Culture

โลกของผู้พิการ คือ เวทีแสดงศักยภาพ ‘น้องธันย์’ ไม่ขอพลาดใช้ชีวิตสุดเหวี่ยง!

วันนี้ EQ ได้มีโอกาสได้พูดคุย และแชร์มุมมองการใช้ชีวิตอันแสนสดใส กับณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ หรือ ‘น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก’ นักสื่อสารองค์กรวัย 27 ปี ผู้ควบบทบาทของนักสื่อสารการรณรงค์สิทธิคนพิการ ที่ชีวิตพลิกผันจากสาวน้อยวัย 14 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่ต้องมาประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ จากการพลัดตกลงไปในรางรถไฟฟ้าที่ประเทศสิงคโปร์ แม้เหตุการณ์ครั้งนั้นจะทำให้ต้องสูญเสียขาทั้งสองข้าง แต่เธอกลับลุกขึ้นมาฝึกเดินด้วยขาเทียมอีกครั้งอย่างมั่นคง และโอบอุ้มความรู้สึกด้วยหัวใจอันแข็งแกร่ง พร้อมกับเลนส์ในการมองโลกด้วยมุมมองใหม่ ที่เปลี่ยนมายด์เซ็ตของผู้หญิงคนหนึ่งไปตลอดกาล

บทสนทนาอันแสนพิเศษกับธันย์ในครั้งนี้ แม้เธอจะมองว่าตนเองได้ใช้ชีวิตอย่างธรรมดาทั่วไป แต่มันกลับสัมผัสได้ถึงหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังบวกถ่ายทอดออกมาถึงใจของผู้คนมากมาย ด้วยการเป็นตัวอย่างของคนที่ ‘ไม่ยอมเสียเวลาจมอยู่กับความทุกข์ จนพลาดความสุขของการได้ออกไปโลดแล่น’ ภาพของสาวน้อยคิดบวกที่พุ่งตัวลงไปดำน้ำในทะเลอันแสนกว้างใหญ่ วิ่งมาราธอนอย่างไม่ท้อถอย ร่อนร่มพาราไกลดิ้งโบยบินอยู่กลางอากาศ คือบทพิสูจน์ว่ากำแพงแห่งความกลัวได้ถูกทลายลงแล้ว ศักยภาพที่แท้จริงของเธอถูกขับออกมา และนำไปสู่การปลดล็อกตัวเองในรูปแบบใหม่ๆ อย่างไม่คาดคิด

หากพูดถึงประเด็นที่ใหญ่ไปกว่านั้น เราจะเห็นกลุ่มคนพิการพยายามเข้ามามีบทบาททางการเมือง และออกแบบนโยบายต่อกลุ่มผู้พิการมากขึ้น ซึ่งการขยายพื้นที่สำหรับ ‘เวทีแสดงศักยภาพ’ ให้เป็นได้มากกว่าการช่วยเหลือด้วยความสงสาร เป็นอีกหนึ่งคำถาม และมุมมองของคนพิการที่อยากบอกเล่าว่า หากเรามองผู้พิการด้วยความสงสารนั้น มันอาจเป็นการสร้างกำแพงที่ปิดกั้นการแสดงศักยภาพของเขาด้วยหรือไม่? เพราะบางทีการที่เขาช่วยเหลือตัวเองได้ อาจเป็นจุดเล็กๆ ที่คุณอาจเห็นว่ามันไม่สำคัญมาก แต่มันเป็นพื้นที่ๆ เข้าได้โชว์ศักยภาพเสียด้วยซ้ำ

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสาวน้อยเพอร์เฟกชันนิสต์

“เกิดอุบัติเหตุตอนอายุ 14 ปี จริงๆ แล้วเด็กมาก คือ เรายังไม่ได้บรรลุนิติภาวะ หรือไม่ได้มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตมากพอ แต่อุบัติเหตุตอนนั้นอย่างที่คนทราบ คือ ตกรถไฟฟ้าที่ประเทศสิงคโปร์ แล้วรถไฟฟ้ามันก็ทับ เลยทำให้ตัวเราตกอยู่ใต้ท้องรถไฟ แต่ที่โชคร้ายตรงที่ว่า รถไฟฟ้าทับขา ทำให้ขาต้องถูกตัดไป

ณ ตอนนั้น มันเรียกว่าเป็น ‘การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในชีวิต’ เลยดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นความคิด มายด์เซ็ตต่าง

ๆ รวมถึงมุมมองการใช้ชีวิต เราว่าเมื่อก่อนเรามีมุมมองในแบบหนึ่ง ธันย์เหมือนคนทั่วๆ ไปแหละ ที่อาจจะมีแพชชั่นอยากมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ในด้านการศึกษา การงาน เช่น การเรียนที่นี่ ทำงานนี้ การทำอาชีพนี้ มันคือที่สุดแล้ว

แต่พอเราประสบอุบัติเหตุมันทำให้มุมมองเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง อย่างแรกเลยคือ เห้ย มันไม่มีการยึดติด มันไม่มีสิ่งไหนมาบอกเราว่า การทำอาชีพนั้น หรือการที่เป็นคนแบบนี้ คือคนที่ดีที่สุด เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ หรือเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ มันเหมือนทำให้เราถอยออกมา โดยที่ไม่ต้องยึดติดกับสิ่งที่สังคมอาจจะตั้งเกณฑ์ไว้ มันเหมือนเราเจอกับเหตุการณ์ของตัวเองแล้วเรารู้สึกว่า เออ การที่เราถอยออกมา เราไม่ยึดติด มันทำให้ชีวิตเราเดินต่อไปได้ ซึ่งตอนนั้นชีวิตธันย์เดินต่อไปยากมาก ถ้าธันย์ยังยึดติดว่า เห้ย เราต้องเรียนที่นี่ หรือการที่ฉันไม่ได้ประกอบอาชีพนี้ ไม่สามารถเข้ามหาลัยนี้ได้ นั่นคือชีวิตเราพังแล้ว มันไม่ใช่ มันเริ่มเปลี่ยนอันแรกก่อนเลย

แล้วมันไม่ได้เปลี่ยนแค่สภาพสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่มันเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิตของตัวเองด้วย เมื่อก่อนธันย์เป็นกึ่งๆ Perfectionist เราไม่ได้เป็น Perfectionist จ๋า หรือเก่งทุกด้านขนาดนั้น แต่เรามีเส้นทางของตัวเองที่ชัดเจน แล้วพอเกิดอุบัติเหตุ มันเหมือนเราถูกล้างกระดานไปเลย ตอนนั้นมันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องตั้งเส้นทางใหม่ของชีวิต ที่มันลิงก์ไปกับข้อจำกัดของเรา หมายถึงว่า ไม่หนักเกินไป ไม่เบาเกินไป”

“หลังจากนั้นเราก็ค่อยมาดูมุมมองการใช้ชีวิตที่มันเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นสังคมรอบข้าง การไปเที่ยวกับเพื่อน การใช้ชีวิตกับคนในครอบครัว คือมันก็มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปทุกมุม สรุปว่ามันเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในชีวิตไปเลย”

ความงุนงงสับสน กับ ชีวิตที่เปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือ

“ตอนนั้นงุนงงสับสน มันเหมือนคนที่ไม่เคยเรียนรู้วิธีการมาก่อน มันก็ต้องค่อยๆ ปรับตัว ค่อยๆ จับนู่นจับนี่ มันเหมือนคนที่ไม่เคยสร้างบ้านน่ะ แล้วอยู่ดีๆ บ้านพัง พอต้องสร้างใหม่มันเหมือนต้องหารายละเอียดใหม่ คือ ชีวิตคนเราก็เปรียบเสมือนบ้าน ธันย์รู้สึกว่ามันมีองค์ประกอบหลายๆ อย่าง อะไรเป็นสิ่งสำคัญ บางคนให้ความสำคัญกับห้องนอน ธัญย์อาจคิดว่าเป็นห้องนั่งเล่น เป็นสิ่งที่สะดวกใจมากกว่า”

การใช้ขาเทียมก้าวผ่านอุปสรรคได้อย่างมั่นคงกว่าเดิม?

มันผ่านไปยากจริงๆ เพราะว่าเหมือนเราไม่รู้จะเริ่มต้นจากจุดไหน เราไม่เคยมีประสบการณ์ อย่างเด็กบางคนเคยหกล้มมาแล้ว เขาก็จะมีประสบการณ์ทำแผล หรือมีประสบการณ์หลบหลีกอุบัติเหตุเหล่านั้น แต่ว่าอย่างของธันย์เองไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน แล้วมันก็เป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่มากที่สุดในชีวิต สิ่งแรกที่เราจัดการคือ จัดการความรู้สึกของตัวเองก่อน

ธันย์เชื่ออย่างหนึ่งว่า ‘ความรู้สึก’ เป็นสิ่งที่คอนโทรลทุกอย่างในชีวิตธันย์ อย่างที่เขาเคยพูดกันว่า ‘จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว’ มันอาจจะเป็นคำที่ฟังแล้วดูผิวเผินนะ แต่พอมันเอามาใช้กับชีวิตเรา มันใช้ได้จริงๆ ใจมันนำร่างกายไปจริงๆ โดยเราที่ไม่รู้ตัว ซึ่งมันทำให้ครั้งแรกที่เราก้าวข้ามมาได้ เรากลับไปสู่โหมดว่า อะไรที่มันทำเราให้ติดกับดักของการที่ไม่สามารถมูฟออนจากความเศร้า เสียใจได้ พอมานั่งคิดกับตัวเองแล้ว มันก็คือการยึดติดว่า เพื่อนจะรับเราที่นั่งวีลแชร์ได้ไหม เราจะกลับไปโรงเรียนแบบนี้ที่เรานั่งวีลแชร์ได้หรือเปล่า จะยอมรับกับสายตาคนได้ไหม?”

“มันเหมือนเป็นการยึดติดกับสภาพแวดล้อมภายนอกอะไรอย่างนี้ แต่พอเรามาทำความเข้าใจกับตัวเอง ว่าเราสบายใจกับแบบไหนมากที่สุด มันก็กลับมามองว่า เราก็แค่เป็นตัวของเรา ที่ไหนไปได้เราก็ไป ที่ไหนไปไม่ได้เราก็แค่อาจจะฝึก หรือถ้าเราไปจริงๆ เราก็แค่พัฒนาตัวเองเพื่อให้ไปถึงที่นั่น ธันย์เริ่มจากจุดนั้น”

พอเราคิดแบบนี้มันทำให้ตัวเองพัฒนาไปเรื่อยๆ ธันย์พูดให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า คนทั่วไปตื่นเช้ามาอยากไปทะเล มีรถ มีเงิน ก็คือขับรถไปทะเลได้ แต่ของธันย์ ช่วงแรกถ้าธันย์อยู่บ้านคนเดียว คิดถึงทะเล อยากไปมาก แต่อาจจะไม่ได้มีขาเทียม ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ขนาดนั้น ธันย์ไม่มีทางพาตัวเองไปได้ นอกจากจ้างคนอื่นมาช่วยเหลือ สิ่งที่ธันย์ทำ คือ ‘จะไม่ฝืนตัวเอง’ ไม่ด้อยค่าตัวเองว่า เห้ย ฉันไปที่นู่นที่นี่ไม่ได้ แต่จะกลับมามองว่า อะไรคือจุดที่ทำให้เราไปถึงที่นู่นไม่ได้ จุดสำคัญก็คือ สุขภาพร่างกายเราไม่แข็งแรงพอ เรายังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในจุดนี้ได้ มันก็กลับมาทำให้เราพัฒนาตัวเอง แล้วธันย์ว่ามันลิงก์ไปกับสภาพจิตใจของเราไปเรื่อยๆ พอระยะเวลานานขึ้น แทนที่หลายคนจะเข้าใจว่ามันเป็นปม แบบเกาะกินหัวใจเราอยู่ไปนานๆ แต่สุดท้ายแล้ว ไม่เลย มันเป็นเวย์ที่กลับกัน มันเหมือนทำให้เรายิ่งอยู่นาน ยิ่งเราเจออุบัติเป็น 10 ปี มันยิ่งเชี่ยวชาญ มันยิ่งรู้จักวิธีการแก้ปัญหาเล็กๆ”

ออกจากเซฟโซนไปท่องเที่ยว ใช้ชีวิตแบบไม่มีคำว่าเสียดาย

“แรงบันดาลใจที่ทำให้ออกไปเที่ยวมันเป็นความรู้สึกของเราเอง เราเป็นคนชอบการท่องเที่ยวอยู่แล้ว เหมือนชอบเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เวลาไปเที่ยวจะไม่ค่อยไปที่ๆ ซ้ำกัน เพราะรู้สึกว่า มันเหมือนรู้อยู่แล้วว่ามันมีอะไร จะเจออะไร เลยชอบไปที่ใหม่ๆ แล้วก็เป็นคนชอบเล่นกิจกรรมผาดโผนมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ฉะนั้นมันเลยทำให้ ‘เรารู้สึกว่าข้อจำกัดด้านร่างกาย มันก็ไม่น่าเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราต้องหยุด’ มันต้องมีเวย์ที่สามารถไปต่อได้ สุดท้ายเราก็ค่อยๆ ทำ แล้วก็เห็นคนที่คิดเหมือนกัน ก็เลยชวนกันไป จนกระทั่งระยะเวลาผ่านไป เราก็เห็นว่าสถานที่ หรือโรงเรียนเฉพาะต่างๆ ที่เขาออาจะมีการออกแบบ ดีไซน์ ชวนให้เราไปทำกิจกรรมเหล่านั้น

ธันย์ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการมันมี 2 เวย์ คือ หนึ่งมันมีความพร้อม ความพร้อมที่ว่ามันใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง (หัวเราะ) อีกเวย์หนึ่ง คือ ไม่มีเลย เราเคยเจอทั้ง 2 แบบ แล้วก็รู้สึกว่ามันเหมือนจะดีนะ แต่บางทีมันก็งงๆ กับหลักการ หรือดีไซน์ กับอะไรหลายๆ อย่าง ถ้าโดยภาพรวม คนพิการควรมีต้นทุนระดับหนึ่งถึงจะใช้ชีวิตไม่ลำบาก”

“ไม่ต้องรวยเป็นมหาเศรษฐีนะ แต่แค่รู้สึกว่า คุณมีเงินที่จะซื้อรถเป็นของตัวเองได้ คุณมีเงินที่จะเสียพวกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเล็กน้อยมากกว่าคนอื่น เช่น เวลาเราจะข้ามถนน บางทีมันมีเกาะกลาง คนพิการก็ไม่สามารถเข็นข้ามถนนได้เหมือนคนทั่วไป ที่จะสามารถวิ่งมาข้ามถนน พอเจอเกาะกลางแล้วก็วิ่งข้ามไปเลย แต่คนผู้พิการจะต้องนั่งรถแท็กซี่เพื่อความปลอดภัย เพื่ออ้อมไปอีกฝั่ง ทั้งที่มันอยู่แค่อีกฝั่งถนน”

“มันเลยเป็นสิ่งหนึ่งที่ธันย์อยากบอกว่า มันต้องมีค่าใช้จ่าย เรียกว่า ‘ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม’ มันมีความจำเป็นนะที่ต้องมีส่วนนี้ไว้ ถ้าคุณจะไม่มีเงินเลยคุณก็จะใช้ชีวิตลำบาก รู้สึกว่าคนพิการในประเทศไทยควรจะมีเลย เพราะด้วยสภาพแวดล้อม อะไรหลายๆ อย่างไม่ได้เอื้อ แค่จริงๆ แล้วโดยส่วนมากถ้าที่สำคัญๆ พัฒนาขึ้นไปเยอะแล้ว เช่น มีที่จอดรถ, ทางลาด, ลิฟต์, Braille Block สำหรับคนตาบอด หรืออุปกรณ์ต่างๆ

รวมไปถึงโรงเรียน สถานศึกษาก็ให้ความสำคัญ แล้วก็ยังมีการศึกษาพิเศษโดยเฉพาะ รู้สึกว่ามันพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่อาจจะเดินทางช้าหน่อย แต่บางที่ๆ ไม่มีเลยก็มีเหมือนกัน ที่เขาอาจไม่ได้ผลักดัน หรือไม่มีงบประมาณไปลงส่วนนั้น หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับส่วนนั้น มันก็ไม่ได้ผิดหรอก แต่เราก็อยากให้สิทธิของเรามันเท่าเทียมกันในสังคม อยากให้เรามีสิทธิที่จะเลือกใช้ได้เหมือนคนอื่น มีสิทธิที่จะไม่เสียค่าแท็กซี่เพื่อยูเทิร์นไปฝั่งตรงข้าม อยากมีสิทธิข้ามไปได้เหมือนคนอื่นๆ”

การท่องเที่ยวสุดโหด กิจกรรมสุดหิน ชีวิตนี้ไม่ขอพลาด

“จริงๆ ก็ไปเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศเลย แต่ธันย์เป็นแบบนักท่องเที่ยวจ๋านะ แต่ก็ไปเที่ยวเหมือนคนทั่วไปนี่แหละ ที่มีงบ มีแพลนที่เราอยากจะไป แล้วเราก็ไปเที่ยวประเทศที่เราชอบ หรือประเทศตามรีวิว สถานที่ตามรีวิว ซึ่งจริงๆ ธันย์มองว่า มันเปิดโลกทัศน์ให้กับเรา มันทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้ว ชีวิตเรามันไม่ได้ถูกตีกรอบให้อยู่แค่ที่บ้าน หรือบางสถานที่ๆ เขาเซ็ตไว้สำหรับเราเพียงอย่างเดียว แต่เราไปในที่ใหม่ๆ ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ได้เห็นศักยภาพของตัวเองที่เพิ่มขึ้น การเห็นบันได หรือเห็นสถานที่ๆ เราไม่คุ้นเคย บางทีเราก็ได้เห็นว่า อะไรที่เราต้องกลับมาฝึกเพิ่มเติม หรือทักษะอะไรที่เราขาด

ดำน้ำ วิ่งมาราธอน พาราไกลดิ้ง เป็น 3 กิจกรรมที่เราสนุกไปกับมัน แล้วมันก็เป็นจังหวะด้วยที่เราไปรู้จักกับคนที่เขาเล่นกีฬานี้อยู่แล้ว ก็เหมือนสนใจ พูดคุยแลกเปลี่ยน แล้วเขาก็เปิดโอกาส เปิดเวทีให้กับเรา แล้วเราก็ลองไปเล่น แล้วเราก็ค่อยๆ ไป อย่างดำน้ำ เราก็ค่อยๆ พัฒนา สอบไล่ระดับไปเรื่อยๆ แล้วก็หาจังหวะโอกาส

แต่ทั้งหมดมันก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ต้องแข่งขัน ธันย์รู้สึกว่า กิจกรรมพวกนี้มันเป็นกีฬา เหมือนกิจกรรมอดิเรกของเรา บางครั้งมันทำให้เราได้เข้าใจตัวเอง เห็นตัวเองในอีกมุมมองหนึ่งมากขึ้น แล้วเหมือนพูดคุยกับคนนอก สื่อสารกับคนนอกว่า เออ จริงๆ แล้วก็อยากให้คุณเปลี่ยนแปลงมุมมองว่า คนพิการก็มีศักยภาพ ที่บางครั้งเขาก็กำลังค้นหาตัวเองอยู่ หรือบางคนที่คุณอาจจะรู้สึกว่าเขาไม่สู้ แต่จริงๆ แล้วเขาก็อาจจะมีบางสิ่งบางอย่างที่เขาเก่ง หรือเขาถนัด แต่มันอาจจะต้องอาศัยระยะเวลา กิจกรรมเหล่านี้ก็เป็นกิจกรรมที่เหมือนมาตามจังหวะโอกาสที่ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ มันอาจจะไม่ได้โดดเด่นมาก แต่มันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เราค่อยๆ เรียนรู้ไป

ดำน้ำ คือ กิจกรรมที่ประทับใจที่สุด เพราะว่าเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าเราจะได้ทำ เรียกได้ว่าเป็นช้อยส์ที่เราตัดออกเป็นช้อยส์แรกเลยดีกว่าหลังจากเกิดอุบัติเหตุ เพราะว่าเราสูญเสียขาทั้งสองข้าง แล้วการดำน้ำจากที่เราเห็นมันก็ต้องมีการเดินขึ้น-ลงเรือ แล้วก็ต้องมีการใส่ตีนกบ ซึ่งเราสงสัยว่า เราจะทำได้ไหม มันเป็นกิจกรรมแรกในชีวิตด้วยแหละที่เราผาดโผนขนาดนี้ เป็นกิจกรรมที่ดูลุยๆ แล้วก็เป็นกิจกรรมที่ทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เรียนมหา’ลัยธรรมศาสตร์ ก็คือปี 59 จนถึงตอนนี้ก็ 5-6 ปีได้ ที่เรายังทำอยู่ แล้วก็เห็นพัฒนาการของมันไปเรื่อยๆ

1-2 ปีแรกก็อยู่ในระดับสแตนดาร์ด เบสิก แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาไป จนสุดท้ายแล้วเราก็ได้เห็นผลลัพธ์ว่า การดำน้ำมันทำให้เราได้พัฒนาโอกาสของตัวเองนะ อย่างโฆษณาที่ทุกคนเห็น หรือโครงการที่เราได้ทำเพื่อคนพิการ เราก็ได้ใช้ความรู้ส่วนนี้มาพัฒนาต่อ มันก็เป็นกิจกรรมที่เราประทับใจที่สุด มันมีหลายๆ อย่าง เช่น มันเป็นทริปแรกที่เราไปดำน้ำแล้วมันประทับใจด้วย มันเหมือนเป็น First Impression ทุกอย่างดีหมด ตอนนั้นธันย์ไปสิมิลันที่แรกเลย ไม่เคยไปมาก่อน แต่ก่อนหน้านั้นชอบไปทะเลอยู่แล้ว เราเป็นคนใต้ก็ชอบ ชินกับทะเล แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกฟีลกู๊ดเท่ากับครั้งแรกที่เราดำน้ำแบบไม่มีขา เรารู้สึกว่าการดำน้ำทะเลมันมีความหมาย เมื่อก่อนเราดำน้ำเล่นๆ เหนื่อยก็ขึ้นบนเรือ แต่การดำน้ำครั้งนั้นมันได้อะไรหลายอย่างมากเลย มันทำให้ได้รู้จักกับตัวเอง ได้เรียนรู้ตัวเอง ได้เห็นในอีกมุมมองหนึ่ง แล้วทุกอย่างมันก็เป็นใจมาก เรือดี เพื่อนในทริปดี มีแต่อาหารที่ชอบ น้ำทะเลใสสะอาด คือไม่มีอะไรที่เรารู้สึกไม่ดีเลย จนรู้ว่า เห้ย! มันหมดเวลาแล้วเหรอ ไม่อยากจะกลับเลย มันอาจจะเป็น First Impression ที่ดีที่สุดด้วยแหละที่ทำให้เราอยากจะรักษากิจกรรมนี้ไปเรื่อยๆ”

ร่างกายต้องการปะทะ ‘กระแสน้ำ’ และ ‘กระแสลม’

“ยังไม่เคยเจอที่โหดมากๆ ธันย์อาจจะยังไม่ได้เป็นนักดำน้ำแบบจริงจังไปลงหลายๆ ที่ขนาดนั้น อยู่แค่ในประเทศไทยอาจจะเจอแค่กระแสน้ำบ้าง บางไดรฟ์ของการดำน้ำที่มันฉุกละหุก อาจจะต้องเสี่ยงตาย (หัวเราะ) ลมพัดแรงจนตัวปลิวไปไหนก็ไม่รู้ หาทางขึ้นไม่เจอ อาจจะมีฉุกละหุกบ้างที่เราเจอ จนต้องจดจำจนเรารู้สึกว่า จะไม่ไปดำในสภาพอากาศที่มันขุ่นแล้ว

อย่างพาราไกลดิ้ง รู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่ยากที่สุด แต่มันไม่ได้ยากที่ทักษะนะ มันยากด้วยหลายอย่างที่มันคอนโทรลยาก ไม่ว่าจะเป็นลม ฝน ฟ้า อากาศ อย่างเช่น ถึงเราจะกระโดดได้แล้ว แต่เราก็ไม่รู้ว่าลมมันจะมาไม้ไหน มันควบคุมไม่ได้ ไม่เหมือนน้ำทะเลเนอะที่สามารถดูสภาพอากาศได้ว่า น้ำนิ่ง หรือน้ำไหล แต่อันนี้เราบินอยู่ข้างบน ถ้าลมมันมาก็ต้องลอยไปตามลมนั้น เราทำเซฟตี้ตัวเองให้ดีที่สุด คือทำตามทักษะที่ครูสอน อาจจะรู้ทักษะการช่วยชีวิต หรือทักษะเมื่อเจอกรณีฉุกเฉิน ต้องห้ามนอกกฎ เหมือนกับเรารู้สึกว่า มันคอนโทรลยาก คือทั้งตอนขึ้น อยู่ข้างบน แล้วก็ตอนลง ทุกอย่างมันมีความซับซ้อน แล้วก็ลมแต่ละลมมันมีความหลากหลายมาก ที่เหมือนทำให้เราได้เรียนรู้”

‘ย่ำหิมะบนยอดเขาหิมาลัย’ ความฝันที่อยากไปพิชิต

“กิจกรรมที่ Adventure เพิ่มทวีคูณสเตปมากขึ้น เห็นพี่ที่รู้จักไปเดินขึ้นเขาหิมาลัย เราเป็นคนชอบอากาศหนาว ความฝันหนึ่ง เหมือนการเดินท่ามกลางหิมะแล้วก็ค่อยๆ เดินไป เราก็รู้แหละว่า มันเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างสูงมากสำหรับขาเทียมสองข้าง มันเป็นอะไรที่หินมากๆ ยากมากๆ นอกจากสภาพอากาศ เราก็ต้องควบคุมพวกขาเทียม หรือรายละเอียดยิบย่อยอีก คือมันเป็นความฝันที่เราคิดว่า วันหนึ่งถ้ามันมีนวัตกรรม หรืออาจจะมีความแข็งแรงของร่างกาย มีโอกาสก็อยากไปลองนะ แค่ไปสัมผัสบรรยากาศ อาจจะไม่ต้องไปถึงยอดก็ได้นะ แค่รู้สึกว่าอยากทำสักครั้งหนึ่ง มันดูเท่ที่ใส่ขาเทียมแล้วอยู่ท่ามกลางหิมะ มันเป็นภาพฝันที่เรามองไว้”

ชีวิตด้านของการทำงาน สิทธิคนพิการที่ต้องการผลักดัน

มิติของการศึกษา และ มิติของการจ้างงาน เป็นความสนใจโดยส่วนตัว เพราะเราเคยประสบอุบัติเหตุ และเราเคยเจอปัญหาเรื่องการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย พอเราเรียนจบ เราก็เห็นการจ้างงานที่มีปัญหา หรือเราใกล้ชิดกับกลุ่มคนพิการหลายประเภท เกิดการแชร์แลกเปลี่ยนมุมมองกัน มันเลยทำให้สนใจในมิตินี้ เลยอยากศึกษาเพิ่มเติม”

PLAY GROW สนามเด็กเล่นที่ ‘ทุกคน’ ได้เข้ามาเรียนรู้สู่การเติบโต

“ตอนนี้ก็ทำโครงการเยาวชน เป็นโครงการที่ทำอยู่ภายใต้ของกทม. เพราะธันย์อยู่กรุงเทพฯ ก็เลยทำอยู่กรุงเทพเป็นหลัก แล้วก็มีคนรุ่นใหม่ที่เขามีไอเดียเหมือนกัน แล้วเราก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนนี้ก็กำลังผลักดันเรื่องสวนสาธารณะอยู่ แต่ว่าเราเป็นแค่โปรเจกต์เล็กๆ ที่อยู่ในสวนสาธารณะนั้น แต่ว่าสวนสาธารณะที่ทำก็มีการปรับใช้แนวคิด Universal Design เพราะสมัยนี้ใครจะสร้างอะไรใหม่ก็จะสร้างให้ทุกคนเข้าถึงได้ มีทางลาด มีลิฟต์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างนี้ อันนี้เราก็จะไปเสนอเขาว่า ‘โครงการ Play Grow’

อันที่จริงแล้วมันเป็นกลุ่มที่เห็นว่า Playground หรือสนามเด็กเล่นในสวนสาธารณะมันควรจะถูกฟื้นฟูนะ ซึ่งคนหลายคนก็จะไม่ค่อยเห็น เพราะเขาจะคิดว่าสนามเด็กเล่นก็ต้องมีของเล่นเจ๋งๆ สิไปตั้ง แต่คนไม่รู้เบื้องหลังหรอกว่าจริงๆ แล้ว ถ้าเราสังเกตสวนสาธารณะ ว่าเราไม่เห็นน้องเด็กๆ นั่งวีลแชร์มาเล่นเลย ทั้งๆ ที่เขาอาจจะอยู่แถวนั้น หลายคนมักจะเข้าใจว่าจับเขาโยนไปมูลนิธิ หรือที่เฉพาะคือที่เขาสะดวก แต่จริงๆ มันไม่ใช่ที่เขาสะดวกของจริง มันไม่ใช่ความ Inclusive ที่แท้จริง

ความ Inclusive ของจริง มันคือการที่เขามาใช้ชีวิตร่วมกับเราได้ เพราะฉะนั้น Play Grow มันเลยเป็นกลุ่มที่ผลักดันเรื่องนี้ สร้างสวนสาธารณะ ที่ทุกคนสามารถร่วมเล่นกิจกรรมได้ โดยที่เครื่องเล่นมีวีลแชร์เข้าถึงได้ น้องๆ ที่มีความพิการก็สามารถเล่นได้ รวมถึงอาจจะมีบอร์ดเกม หรือมีกิจกรรมต่างๆ ฟีลมันอาจจะเหมือนพวกดนตรีกลางสวน ของเราก็จะเป็นฟีลนั้น แต่มันก็จะไปลงรายละเอียดด้านของสนามเด็กเล่น”

‘คนพิการ’ และ ‘ศักยภาพ’ ที่ถูกตั้งคำถาม

“เรามองว่าเขาไม่ได้ผิดในการที่จะแสดงความคิดเห็นแบบนั้น เพราะสังคมไทย บรรทัดฐานทางสังคม หรือมุมมองเราถูกเซ็ตมาแบบนั้นตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว เราถูกเซ็ตว่าถ้าเห็นคนแก่เราต้องช่วยเหลือ ลักษณะของคนไทยที่เรียกว่า ‘การโอบอ้อมอารี’ ซึ่งมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ดี คือมันเป็นสิ่งที่สร้างอัตลักษณ์มาตั้งแต่แรก ว่าเราเห็นคนเข็นวีลแชร์ คนที่เดินไม่ถนัดอาจจะเก้ๆ กังๆ อยู่ เราต้องเข้าไปช่วย

แต่เอาจริงๆ แล้ว การช่วยเหลือ กับ การให้เกียรติ มันเป็นเส้นบางมากๆ ในสังคมไทย เหมือนคนไทยอิงไปกับการช่วยดีกว่า ช่วยๆ ไปมันจะได้จบ มันก็เลยทำให้คนพิการในบุคคลทั่วไปในสังคม อาจจะมองว่า ‘ฉันจะต้องเป็นคนให้ คุณไม่ใช่คนที่ต้องมาให้ฉัน’ เพราะถ้าฉันรับก็จะเป็นคนรู้สึกไม่ดีว่าทำไมคุณต้องมาให้ฉัน แต่จริงๆ แล้วความเท่าเทียมกันในสังคมมันควรจะเกิดได้แล้ว

ถ้าธันย์ไม่ใช่คนพิการ เราก็ยังคงจะมีมายด์เซ็ตเหมือนกันว่า เราต้องช่วยเหลือคนพิการสิ คนพิการเขาต้องรู้สึกว่าชีวิตลำบาก แต่สังคมไม่เคยแชร์มุมมองในอีกมุมมองนึงว่า มันมีคนพิการที่ประสบความสำเร็จนะ คนพิการที่เป็นผู้นำ คนพิการที่เป็นแบบ โห คุณต้องไปขอไอเดียจากเขาเลยด้วยซ้ำ เพราะเขาเป็นคนพิการที่เก่งมาก คือ เราไม่เคยเห็นมุมนั้น แต่พอเราเป็นคนพิการอยู่ในสังคม เรายังว้าวเหมือนกัน มันเปิดมุมมองให้กับเรามาก มันทำให้เราเข้าใจคำว่า สิทธิมนุษยชนมากขึ้น ว่าทุกคนมีศักยภาพอะไรอย่างไร แล้วเราควรจะเคารพให้เกียรติกันอย่างไร”

“สุดท้ายทุกวันนี้พอธัญย์เป็นคนพิการ เรายังต้องถามคนพิการด้วยกันเองเลยว่า มีอะไรต้องช่วยไหม เราไม่บุ่มบ่ามเข้าไปช่วยเขาโดยทันที เพราะเรารู้สึกว่า บางครั้งนั่นมันเป็นเวทีที่เขาได้แสดงศักยภาพหรือเปล่า แล้วการที่เราไปช่วยเหลือเขาตลอด มันเป็นการไปปิดกั้นการแสดงศักยภาพของเขาหรือเปล่า อันนี้เป็นคำถามที่อยากตั้งคำถามให้กับทุกคนว่า จริงๆ แล้วเรามองเขาด้วยความสงสาร เป็นการสร้างกำแพงเพื่อปิดกั้นการแสดงศักยภาพของเขา เพราะบางทีจุดเล็กที่คุณอาจจะเห็นว่า มันไม่ได้สำคัญมาก แต่มันเป็นสิ่งที่เขาได้โชว์ศักยภาพด้วยซ้ำ”

“ธัญย์คิดว่า สิ่งหนึ่งเลยที่อยากเล่า คือว่า ตอนที่ธัญย์เกิดอุบัติเหตุใหม่ๆ คือต้องฝึกเดิน จำได้ว่าตอนนั้นฝึกเดินครั้งแรก คนจะเข้ามาช่วยเหลือเยอะมาก แต่ความรู้สึกในตอนนั้นมันเป็นความรู้สึกที่ไม่ได้ภูมิใจที่คนเข้ามารักเรา มันไม่ได้ภูมิใจที่แบบคนมาช่วยเหลือเรา แต่มันเป็นความรู้สึกที่แบบ เหมือนถูกเอา ‘เวทีแสดงศักยภาพ’ ของเราไป หมายถึงว่าทุกคนเอาเวทีไปแล้ว ทุกคนเหมือนภูมิใจในตัวเองว่า เห้ย ฉันได้ช่วยแล้ว แต่จริงๆ ตรงนั้นมันอาจจะเป็นเวทีแสดงสุดท้ายสำหรับเราเลยก็ได้ ที่เราจะได้เดินอะไรแบบนี้ ซึ่งมันก็เลยทำให้สะท้อนมุมมองกลับมาว่า ทุกวันนี้เราจะรู้ว่า อันนี้มันเป็นการให้เกียรติเวทีซึ่งกันหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับการพูดคุย สื่อสาร การแลกเปลี่ยน และการถามเขา คนพิการเขาไม่ได้เป็นคนที่จะต้องปกปิดความลับหรืออะไร ถ้าเขาไม่ไหวเขาก็จะขอความช่วยเหลือเองโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

ฉะนั้นสำหรับการที่เราจะเห็นผู้พิการเป็นผู้นำ หรือมาสมัครเป็นผู้แทนราษฎร สิ่งแรกในความคิดเรา เรารู้สึกว่ามันคือ เวทีในการแสดงศักยภาพของเขา เป็นเวทีที่อาจจะเปลี่ยนมุมมองหรือทัศนคติของคนอื่นๆ ก็อยากให้เปิดโอกาส หรือเรียนรู้ซึ่งกันและกันก่อน หรืออันไหนที่คุณรู้สึกว่ามันไม่ไหวจริงๆ มันสามารถสื่อสารหรือพูดคุยกันได้ ไม่งั้นมันคงจะไม่เกิดเวทีที่คนทั่วไปมาเรียนรู้ชีวิตของคนตาบอด หรือเอาคนทั่วไปมานั่งวีลแชร์ เราไม่ได้ต้องการให้คุณมาเห็นความลำบากนะ แต่เราต้องการให้มันเป็นการสื่อสารช่องทางหนึ่ง ที่เราอยากให้คุณรู้ว่า ศักยภาพที่เราแสดงผ่านการเข็นวีลแชร์มันเป็นอย่างไร”

‘คนพิการ’ ต้องการเขย่าโครงสร้างทางสังคม

“มันเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่เรามีคนรุ่นใหม่ มีความหลากหลายอยู่ในโครงสร้าง ในการระดมความคิดสร้างการเปลี่ยนแปลง จากภาพเมื่อก่อน เรามักจะเห็นคนที่ต้องเป็นคนมีวุฒิภาวะสูงมากๆ ก็จะเป็นคนเดิมๆ วนๆ อยู่อย่างนั้น เรามองว่า สุดท้ายแล้วมันไม่มีคนเข้าใจบริบทสิทธิของคนพิการที่เข้าต้องการจริงๆ คนทั่วไปเข้าใจอยู่ว่า คนพิการมักจะอยากได้เงิน เอาเข้าจริงแล้ว คนพิการไม่ได้อยากได้เงินเสมอไป เขาไม่ได้รู้สึกว่า การได้เงินมาแล้วชีวิตเขาดีมากที่สุด เพราะสุดท้ายมีเงินแต่ไปยังจุดหมายไม่ได้ ไปเที่ยวไม่ได้ เงินก็ไม่ได้ใช้อยู่ดี

เราเลยมองว่าการที่มีคนพิการที่เขารู้ปัญหาจริงๆ เขาประสบปัญหา แล้วเขาเจออะไรแบบนี้ มันเลยเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญได้ อันนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราตัดสินใจมาเป็นนักรณรงค์ หรือทำโครงการอะไรก็ตามเกี่ยวกับคนพิการ เพราะเรารู้สึกว่า หนึ่งเรารู้ปัญหา เรารู้สึกว่าเขาแก้ปัญหาให้เรา แล้วคนข้างหลังที่เขาเป็นเหมือนเรา เขาก็สามารถใช้ได้ อันนี้คือสิ่งที่เราเห็น ซึ่งเราก็เลยมองมุมมองนี้ พอช่วงเลือกตั้งเราก็เห็นอะไรหลายอย่างที่ดีขึ้น เรียกได้ว่า เห็นโอกาสของตัวเองดีกว่า ที่จะได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเขา เข้าไปผลักดันเขา เอาโครงการเล็กๆ ของเรา อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นตัวอย่างให้เขาก็ได้”

‘บาลานซ์อารมณ์’ ชีวิตขับเคลื่อนด้วยพลังพวก

“เราคิดว่าทุกคนมีอารมณ์บวก และลบในตัวเอง แค่ว่าเราจะรักษาบาลานซ์ในการเข้าใจกับเหตุการณ์ หรือการใช้ชีวิตให้มันไปในทิศทางไหน เราสามารถเลือกได้ แต่มันต้องผ่านการฝึกฝน หรือผ่านการเข้าใจ เราอาจจะเป็นหนึ่งคนที่ผ่านบทเรียนที่มันหินมากๆ มาแล้ว ซึ่งมันอาจทำให้เราปรับตัว หรือเข้าใจสถานการณ์อื่นๆ หลังจากอุบัติเหตุได้ แล้วหยิบความ Positive มาใช้ให้เป็นประโยชน์ สิ่งที่เราอยากจะบอก คือ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนทั่วไป หรือคนพิการ มีเอเนอร์จี้บวกในตัวเองอยู่แล้ว มีพลังบวก เราอยากให้คุณลองเรียนรู้กับมัน

เราอยากให้คุณลองเรียนรู้กับมันบ้าง เพราะบางครั้งคนมักจะแสดงอารมณ์เชิงลบผ่านลักษณะนิสัยของเราโดยปกติ แต่ถ้าเราหันกลับไปมองอีกด้านที่เราลืมมันไป ถ้าเราหยิบมาพูดคุยแล้วทำความรู้จักกับด้าน Positive มากขึ้น มันอาจจะเป็นเหตุการณ์ที่คุณไม่คิดว่า มันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปก็ได้ ซึ่งตัวธันย์ก็เคยเจอเหมือนกัน เหตุการณ์ที่เราฉุกคิดว่า จริงๆ แล้วเราก็สามารถสร้างพลังบวกให้กับเหตุการณ์เล็กๆ ซึ่งบางครั้งเราอาจจะไม่ต้องเผชิญปัญหาใหญ่ๆ ที่เราอาจจะกังวล หรือกลัว”

“เราแค่อยากให้ทุกคนมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง อย่าใช้อารมณ์เป็นหลักสำคัญที่ใช้แก้ทุกปัญหา เพราะบางครั้งการใช้ความคิดบางบวกก็อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีทั้งเรา และฝั่งตรงข้าม หรือสิ่งแวดล้อมที่เราเจอได้”

ทะลุกำแพง ‘ความกลัว’ ออกไปเผชิญโลกกว้าง

“ถ้าใครเจอปัญหา เจออุปสรรคแล้วยังรู้สึกว่ายังมีความกลัวอยู่ ยังรู้สึกว่า เห้ย เราอยู่คนเดียวปลอดภัยกว่า เป็นเซฟโซนอะไรอย่างนี้ แต่สุดท้ายคนเราไม่สามารถอยู่กับสิ่งเดิมๆ ได้นานๆ หรอก พูดง่ายๆ ต่อให้เราจะมีความสุขในระยะเวลานึง หรือต่อเหตุการณ์หนึ่ง มันก็ไม่ได้นานเสมอไป

เคยได้ยินคำว่า ทำไมความสุขผ่านไปเร็วจัง ธันย์อยากจะบอกว่าไม่ว่าจะสุข หรือทุกข์ มันมีระยะเวลาของมัน เพราะฉะนั้นธันย์ไม่อยากให้คุณไปเสียเวลากับการอยู่ตัวเองนานๆ ซึ่งในที่นี้อาจจะหมายถึง มุมมองความทุกข์ หรือความเศร้านานๆ เพราะบางครั้งระยะเวลาที่มันผ่านไป คุณอาจจะรู้สึกเสียดาย เหมือนธันย์ชอบพูดประโยคหนึ่งว่า ‘ไม่อยากจะเสียเวลาไปกับความรู้สึกที่เราแก้ไขอะไรไม่ได้’ หรือความเศร้าที่เราจมอยู่ สุดท้ายแล้วมันก็แก้ไขอะไรไม่ได้ แล้วเรายังเสียเวลาของความสุขที่เราควรจะมีมากกว่านี้อีก เราใช้เวลาเสียใจกับมันได้ แต่ใช้เวลาให้มันพอสมควร อย่าใช้เวลาให้มันเยอะ เราออกมาเถอะ สุดท้ายแล้วพอเราออกมาใช้ชีวิต เราจะรู้ว่าเราสามารถแก้ปัญหามันได้นะ ไม่จำเป็นที่จะต้องหนี เพราะสุดท้ายแล้วมันก็จะวนกลับมาอันเดิมว่า”

“ถ้าเรายังหนี เรายังอยู่กับตัวเองไปนานๆ จมอยู่กับความทุกข์ มันก็จะกลับมาที่ความเศร้า แล้วเราก็ต้องหนี วนลูปนี้ไปแบบนี้เรื่อยๆ สู้กับปัญหา แล้วก็เรียนรู้ไปกับมัน เผชิญกับปัญหาใหม่ที่มันท้าทายกว่าเดิมดีกว่า”

ติดตามการเดินทางของ ‘น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก’ ได้ที่

Facebook: น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก