การประกวดความงามชายได้รับความสนใจอย่างล้นหลามในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ 'ต้นกล้า - นิปุณ แก้วเรือน' คือหนึ่งในผู้ประกวดที่ขับเคลื่อนตัวเองด้วยแรงบันดาลใจและการเรียนรู้ จนสามารถก้าวสู่เวทีระดับโลกอย่าง ‘Mister Supranational’ ในปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมาได้ วันนี้เราจะมาพูดคุยกับคุณต้นกล้าเกี่ยวกับค่านิยมความงามในไทย ประสบการณ์จากการประกวด แรงบันดาลใจ และมุมมองที่มีต่อวงการความงาม
มุมมองมาตรฐานความงามของสังคมไทย ในฐานะที่เป็น ‘นายงาม’
"ผมมองว่ามาตรฐานความงามของคนไทยเกิดจาก 2 อย่างคือ บริบทและความชอบ โดยความชอบเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่กับบริบท ก็ต้องมาดูว่ามาตรฐานที่สร้างขึ้นเป็นมาตรฐานความงามแบบไหน แล้วสร้างเพื่ออะไร อย่างเวที Mister Supranational มันเป็นการจัดประกวดที่ต้องมีการจัดอันดับ ซึ่งอาจจะเป็นจุดที่กลายเป็นมาตรฐานความงามสำหรับคนอื่น แต่ในความเห็นของผมที่เคยเป็นผู้เข้าประกวด และเคยทำงานกับเวทีนี้ ผมมองว่า มุมมองของผู้จัดไม่ได้อิงบิวตี้สแตนดาร์ด (beauty standards) เพราะเขามองหาความงามและความสามารถที่ตรงกับบริบทของเวทีมากกว่า ซึ่งบริบทเหล่านี้ ก็มีในวงการนักแสดง หรือเอเจนซี่หาคนที่ตรงบริบท เพื่อนำไปโปรโมตผลิตภัณฑ์หรืออีเวนต์ต่างๆ ถ้าพูดแบบกว้างๆ ไม่ว่ากิจกรรมที่จัดจะเป็นของบริษัทไหน สุดท้ายทั้งหมดนี้ก็จะมาขับเคลื่อนและเป็นส่วนเล็กๆ ที่คอยซัพพอร์ตเศรษฐกิจของประเทศไปเรื่อยๆ"
"ส่วนความงามตามความชอบ แน่นอนว่าทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่า ‘สเปก’ และสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลครับ แต่เมื่อไหร่ที่เอาความงามตามความชอบมารวมกับความงามตามบริบทหรือการทำงาน จุดนี้จะกลายเป็นปัญหา สมมติว่าเราต้องการจะให้โอกาสใครคนหนึ่งเข้ามาทำงาน แต่ดันไปเลือกคนที่มีหน้าตาตรงตามความชอบของเรามากกว่าคนที่มีความสามารถตรงกับบริบทงานมันก็ไม่ได้"
ประสบการณ์และมุมมองที่มีต่อการประกวดดาว-เดือน
"สมัยผมอยู่ปี 1 คณะวิศวะฯ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็มีการประกวดดาว-เดือน ซึ่งผมไปสมัครเพราะว่ามีรุ่นพี่ชวน พอมาถึงรอบไฟนอล มหาวิทยาลัยก็ประกาศยกเลิกการประกวดกลางคัน ผมกับเพื่อนนั่งขำกัน คิดว่าไม่เป็นไร แต่หลังจากนั้นผมก็ได้รู้จากรุ่นพี่ชุมนุมเชียร์ลีดเดอร์ว่า ในการประกวดดาว-เดือนของมหาวิทยาลัย คนที่ได้ผ่านการประกวดเข้าไปรอบท้ายๆ หรือมีส่วนร่วม จะมีแมวมองจากค่ายต่างๆ มาทาบทามไปเป็นศิลปินหน้าใหม่ หรือเทรนให้เป็นนักแสดง ซึ่งทั้งหมดนี้คือการป้อนบุคคลากรรุ่นใหม่เข้าอุตสาหกรรมบันเทิงครับ"
"แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อยกเลิกการประกวดดาว-เดือนคือ การคัดตัวบุคคลากรก็ขาดตอนไป โอกาสของคนที่มีความสามารถ ศักยภาพ และความตั้งใจถูกปิดลง แต่ในอีกมุมหนึ่ง บางครั้งคนที่ดูการประกวดดาว-เดือนก็มองว่า มันเป็นการชูบิวตี้สแตนดาร์ด และเป็นการเลือกปฏิบัติกับคนที่มีรูปลักษณ์และบุคลิกที่ดีกว่า ส่วนตัวผมคิดว่าการยกเลิกการประกวดตอนนี้ไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดี แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงมากกว่า เราก็ต้องมาหาคำตอบกันแล้วว่า ถ้ายกเลิกการประกวดดาว-เดือน เราจะใช้ช่องทางไหนในการป้อนคนเข้าไปในอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเสมอภาค เป็นที่ยอมรับ และเปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งผมมองว่าช่วงหลังสถานการณ์โควิด จะมีกิจกรรมอื่นๆ ทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพราะบริษัทต่างๆ ที่อยากจัดอีเวนต์จะกลับมารวมกันและคิดอะไรที่สร้างสรรค์ สนุก และเท่าเทียมอย่างแน่นอนครับ ผมก็รอที่จะมีส่วนร่วมอยู่ (หัวเราะ)"
ความท้าทายในการแข่งขันบนเวทีระดับโลก
"ด้วยความที่ผมเป็นคนหัวช้า วิธีการพัฒนาตัวเองส่วนใหญ่เลยจะเป็นแบบ slow burn ไม่ใช่การใช้พลังไปในช่วงเวลาสั้นๆ ให้เกิดทักษะหรือความเข้าใจใหม่ขึ้นมา มันคือการ positioning ตัวเอง ผมขอยกตัวอย่างที่สำคัญที่สุดที่ได้จากการประกวดแล้วกัน เมื่อเราเข้าไปประกวดก็จะมีหลากหลายสังคม ทั้งสังคมผู้เข้าประกวดด้วยกัน สังคมผู้ใหญ่ สังคมชาวต่างชาติ สังคมสื่อ และอื่นๆ อีกมาก เราต้อง position ตัวเองให้เป็นคนดีกับทุกคน (หัวเราะ) ส่วนเรื่องการถ่ายแบบ ผมมองว่ามันเป็นการฝึกทักษะ ถ้าใช้เวลากับความพยายาม ทุกคนก็สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่การที่เราจะทำหน้าที่หรืออยู่ในสังคมได้อย่างยั่งยืน เราต้องรู้จักการวางตัวให้ดีครับ"
การคว้าตำแหน่งท็อปของ Mister Supranational 2021
"ผมคิดว่าตัวเองไปถึงจุดนั้นได้เพราะความตรงกับบริบทครับ ผมอาจจะไม่ได้เก่งกว่าคนอื่นในหลายแง่มุม แต่ว่าผมมีความตรงกับบริบทของเวทีมากที่สุด โดยในเวที Miss and Mister Supranational จะมี motto อยู่ 2 อันคือ ‘inspiration’ (แรงบันดาลใจ) กับ ‘aspiration’ (ปณิธาน) เขามองหาคนที่มีความฝันและเป้าหมายในชีวิต แล้วในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นทำเหมือนกันได้”
“ตอนแรกผมก็ไม่ได้ตรงกับบริบททั้งหมด เพราะนอกจากที่กล่าวมานี้ เขายังมองหาคนที่เป็นสุภาพบุรุษด้วยครับ หลังจากสัมภาษณ์ผ่าน ผมก็จะมีการฝึก grooming การสร้างบุคลิก และมารยาททางสังคมต่างๆ ทั้งแบบไทยและนานาชาติ ส่วนด้านร่างกายก็จะฝึกเสริมสร้างกล้ามเนื้อกับความแข็งแรง ซึ่งตรงจุดนี้ผมไม่ได้มองว่าเป็นมาตรฐานความงามที่ผิด เพราะว่าเขากำลังมองหาคนที่มีความงามตรงบริบทอยู่ เราลองนึกดูว่าหลังจากจบการประกวดแล้ว ผู้เข้าร่วมที่จะทำงานให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงและโมเดลลิ่งก็ต้องมีหุ่นเฟิร์ม"
แรงบันดาลใจกับการตามหาความฝัน
"เอาจริงๆ ตอนที่ไปประกวด ผมก็ไม่ได้บอกถึงความฝันแบบเป็นรูปธรรม เพราะว่ามันมีหลายอย่าง แต่ว่าผมมีแรงบันดาลใจในการค้นหาตัวเอง ซึ่งทำผ่านการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ อย่างเช่น การเรียนรู้ในห้องเรียนและออกไปหาประสบการณ์ และสุดท้ายผมก็ได้รู้ว่าการศึกษาคือสิ่งที่ผมส่งต่อให้กับสังคมได้ ถ้าผมสามารถทำให้เยาวชนทุกคนกระหายที่จะเรียนรู้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องมาจากในห้องเรียน”
“ผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะไปหยุดที่ตรงไหนในอนาคต ผมอาจจะไม่หยุดเรียนหรือตามหาความฝันไม่เจอเลยก็ได้ แต่สิ่งที่ผมมั่นใจว่าต้องการจะทำตอนนี้คือ ผมอยากหาความฝัน แล้วมันก็เป็นแรงกระตุ้นให้ผมตื่นขึ้นมาในทุกๆ วัน หลายคนที่เรียนพร้อมกับผม เด็กกว่า หรือเป็นรุ่นพี่เองก็ยังไม่ค้นพบตัวเองครับ ซึ่งผมคิดว่าเราจะไม่มีทางหาตัวเองเจอเลย ถ้าไม่ออกไปทำอะไรนอกกรอบบ้าง"
ที่มาของความมั่นใจแบบพร้อมพุ่งชน
"จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีแค่เหตุการณ์เดียวที่ทริกเกอร์ให้ผมมั่นใจขึ้นได้ ก่อนอื่นผมขอพูดถึงคำว่า ‘deliberate practice’ หรือการฝึกฝนจุดอ่อนและสิ่งที่เรายังทำไม่ได้ นั่นแปลว่าเราต้องใช้ความพยายามมากกว่าสิ่งที่เราทำได้ดีอยู่แล้ว มันคือการฝึกฝนโดยการออกจาก comfort zone และทุกสถานการณ์จากการประกวดก็เป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับผม ทุกสิ่งที่ต้องทำเลยกลายเป็นการทำ deliberate practice ไปในตัว แต่ว่าผลเสียคือ ทุกครั้งที่กลับมา ผมจะรู้สึกเหนื่อยมากกับการขุดตัวเองให้ไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ถนัดและแทบจะทำไม่ได้นั้นยากมากๆ ครับ แต่พอผ่านมาได้ ผมถึงเข้าใจว่ามันทำให้ผมมั่นใจในตัวเอง และมีความสบายใจในการใช้ทักษะที่ได้จากการประกวดมากขึ้น แล้วจุดนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมอยากจะส่งต่อให้ทุกคนที่กำลังอ่านอยู่ว่า การออกจาก comfort zone นี้มีชื่อเรียกและมันดีมากๆ ทุกคนไปลองกันนะครับ"
ความเหมือนและความต่าง ระหว่างเวทีนายงามกับนางงาม
"ไม่มีความแตกต่างในตัวคอนเซ็ปต์ครับ เพราะว่าอย่างการประกวด Miss and Mister Supranational เขาก็มองหาคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ได้ แต่ในฝั่งผู้ชาย เรื่องความงามกับบริบทอาจจะแตกต่าง เขาจะเฟ้นหาคนที่มีความ masculine (ความเป็นชาย) ร่างกายฟิต และใบหน้าหล่อ ส่วนในฝั่งผู้หญิงก็จะหาคนที่มีร่างกายและใบหน้าสวย แต่ในปัจจุบัน ผมมองว่าเรื่องค่านิยมความงามต่อเรือนร่างของผู้หญิงที่เข้าประกวดมีความเปิดกว้างมากขึ้น ในทางกลับกัน เราอาจจะยังไม่ค่อยเห็นการประกวดของฝั่งผู้ชายที่พลัสไซส์หรือมี body fat เยอะ แล้วได้รับตำแหน่ง เราคงเห็นผู้ชายที่มีกล้ามแน่นๆ มากกว่า"
สิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนวงการความงาม
"Inspiration กับ aspiration ครับ โดยทั้งสองอย่างนี้คือความงามจากภายใน ซึ่งแตกต่างจากความงามภายนอกที่เราต้องการให้ตรงกับบริบทหรืองาน เพราะความงามภายในเป็นสิ่งที่เรามีและไม่สามารถตัดสินได้จากการเดินบนเวทีในระยะเวลาสั้นๆ หรือพูดเพียงไม่กี่ประโยค มันคือสิ่งที่เราทำแล้วให้คุณค่าต่อสังคม”
“ผมว่าตรงนี้จะช่วยขับเคลื่อนวงการความงามได้อย่างยั่งยืน เพราะเราต้องยอมรับว่าเทรนด์ความงามเปลี่ยนไปตลอดเวลา ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1700 ผู้หญิงพลัสไซส์ถือว่าสวยมากๆ ระดับเดียวกันกับเจ้าหญิงในพระราชวังเลย ความงามที่วัดกันจากภายนอกมันไม่แน่นอนครับ แต่ความงามจากภายในคือความคิด ความรู้สึก และจิตสำนึก ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัยก็ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อรวมกับความงามภายนอกแล้วก็เหมือนกับน้ำมันที่ราดลงไปในไฟ แต่สองอย่างนี้จะเสริมกัน แล้วส่งต่อแรงบันดาลใจและความฝันออกไปในวงกว้างมากขึ้นครับ"
ภาพอนาคตของวงการนายงามและนางงาม
"ผมมองว่ามันจะไปในทิศทางที่เปิดกว้างมากขึ้นครับ เพราะว่าเวทีระดับโลกอย่าง Miss and Mister Supranational ก็มีข่าวแว่วๆ มาว่า ปีนี้จะเปิดให้บุคคลข้ามเพศ (transgender) เข้าร่วมประกวดได้ในเวทีนี้ แล้วสิ่งที่ได้ยินคนถกเถียงเกี่ยวกับ Miss Universe คือหญิงที่มีลูกก็สามารถร่วมประกวดในเวทีนี้ได้เช่นกัน ต้องรอดูว่าเขาจะนำไปใช้จริงในปีไหน และจะออกมาในรูปแบบใด”
“อีกสิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นการเปิดกว้างและเวทีระดับโลกทำมาตลอดคือ เขารู้ว่าเวทีนาง/นายงามมีบริบทนี้จากชื่อและจุดประสงค์ที่ตั้งมาแต่แรก และเขาไม่สามารถขยายบริบทของมันให้มากกว่านั้นได้ เพราะไม่เช่นนั้นเวทีก็จะหลุดจาก title ที่ตั้งไว้ เขาก็เลยเลือกที่จะตั้งเวทีที่มี title ใหม่ขึ้น อาจจะเป็นเวที Missis (Mrs.), Miss Elderly หรือ Miss Kids ฯลฯ ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีครับ เพราะมันทำให้เปิดกว้างมากขึ้น โดยไม่ทำลายบริบทเดิมและช่วยขยายบริบทใหม่ออกไปอีก"
สิ่งที่อยากบอกกับคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง
"แนวคิดผมอาจจะดูโบราณไปนิดนึง แต่มันก็เป็นสิ่งที่ผมเชื่อและขับเคลื่อนชีวิตผมในทุกวัน นั่นก็คือ การที่เราจะมีความมั่นใจในบุคลิก ร่างกาย และจิตใจได้ เราต้องผ่านความลำบากที่ทำให้เราเติบโตมาในระดับหนึ่งก่อน มันอาจจะไม่ใช่ความยากลำบากแบบยากลำบาก (ลากเสียงยาว) หรือยืนตากแดดเฉยๆ ก็ไม่เอานะ (หัวเราะ) แต่ความยากลำบากที่ผมพูดถึงคือความท้าทาย การลองสิ่งใหม่ๆ หรือ deliberate practice ที่ผมบอกไป เราต้องเอาตัวเองไปเจอกับสิ่งที่เข้ามาอุปสรรค เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองและก้าวข้ามไป เราอาจจะไม่จำเป็นต้องเน้นรูปลักษณ์ภายนอกอย่างเดียว ลองคิดดูว่าจะนำ deliberate practice ไปใช้กับการสร้างทักษะหรือความคิดดีไหม ทุกอย่างนี้จะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ยอมรับข้อเสีย ภูมิใจกับข้อดี และพัฒนาเพื่ออุดจุดอ่อนและยกระดับข้อดีนั้นขึ้นไป เราถึงจะมีความภูมิใจกับร่างกายและรักตัวตนของเราได้ครับ"
Photo credit: มติชนออนไลน์
ติดตาม ‘ต้นกล้า นิปุณ’ ได้ที่
Instagram: nipunkr