Culture

บันทึกเสรีภาพของสังคมไทย ผ่านวงดนตรีสะท้อนการเมืองและสังคม

เราต่างรู้กันดีว่า ดนตรีไม่ได้ทำหน้าที่เพียงการให้ความบันเทิงอย่างเดียว แต่ในฐานะศิลปะแขนงหนึ่ง ดนตรีกลายเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของศิลปินผู้สร้างสรรค์ บ้างก็ใช้สะท้อนความรู้สึกส่วนบุคคล และหลายครั้ง เครื่องมือชนิดนี้ก็ทำหน้าที่สื่อสารอุดมการณ์ทางการเมือง รวมถึงเป็นบทบันทึกช่วงเวลาและสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

เมื่อพูดถึงดนตรีที่มีบทบาทในการสื่อสารทางการเมือง ถ้าไม่ใช่เพลงปลุกใจที่ผลิตโดยรัฐ เพื่อปลุกสำนึกรักชาติ และรวมใจประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียว ก็มักจะเป็น 'เพลงเพื่อชีวิต' ที่โดยมากมักนำเสนอในรูปแบบดนตรีโฟล์ก หรือดนตรีร็อก และมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในเหตุการณ์ทางการเมืองในยุค 70s - 90s ก่อนจะซบเซาลงตามกระแสความนิยมที่เปลี่ยนไปของผู้คน

อย่างไรก็ตาม เพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองก็ไม่ได้ล้มหายตายจากไปโดยสิ้นเชิง เพราะที่ผ่านมาก็มีศิลปินทั้งในและนอกกระแส ผลิตผลงานที่สะท้อนภาพสังคมและการเมืองเกิดขึ้นไม่น้อย แม้จะไม่ได้เป็นที่นิยมมากเท่าดนตรีป๊อปตามกระแส แต่การที่ศิลปินกลุ่มนี้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง เพลงของพวกเขาถูกจำกัดการเข้าถึง ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า วงดนตรีการเมืองเหล่านี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไม่น้อยให้กับผู้มีอำนาจ

ในเดือนตุลาคม ที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย Exotic Quixotic ขอพาทุกคนไปทำความรู้จักเหล่าศิลปินที่มีผลงานเพลงสะท้อนการเมืองและสังคม ซึ่งเป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองประเภทหนึ่งของสังคมไทย

Photo Credit: วงไฟเย็น Faiyen Band

ไฟเย็น

วงดนตรีที่ถือว่าเป็น 'รุ่นใหญ่' ของแวดวงดนตรีการเมืองสมัยใหม่ ประกอบด้วยสมาชิกปัจจุบันจำนวน 4 คน ได้แก่ ‘ขุนทอง’ – ไตรรงค์ สินสืบผล (นักร้องนำ นักร้องประสาน และมือคีย์บอร์ด), ‘จอม’ – นิธิวัต วรรณศิริ (นักร้องนำ และนักร้องประสาน), ‘พอร์ท’ – ปริญญา ชีวินกุลปฐม (นักร้องนำ มือกีตาร์ มือเบส และนักร้องประสาน) และ ‘แยม’ – รมย์ชลี สมบูรณ์รัตนกูล (นักร้องนำ และร้องประสาน)

วงไฟเย็นมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกของวงท่าเสา ซึ่งนำโดย วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนและนักกิจกรรมทางการเมืองผู้ล่วงลับ ก่อนจะเปิดตัวในฐานะ 'วงไฟเย็น' เมื่อ พ.ศ. 2554 โดยเข้าร่วมในกิจกรรมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ รวมทั้งแสดงดนตรีสดในงานเสวนาหรืองานรำลึกในวาระที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

ดนตรีของวงไฟเย็นเป็นดนตรีเพื่อชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่มีเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์และเสียดสีการเมืองในยุคหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา แบ่งเป็น 3 อัลบั้ม ได้แก่ บทเพลงปฏิวัติประชาธิปไตย (พ.ศ. 2556), บทเพลงของมิตรสหายท่านหนึ่ง (พ.ศ. 2559) และบทเพลงสู่การเปลี่ยนแปลง (พ.ศ. 2563) แต่ด้วยเนื้อเพลงที่วิพากษ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมา ส่งผลให้หลังจากการรัฐประหารโดย คสช. ซึ่งนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ พ.ศ. 2557 สมาชิกวงไฟเย็นถูกคำสั่งของ คสช. ให้ไปรายงานตัว ส่วนสมาชิกบางส่วน อย่างวัฒน์ วรรลยางกูร, ไตรรงค์ สินสืบผล, ชฤต โยนกนาคพันธุ์ และนิธิวัต วรรณศิริ ถูกออกหมายจับ ฐานความผิดขัดคำสั่งให้ไปรายงานตัว

19 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 กลุ่ม ACT4DEM นำโดยจรรยา ยิ้มประเสริฐ ได้ทำแคมเปญ #SaveFaiyen ล่ารายชื่อเรียกร้องให้ UNHCR และรัฐบาลลาว-ฝรั่งเศส ช่วยคุ้มครองให้สมาชิกวงออกไปจากพื้นที่เสี่ยง แฮชแท็ก #SaveFaiyen ได้รับการพูดถึงจนติดเทรนด์อันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์ในวันเดียวกัน หลังจากนั้น สมาชิกวงไฟเย็นบางส่วนได้ลี้ภัยไปประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งใน พ.ศ. 2565 วัฒน์ วรรลยางกูร สมาชิกรุ่นบุกเบิกของวง เสียชีวิตขณะที่พำนักอยู่ในฝรั่งเศส

Photo Credit: ประชาไท

สำหรับปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือ 'พอร์ท ไฟเย็น' ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อ พ.ศ. 2564

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ วงไฟเย็นยังคงผลิตผลงานเพลง และแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ

Photo Credit: Karnt Photography for วงสามัญชน

สามัญชน

'สามัญชน คือ คนที่เชื่อในสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม ที่บังเอิญเล่นกีตาร์เป็น' คำจำกัดความของวงสามัญชน จากมุมมองของแก้วใส หนึ่งในสมาชิกวง

หากกล่าวว่า 'ไฟเย็น' เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางการเมืองรุ่นใหญ่ 'สามัญชน' ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นวงดนตรีการเมืองของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากนักกิจกรรม 3 คน ที่มาจากต่างพื้นที่ แต่เติบโตทางความคิดจากการทำกิจกรรมทางสังคมและการเมืองร่วมกัน ได้แก่ ‘แก้วใส’ – ณัฐพงษ์ ภูแก้ว (นักร้องนำและกีตาร์), ‘เจ’ – ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ (นักร้องนำและกีตาร์) และ ‘ไผ่’ – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (มือพิณ)

สามัญชนก่อร่างสร้างตัวตั้งแต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 จากการเล่นดนตรีของนักกิจกรรมทั้ง 3 คน จากนั้นก็พัฒนามาเป็นการแสดงดนตรีบนเวที และแต่งเพลงร่วมกัน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเผยแพร่วิธีคิดเกี่ยวกับการเมืองและสังคม

หากมองโดยภาพรวม เพลงของวงสามัญชนเป็นดนตรีโฟล์ก ที่แต่งเพลงขึ้นจากกีตาร์ตัวเดียว อย่างไรก็ตาม สมาชิกในวงเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า พวกเขากำลังค้นหาตัวตนไปเรื่อยๆ จึงยังไม่ผูกมัดตัวเองกับดนตรีแนวใดแนวหนึ่งโดยเฉพาะ เพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็ได้แก่

Photo Credit: วงสามัญชน

'บทเพลงของสามัญชน' เพลงปลุกใจมวลชนด้วยกลิ่นอายของดนตรีร็อกจังหวะเร้าใจ ที่เชิญชวนให้ผู้คนก้าวผ่านความกลัว และลุกขึ้นมาปกป้องเสรีภาพของตัวเอง มีที่มาจากการส่งกำลังใจให้เพื่อนนักกิจกรรมที่ถูกเรียกตัวหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 และส่งต่อพลังให้กับผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง จนถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม หรือประชาชนที่ถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัย รวมทั้งเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ ณ ช่วงเวลานั้น ด้วยความเชื่อที่ว่า คนธรรมดาสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ จากเพลงที่ไม่มีชื่อ เมื่อหลายคนนำไปร้องต่อ ก็เกิดคำว่า 'บทเพลงของสามัญชน' ขึ้น และคำนี้ก็กลายเป็นชื่อเพลงไปในที่สุด

นอกจากนี้ยังมีเพลง 'คนที่คุณก็รู้ว่าใคร' ที่ว่าด้วยอำนาจที่คอยกดขี่ประชาชน และเรียกร้องให้ผู้คนออกมาพูดความจริง เพื่อทำลายขนบต่างๆ ที่กดทับพวกเขาอยู่ หรือจะเป็นเพลงโทนอบอุ่นอย่าง 'ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ' ที่มีเนื้อเพลงส่งความห่วงใยไปถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ซึ่งหมายถึงบรรดานักกิจกรรมที่ต้องถูกจำคุก ลี้ภัย รวมไปถึงเสียชีวิตขณะต่อสู้เพื่อรักษาจุดยืน

“ผมอยากเห็นชัยชนะของสามัญชนที่เราจะชนะไปด้วยกัน ผมฝันว่าเราจะไม่พายุคสมัยของพวกเรากลับไปสู่การจับอาวุธเข่นฆ่าสามัญชนกันเอง ฟังแล้วดูอุดมคติใช่ไหม ผมก็คิดอย่างนั้น แต่เราควรไปให้ไกลกว่าชัยชนะทางการเมือง” ชูเวชให้สัมภาษณ์กับประชาไท เมื่อ พ.ศ. 2565

Photo Credit: Rap Against Dictatorship

Rap Against Dictatorship

Rap Against Dictatorship (RAD) เป็นกลุ่มศิลปินฮิปฮอปที่รวมตัวกันเพื่อทำเพลงต่อต้านการรัฐประหารและสนับสนุนประชาธิปไตย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2560 โดยมีแกนนำคือ Liberate P. และกลายเป็นที่รู้จักทั่วประเทศในชั่วข้ามคืน จากเพลง 'ประเทศกูมี' ที่เปิดตัวเมื่อ พ.ศ. 2561

กระแส 'ประเทศกูมี' ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของสังคมไทย ซึ่งนอกจากเนื้อเพลงที่ลากเอาปัญหาซุกใต้พรมของสังคมไทยออกมาตีแผ่ ด้วยภาษาที่หนักแน่น และตรงไปตรงมา ยังบวกกับมิวสิกวิดีโอที่จำลองภาพเหตุการณ์ใต้ต้นมะขามสนามหลวง ในเหตุการณ์  6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทำให้เพลงนี้กลายเป็นไวรัล เรียกทั้งดอกไม้และก้อนอิฐในคราวเดียวกัน แต่ถึงอย่างไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพลงนี้ได้จุดประกายให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคม หลังจากที่ถูกปิดปากด้วยกฎหมายและขนบธรรมเนียมมานาน โดยปัจจุบันนี้ มิวสิกวิดีโอ 'ประเทศกูมี' มียอดวิวใน YouTube อยู่ที่ราว 3.5 ล้านวิว

จนกระทั่งในช่วง พ.ศ. 2562 - 2563 กระแสตื่นตัวทางการเมืองเกิดขึ้นทั่วประเทศ มีการชุมนุมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งแร็ปเปอร์ของ Rap Against Dictatorship ก็เป็นหนึ่งในไอคอนของฝ่ายประชาธิปไตย ที่เข้าร่วมการชุมนุม โดยเฉพาะในการชุมนุมที่จัดโดยกลุ่ม 'เยาวชนปลดแอก' เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 Hockhacker หนึ่งในสมาชิกของ Rap Against Dictatorship ได้ขึ้นแสดงบนเวทีปราศรัย เป็นเหตุให้ต่อมา ในวันที่ 20 สิงหาคม เขาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมต่อหน้าภรรยาและลูก และยังมีข้อมูลเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้จับตาดูเขามาเป็นระยะเวลานาน จนรู้กิจวัตรประจำวันของครอบครัว

Photo Credit: BBC

อย่างไรก็ตาม ในปีเดียวกัน Rap Against Dictatorship ได้ปล่อยเพลงใหม่ที่มีชื่อว่า 'ปฏิรูป' ที่มีเนื้อหาเดือดยิ่งกว่า 'ประเทศกูมี' โดยเป็นการส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจที่กดขี่และเอาเปรียบประชาชนอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรมเหล่านี้ พร้อมด้วยมิวสิกวิดีโอที่เป็นภาพจากการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วง พ.ศ. 2562 - 2563

ความแรงของ 'ปฏิรูป' ส่งผลให้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ศาลอาญามีคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปเพลง 'ปฏิรูป' บนเว็บไซต์ YouTube หลังจากที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยื่นคำร้องขอระงับการเผยแพร่คลิปเพลง เนื่องจากเห็นว่าเนื้อเพลงโดยรวมกล่าวถึงการสร้างความเท่าเทียมในสังคม แต่เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบคาย และมีการแสดงความคิดเห็นที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและความมั่นคงของรัฐ

หลังจากที่ศิลปินได้ยื่นอุทธรณ์ จนกระทั่งวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ยืนคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปวิดีโอเพลง 'ปฏิรูป' โดยให้ความเห็นว่า เนื่องจากเนื้อเพลงดังกล่าวแต่งขึ้นเพื่อปลุกปั่นสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะ ให้คนที่เกลียดชังเข้ามาแสดงความเห็น เป็นที่กระทบความรู้สึกของประชาชนที่มีความเคารพสถาบันกษัตริย์ นำไปสู่การใช้ความรุนแรงและเกิดการแบ่งแยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นพ้องกับศาลชั้นต้น คำอุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น

Photo Credit: Rap Against Dictatorship

นอกจากสองเพลงดังข้างต้น Rap Against Dictatorship ก็ได้หยิบเอาประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสังคมมาเล่าผ่านเพลงอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น 'งบประมาณ' ที่วิพากษ์การจัดสรรงบประมาณที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, '250 สอพลอ' ที่กล่าวถึงอำนาจของ สว. 250 คน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน, 'บ้านเกิดเมืองนอน' เพลงที่เปิดตัวเมื่อ พ.ศ. 2565 เพื่อตอบโต้การใช้เพลงบ้านเกิดเมืองนอน เวอร์ชั่นเก่า ในการปลุกกระแสความรักชาติที่ล้าสมัย และ 'ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง' เพลงที่ร้องด้วยน้ำเสียงเจ็บปวด กล่าวถึงความทุกข์ยากของประชาชน ที่ถูกกดขี่โดยชนชั้นปกครอง

Photo Credit: Genierock

Bomb At Track

Bomb At Track วงดนตรีนูเมทัลสัญชาติไทย ปัจจุบันอยู่ในสังกัด Genie Records ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2558 โดยกลุ่มนักศึกษาจากคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ประกอบด้วยสมาชิก 5 คน ได้แก่ วงศกร เตมายัง (เต้) นักร้องนำ, ภควรรษ ประเสิร์ฐศักดิ์ (เมษ) กีตาร์ลีด, ศาสตร์ พรมุณีสุนทร (ข้น) เบส, ปราชญานนท์ ยุงกลาง (ปุ้ย) กีตาร์ริทึม และสิรภพ เลิศชวลิต (นิล)

จุดเด่นและจุดแข็งของ Bomb At Track ไม่ว่าจะเป็นในยุคอินดี้หรือยุคสังกัดค่าย คือเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสี วิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมอย่างดุเดือด ผ่านดนตรีนูเมทัลที่เน้นการตะโกนเสียงดัง สาดอารมณ์ และท้าทาย

พ.ศ. 2559 Bomb At Track ได้ปล่อยอัลบั้ม EP. และปล่อยซิงเกิลแรกที่มีชื่อว่า 'อำนาจเจริญ' ซึ่งมีเนื้อหาโจมตีผู้มีอำนาจ ที่ใช้อำนาจทุกทางเพื่อปกปิดความผิดของตัวเอง ตามด้วยซิงเกิลอื่นๆ เช่น 'โจรในเครื่องแบบ' ที่กล่าวถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และส่งผลกระทบต่อสังคม หรือประเด็นสังคม 'ฆาตกรคีย์บอร์ด' ที่อ้างอิงจากเหตุการณ์ที่ชายคนหนึ่งสวมรองเท้ามีรูขาด และถูกกล่าวหาจากโลกออนไลน์ว่าซ่อนกล้องไว้ในรองเท้าเพื่อถ่ายใต้กระโปรงผู้หญิง แรงพิพากษาจากชาวเน็ตทำให้เขาถูกไล่ออกจากงาน และชีวิตพังพินาศ โดยไม่มีใครรับผิดชอบ

ต่อมาใน พ.ศ. 2562 Bomb At Track ภายใต้สังกัด Wayfer Records ได้ปล่อยอัลบั้มเต็มในชื่อ White ที่ยังคงลายเซ็นเรื่องการวิพากษ์สังคมและผู้มีอำนาจอย่างดุเดือด ผ่านเพลงอย่าง 'ถ้าไม่ได้ยินก็ต้องตะโกน' ที่ฟีเจอริงกับ Liberate P. และ GSUS2 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่ประชาชนถูกอำนาจปิดปาก และหากต้องการให้ผู้ปกครองได้ยิน ก็ต้องตะโกน หรือ 'คำตอบ' ที่ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในสังคม

Photo Credit: Spotify

พ.ศ. 2565 Bomb At Track ขณะที่ย้ายมาอยู่ในสังกัด Genie Records ได้ปล่อยอัลบั้มใหม่ 'Bomb the System' พร้อมเพลงที่ยังคงเกรี้ยวกราด ทว่ามีสีสันมากขึ้น สลับกับเพลงช้าที่มีเนื้อหาเป็นเพลงรัก อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของเพลงยังคงสะท้อนสังคม โดยมีมุมมองที่กว้างขึ้นกว่าในอัลบั้มก่อน ไม่ว่าจะเป็น 'เด็กเอ๋ยเด็กดี' ที่ได้แร็ปเปอร์สาว MILLI มาร่วมร้อง โดยกล่าวถึงมุมมองของเด็กที่ถูกบังคับให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ มิเช่นนั้นจะถูกลงโทษ โดยอ้างความหวังดี ซึ่งเป็นเพลงที่ออกมาตรงกับช่วงเวลาที่เด็กและเยาวชนออกมาส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ผู้ใหญ่ในประเทศ หรือ 'คำสั่ง' ที่วิพากษ์บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจในการลิดรอนสิทธิของประชาชน ซึ่งบริบทของสังคมในขณะนั้น ก็เสริมให้อัลบั้มนี้มีพลังมากขึ้น

Photo Credit: genierecords

ล่าสุด Bomb At Track ได้เปิดตัวซิงเกิลใหม่ ชื่อ 'หมดเวลาแล้วครับพี่' ที่เปลี่ยนมุมมองจากผู้อยู่ใต้อำนาจ ที่ถูกกดขี่และลิดรอนสิทธิอยู่ตลอดเวลา สู่การเป็นกระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม วงกล่าวว่า เพลงนี้มีการปรับโทนให้สว่างและมีความหวังมากขึ้น ลดการตะโกนด่าทอเป็นการส่งสัญญาณเตือนผู้มีอำนาจในระบบเก่าว่า เวลาของพวกเขาหมดลงแล้ว ด้วยน้ำเสียงที่ยังคงความปีนเกลียวและท้าทาย รวมทั้งซาวนด์ดนตรีที่เน้นความเป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น สะท้อนถึงการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงสไตล์ของวง ซึ่งสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่เพดานการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองสูงขึ้นกว่าที่เคย

Photo Credit: Killing Fields

Killing Fields, Blood Soaked Street of Social Decay และอนาธิปไตย

นอกเหนือจากศิลปินที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างข้างต้น ประเทศไทยยังมีวงดนตรีเฉพาะทางที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและสังคม ไม่ว่าจะเป็น Killing Fields วงดนตรีแนวแทรชเมทัล, Blood Soaked Street of Social Decay และอนาธิปไตย ที่มีลักษณะเป็นวงดนตรีพังก์ ซึ่งวงเหล่านี้อาจจะไม่ได้รับความนิยมในสังคมไทยวงกว้างมากนัก ด้วยลักษณะทางดนตรีที่หนักหน่วง รุนแรง โดยธรรมชาติ เมื่อบวกกับเนื้อหาที่หนักอย่างเรื่องการเมือง ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นดนตรีที่ 'เสพยาก' พอสมควร

วงอนาธิปไตย
Photo Credit: Thailand Music Underground

อย่างไรก็ตาม ดนตรีแทรชเมทัลและพังก์โดยทั่วไปก็นำเสนอเนื้อหาที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคม การเมือง และมีลักษณะที่แหวกขนบอย่างสุดโต่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่ดนตรีแนวนี้จะถูกนำมาใช้ในการสื่อสารประเด็นทางการเมืองไปยังผู้มีอำนาจ

ปี 2561 เว็บไซต์คมชัดลึก ได้เผยแพร่บทความเรื่อง 'ดนตรีสายโหด' กับการเมืองไทย โดยกล่าวถึงกิจกรรมทางการเมืองที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 ที่รวมตัวศิลปินพังก์ขึ้นมาเล่นดนตรีเพื่อเรียกร้องให้ คสช. จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว และวงที่เข้าร่วมในกิจกรรมนั้นก็ได้แก่ Killing Fields, Blood Soaked Street of Social Decay และอนาธิปไตย ที่ไม่เพียงแต่ 'ฟาด' ผู้มีอำนาจด้วยดนตรีอันดุเดือด แต่ยังแสดงออกโดยการจุดไฟเผาป้ายภาพผู้นำรัฐบาล และกระทืบใบหน้าบนป้าย

Photo Credit: Blood Soaked Street of Social Decay

หลังจากจบงาน วง Blood Soaked Street of Social Decay ถูกควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจชนะสงคราม เพื่อทำประวัติ และหนึ่งในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุม คือ 'เกื้อ เพียวพังก์' ศิลปินพังก์ผู้เป็นไอคอนแห่งวงการพังก์ไทย โดยหลังจากนั้น เกื้อได้โพสต์สเตตัสใน Facebook ว่า “...กีตาร์และเสียงสับกลอง มันทำให้พวกท่านต้องเจ็บช้ำใช่ไหม ความคิดทางดนตรีก่อให้เกิดการจลาจลได้ด้วยเหรอ ผมอยากรู้มากเลย ท่านใช้อะไรวัด ตลับเมตรหรือไม้บรรทัด..”

และนี่ก็เป็นตัวอย่างของดนตรีและศิลปินที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นวิธีการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์เท่านั้น แต่บทเพลงของพวกเขาก็เป็นเหมือนบันทึก ที่จดจารความเป็นไปของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชะตากรรมที่พวกเขาประสบพบเจอ ก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงระดับของสิทธิเสรีภาพในประเทศไทยแห่งนี้

เมื่อศิลปินมีเสรีภาพ ประชาชนก็จะมีเสรีภาพเช่นกัน ทว่าหากศิลปินถูกจำกัดเสรีภาพ ก็คงไม่ต้องเดาว่าประชาชนทั่วไปจะมีเสรีภาพได้อย่างไร

อ้างอิง

บันทึกเรื่องราวแห่งยุคสมัยลงในคอร์ด กับบทเพลงของ วงสามัญชน - Fungjaizine

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ : ภาพที่ไปไกลกว่าแค่ภาพของ ‘ไข่แมว’ - ประชาไท

คุยกับ ‘แก้วใส-ชูเวช’ 2 ผู้แต่ง ‘บทเพลงของสามัญชน’ ที่ท้าให้คุณร้อง - ประชาไท

'ประเทศกูมี' Rap Against Dictatorship กลุ่มแร็ปเปอร์ที่สู้กับเผด็จการด้วยฮิปฮอป -  Fungjaizine

ศาลอุทธรณ์ยืนคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปเพลง "ปฏิรูป" ของวง R.A.D บน YouTube อีกครั้ง - ประชาไท

"ดนตรีสายโหด" กับการเมืองไทย - คมชัดลึก