~เราอยากให้ทุกคนลองอ่าน ‘ไอ้สัสสส’ กับ ‘ไอ้สัตว์’ ออกเสียงแล้วหลับตา…คำเดียวกัน แค่เขียนต่างกัน เวลาอ่านก็ได้อารมณ์ไม่เหมือนกันแล้ว หรือจะเป็นคำที่ซอฟต์ๆ ลงมาหน่อยอย่าง ‘สึสดีค่าาา’ กับ ‘สวัสดีค่ะ’ พอเราอ่านสองประโยคสั้นๆ ความหมายเดียวกันแต่สะกดต่างกัน เรารู้สึกว่าคำแรกมันเป็นตัวอักษรที่มีภาพ ในหัวเรามีหน้าพี่ฟาโรสแว้บเข้ามาทันที
~แม้จะไม่ได้สะกดถูกต้องตรงตามอักขรวิธี แต่คำเหล่านี้กลับใช้สื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก หรือแม้กระทั่งบุคลิกของคนพิมพ์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การใช้ภาษาวิบัติแบบชาวเน็ต ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับภาษาไทย แต่เกิดขึ้นได้กับทุกๆ ภาษาทั่วโลก
~เราเลยอยากชวนทุกคนมาเปิดพจนานุเกรียน ลงคอร์สเรียน ‘ภาษาวิบัติ’ เพื่อหาคำตอบว่า ตกลงมันคืออะไร ต้องผิดแปลกแค่ไหนถึงเรียกว่าวิบัติ หรือมันเป็นแค่วิวัฒนาการทางภาษาที่กำลังพัฒนาไปเรื่อยๆ กันแน่?
คำว่า ‘วิบัติ’ มันแปลยาก
~คำว่า ‘วิบัติ’ ในภาษาบาลี หมายถึง พินาศฉิบหาย แล้วถ้าถามว่าอะไรคือ ‘ภาษาวิบัติ’ พูดตรงๆ ก็คือคำที่มีการสะกดภาษาที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ตรงอักขรวิธี จนสร้างความ ‘ฉิบหาย’ ให้กับภาษานั้น บางกลุ่มก็ว่าการใช้ภาษาที่แหกขนบเดิมๆ ไปสักนิด คือการบ่อนทำลายภาษาไทยที่บรรพบุรุษเราสร้างไว้อย่างประณีต แต่ถ้าเรามองในทางกลับกัน ภาษาคือเครื่องมือสื่อสาร หรือเรียกว่าเป็นจดหมายเหตุของแต่ละยุคสมัยเลยก็ว่าได้ ภาษาที่วิบัติในยุคหนึ่ง อาจเป็นอุบัติใหม่ของการใช้ภาษาในยุคต่อไป ถ้าจะให้บอกว่าการดิ้นได้ของภาษาเป็น ‘ความฉิบหาย’ สำหรับเราก็คงจะรุนแรงไปหน่อย
จะยุคไหนภาษาก็ดิ้นได้
~ย้อนกลับไปยุคพ่อขุนรามคำแหง ถ้าเราลองสวมบทเจ้าขุนมูลนายในยุคนั้น เดินไปตามแผงหาบเร่ริมคลอง แล้วได้ยินคนพูดว่า “มะพร้าวมั้ยจ้ะ” คงต้องหันขวับ! แล้วคิดในใจว่า “พูดอะไรของเอ็ง วิบัติเสียจริง มันเรียกว่า หมากพร้าว” เพราะแม้แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนราม ท่านก็เรียกผลไม้กลุ่ม มะ- ทั้งหลายว่า ‘หมาก’ แต่พอเรากลับมาเป็นคนไทยในยุคดิจิทัลอีกครั้ง คำว่า ‘มะพร้าว’ กลับเป็นคำปกติที่ถูกบัญญัติว่าถูกต้องในพจนานุกรมเฉยเลย
~ยิ่งในยุคที่เราอาศัย ‘ตัวอักษร’ ในการสื่อสารมากกว่าการพูด มีเครื่องมือสื่อสารมากมาย ไล่ไปตั้งแต่การเขียนจดหมาย เพจเจอร์ MSN หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ กระดาษและจอสี่เหลี่ยมมันบีบอัดคำที่เราเขียนให้แคบลงแต่ครีเอทีฟขึ้นเรื่อยๆ
~ช่วงที่ภาษาดิ้นแรงมากๆ คงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล 1980s - 2000s ที่เริ่มมีการใช้เพจเจอร์ มือถือ หรือโปรแกรมแชต ในการสื่อสาร อย่างในยุคเพจเจอร์ ก็มีการใช้ตัวเลขโค้ดลับต่างๆ แทนการพิมพ์เป็นคำๆ เพื่อประหยัดพื้นที่ หรือในยุค MSN ที่เรียกว่าเป็นยุคทองของการแชท เราเล่นเอมกันกระหน่ำทั้งวัน แชตได้ไม่อั้น แต่เราเลือกที่จะทักทายเพื่อนด้วยคำว่า “Dจร้า” สุดฟรุ้งฟริ้ง แล้วบอกคิดถึงแฟนด้วย “คถ” หรือ “85” แทนการพิมพ์เต็มๆ (85 คือการพิมพ์ คถ โดยไม่กดเปลี่ยนภาษา) บางครั้งเราก็จะครีเอทีฟสุดๆ ด้วยการเอาภาษาไทยไปปนอังกฤษ แล้วตั้งชื่อเอมเก๋ๆ อย่าง Inwza (เทพซ่า)
~นอกจาก MSN แล้วยังมีแพลตฟอร์มที่บุกเบิกการพิมพ์แบบโคตรInw คือ Yenta4 DekD และ Hi5 ที่ทุกคนเริ่มพิมพ์คำแปลกๆ เพื่อเพิ่มความน่ารัก (หรือกวนตีน) ลงไป เช่น อิ_อิ, ชิมิ, หนักข้อถึงขั้น ‘ภ๊ษ๊สก๊อยป์’ (ภาษาสก๊อย) ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยกลุ่ม ‘แว้นบอย สก๊อยเกิร์ล’ ที่ถูกตีตราว่าเป็นตัวตั้งตัวตีที่ทำให้ภาษาไทยวิบัติ ถึงขนาดมีคนสร้างเพจ ‘ษม่ค่ล์มนิ๋ญฒสก๊อย’ (สมาคมนิยมสก๊อย) ขึ้นมาเพื่อล้อเลียนการใช้ภาษาของวัยรุ่นเฉพาะกลุ่มนี้
~ในปัจจุบันยิ่งไม่ต้องพูดถึง ถ้าเราแปลคำว่า เตง งัย อัลลัย เอิ่ม ครัช อหอส ยสตน จขกท ได้ก็ถือว่าภาษาวิบัติมันได้ทำงานแล้ว
~มาเข้าเรื่องภาษา ชำแหละความวิบัติดูด้วยกัน ว่ามันพอจะจำแนกได้กี่ประเภท
- คำกร่อน/รวบเสียง - คำที่พยางค์ในคำนั้นๆ ถูกกร่อน ตัด รวบ เข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น จากเมื่อก่อนเราพูดไวๆ กันว่า “มองหน้าหาพ่อมึงสิ” เดี๋ยวนี้สังคมทุนนิยมมันค่อนข้างรีบ เราเลยกร่อนเหลือแค่ “มองหาพ่อง”
ในภาษาอังกฤษเองก็มีคำกร่อนหรือรวบเสียงเหมือนกัน แถมยังมีเวอร์ชันที่ถูกไวยกรณ์ที่เรียกว่า ‘Contractions’ ก็คือการรวบคำสองคำเข้าด้วยกัน เช่น จาก You are เป็น You’re หรือจาก I cannot เป็น I can’t แต่ก็ยังมีอีกเวอร์ชันที่ไม่ค่อยจะถูกแกรมมาเท่าไหร่อย่างจาก You all เป็น Yall หรือจาก Don’t know เป็น Dunno
- คำที่พิมพ์ผิดเพื่ออรรถรส - การพิมพ์เพื่อสื่อสารความรู้สึกที่ท่วมท้น พิมพ์ถูกแล้วมันไม่ได้ฟีล ขอแค่คำที่พิมพ์มันออกเสียงถูกเป็นพอ ยกตัวอย่างเช่น เวลาพี่ที่ทำงานสั่งงานเพิ่ม แต่งานเดิมยังไม่เสร็จ เราก็จะไปพิมพ์ในแชทลับที่ไม่มีพี่เค้าว่า ‘ว้อยยยยยยยยยยย อันเก่ายังไม่เสดเลยสัส’ เพื่อแสดงถึงความท้อแท้ขั้นสุด แทนที่จะพิมพ์ว่า ‘โว้ย อันเก่ายังไม่เสร็จเลยสัตว์’
อย่างที่บอกว่า ‘อรรถรส’ มันสำคัญ ขนาดวิจัยจากทางมหาลัย Berkely โดย Galen Thomas Panger ยังกล่าวเอาไว้เลยว่า ภาษาที่เราใช้กันบนโซเชียลมันเต็มไปด้วยอารมณ์ โดยเฉพาะการโพสต์สเตตัสต่างๆ ที่เรามักเขียนกันเมื่อรู้สึกถึงอารมณ์บางอย่างที่ค่อนข้างพิเศษ เช่น สุขเป็นพิเศษ โกรธเป็นพิเศษ เครียดเป็นพิเศษ ดังนั้นภาษาที่ใช้จึงไม่ถูกกรอง สเตตัสส่วนมากเลยสื่อสารอารมณ์ และตัวตนของคนในชั่วขณะหนึ่งได้ดีที่สุด
- คำที่ขี้เกียจกด shift - พาร์ทนี้ไม่มีอะไรจะต้องอธิบาย ขี้เกียจล้วนๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราพิมพ์ “ไม่เหนเปนไรเลย ก้มึงไม่รุนิ” แทน “ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ก็มึงไม่รู้นี่” เราจะประหยัดเวลาในการพิมพ์ไปหลายวินาที
~*ไม่มีข้อมูลไหนรองรับความขี้เกียจนี้*
- คำที่เขียนวรรณยุคและสะกดมั่วแต่ยังพอออกเสียงได้ - สิ่งนี้คือการสะกดผิดเพื่อแสดงตัวตนบางอย่าง ถ้ามองดีๆ อาจลึกไปถึงนิสัยใจคอ งานอดิเรก หรือกลุ่มเพื่อนของผู้พิมพ์ได้เลยเช่นกัน เช่น ‘ภ๊ษ๊สก๊อยป์’ ที่เปลี่ยนตัวอักษรโดยเลือกใช้พยัญชนะไทยที่ไม่ค่อยมีใครใช้ เช่น ใช้ตัว ‘ฒ’ แทน ‘ม’ , ใช้ตัว ‘ฬ’ แทน ‘ร’ และ ‘ล’ , ใช้ ‘ญ’ แทน ‘ย’ และใช้เทคนิคกด ปุ่ม Shift และปุ่ม Caps Lock บนคีย์บอร์ด เข้ามาเป็นตัวช่วยในการพิมพ์ -
แม้ว่า ‘ภ๊ษ๊สก๊อยป์’ จะดูวิบัติสุดขั้ว แต่ก็ยังมีวิจัยจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดย ชวิตรา ตันติมาลา วิเคราะห์ภาษาสก๊อยว่าเป็น ‘วัฒนธรรมย่อย’ ที่เมื่อแปลดูความหมายของประโยคต่างๆ จากเพจที่ใช้ภาษานี้แล้วส่วนมากจะมีความหมายในเชิงบวก ไม่ได้หยาบคาย จึงถือว่าไม่ได้สร้างความฉิบหายให้กับภาษาไทยขนาดนั้น
- คำที่เอาภาษาอื่นมาผสม - คำที่เอาตัวอักษรจากภาษาอื่น ตัวเลข และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่มีหน้าตาคล้ายๆ กับพยัญชนะ สระ หรือ วรรณยุกต์ของไทย เข้ามาใช้แทนตัวอักษรนั้นๆ เช่น lvาไm่rักเราllล้ว (เขาไม่รักเราแล้ว) ซึ่งมักถูกใช้เพื่อความสวยงามเป็นหลัก เช่น แต่งชื่อใน Hi5 MSN หรือในเกมสุดคลาสสิกอย่าง Ragnarok เป็นต้น ยุคนี้ก็ยังแอบเห็นคนใช้วิธีนี้ตั้งชื่อแอคเคาท์ Instagram อยู่เหมือนกัน
แต่ความครีเอทีฟนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ไทยแลนด์ ในภาษาอังกฤษมีกลุ่มคำที่เรียกว่า ‘Leet หรือ 1337’ ที่เอาไว้ใช้เพื่อเลี่ยงการตรวจจับอัตโนมัติของแพลตฟอร์มต่างๆ หรือเอาไว้ส่งโค้ดลับให้กัน ยกตัวอย่างง่ายๆ A B C
~A = 4 หรือ /\ หรือ @ หรือ /-\ หรือ ^
~B = 8 หรือ 6 หรือ |3
~C = [ หรือ < หรือ (
~งั้นลองทายกันเล่นๆ ว่าประโยคนี้อ่านว่าอะไร?
~“Sl33p w1th m3 fr33 br34kf4st.”
หนังชอบ เพลงใช่ วิบัติไกลระดับชาติ
“~ฉลามนั้นชอบงับคุณ ส่วนผมน่ะชอบคุณงับบบ~”
“~อยากเป็นแฟนแต่ได้แค่เพื่อนคุย เฮ้ย! มันจะเกินปุยมุ้ย~”
~เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินเพลงท่อนนี้จากที่ไหนสักที่ นี่คือเพลงจากศิลปินรุ่นใหม่อย่าง ‘ณดล ล้ำประเสริฐ’ และ ‘เอ้ย จิรัช’ ที่สร้างเพลงยอดฮิตด้วยกิมมิกเป็นคำที่เราเรียกๆ กันว่าวิบัติๆ จนกลายเป็น viral ส่งต่อให้แฟนๆ ไปทำคอนเทนต์ทางโซเชียลกันพรึ่บพรั่บ
~ภาษาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ลื่นไหล จึงไม่แปลกเลยที่วงการเพลง หนัง สิ่งพิมพ์ โฆษณา จะหยิบเอาคำเหล่านี้มาใช้ เพราะถ้าสื่อต้องการเข้าถึงคนกลุ่มไหน ก็ต้องเลือกใช้ภาษาที่กลุ่มคนนั้นใช้กันจริงๆ อย่างการตั้งชื่อหนังเรื่อง ‘หอแต๋วแตก’ แต่ละภาคของผู้กำกับ ‘พจน์ อานนท์’ ที่มีการใช้คำอย่าง ‘ชิมิ’ และ ‘มว๊ากมว๊ากกกก’ หรือจะเป็นฝั่งงานเขียนสุดโอจีของ ‘แดนอรัญ แสงทอง’ เรื่อง ‘แมวผี’ ที่เลือกเขียนทั้งเรื่องเป็นวรรณยุกต์โทนเสียงสุพรรณ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่าน และบอกปูมหลังของตัวละครและยุคสมัย
~“ข่อเรียนให้ซาบย้างนี้น่ะขะรับว้า ถ้าว้าย้ากจะอ้านเรื้องมะโน่ส่าเร้เรื้องนี้แล้วละก้อ ข่อความกรุ่ณาอ้านให้เปนส่ำเนียงเหน้อๆ แบ้บสู้พรรณๆ ซักน่อยนึ่งเถิ้ดจ้า หรื่อถ้าไม่ย่างนั้นก๊อเชิญเอาเวล่ำเวลาไป่ทำอะไรๆ ย้างอื่นๆ เห่อะแล้วก๊ออย่าอ้านในใจ อ้านในใจแล้วคือว่ามันจะตะกึ้กตะกั่กอยู่ซักกะน่อย”
‘วิบัติ’ บางครั้งก็ไม่ใช่ ‘อุบัติ’ เสมอไป
~แม้ว่าภาษาวิบัติจะแทรกซึมอยู่ในชีวิตเราจนแยกตัวจากมันไม่ออก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรละทิ้งการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง หรือเทการสะกดคำและไวยกรณ์ แล้วใช้มันกับทุกบริบทไปเลย ต้องทำความเข้าใจว่าการสะกดผิดๆ แบบตั้งใจเพื่ออรรถรส กับการเข้าใจว่า “เออ คำนั้นมันสะกดแบบนี้นะ” มันต่างกัน มีกลุ่มอาจารย์จากหลากหลายสถาบันที่มองว่าการใช้ภาษาวิบัติเป็นเรื่องผิดบาป หรือกล่าวว่าวัยรุ่นไม่สามารถแยกแยะการใช้ภาษาที่ถูกต้องกับการใช้ภาษาเฉพาะกลุ่มบนโซเชียลออกจากกันได้
~อย่างกรณี ‘หอแต๋วแตกแหวกชิมิ’ ของ พจน์ อานนท์ ที่ถูก ‘กาญจนา นาคสกุล’ ราชบัณฑิตประเภทวรรณศิลป์ และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย ออกมาโต้ว่าการใช้ คำว่า ‘ชิมิ’ ในชื่อหนัง เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะเป็นคำเฉพาะกลุ่ม ที่เดี๋ยวก็เลือนหายไปตามกาลเวลา หรือจะเป็นอีกกรณีที่ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ กล่าวว่า ภาษาวิบัติเป็นการเปลี่ยนแปลงของภาษาที่ผู้ใหญ่ในสังคมไม่ชอบ โดยมักให้เหตุผลว่าภาษาไทยไม่ควรเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นสมบัติของชาติที่มีความศักดิ์สิทธิ์
~ขนาดคำว่า ‘ภัยหนาว’ ยังเคยตกเป็นประเด็นถกเถียงกันระหว่างนักข่าวและราชบัณฑิตมาแล้ว โดยทางราชบัณฑิตยืนยันว่า คำว่า ‘ภัย’ ต้องใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ผิดปกติ และคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ แต่อากาศหนาวสุดขั้วนั้นคาดการณ์ได้ และประชาชนสามารถเตรียมตัวรับมือกับมันได้ อากาศหนาวจัดจึงไม่ถือเป็น ‘ภัย’ ดังนั้นการใช้คำว่าภัยหนาวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือบนข่าวออนไลน์ จึงถือเป็นการทำให้ภาษาวิบัติทางความหมาย
~เพราะอย่างนี้ ราชบัณฑิตจึงเข้มงวดสุดๆ ในการบัญญัติคำใหม่ลงในพจนานุกรม โดยเฉพาะคำที่เราใช้กันในโซเชียล
~ทางต่างประเทศเองก็มีนักวิชาการออกมาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะห่วงว่าการใช้ภาษาวิบัติบนโซเชียล จะทำให้สกิลการเขียนของนักเรียนและนักศึกษาต่ำลง อย่างวิจัยของ Rivers State University ในไนจีเรีย หัวข้อ ‘Standard English and the Distortion Introduced by Social Media Short Messages’ ที่สำรวจสกิลการใช้ภาษาของนักศึกษากลุ่มหนึ่ง โดยเอาสเตตัสหรือแชตในโซเชียล มาเทียบกับการเขียนแบบทางการของแต่ละคน ปรากฏว่ากลุ่มนักศึกษาที่ใช้ภาษาแบบผิดๆ บนโซเชียล มักจะไม่สามารถเขียนเรียงความหรือวิจัยได้ดี แถมยังผิดทั้งเชิงโครงสร้างประโยค ไวยากรณ์ และการเลือกคำที่เหมาะสมกับบริบท
~ถ้าถามเรา ก็คงต้องบอกว่าเห็นด้วย เพราะจริงๆ แล้วการใช้ภาษาที่ถูกต้องก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องผลักดัน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นหรือเด็กๆ ที่โตมากับเทคโนโลยี และเข้าถึงสื่อต่างๆ ได้ง่าย ไว และไม่มีฟิลเตอร์ที่แน่นหนาพอที่จะบอกว่า “เฮ้ยน้อง! คำนี้ห้ามเอาไปใช้กับที่บ้าน หรือเอาไปเขียนรายงานส่งครูนะเว้ย” เป็นไปได้สูงที่ ‘อรรถรส’ อาจกลายเป็นภาพจำการสะกดคำของใครหลายๆ คน
~"จากประสบการณ์จะเห็นได้ว่า เด็กยุคใหม่นี้ไม่สามารถเขียนอะไรที่ยาวๆ ได้ อาทิเช่น เรียงความ บรรยาย หรือเรื่องราวต่างๆ ดังนั้นโรงเรียนควรจะเน้นให้เด็กได้มีทักษะการเขียนให้มาก ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความ บทวิจารณ์ และการเขียนในรูปแบบอื่นๆ ที่จะต้องให้เด็กได้ฝึกใช้คำและภาษาอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการใช้ภาษาไทยได้" กาญจนา นาคสกุล กล่าว
~แต่ถึงอย่างไรเราก็หนีวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ได้ ภาษาเปลี่ยนไปตามเครื่องมือสื่อสาร ผู้คน และยุคสมัย ในอีกแง่การเลือกใช้คำสุดครีเอทีฟ และการเติมคลังคำศัพท์ชาติด้วยภาษาใหม่ๆ ก็เป็นเหมือนเงาสะท้อนความเจริญก้าวหน้าของสังคม เพราะนวัตกรรมใหม่ เหตุการณ์ใหม่ มีให้เห็นกันได้ทุกวัน เราในฐานะผู้ใช้ภาษาก็ต้องผลิตคำมารองรับสิ่งใหม่เช่นกัน เหมือนกับที่ นิธิ เอียวศรีวงษ์ กล่าวไว้ว่า
“เพราะไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางภาษาใดๆ ที่ไม่ได้เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางภาษาใดๆ ที่จะไม่เป็นเหตุให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามมา”
~เอาเป็นว่าใช้กันได้ ใช้ให้สนุก สร้างคำใหม่ กร่อนคำกันให้สุดดด เอาจน สวัสดี เหลือแค่ ด.เด็ก กันไปเล้ยยยย! แต่ก็อย่าลืมเลือกใช้ให้ถูกจังหวะ และไม่ลืมที่จะเรียนรู้การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องจริงๆ เสมอ เพราะถ้าไปพูด “ดีจ้า” กับอาจารย์ก็จะได้เกรด D ของจริงเอาเด้อออ
อ้างอิง
San José State University Writing Center