

undubzapp

Bangkok Dangerous - Interview with the Pang Brothers