หากจะกล่าวถึงภาพยนตร์คลาสสิกที่เป็นที่รู้จักในหมู่คนทุกรุ่น หนึ่งในนั้นน่าจะเป็น '007' ภาพยนตร์แฟรนไชส์ว่าด้วยสายลับหนุ่มสุดเท่อย่าง 'James Bond' ที่ไม่ว่าจะเป็นพล็อตเรื่อง บท ตัวละคร ก็ล้วนแต่มีภาพตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไม่ว่ารุ่นใด
แต่สิ่งที่ดูจะตราตรึงยิ่งกว่า คือดนตรีประกอบภาพยนตร์ ที่รังสรรค์โดยสุดยอดฝีมือจากวงการเพลง ทั้งนักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ และศิลปินผู้ถ่ายทอดผลงาน และไม่ว่ายุคสมัยใด เพลงประกอบภาพยนตร์ของแฟรนไชส์ 007 ก็ล้วนถูกจับตามอง เพราะตลอดระยะเวลา 60 ปี ที่ภาพยนตร์ชุดนี้ได้โลดแล่นอยู่ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ก็ได้สร้างเสียงเพลงของตัวเองถึง 25 เพลง ที่งดงามเหนือกาลเวลา และยังเป็นเหมือนเหรียญตราเกียรติยศประดับชีวิตของศิลปินมากมาย
ความยิ่งใหญ่ของเพลงประกอบภาพยนตร์ 007 ถูกนำมารวบรวมไว้ผ่านปากคำของคนดนตรีและคนในแวดวงภาพยนตร์ ในสารคดี The Sound of 007 ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2022 และยังคงรับชมได้ทางสตรีมมิง ใน Prime Video
James Bond Theme
จุดกำเนิดของเพลงประกอบภาพยนตร์ในตำนานนี้ เริ่มจาก James Bond Theme เพลงธีมสุดเร้าใจ อันเป็นเอกลักษณ์ และองค์ประกอบสำคัญของภาพยนตร์ชุด 007 มานานนับ 60 ปี ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในทศวรรษ 1960 ด้วยฝีมือของ John Barry นักแต่งเพลงและวาทยากร ชาวอังกฤษ ผู้ซึ่งเรียบเรียงเพลงนี้ให้มีส่วนผสมของดนตรีแจ๊ส ร็อก และป็อป เพื่อที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละคร James Bond ออกมา ดังนั้น เพลงป็อปความยาว 3 นาทีครึ่ง จึงเป็นศูนย์รวมของเรื่องราวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเซ็กส์ ความตาย หน้าที่ ความเสียสละ จุมพิต หรือแม้กระทั่งการฆาตกรรม
ในช่วงทศวรรษ 1960 ขณะที่ The Beatles เป็นผู้นำแห่งดนตรีร็อกแอนด์โรล John Barry ก็เป็นผู้นำด้านเพลงประกอบภาพยนตร์ เขาเป็นคนแรกที่นำเครื่องเป่าบิ๊กแบนด์สวิงมารวมเข้ากับออร์เคสตรา จนได้ดนตรีที่ทั้งจริงจังและแสบซ่าในเวลาเดียวกัน เป็นก้าวสำคัญของเพลงประกอบภาพยนตร์ยุค 1960 ด้วยความหลงใหลในเครื่องทองเหลือง Barry ชูเครื่องดนตรีชนิดนี้เป็นองค์ประกอบหลักของเพลง จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเพลงประกอบภาพยนตร์ 007 และจากการทำดนตรีให้ 007 ถึง 11 ภาค ก็อาจเรียกได้ว่า เขาเป็นศูนย์กลางของจักรวาลดนตรี 007 ผู้กำหนดตัวตนของภาพยนตร์ชุดนี้เลยทีเดียว
จุดเด่นอย่างหนึ่งที่ทำให้เพลงธีมของ 007 แตกต่าง และมีความเป็นอมตะ คือการเพิ่มไอเดียเด็ดๆ ลงไปในเพลง ไม่ว่าจะเป็นการแจกแจงส่วนต่างๆ ของเพลงในดนตรีประกอบฉาก หรือการเก็บเพลงนี้ไว้ใช้ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของเรื่อง รวมทั้งการคัดเลือกศิลปินที่จะมาถ่ายทอดเพลงแต่ละภาค
ดนตรีที่เคารพอดีต และเล็งเห็นอนาคต
เพลงประกอบภาพยนตร์ 007 ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่สะท้อนเรื่องราว และความรู้สึกของตัวละครหลักเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ขับเน้นเนื้อหาที่สำคัญของเรื่องด้วย เช่น ในภาค Casino Royale ที่มีการเก็บเพลงธีมไว้ใช้ในตอนท้ายของเรื่อง ในฉากที่ Bond พูดประโยคคลาสสิกอย่าง 'My name is Bond, James Bond.' เพื่อแสดงให้เห็นการกำเนิดของตัวตนของสายลับหนุ่มผู้นี้ และตลอดการผจญภัยเกือบ 2 ชั่วโมง จนกระทั่งเพลงนี้ดังขึ้น ก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า James Bond คู่ควรกับฉากนี้มากเพียงใด
นอกจากนี้ เพลงประกอบบางเพลงยังบรรจุเอาประวัติศาสตร์ตลอดระยะเวลา 60 ปี ของภาพยนตร์เอาไว้ นั่นคือเพลง ‘We have all the Time in the World’ ซึ่งประกอบภาพยนตร์ในภาค On Her Majesty's Secret Service เมื่อปี 1969 ขับร้องโดย Louis Armstrong ที่ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็น 'เพลงที่มีความเป็นบอนด์น้อยที่สุด' แต่ก็สะท้อนภาพความเศร้าโศกของ James Bond จากการสูญเสียภรรยาที่เพิ่งแต่งงานกัน และหลังจากนั้น 50 กว่าปีต่อมา ชื่อของเพลงนี้ถูกนำมาใช้ในฉากขับรถของภาค No Time to Die ที่นอกจากจะบ่งบอกถึงลางสังหรณ์ และความเศร้าที่เจือด้วยความหวังแล้ว ยังพาผู้ชมย้อนกลับไปในอดีต ที่ความสูญเสียเคยเกิดขึ้นแล้วในฉากที่คล้ายกัน
เพลงประกอบของภาพยนตร์ 007 นั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จากเสน่ห์ของการผสมผสานองค์ประกอบของเพลงธีมเข้ากับดนตรีใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เนื่องจากผู้สร้างเชื่อว่า สิ่งที่ผู้คนต้องการจากภาพยนตร์ชุดนี้คือความคุ้นเคย แต่ก็ต้องดัดแปลงและนำเสนอในวิธีที่แตกต่างออกไป ซึ่งทำให้เพลงประกอบภาพยนตร์ 007 ไม่เคยล้าสมัย และไม่มีวันตาย
สำหรับในสารคดี The Sound of 007 ภาพยนตร์ภาคที่ใช้เพลงธีมอย่างชาญฉลาด และสร้างสรรค์ที่สุด คือ No Time to Die ซึ่งเป็นผลงานการทำดนตรีของเจ้าพ่อเพลงประกอบภาพยนตร์อย่าง Hans Zimmer โดยทำดนตรีให้วังเวงราวกับเป็นเพลงสวดในงานศพ เพื่อสะท้อนภาพการเสียสละของ James Bond
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ในภาคอื่นๆ มีการใช้เพลงธีมสอดแทรกไปกับดนตรีใหม่ๆ แต่ใน No Time to Die กลับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์เพลงบอนด์ ที่มีการใช้เสียงร้องของนักร้องแทนเสียงเครื่องดนตรี เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครในช่วงเวลาที่เปราะบาง และสะเทือนอารมณ์ที่สุด โดยศิลปินผู้รับหน้าที่นี้คือ Billie Eilish
เกียรติยศประดับชีวิตศิลปิน
ทุกครั้งที่มีข่าวคราวการเปิดตัว 007 ภาคใหม่ นอกจากชื่อนักแสดงที่จะมารับบทเป็น James Bond และสาวบอนด์คนใหม่แล้ว สิ่งที่ผู้คนมักจะจับตามองไม่แพ้กัน คือเพลงประกอบภาพยนตร์ และศิลปินที่จะมาถ่ายทอดเพลงนี้ ซึ่งว่ากันว่า การแข่งขันเพื่อรับหน้าที่ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ 007 นั้นก็ดุเดือดพอๆ กับการแข่งขันเพื่อเป็นนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะสำหรับศิลปินหลายๆ คน การได้รับโอกาสในการทำเพลงของภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของชีวิต
ที่ผ่านมา ศิลปินมากหน้าหลายตาผลัดเปลี่ยนกันมาขับร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ 007 นับตั้งแต่ Shirley Bassey ในปี 1964, Nancy Sinatra, Louis Armstrong, Paul McCartney, Duran Duran, Garbage, Chris Cornell, Jack White - Alicia Keys, Adele, Sam Smith และ Billie Eilish เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีศิลปินอีกมากมายที่อยู่ในรายชื่อที่จะทำเพลงประกอบภาพยนตร์ 007 แต่ยังไม่มีโอกาสได้ร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น Blondie, Ace of Base, Alice Cooper, Radio Head และ Amy Winehouse
บันทึกประวัติศาสตร์ดนตรีที่ชื่อ 007
ด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนานหลายสิบปี เพลงประกอบภาพยนตร์ 007 จึงไม่ได้เป็นแค่เพลงประกอบภาพยนตร์ แต่ยังเปรียบเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ที่สะท้อนภาพของโลกในยุคต่างๆ และหากฟังเพลงตามลำดับเวลา จะสามารถสัมผัสถึงวัฒนธรรมป็อปในแต่ละยุคด้วย ไม่ว่าจะเป็นยุคของ Sean Connery ที่เพลงประกอบเป็นดนตรีคลาสสิกโดย John Barry หรือยุคของ Roger Moore ซึ่งเป็นยุคของนักแต่งเพลงที่เล่นดนตรีเอง ก็ได้ Paul McCartney มาทำเพลงตามสไตล์ของตัวเอง ร่วมกับ George Martin จนได้เป็นเพลงร็อกแอนด์โรล สลับด้วยเร็กเก ขณะที่ยุคของเพลงป็อป ได้ Marvin Hamlisch เป็นผู้แต่งเพลง Nobody does it Better ที่ร้องโดย Carly Simon และฮิตไปทั่วโลก