Culture

เส้นทางบนหน้าประวัติศาสตร์ของเจ้าหญิง รองเท้าแก้ว และแม่เลี้ยงใจร้าย เมื่อดิสนีย์ไม่ใช่ผู้ให้กำเนิด ‘ซินเดอเรลล่า’

หากถามถึงการ์ตูนเรื่องโปรดในความทรงจำของใครหลายๆ คน ก็คงจะต้องมีชื่อของ 'ซินเดอเรลล่า' สาวน้อยจิตใจงดงามและรองเท้าแก้วของเธอถูกพูดถึงขึ้นมาเป็นแน่ เรื่องราวของซินเดอเรลล่าที่เรารู้จักและองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งรองเท้าแก้ว หรือ แม่เลี้ยงใจร้าย มาจากนิทานเรื่อง ‘The Little Glass Slipper’ ที่ถูกเขียนขึ้นโดยชาร์ลส์ แปร์โรว (Charles Perrault) ในสมัยศตวรรษที่ 17 ซึ่งนับว่าเป็นเวอร์ชั่นของซินเดอเรลล่าที่โด่งดังที่สุด หากแต่เรื่องราวจริงๆ ของเธอนั้นว่ากันว่าเกิดขึ้นมานับพันกว่าปีที่แล้ว บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับวิวัฒนาการของซินเดอเรลล่า และที่มาของสิ่งต่างๆ ที่พบในนิทาน ว่ามันมีที่มา และความสำคัญอย่างไร สามารถบ่งบอกถึงเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจได้อย่างไร

ภาพวาดของโรโดพิส

ซินเดอเรลล่าตัวจริง ไม่ใช่คนยุโรป

หลักฐานของเรื่องราวที่เชื่อกันว่าเป็นต้นแบบของ ‘ซินเดอเรลล่า’ ย้อนกลับไปตั้งแต่หกร้อยปีก่อนคริสต์ศักราช และเกิดขึ้นที่ประเทศอียิปต์ โดยหญิงสาวคนนี้มีนามว่า ‘โรโดพิส (Rhodopis)’ เธอเป็นข้ารับใช้สาวชาวกรีก วันหนึ่งขณะที่เธอกำลังซักผ้าอยู่ในแม่น้ำและถอดรองเท้าเอาไว้ ก็มีนกอินทรีบินมาโฉบรองเท้าข้างหนึ่งของเธอไป มันบินข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และทิ้งรองเท้าข้างนั้นลงบนตักของฟาโรห์แห่งอียิปต์ ฟาโรห์องค์นั้นเมื่อเห็นก็เชื่อในทันทีว่า มันคือสัญญาณจากสรวงสวรรค์ เขาจึงออกตามหาเจ้าของรองเท้าข้างนี้ จนพบตัวของโรโดพิส และแต่งงานกับเธอในที่สุด อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่า โรโดพิสคนนี้มีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ เพราะเรื่องราวของเธอนั้นถูกพบในบันทึกของ ‘สตราโบ (Strabo)’ นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกเท่านั้น และไม่มีหลักฐานอย่างอื่นที่บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของโรโดพิส รวมไปถึงเรื่องราวของเธอยังขาดองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญในเรื่องของซินเดอเรลล่าอย่างแม่เลี้ยงใจร้าย หรือรองเท้าแก้ว แต่อย่างไรก็ตาม ตำนานของโรโดพิสก็ถูกกล่าวขานมายาวนานสู่รุ่นต่อรุ่น และหลายๆ คนก็เชื่อว่า เรื่องราวของเธอเป็นแรงบันดาลใจให้กับซินเดอเรลล่าในเวอร์ชั่นต่อๆ ไป

Disney’s Cinderella

จุดเริ่มต้นของซินเดอเรลล่าที่เรารู้จัก

มีเรื่องราวของซินเดอเรลล่ากว่า 500 เวอร์ชั่นถูกค้นพบในยุโรป โดยเวอร์ชั่นแรกของซินเดอเรลล่าที่มีความคล้ายคลึงกับเวอร์ชั่นที่ดังที่สุดเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 นั่นคือ ‘เซเนเรนโตลา (Cenerentola)’ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องสั้นรวมนิทานของอิตาลี ในเวอร์ชั่นนี้มีองค์ประกอบของซินเดอเรลล่าที่คุ้นเคยกันแทบจะทั้งหมด แต่ต่างกันตรงที่มันออกจากดารกกว่ากันเสียหน่อย นั่นคือ ‘เซโซล่า (Zezolla)’ นางเอกของเรื่อง หลบหนีจากราชาที่ต้องการแต่งงานกับเธอถึงสองครั้ง ก่อนจะถูกจับได้ในครั้งที่สาม

แต่ซินเดอเรลล่าที่เรารู้จักกันนั้นมาจากประเทศฝรั่งเศส โดยเชื่อว่า ดัดแปลงมาจากเวอร์ชั่นอิตาเลียนอีกที โดยเรื่องนี้ชื่อว่า 'ซ็องดรียง (Cendrillon)' โดย ‘ชาร์ลส์ แปร์โรว์ (Charles Perrault)’ ซึ่งเวอร์ชั่นของชาร์ลส์นี้ ได้มีการเพิ่มรองเท้าแก้ว ฟักทอง และนางฟ้าแม่ทูนหัวเข้ามาด้วย ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่ดิสนีย์นำมาทำเป็นอนิเมชั่นสุดคลาสสิคแบบที่เรารู้จัก

แม่เลี้ยงใจร้าย และลูกสาวจาก Cinderella ของ Disney

ทำไมต้องเป็นแม่เลี้ยงใจร้าย? เมื่อตัวละครสะท้อนภาพสังคมในศตวรรษที่ 17

ตัวละครร้ายในนิทานที่ถูกเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 17 ไม่ว่าจะเป็น ฮันเซลและเกรเทล (Hansel and Gretel) หรือ สโนว์ไวท์ (Snow White) ต่างก็มีแม่เลี้ยงใจร้ายกันทั้งนั้น แน่นอนว่าศัตรูคู่ปรับของเธอก็คือตัวเอกอย่างลูกเลี้ยงของพวกเธอ อันเป็นหลักฐานที่มีลมหายใจของการแต่งงานครั้งก่อนหน้า

‘แม่เลี้ยง’ หรือ หญิงที่แต่งงานใหม่กับสามีที่มีครอบครัวอยู่แล้ว เป็นอะไรที่พบเจอได้ง่ายมากในสมัยก่อน ไม่ใช่เพราะการหย่าร้าง หากแต่เพราะปัญหาที่มีผู้หญิงมากมายเสียชีวิตจากการให้กำเนิดบุตรอันเนื่องมาจากอันตรายในการทำคลอด นั่นหมายความว่า ภรรยาใหม่ (และลูกที่ติดมาด้วย) กลายมาเป็นศัตรูและคู่แข่งกับลูกของภรรยาคนแรก ไม่ใช่แค่ในเรื่องของความรัก แต่รวมถึงมรดกที่จะเป็นตัวตัดสินสถานะทางสังคมของเธอหลังจากที่สามีเสียชีวิต จึงเป็นที่มาของนิทานแนวนี้

มิหนำซ้ำ เรื่องราวของซินเดอเรลล่า และแม่เลี้ยงยังเป็นตัวสะท้อนสภาพสังคมที่ว่าผู้หญิงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาผู้ชายเพื่อที่จะมีที่ยืนในโลก หากลองนึกย้อนกลับไป มีเรื่องราวหลายเรื่องที่ว่าด้วยชายผู้มีเงินทองมากมายคือผู้ที่เหมาะกับการแต่งงานด้วย (Pride and Prejudice, My Fair Lady และอื่นๆ) และข้อคิดหนึ่งที่ได้จากซินเดอเรลล่าของชาร์ลส์คือ หากเป็นผู้ที่สุภาพ และงดงาม เธอเองก็สามารถมีชีวิตที่ดีได้ อย่างเดียวกันกับซินเดอเรลล่าที่มีเมตตา และเป็นคนดี ในท้ายที่สุดเธอก็สามารถถีบตัวเองให้ได้แต่งงานกับเจ้าชาย และนิทานเรื่องนี้ที่ถูกดิสนีย์นำมาทำในช่วง 1950s ก็สะท้อนภาพของผู้หญิงในยุค American Dream หรือในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี ที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จผ่านการทำงาน แต่ผ่านการแต่งงาน

ซินเดอเรลล่าลองรองเท้าแก้ว

เรื่องราวของรองเท้าแก้ว และสัญญะทางเพศที่อาจซ่อนอยู่

หากพูดถึงซินเดอเรลล่า อีกหนึ่งอย่างที่คนมักจะนึกถึงคู่กันคือ ‘รองเท้าแก้ว’ นักวิชาการบางคนเชื่อว่าคำว่า รองเท้าแก้ว (Pantoufle de verre) ในภาษาฝรั่งเศส ถูกแปลเพี้ยนมาจากคำว่า รองเท้าขนเฟอร์ (Pantoufle de vair) ซึ่งหากคำแปลจริงๆ ของมันคือรองเท้าขนเฟอร์แล้วล่ะก็ มันอาจจะเป็นคำอุปมาของอวัยวะเพศหญิงก็ได้ เมื่อเจ้าชายมีประสงค์ให้ใส่ ‘ส่วนของร่างกาย’ เข้าไปในรองเท้า เพื่อที่จะได้ดูว่ามันเข้ากันได้พอดีหรือเปล่า หากเทียบกันก็เหมือนกับการสอดใส่ของชาย และหญิงนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนก็เชื่อว่า ชาร์ลส์ตั้งใจเปลี่ยนขนเฟอร์ให้เป็นรองเท้าแก้ว เพราะในฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 17 แก้วเป็นวัสดุที่มีราคาแพงมาก และมันอาจทำหน้าที่เป็นคำอุปมาของความบริสุทธิ์ของซินเดอเรลล่า ที่มีเพียงชายที่ร่ำรวยมากๆ เท่านั้นจะได้มันไปครอง อีกทั้งรองเท้าแก้วเป็นสิ่งที่ใส่เดินยากลำบากมาก มีเพียงเจ้าหญิงที่แท้จริงอย่างซินเดอเรลล่าเท่านั้นที่จะสามารถใส่เดิน และเต้นรำได้อย่างสง่างาม มากไปกว่านั้น เหตุผลที่ต้องใช้รองเท้าเป็นตัวสื่อสาร แทนที่จะเป็นแหวน หรือเครื่องแต่งกายอื่นๆ นั่นเพราะรองเท้ามีพื้นรองเท้า (Sole) ซึ่งอาจสื่อถึงจิตวิญญาณ (Soul) อันบริสุทธิ์ของซินเดอเรลล่านั่นเอง

ห้องกระจกในพระราชวังแวร์ซาย

นอกจากนี้ ยังมีหลายคนวิเคราะห์ว่าการใช้รองเท้าแก้วเป็นองค์ประกอบในนิทานซินเดอเรลล่าคือความตั้งใจที่จะแซวราชาหลุยส์ที่ 14 นั่นเพราะชาร์ลส์​เคยทำงานกับพระองค์มาก่อนในการตกแต่งวัง รวมไปถึง ห้องกระจก (Hall Of Mirrors) ที่เต็มไปด้วยกระจกที่ทำมาจากแก้ว และด้วยความที่รู้จักพระองค์เป็นอย่างดี รองเท้าแก้วนี้อาจหมายถึงความรักที่หลุยส์ที่ 14 มีต่อกระจกแก้วและห้องกระจกของตัวเอง ความสำเร็จของซินเดอเรลล่าที่ได้แต่งงานกับเจ้าชายและมีตอนจบอันสวยงามอาจหมายถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จของอุตสาหกรรมแก้วของฝั่งเศส ซึ่งก็ไม่เกินจริง เพราะในสมัยนั้น ชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศสมีสิทธิ์ถูกปรับโดยราชวังได้หากพวกเขาใส่เสื้อผ้าที่วัสดุไม่ได้ผลิตในประเทศฝรั่งเศส

เรื่องราวที่ไม่มีวันตกยุค เจ้าหญิงผู้เป็นที่รักของคนทั่วโลก

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องราวของซินเดอเรลล่าเป็นนิทานที่เด็กๆ แทบทุกคนต้องเคยได้ยิน และได้ดู เพราะเนื้อเรื่องที่สามารถเชื่อมโยงกับปัจจุบันได้ รวมถึงผู้สร้าง และผู้จัดที่หยิบยกเรื่องซินเดอเรลล่ามาทำนั้นก็ปรับเปลี่ยนบทบางอย่างให้เข้ากับยุคสมัย จึงไม่แปลกที่ใครๆ ต่างก็รักเจ้าหญิงผู้ใจดีคนนี้ ในอนาคตเองก็คงจะยังมีเรื่องราวของซินเดอเรลล่าผ่านเข้ามาให้ดูอีก สิ่งที่น่าสนใจคือการตีความใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และไม่แน่ว่าอาจมีบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องของเธอมาให้ได้อ่านอีกก็เป็นได้

อ้างอิง

The Guardian
sheknows

EgyptianStreets

Vox

BookRiot

Abilene Public Library