Culture

‘Cruise Collection’ เมื่อแฟชั่นพาเราออกเดินทาง

ปกติแล้วเวลาเรานึกถึงแฟชั่นโชว์ หรือคอลเลกชั่นแฟชั่น เรามักจะนึกถึงแค่สองคอลเลกชั่น ซึ่งก็คือ คอลเลกชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน (Spring/Summer) และคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว (Fall/Winter) ซึ่งปัจจุบันนี้ในทุกปี แต่ละแบรนด์มักจะมีคอลเลกชั่นอย่างน้อย 4 คอลเลกชั่น โดยเพิ่มมาอีกสองคอลเลกชั่น นั่นก็คือ คอลเลกชั่นครูซ (Cruise Collection) หรือคอลเลกชั่นรีสอร์ท (Resort Collection) หรือบางแบรนด์ก็เรียกว่าพรีสปริง (Pre-Spring Collection) ซึ่งก็คือ คอลเลกชั่นก่อนจะถึงคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อนนั่นเอง และอีกคอลเลกชั่นก็คือ พรีฟอลล์ (Pre-Fall Collection) ซึ่งก็คือคอลเลกชั่นก่อนจะถึงคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว

Coco Chanel / Gabrielle Chanel

ซึ่งคอลเลกชั่นคั่นฤดูกาลเหล่านี้เพิ่งจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงยุค 1980s นี่เอง

แบรนด์ที่ถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดคอลเลกชั่นครูซ หรือรีสอร์ท ก็คือ ‘Chanel’ ในช่วงหลังปีใหม่ ลูกค้าส่วนใหญ่ของ ‘โคโค่ ชาเนล’ ซึ่งเป็นผู้มีฐานะร่ำรวยมั่งคั่ง มักจะมาขอร้องให้เธอทำเสื้อผ้าให้ใหม่สำหรับการออกเดินทางท่องเที่ยวหนีอากาศหนาวเย็นในยุโรปไปยังเกาะต่างๆ ในแถบเมดิเตอเรเนียนที่มีอากาศอบอุ่นกว่า ซึ่งเสื้อผ้าที่เธอได้รับการร้องขอให้ออกแบบใหม่ก็มักจะเป็นเสื้อผ้าที่มีน้ำหนักเบา มีความบาง หลวม สวมใส่สบาย เหมาะสมกับสภาพอากาศในเกาะแถบเมดิเตอเรเนียน และเหมาะสมกับการไปพักร้อนในรีสอร์ทหรู ดังนั้นในปี 1919 ‘กาเบรียล ชาเนล’ จึงได้คลอดคอลเลกชั่นที่ต่อมาได้ชื่อว่า ‘Cruise Collection’ ออกมาเป็นครั้งแรก

Chanel’s Couture House ในเมือง Biarritz

 

กลับกลายเป็นว่าในช่วงประมาณกลางฤดูหนาว บูติกของ Chanel ที่ Biarritz ก็จะเต็มไปด้วยเสื้อผ้าแห่งการเดินทางไปพักผ่อนในรีสอร์ทหรู หรือบนเรือยอช์ตสุดหรูในแถบภูมิประเทศที่มีอากาศอบอุ่น ทั้งกางเกงทรงแบ็กกี้ตัวหลวม, กางเกงและเสื้อแขนยาวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสไตล์ทหารเรือ, ชุดนอนในแบบบีชสไตล์ หรือเสื้อเชิ้ตเปิดคอแบบผู้ชาย สไตล์การแต่งตัวเพื่อหนีหนาวไปพักผ่อนในรีสอร์ทหรูที่อากาศอบอุ่นเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงยุค 1930s ที่คอลเลกชั่นที่ยังไม่ได้ชื่อว่า Cruise Collection อย่างเป็นทางการนี้ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในโลกแฟชั่น จากนั้นในช่วงยุค 1950s ความนิยมจึงค่อยๆ ลดลงไป

Karl Largerfeld ในปี 1983

คนที่นำเอาคอลเลกชั่นครูซของ Chanel กลับมาอีกครั้งก็คือ ‘คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์’ ในปี 1983 ในขณะที่เขาเข้ามาทำงานให้กับ Chanel แต่ในขณะนั้นก็ยังไม่ได้ถูกเรียกว่า คอลเลกชั่นครูซ หรือรีสอร์ท เพราะช่วงที่คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ นำเสนอเสื้อผ้าสไตล์รีสอร์ทเป็นช่วงปลายฤดูร้อนเตรียมเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งต่อมาเสื้อผ้าสไตล์รีสอร์ทก็ถูกปรับเปลี่ยน ให้มาออกในช่วงปลายฤดูหนาวแทน ในขณะที่ช่วงปลายฤดูร้อนก็กลายเป็นคอลเลกชั่นพรีฟอลล์ 

คอลเลกชั่นเสื้อผ้าสำหรับไปเที่ยว ก็ต้องโปรโมทด้วยโชว์แบบไปเที่ยวต่างประเทศ

ไม่เพียงแค่ Chanel จะเป็นผู้นำในการกำเนิด Cruise Collection เท่านั้น (อาจจะรวมไปถึง Pre-Fall ด้วยก็ได้) แต่ Chanel ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในการเอาโชว์คอลเลกชั่นเพื่อการท่องเที่ยวออกไปจัดยัง

ต่างประเทศที่ชี้ให้เห็นถึงการเป็นคอลเลกชั่นแห่งการเดินทาง และการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง เริ่มต้นด้วย Chanel Cruise 2006 ที่แม้จะยังไม่ได้เดินทางไปจัดโชว์ที่ต่างประเทศ แต่ Chanel ก็ทำเก๋ด้วยการจัดโชว์บนรถบัส นำเอาเอดิเตอร์ทั้งหลายขึ้นไปบนรถก่อนที่รถจะแล่นไปตามถนนในปารีส แวะรับนางแบบแต่ละกลุ่มที่จุดจอดรถประจำทางต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเป็นคอลเลกชั่นแห่งการเดินทางจริงๆ 

Chanel Cruise 2007-2010 / Chanel Cruise 2014 - 2017 / Chanel Cruise 2019

จากนั้น Chanel Cruise 2007 ก็พาเสื้อผ้าออกเดินทางไปจัดโชว์ที่ Grand Central Station ในนิวยอร์ก Cruise Collection ในปี 2008 Chanel ได้จัดที่สถานีจอดเครื่องบิน Los Angeles Airfield ในลอสแองเจลิส คอลเลกชั่นครูซปี 2009 จัดที่ Raleigh Hotel ในไมอามี่ Chanel Cruise 2010 จัดขึ้นริมชายหาด Venice Lido ในเมืองเวนิส หรือ Chanel Cruise 2014 ที่มาจัดที่สิงคโปร์ Chanel Cruise 2015 จัดที่ดูไบ ส่วนคอลเลกชั่นครูซ 2016 จัดที่โซล เกาหลีใต้ และในปี 2017 จัดที่ฮาวานา คิวบา Chanel Cruise 2019 กับเซ็ตติ้งเรือสำราญ La Pausa ที่จัดขึ้นในกรองด์ ปาเลส์ และยังเดินทางจัดโชว์ไปทั่วโลกภายใต้ธีมเรือสำราญเช่นเดียวกันกับการจัดโชว์ที่เมืองไทย

Louis Vuitton Resort Collections 2015 - 2018 / Gucci 2016 - 2019Photo Credit: Vogue Runway 

การนำเอาโชว์ครูซคอลเลกชั่นไปจัดแสดงที่ต่างประเทศของ Chanel กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้แบรนด์ต่างๆ เริ่มมีขนบธรรมเนียมเอาครูซคอลเลกชั่น หรือพรีฟอลล์คอลเลกชั่นไปจัดแสดงยังต่างประเทศบ้าง อย่าง Louis Vuitton เองก็นำเอาคอลเลกชั่นรีสอร์ท 2015 ไปจัดยังโมนาโก คอลเลกชั่นรีสอร์ท 2016 ไปจัดที่ปาล์ม สปริง แคลิฟอร์เนีย คอลเลกชั่นรีสอร์ท 2017 ไปจัดที่บราซิล คอลเลกชั่นรีสอร์ท 2018 ไปจัดที่ญี่ปุ่น หรือ Gucci ที่เริ่มไปจัดที่อังกฤษในคอลเลกชั่นรีสอร์ท 2016 และ 2017 ก่อนจะย้ายมาจัดที่ฟลอเรนซ์ และฝรั่งเศส ในปีถัดๆ มา 

ความน่าสนใจก็คือ ในช่วงแรกๆ แบรนด์จะโฟกัสเฉพาะคอลเลกชั่นครูซ/รีสอร์ทก่อน และเมืองที่ไปจัดมักจะเป็นหัวเมืองชั้นนำของโลก หรือเมืองของเหล่าเจ็ตเซ็ตทั้งหลาย ก่อนที่การนำเอาคอลเลกชั่นเสื้อผ้าไปจัดแสดงที่ต่างประเทศจะไม่จำกัดเฉพาะ คอลเลกชั่นครูซ/รีสอร์ท อีกต่อไปแล้ว และจุดหมายปลายทางก็จะเอ็กซอติกมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงหันเหมายังเอเชียมากขึ้น เพราะเป็นตลาดที่สินค้าแบรนด์เนมยังคงมีแรงซื้ออยู่สูงเมื่อเทียบกับยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา 

Prada Fall Winter 2022 - Biejing / Louis Vuitton Men’s Spring Summer 2023 - Aranya, China / Dior Fall Winter 2023 - Mumbai / Gucci Resort 2024 - South KoreaPhoto Credit: WWD / British GQ / Footwear News / Essential Homme

ดังเช่นคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2022 ของ Prada ที่ไปจัดแบบ Re-Stage ที่ประเทศจีน เช่นเดียวกันกับคอลเลกชั่นเสื้อผ้าผู้ชายของ Louis Vuitton ฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2023 ที่ไปจัดแบบ Spin-Off ที่ประเทศจีน หรือล่าสุด Dior ที่นำเอาคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2023 ไปจัดที่มุมไบ ประเทศอินเดีย และ Gucci กับคอลเลกชั่นรีสอร์ท 2024 ที่ไปจัดที่เกาหลีใต้ 

การไปจัดโชว์ที่ต่างประเทศจึงเปลี่ยนความหมายไปจากการโปรโมทคอลเลกชั่นเสื้อผ้าที่ออกแบบมาเพื่อการเดินทาง หรือการท่องเที่ยวเพื่อไปพักผ่อนโดยเฉพาะ อย่างคอลเลกชั่นครูซ/รีสอร์ท ในแบบแต่ก่อน ซึ่งเป็นคอลเลกชั่นคั่นฤดูกาลที่น้อยคนนักจะรู้จัก ไปเป็นการหาตลาดใหม่ๆ ให้กับแบรนด์เพื่อสร้างมูลค่าทางการตลาดทั้งในสื่อ และการขายจริง