Culture

‘ช้างศึก’ ต้องระวังฟีฟ่าแบนแทรกแซงเรื่อง ‘ประมุขบอลไทย’

กลายเป็นเรื่องใหญ่ของวงการลูกหนังในบ้านเราไปเลย เนื่องจาก ‘บิ๊กอ๊อด’ – พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้ออกแถลงการณ์ลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ หลังจากที่ ‘บิ๊กป้อม’ – พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่กำกับดูแลกีฬาชาติได้กล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สามัญ ประจำปี พ.ศ. 2565 เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเอ่ยปากตำหนิเหตุการณ์ที่ทัพลูกหนัง ‘ช้างศึก’ ทีมชาติไทย ก่อเหตุฉาวมีเรื่องทะเลาะวิวาทจนถึงขั้นชกต่อยกับนักเตะอินโดนีเซียในศึกฟุตบอลชายซีเกมส์ ครั้งที่ 32 รอบชิงชนะเลิศ ที่ประเทศกัมพูชา เมื่อช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมา และเป็นฝ่ายแพ้ในช่วงต่อเวลาพิเศษด้วยสกอร์ 2-5 จึงทำได้เพียงแค่เหรียญเงินในฐานะรองแชมป์เท่านั้น ทั้งนี้ ‘บิ๊กป้อม’ ได้ประกาศเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเดินทางไปแข่งขันกีฬาซีเกมส์ว่า นายกสมาคมกีฬาจะต้องพิจารณาตัวเอง หากทำให้ประเทศชาติเสื่อมเสียชื่อเสียง

Photo Credit: Thairath

ทำให้ ‘บิ๊กอ๊อด’ ตัดสินใจไขก๊อกยอมก้าวเท้าลงจากตำแหน่งประมุขบอลไทยทันที หลังจากที่สวมบทบาทเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มาแล้วถึง 2 สมัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยอ้างว่ามาจากคำสั่งของ ‘บิ๊กป้อม’ นั่นเอง และเปิดเผยด้วยว่าจะแจ้งเหตุผลเรื่องของการลาออกต่อ สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (AFF), สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) รวมถึง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ให้ได้รับทราบในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสมาคมฯ ตามหน้าที่ของประเทศสมาชิกกันต่อไป จึงถูกหลายๆ คนมองว่าอาจเป็นปัญหาสำหรับประเทศไทย และอาจจะส่งผลกระทบต่อทัพลูกหนัง ‘ช้างศึก’ ไปแบบเต็มๆ ทั้งนี้ ‘ฟีฟ่า’ ซึ่งเป็นองค์กรลูกหนังที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีกฎเหล็กที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า สมาคมฟุตบอลของแต่ละประเทศจะไม่สามารถถูกแทรกแซงจากบุคคลภายนอกอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองของประเทศนั้นๆ เนื่องจากสมาคมฟุตบอลของบรรดาชาติสมาชิกทั่วโลก จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ฟีฟ่า แบบโดยตรงเลยนั่นเอง และองค์กรอื่นๆ ซึ่งเปรียบเสมือนกับบุคคลที่ 3 ไม่มีสิทธิ์เข้าไปวุ่นวายด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ทัพลูกหนัง ‘ช้างศึก’ จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการโดน ฟีฟ่า ลงโทษแบนด้วยการสั่งห้ามเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลในทุกระดับตามระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ ไล่ตั้งแต่ในศึกฟุตบอลระดับโลก, ระดับทวีป รวมถึงในระดับภูมิภาค เหมือนอย่างที่เพื่อนร่วมย่านอาเซียน นั่นก็คือ อินโดนีเซีย เคยถูกสั่งแบนมาแล้วเมื่อ 8 ปีก่อน เพราะว่าฝ่ายการเมืองของเข้าไปแทรกแซงสมาคมฟุตบอลของดินแดนอิเหนาแบบชัดเจนเลยนั่นเอง และมีอีกหลายๆ ประเทศที่เคยถูกลงโทษแบนจากการความผิดในลักษณะนี้มาก่อนด้วย

แฟนฟุตบอลอินโดนีเซีย ประท้วงนูร์ดิน ฮาลิด อดีตนายกสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย
Photo Credit: Eurosport

ชนวนเหตุ ‘อิเหนา’ เจอแบนจากเรื่องการเมือง

ย้อนหลังกลับไปในปี 2015 ฟีฟ่า ได้สั่งลงโทษแบน อินโดนีเซีย ห้ามเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติในทุกระดับ เนื่องจากรัฐบาลแดนอิเหนาในตอนนั้นได้ออกคำสั่งยกเลิกสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซียที่มีอยู่แล้ว เพื่อจะได้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลใหม่ขึ้นมาเอง โดยก่อนหน้านี้ ฟีฟ่า เคยสั่งแบน นูร์ดิน ฮาลิด อดีตนายกสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซียเมื่อต้นปี 2011 เพราะเป็นผู้ต้องหาในคดีรับสินบน และเคยติดคุกจากคดีคอร์รัปชั่นมาก่อนด้วย ทั้งนี้วงการลูกหนังแดนอิเหนาเคยแบ่งขั้วอำนาจออกเป็น 2 ขั้ว และแยกลีกแข่งขันออกเป็น 2 ลีกใหญ่ๆ นั่นก็คือ อินโดนีเซีย ซูเปอร์ลีก และอินโดนีเซีย พรีเมียร์ลีก แถมยังมีการแยกนักเตะทีมชาติออกจากกันอีกต่างหาก จึงส่งผลกระทบต่อการเตรียมทีมฟาดแข้งในศึกฟุตบอลโลก 2014 รอบคัดเลือก ซึ่งได้เริ่มแข่งขันกันในช่วงปี 2012 เป็นอย่างมาก เพราะว่ากลุ่มขั้วอำนาจอีกฝั่งหนึ่งไม่ยอมส่งนักฟุตบอลเก่งๆ ให้ไปรับใช้บ้านเกิดนั่นเอง ก่อนจะเป็นฝ่ายแพ้ บาห์เรน แบบยับเยินถึง 0-10 ทำให้ ฟีฟ่า ต้องใบเตือนเพื่อแจ้งให้รู้ว่าอาจจะถูกลงโทษแบนได้เลย หากว่ายังไม่มีการลงมือแก้ไขเรื่องดังกล่าว

แม้ว่าหลังจากนั้นทั้ง 2 ขั้วอำนาจจะตกลงกันได้ และกลับมาจับมือกันรวมลีกเป็นหนึ่งเดียวจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ อินโดนีเซีย ซูเปอร์ลีก แต่รัฐบาลแดนอิเหนาได้เข้ามาแทรกแซงตั้งแต่ช่วงปี 2014 แถมยังลากยาวไปจนถึงปี 2015 อีกต่างหาก โดยกระทรวงกีฬาได้สั่งให้เลื่อนการแข่งขัน เพราะต้องรอให้ทุกสโมสรส่งเอกสารให้ครบเสียก่อน แต่สุดท้ายมี 2 สโมสรที่ส่งเอกสารไม่ทัน ทำให้กระทรวงกีฬาออกคำสั่งให้สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซียตัดสิทธิ์ทั้ง 2 ทีมนั้นออกจากลีกไปเลย แต่สมาคมฯ ไม่ยอมปฏิบัติตาม และจัดการแข่งขันกันต่อไปแบบที่ 2 สโมสรดังกล่าวยังคงร่วมฟาดแข้งอยู่เหมือนเดิม แต่ว่าตอนนั้นเจอปัญหาเรื่องล้มบอลในหลายๆ เกมด้วยเช่นกัน และมีบางเกมถึงขั้นที่นักเตะทั้งฝั่งนัดกันทำเข้าประตูตัวเองถึง 5 ประตูภายในนัดเดียวกันอีกต่างหาก

Indonesia Super League 2014
Photo Credit: Liputan6

ทำให้กระทรวงกีฬาตัดสินใจเข้ามาอีกครั้ง เพื่อออกคำสั่งพักการแข่งขันฟุตบอลลีกแบบชั่วคราว และสั่งลงโทษแบนสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน จึงเป็นเหตุให้ ฟีฟ่า ประกาศลงโทษแบนวงการลูกหนังอิเหนาด้วยการสั่งห้ามเข้าร่วมการแข่งขันในเกมระดับนานาชาติเมื่อ 8 ปีก่อน เพราะว่ามีการเมืองเข้ามาแทรกแซงอย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่อ ‘ธรรมนูญฟีฟ่า’ ซึ่งเป็นบทบัญญัติขององค์กรลูกหนังโลกในมาตรา 13 และ 17 ด้วยเหตุนี้ อินโดนีเซีย จึงไม่ได้ร่วมฟาดแข้งในศึกฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย เพราะถูกตัดสิทธิ์ไปเลยนั่นเอง และส่งผลดีต่อทัพลูกหนัง ‘ช้างศึก’ ในยุคนั้นที่อยู่ภายใต้การคุมทัพของกุนซือ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง เพราะไม่ต้องลงเตะกับทีมคู่แข่งจากดินแดนอิเหนา ซึ่งเป็นทีมคู่แข่งร่วมกลุ่มเดียวกันนั่นเอง ทำให้ ทีมชาติไทย สามารถตบเท้าผ่านเข้าไปเล่นรอบ 12 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จ แต่ไม่สามารถตีตั๋วผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายในศึกฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียได้เหมือนอย่างที่ฝันเอาไว้

ส่วนอินโดนีเซีย ได้ใช้เวลา 1 ปี เพื่อสะสางปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเลย หลังจากนั้น ฟีฟ่า ได้ประกาศปลดโทษแบนในปี 2016 เพราะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลอย่างถูกต้องตามกฎของ ฟีฟ่า และไม่มีการแทรกแซงจากการเมืองอีกต่อไปจนถึงปัจจุบันนี้เลย

3 / 7

ทีมชาติอิรัก / ทีมชาติไนจีเรีย / ทีมชาติคูเวต / ทีมชาติปากีสถาน / ทีมชาติอินเดีย / ทีมชาติซิมบับเว

ชาติอื่นๆ ที่เคยถูกแบนจาก ฟีฟ่า ไม่ใช่แค่ ‘อินโดนีเซีย’

  • อิรัก เคยถูกแบนในปี 2008 เพราะรัฐบาลสั่งยุบคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ รวมถึงสมาคมกีฬาต่างๆ แต่ได้รับการยกเลิกโทษแบนในช่วงปีเดียวกัน หลังจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้สำเร็จ
  • ไนจีเรีย เคยถูกแบนในปี 2014 เพราะรัฐบาลได้เข้ามาแทรกแซงสมาคมฟุตบอลไนจีเรียผ่านทางคำสั่งของศาล แต่ได้รับการยกเลิกโทษแบนภายในเวลาเพียงแค่หนึ่งเดือนเท่านั้น
  • คูเวต เคยถูกแบนในปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับ อินโดนีเซีย เพราะรัฐบาลได้เข้ามาแทรกแซงสมาคมฟุตบอลคูเวต แต่ได้รับการยกเลิกโทษแบนในปี 2017
  • ปากีสถาน เคยถูกแบนถึง 2 ครั้งในปี 2017 และปี 2021 เพราะถูกแทรกแซงจากหน่วยงานรัฐบาลในระหว่างที่มีการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลนั่นเอง
  • อินเดีย เคยถูกแบนในปี 2022 เพราะศาลแดนโรตีมีคำสั่งยุบสมาคมฟุตบอลอินเดียเป็นการชั่วคราว และทางรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการเข้าไปควบคุมแทนจากการที่อดีตนายกสมาคมฟุตบอลอยู่ในตำแหน่งเกินวาระ และไม่ยอมจัดการเลือกตั้งเสียที แต่ได้รับการยกเลิกโทษแบนในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศเลิกแทรกแซง และทางสมาคมฟุตบอลได้จัดการเลือกตั้งใหม่แบบผ่านพ้นไปด้วยดี
  • ซิมบับเว ถูกแบนในปี 2022 เพราะรัฐบาลเข้าแทรกแซงในช่วงหลังจากที่มีข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคได้ล่วงละเมิดทางเพศผู้ตัดสินหญิง และมีข้อกล่าวหาเรื่องการฉ้อโกงภายในสมาคมฟุตบอล โดยตอนนี้ยังคงถูกลงโทษแบนอยู่ด้วย
Photo Credit: Goal

ผลกระทบต่อ ‘ลูกหนังไทย’ หากโดนฟีฟ่าลงโทษแบน

แม้ว่าเรื่องการลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ของ ‘บิ๊กอ๊อด’ จะยังไม่มีการพิพากษาว่ามีมูลเหตุมาจากการถูกแทรกแซงให้ต้องตัดสินแบบนั้นหรือไม่ แต่ถ้าลองมองโลกในแง่ร้ายว่าโดน ฟีฟ่า ลงโทษแบนจากเรื่องดังกล่าวจะทำให้วงการฟุตบอลไทยได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

  • ทีมชาติไทยชุดใหญ่ จะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขันในระดับนานาชาติทั้งหมดเลย และจะชวดฟาดแข้งในศึกฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบ 2 ซึ่งมีโปรแกรมลงเตะในช่วงปลายปีนี้ทั้งหมด 2 เกม และจะหมดสิทธิ์ลุ้นชิงตั๋วไปเล่นรอบสุดท้ายในศึกฟุตบอลโลก 2026 บนดินแดนคอนคาเคฟทันทีเลยด้วย นอกจากนี้จะหมดสิทธิ์ไปโชว์ฝีเท้าในศึกฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย ‘เอเชียน คัพ 2023’ รอบสุดท้าย ที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งได้เลื่อนไปแข่งขันในช่วงต้นปีหน้าด้วยเช่นกัน แม้จะมีการจับสลากแบ่งสายไปแล้วก็ตาม โดยทัพลูกหนัง ‘ช้างศึก’ อยู่ร่วมกลุ่มเดียวกับ ซาอุดีอาระเบีย, คีร์กีซสถาน และโอมาน ในรอบแรกนั่นเอง แม้จะสามารถลงเตะนัดกระชับมิตรในช่วงพักเบรกทีมชาติตามปฏิทินของฟีฟ่าเดย์ได้ตามปกติ แต่จะไม่มีการจดบันทึกคะแนนเพื่อจัดอันดับโลกใน ‘ฟีฟ่า เวิลด์ แรงกิ้ง’ จึงมีโอกาสที่อันดับโลกจะรูดกราวไปด้วยเลย โดยตอนนี้ทัพลูกหนัง ‘ช้างศึก’ รั้งอันดับ 113 ของโลก และเป็นทีมฟุตบอลชายอันดับที่ 21 ของทวีปเอเชียอีกต่างหาก
  • ทีมชาติไทยชุดเยาวชน จะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์เอเชียรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ซึ่งจะได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในรอบคัดเลือกที่ จ.ชลบุรี ช่วงเดือนกันยายนนี้ โดยอยู่ในกลุ่ม เอช ร่วมสายเดียวกับ มาเลเซีย, บังกลาเทศ และฟิลิปปินส์ และจะหมดสิทธิ์ลุ้นเป็นตัวแทนของทวีปเอเชียเพื่อชิงตั๋วไปเล่นรอบสุดท้ายในศึกฟุตบอลชายโอลิมปิก 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศสไปด้วยเลย
  • ทีมระดับสโมสร จะหมดสิทธิ์ลงเล่นในถ้วยใบใหญ่ของทวีปเอเชีย นั่นก็คือ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ในช่วงฤดูกาลหน้าทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, แบงค็อก ยูไนเต็ด, บีจี ปทุม ยูไนเต็ด และการท่าเรือ เอฟซี ซึ่งได้โควตาจากการฟาดแข้งในศึกไทยลีกเหมือนช่วงซีซั่นที่ผ่านมานั่นเอง เนื่องจากฟุตบอลลีกอาชีพของไทยอยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ด้วยเช่นกัน
  • ถูกตัดงบจาก ฟีฟ่า ซึ่งได้ส่งเงินสนับสนุนให้กับสมาคมฟุตบอลของแต่ละประเทศที่เป็นชาติสมาชิกอยู่เป็นประจำ เพื่อให้นำไปใช้พัฒนาฟุตบอลระดับรากหญ้าของแต่ละประเทศในทุกๆ ปีอยู่แล้วนั่นเอง
  • ถูกตัดสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FIFA CONGRESS ซึ่งทาง ฟีฟ่า ได้กำหนดจัดที่ประเทศไทย ในวันที่ 17 พฤษภาคมปีหน้า

บิ๊กอ๊อด / บิ๊กป้อม / บังยี / เดอะตุ๊ก

ส่องรายชื่อว่าที่ผู้ท้าชิง ‘ประมุขบอลไทย’

เดิมที สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะจัดให้มีการเลือกตั้ง ‘ประมุขบอลไทย’ ในช่วงเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2567 เพราะว่า ‘บิ๊กอ๊อด’ จะหมดวาระในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้านั่นเอง แต่หลังจากที่ได้ประกาศลาออกโดยอ้างอิงว่าเป็นคำสั่งของ ‘บิ๊กป้อม’ จึงต้องรอให้ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เซ็นรับรองการลาออกให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้นจะมีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ คนใหม่ภายในระยะเวลา 3 เดือนตามกฎกติกากันต่อไป โดยสำนักงานเลขาธิการจะทำหน้าที่ดูแลสมาคมไปพรางๆ ก่อน

สำหรับรายชื่อของผู้ท้าชิง ‘ประมุขบอลไทย’ ตามที่ได้มีการเปิดเผยมาแล้ว ประกอบไปด้วย ‘เดอะตุ๊ก’ – ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ตำนานกองหน้าทีมชาติไทย ซึ่งได้ประกาศเอาไว้แล้วว่าถ้าได้รับเลือกแล้วก็พร้อมลาออกจากตำแหน่งทันที หากไม่สามารถนำทัพลูกหนัง ‘ช้างศึก’ ไปโชว์ฝีเท้าในรอบสุดท้ายของศึกฟุตบอลโลกได้เหมือนอย่างที่หวังเอาไว้ นอกจากนี้ ‘บังยี’ – วรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ หลายสมัยได้ตั้งท่าพร้อมร่วมชิงชัยเพื่อกลับมานั่งเก้าอี้ตัวเดิมที่คุ้นเคยด้วยเช่นกัน แต่ส่อติดปัญหาในเรื่องอายุอานาม เพราะกฎระเบียบได้กำหนดเอาไว้ว่าผู้สมัครชิงตำแหน่งจะต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี ส่วน ‘บังยี’ จะมีอายุครบ 72 ปีในช่วงปีหน้า และเคยถูก ฟีฟ่า ลงโทษแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอลเป็นระยะเวลา 3 ปีครึ่งจากเรื่องของการละเมิดจรรยาบรรณเมื่อปี 2018 มาก่อนด้วย แต่ศาลกีฬาโลกได้ตัดสินยกเลิกโทษแบนดังกล่าวตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

มาดามแป้ง / บิ๊กโต้ง / บิ๊กแป๊ะ / บิ๊กหยิม

ขณะเดียวกันหลายๆ ฝ่ายได้มีการเสนอชื่อของ ‘มาดามแป้ง’ – นวลพรรณ ล่ำซํา ผู้จัดการทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทย และประธานสโมสรฟุตบอล การท่าเรือ เอฟซี รวมถึง ‘บิ๊กโต้ง’ – กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้จัดการทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทย เช่นเดียวกับ ‘บิ๊กแป๊ะ’ – พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมถึง ‘บิ๊กหยิม’ – ยุทธนา หยิมการุณ อดีตผู้จัดการทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ 2023 ให้ร่วมลงสมัครชิงชัยด้วย แต่ทั้ง 3 คนดังกล่าวยังไม่มีการตอบรับใดๆ ทั้งสิ้น

Share