Culture

Step Out of Comfort Zone — ทำความรู้จัก Swing Dance ไปกับวง ‘The Stumbling Swingout’

“แจ๊สไม่ใช่ดนตรีชั้นสูง แต่เป็นดนตรีชาวบ้าน ไม่ใช่ของขึ้นหิ้ง”

“เราต้องการให้คนที่ไม่รู้จักดนตรีหรือการเต้นแนวนี้เข้ามาหาเรา”

“ผมคงทำไปจนตาย เพราะแบบนี้เราเลยต้องหาอะไรใหม่ๆ มาพัฒนาเรื่อยๆ เพื่อท้าทายวงเองด้วย แล้วก็ให้คนยังสนุกกับเราต่อไป”

ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์จากตัวแทนวง ‘The Stumbling Swingout’ สะท้อนให้เห็นแพชชั่นในการทำงานดนตรี ซึ่งมาพร้อมกับความหวังที่จะได้เห็นคนทั่วไปรู้จักดนตรีและการเต้นสวิงมากขึ้น โดยในครั้งนี้ มีสมาชิก 3 ท่านที่มานั่งล้อมวงสนทนากับ EQ คือ ‘สุ – สุไลมาน สวาเลห์’ ครูสอนเต้นที่พาสมาชิกในวงมาเจอกัน ‘เนะ – วรนัทธ์ ม่วงศิริ’ นักเรียนในคลาสเต้นที่ชวนให้เพื่อนๆ ฝึกเล่นดนตรีเพื่อรวมตัวกันเป็นวง และ ‘สมภพ – สมภพ กุละปาลานนท์’ ผู้อยู่เบื้องหลังซาวน์ดีๆ และคอยให้ความรู้เรื่องดนตรีกับน้องในวง

การพูดคุยในวันนี้เกิดขึ้นที่บริเวณหน้าอาคารลุมพินีสถาน สถานที่ซึ่งเคยเฟื่องฟูในยุค 50-60’s เนื่องจากเป็นพื้นที่สำหรับจัดงานรื่นเริง และมีฟลอร์สำหรับการเต้นลีลาศให้ประชาชนได้มาร่วมกิจกรรมเพื่อความบันเทิงโดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีนักดนตรีชื่อดังอย่าง ‘เบนนี กู้ดแมน’ (Benny Goodman) ที่เคยมาอวดฝีมือทางดนตรี ณ อาคารแห่งนี้ และด้วยเรื่องราวของสถานที่นี้เอง ที่ชักนำให้วงดนตรีอย่าง The Stumbling Swingout มาปรากฏตัว เพื่อปลุกสถานที่แห่งความทรงจำที่เคยเงียบเชียบให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พร้อมความตั้งใจที่อยากสนับสนุนให้มีการบูรณะอาคารลุมพินีสถาน โดยมีหมุดหมายที่อยากเห็นอาคารแห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับรองรับการเต้น อย่างที่เคยเป็นในอดีต

การรวมตัวของ The Stumbling Swingout

เนะ: เริ่มจากพี่สุเป็นครูสอนเต้นสวิง (Swing) แล้วผมก็ไปเรียนกับเขาตอนนั้นมีแค่การเต้นประกอบเพลงที่มีพี่สมภพทำหน้าที่เป็น DJ ก็เลยมีไอเดียว่าอยากให้วงเล่นดนตรีด้วย เพราะผมเล่นดนตรีอยู่แล้วแต่เป็นแนวอื่น ก็เลยหาสมาชิกจากนักเรียนของครูสุนี่แหละ มารวมเป็นวง ซึ่งตอนแรกเราก็เล่นกันแบบไม่ได้มีฝีมือหรอก แต่พอเล่นไปสักพัก ครูสุก็สนใจ เลยเอาคลาริเน็ตมาฝึก แล้วมาเล่นด้วยกัน กลายเป็นวงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ที่นี้ คนที่รู้จักเพลงเยอะอย่างพี่สมภพ พอเห็นว่าวงมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็เข้ามาช่วยพัฒนาอีก ช่วยให้ความรู้เรื่องเพลง เราก็เลยกลายเป็นทีมเดียวกัน

สุ: ชื่อวงมาจากช่วงเริ่มต้นที่เจอกัน ตอนนั้นสมาชิกทุกคนยังเป็นนักเรียน Beginner แล้วตอนสอนเต้นจะมีท่าหนึ่งที่ใช้ในการเต้นสวิง ชื่อท่าว่า ‘Swingout’ ซึ่งในตอนนั้น ทั้งเนะและเพื่อนๆ ในวงยังทำท่านี้ไม่คล่อง ทำไปก็สะดุดไป ก็เลยกลายเป็นชื่อ “The Stumbling Swingout”ครับ

ดนตรี Swing กับความป็อปเมื่อร้อยปีที่แล้ว

สุ: เวลาเราเที่ยวผับกัน ทุกวันนี้จะเห็นคนเข้าไปก็เต้นกันใช่ไหมครับ แต่ย้อนกลับไปร้อยปีที่แล้ว ในช่วง 20-40’s ดนตรีสวิงเป็น Popular Music ของยุคนั้น ถ้าเราไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์ เขาก็จะเล่นดนตรีสดเป็นแนวนี้ แต่ส่วนมากคนจะไม่ไปผับกันหรอก เขาจะไปแดนซ์ฮอลล์ เพื่อไปดูดนตรีสดแล้วก็เต้นด้วยกัน พอดนตรีมันสวิง คนก็เลยเต้นสวิงด้วย กิจกรรมนี้เป็น pastime หรือ recreational activity ที่เขาทำกัน เพราะได้ทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ เพื่อนใหม่ๆ ผ่านการเต้น อธิบายง่ายๆ คือเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีแจ๊ส ซึ่งเป็นดนตรีป็อปในยุคนั้น

เนะ: สรุปว่าในสมัยนั้น เพลงป็อปคือเพลงแจ๊ส หรือที่เราเรียกว่าเพลงสวิงในตอนนี้เนี่ยแหละ ถ้าเทียบกันให้เข้าใจง่ายๆ ในสมัยนั้นเขาก็คงเรียกเพลงแนวนี้ว่าเพลงป็อปเหมือนกัน

Community Swing Dance ที่กระจายอยู่ทุกมุมโลก

เนะ: จริงๆ แล้วมันมีกลุ่มแบบนี้ทั่วโลกเลยครับ แต่จะเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก เวลาเป็นเพื่อนกัน เราก็จะเป็นเพื่อนกันข้ามประเทศ

สุ: ใช่ สมมติว่าเราไปเที่ยวเกาหลี เราพิมพ์ว่า ‘Pusan Swing dance’ ก็จะมีคอมมูนิตี้ หรือว่าสถานที่เต้นเต็มไปหมดเลย

สมภพ: ที่ไหนมีความเจริญ ที่นั่นมีการเต้นสวิงครับ

เนะ: พวกเราก็ไปมาหลายที่เนอะ ก็จะมีที่ที่คนสนใจเยอะ แล้วก็ที่ที่คนน้อย น่าจะขึ้นอยู่กับฤดูด้วย ถ้าหน้าหนาวคนก็จะออกมาจอยเยอะ หน้าฝนคนไม่กล้าออกมา สิ่งที่พวกเราทำกันอยู่ตอนนี้ก็เพราะอยากให้คนออกมาใช้ชีวิตข้างนอกนี่แหละครับ มาทำกิจกรรมด้วยกัน

‘ดนตรีในสวน’ งานแรกที่ทุกคนได้รู้จักเรา

เนะ: จริงๆแล้วพี่สุจัดงานเต้นเป็นประจำอยู่แล้ว พอจัดไปเรื่อยๆ ผมก็คิดว่าถ้าเราเอาวงไปจัดแล้วมีการเต้นในสวนก็น่าจะดี หลายคนเริ่มรู้จักพวกเราก็จากงานที่สวนลุมเนี่ยแหละครับ งานดนตรีในสวน

สมภพ: ส่วนตัวผมชอบคอนเซปต์ดนตรีในสวนเลยพยายามขายน้องๆ ผมไปเจอที่อเมริกามาแล้วรู้สึกว่ามันน่ารักดีเลยอยากให้ลองดู แต่ปรากฏว่าน้องทำกันออกมาดีกว่าที่จินตนาการเยอะเลย คือน้องไม่ได้ทำสวิงในสวนนะ น้องทำคอนเสิร์ตในสวน (หัวเราะ)

สุ: ภาพที่สมภพเห็นอาจจะเป็นมีวงดนตรีเล็กๆ มาเล่นกันสบายๆ 

สมภพ: ฟีลเหมือนมีวงดนตรีมาเล่นกันแล้วให้คนมานั่งชิลล์ แต่สิ่งที่ The Stumbling Swingout จัดในวันนั้น เหมือนทุกคนตั้งใจเดินทางมาเพื่อมาดูการเล่นดนตรีและการโชว์เต้นในสวนเลย ทุกอย่างจริงจังมาก

การกลับมาสวนลุมพินีอีกครั้งพร้อมความตั้งใจใหม่

เนะ: เราเล่นที่นี่ครั้งแรก แต่ไม่ใช่พื้นที่ตรงนี้นะครับ วันนี้ได้กลับมาอีกครั้งก็รู้สึกดีใจมาก เหมือนได้มาคืนสู่เหย้า

สุ: เบนนี กู้ดแมน เป็น King of Swing ในยุค 30-40s ครับ เรียกได้ว่าเป็น Most Popular Musician ณ ตอนนั้น แล้วในปี 1956 เขาก็มาเล่นที่นี่ ลุมพินีสถานนี่แหละ เราก็เลยรู้สึกว่าสถานที่นี้ดีมาก เพราะเขาเคยมาเล่นดนตรีแจ๊ส แล้วมีคนมาเต้น คิดว่าเหมาะที่จะทำให้ที่นี่กลายเป็นสถานที่สำหรับคนที่อยากมาเต้นจริงๆ

สมภพ: เรามารับงานนี้เพราะต้องการเซฟพื้นที่นี้ครับ เมื่อก่อนลุมพินีสถานจะมีวงสวิงที่มีชื่อเสียงมาเล่นอย่างที่สุบอก จริงๆ แล้วประวัติของที่นี่เป็นสถานที่สำหรับการเต้นโดยเฉพาะเลยนะ ถ้าเขารีโนเวทจริงก็คงเพอร์เฟ็กต์มาก

สุ: ใช่ เราก็อยากได้ เพราะสามารถใช้ที่นี่จัดอีเวนต์ใหญ่ๆ ได้สบายเลย

สมภพ: ถ้าเขามาซ่อมแล้วทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม เดี๋ยววงเรามาจัดกิจกรรมบ่อยๆ เลย 

เนะ: เรามาวันนี้เพราะอยากช่วยเหลือให้ที่นี่ได้ถูกรีโนเวทมากๆ ครับ

วงดนตรีที่ขายความสุขเพื่อให้ทุกคนเข้าถึง

สุ: วงซ้อมหนักนะ เราพยายามพัฒนากันเพื่อหาอะไรใหม่ๆ มาแสดงให้สนุกขึ้น เพื่อให้คนดูรู้สึกว่าโชว์แต่ละครั้งไม่ได้เหมือนเดิมตลอด ก็พยายามหากิจกรรมหรือกิมมิคใหม่ๆ มาใช้ อาจจะจัดแบทเทิลเหมือนที่เราเคยทำ หรือการโคกับวงอื่นๆ

สมภพ: ผมว่าจุดแข็งของวงเราไม่ได้ขายดนตรีนะ พวกเราขายความสุข ประเด็นคือเราไม่ได้อยากให้คนมาดูดนตรี แต่อยากให้ทุกคนมาจอยแล้วรู้สึกสนุก ก็เลยตั้งใจทำโชว์ออกมาให้ดี

เนะ: อีกอย่างคือเราไม่ได้อยากให้คนรู้สึกว่าดนตรีแจ๊สเป็นดนตรีที่เข้าถึงยาก

สุ: ใช่ครับ ไม่อยากให้คิดแบบนั้น เราแค่อยากให้ทุกคนรับรู้ว่าแจ๊สเคยเป็น Popular Music มาก่อน มันเข้าถึงง่าย เราสามารถเต้นไปกับดนตรีนี้ได้ แล้วการเต้นก็ทำให้คนตั้งใจฟังเพลงมากขึ้นด้วย สองสิ่งนี้เป็นของที่มาด้วยกันครับ

สมภพ: แจ๊สไม่ใช่ดนตรีชั้นสูง แต่เป็นดนตรีชาวบ้าน ไม่ใช่ของขึ้นหิ้ง 

สุ: ดนตรีแจ๊สหรือดนตรีสวิง จุดกำเนิดมาจากคนผิวดำในยุคนั้น มันมาจาก Blues มาจากเรื่องเล่าต่างๆ มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาก เราก็มานั่งคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเข้าถึงคนได้ยังไง ก็เลยนำดนตรีมาใช้พร้อมการเต้น แล้วจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น

คลาสสอนเต้นพื้นฐานที่รองรับผู้คนใหม่ๆ

สุ: เราจะมีพาร์ทที่สอนพื้นฐานการเต้นก่อนเริ่มกิจกรรมประมาณครึ่งชั่วโมงด้วยครับ ส่วนมากผมก็จะเล่นกับวงพร้อมกันเลย แล้วเราก็สอนไปด้วย คนไม่มีพื้นฐานก็มาจอยได้เลย เราต้องการให้คนที่ไม่รู้จักมาสัมผัส จะได้ขยายคอมมูนิตี้ต่อไป และถ้าใครเริ่มสนใจอยากเรียนเต้นก็มาจอยด้วยกันได้ที่ Jelly Roll Dance Club หรือแม้แต่เข้ามาสอบถามประวัติเรื่องดนตรีก็มาคุยได้

เนะ: สิ่งนี้คือความตั้งใจของพวกเราเลยครับ เราต้องการให้คนที่ไม่รู้จักดนตรีหรือการเต้นแนวนี้เข้ามาหาเรา

เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของ The Stumbling Swingout

สุ: อย่างที่บอกไปว่า เราอยากให้คนเข้าใจว่าดนตรีสวิงคืออะไร เพราะเป็นดนตรีที่ค่อนข้าง niche มาก ถามว่าเราอยากทำให้แมสเลยไหม ก็คงทำไม่ได้ขนาดนั้น แค่อยากให้คนเริ่มรู้จักว่ามันคืออะไร อยากให้คนรู้ว่าดนตรีสวิงสามารถเต้นได้ด้วยนะ อยากเห็นคนมีความสุขจากการฟัง แล้วก็การเต้นกับดนตรีแนวนี้ได้มากที่สุดครับ มันก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องมีพาร์ทที่สอนการเต้นก่อน เพราะอยากให้คนมีส่วนร่วมนี่แหละ ถ้าจะให้คนมานั่งดูเฉยๆ มันไม่สนุก ยิ่งดนตรีแจ๊สแล้ว เราไปนั่งบาร์แจ๊ส นั่งจิบเครื่องดื่ม ส่วนวงก็เล่นอะไรไม่รู้ที่เราไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม มันก็ขัดใจ (หัวเราะ) ดนตรีแจ๊สสมัยก่อนเป็น performance นะ เป็น Entertainment Art ที่ขึ้นไปโชว์แล้วเอนเกจคนดู มันสำคัญตรงนี้แหละครับ สิ่งที่เราต้องการคือทำให้โชว์เป็น entertainment ที่คนเข้าถึงได้

เนะ: เป็นเรื่องสำคัญมากว่าเวลาเราไปเล่นที่ไหน เราจะพาทั้งทีมนักดนตรี DJ แล้วก็ทีมครูจากโรงเรียนสอนเต้นไปด้วย เพราะอยากให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมจริงๆ

สุ: เราอยากให้มันเติบโต ให้คนเข้าถึงเยอะขึ้น และแน่นอนว่าถ้าเกี่ยวกับวง สุก็อยากให้วงพัฒนาฝีมือต่อไปมากกว่านี้ มีความเป็น showmanship มากกว่านี้ ซึ่งทุกวันนี้น้องๆ ก็ฝึกซ้อมเยอะมากแล้ว มาได้ไกลมากในระยะเวลาสั้นๆ ของพวกเขา สุอยากให้เราสนุกกันเอง เราสนุกกับคนดู แล้วคนดูก็สนุกกับเราด้วยครับ

จุดสิ้นสุดของการทำงานดนตรีที่ยังมาไม่ถึง

สุ: ผมคงทำไปจนตาย เพราะแบบนี้เราเลยต้องหาอะไรใหม่ๆ มาพัฒนาเรื่อยๆ เพื่อท้าทายวงเองด้วย แล้วก็ให้คนยังสนุกกับเราต่อไป

เนะ: ใช่ครับ ยังไม่เห็นปลายทางเลย สำหรับผมในฐานะนักดนตรี ต้องบอกว่าผมเลิกเล่นดนตรีไม่ได้ ยิ่งพอเราเล่นดนตรีแล้วเห็นคนมีความสุขกับสิ่งที่เราเล่น เราก็อยากเล่นต่อ เป็นสิ่งที่ผมต้องสู้กับโจทย์ว่าจะทำยังไงให้เล่นแล้วคนยังมีความสุขกับเรา ถ้าเล่นไปแต่คนเริ่มไม่มีความสุขแล้ว ก็ต้องหาคำตอบไปว่าทำยังไงให้เขามีความสุขให้ได้

กล้าที่จะ Swing เพื่อค้นพบความสนุกในชีวิต

สุ: ทุกคนเป็น Beginner มาก่อน ไม่มีใครหรอกที่ตื่นมาแล้วเต้นสวิงเก่งเลย ทุกคนก็ต้องเริ่มต้นกันทั้งนั้น ต้องกล้าครับ เข้าใจว่าต้องออกมาจากคอมฟอร์ตโซนนิดนึง แต่ว่าไม่ผิดหวังแน่นอน

เนะ: ในฐานะที่พวกเราเป็นนักเรียนมาก่อน อยากบอกว่าตอนแรกเราก็นั่งอายๆ แบบนี้แหละ มานั่งดูคนอื่นแล้วก็ไม่ทำอะไรหลายครั้งเหมือนกัน กว่าจะสนใจแล้วไปเริ่มเรียน

สมภพ: เสน่ห์ของการเต้นสวิงคือความสนุกครับ ถ้าได้ลองมาเต้นแล้วจะรู้ คนที่มาเรียนส่วนใหญ่ก็เพราะเห็นคนเต้นแล้วสนุกนี่แหละ ก็เลยอยากจะสนุกแบบนั้นบ้าง

สุ: ใช่ สนุก คำเดียวจบเลยครับ

เนะ: สนุกจริงครับ มันคือการสื่อสารกัน นักดนตรีก็สื่อสารกันเองด้วยการเล่นดนตรี นักเต้นกับคู่เต้นก็ต้องสื่อสารกัน เพราะบางทีต้องเต้นกับคนกับคนแปลกหน้าบ้าง หรือเต้นหลายคนพร้อมกันก็มี สวิงเลยมีความสนุกจากการที่ได้สื่อสารกันตรงนั้น

สมภพ: เอางี้ละกัน บอกว่าสนุกเฉยๆ ไม่ได้ ต้องบอกว่าสนุกมาก!