ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป เราคิดว่า ‘เริ่มจากสิ่งที่ชอบ’ ก็เป็นคำพูดที่สามารถใช้ได้ในหลายสถานการณ์ เมื่อคุณเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างจากความชอบ เดินหน้าต่อด้วยความต้องการของตัวเอง แบบที่ไม่โดนใครบังคับ ความสุขและความสำเร็จก็จะมาถึงในสักวัน แต่ถ้าคุณเดินหน้าทำอะไรสักอย่างเพราะคนรอบบอกให้ทำ ทั้งร่างกายและจิตใจอาจแตกสลายไปพร้อมความกดดันก่อนจะสำเร็จเสียงด้วยซ้ำ
แต่! บทความนี้ผู้เขียนไม่ได้รับบทไลฟ์โค้ชแต่อย่างใด เราแค่จะพาคุณไปคุยกับ ต้นไม้ - ธนภัทร นิรันดร นักเทนนิสดาวรุ่งชาย Rank เยาวชนมือ 1 ของไทย และ Top 60 ของโลกในวัย 18 ปี ที่จะมาช่วยยืนยันว่าความคิดของเรานั้นยังคงเป็นจริงอยู่ แม้กับชีวิตเด็ก Gen Z ก็ตาม
เริ่มเล่นจากตัวเอง
แม้ต้นไม้จะเติบโตมาในครอบครัวเทนนิส ที่คุณแม่พิมพิสมัย กันสุทธิ เป็นอดีตนักเทนนิสทีมชาติ และพี่สาว ณภัทร นิรันดร เป็นนักเทนนิสด้วย แถมยังพากันไปคลุกคลีกับสนามตั้งแต่เด็ก แต่ความจริงแล้วต้นไม้บอกว่าเริ่มเล่นและฝึกซ้อมเทนนิสอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 8 ขวบ ด้วยความต้องการของตัวเองล้วนๆ เพราะอยากแข่งและได้ถ้วยรางวัลแบบนักเทนนิสในทีวี พอแม่รู้ว่าเขาอยากเล่นก็เลยสนับสนุนเต็มที่
“ตอนเด็กๆ ชอบดูรายการแข่งในทีวีมาก และคิดว่าสักวันก็อยากได้ถ้วยแบบเขา เลยบอกแม่ว่าจะลองเล่นเทนนิสแบบจริงจังดู ส่วนไอดอลของผมคือโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ที่เก่งเรื่องการเล่นลูกหน้าเน็ตและการเสิร์ฟลูกวอลเลย์ ซึ่งเป็นสไตล์ที่ผมชอบเล่นอยู่แล้ว ก็จะดูและพยายามศึกษาการเล่นจากเขามาตลอด”
เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปีจากเด็กน้อยที่เริ่มจริงจังกับเทนนิส มาจนถึงวันนี้ที่เดินทางตามความต้องการของตัวเองก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม เพราะปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ต้นไม้คว้าแชมป์มา 4 รายการติด ทั้งแชมป์ชายคู่ JA Cape Town Tournament 2021, แชมป์ชายเดี่ยว J3 Montreal Tournament 2021, แชมป์ชายเดี่ยว J3 Pune Tournament 2021 และแชมป์ชายคู่ JB1 Pune Tournament 2021 จนทำให้อันดับโลกขยับขึ้นจาก 115 มาเป็น 60 ได้ในที่สุด (อัปเดต 3 Jan 2021)
10 ปีผ่านไปกับเป้าหมายของตัวเอง
“อย่างที่บอกว่าตอนแรกที่เล่นเทนนิสเพราะเห็นคนถือถ้วยแล้วรู้สึกเท่เลยอยากได้บ้าง ส่วนตอนนี้เป้าหมายจะชัดเจนและใหญ่ขึ้นกว่าเดิม คือคว้าแชมป์รายการแข่งขันทุกสนามที่พอจะไปได้ อย่างในปีนี้เป็นปีสุดท้ายในระดับเยาวชน ก็อยากจะไปแข่งในทุกรายการของ Junior Grand Slam ทั้ง Australian Open, French Open, Wimbledon และ US Open เพราะยังไม่เคยมีเยาวชนชายไทยเคยไปถึงขนาดนั้นมาก่อน และนำความสำเร็จตรงนี้ไปต่อยอดการเป็นนักเทนนิสอาชีพ เพราะการเป็น Top ของรุ่น จะเป็นใบเบิกทางให้สามารถเข้าสู่รอบ Main Draw ของหลายรายการมืออาชีพได้เลย โดยไม่ต้อง Qualifying”
เต็มใจซ้อมด้วยตัวเอง
“ผมซ้อมสัปดาห์ละ 6 วัน คือจันทร์ถึงเสาร์ ซึ่งจันทร์ถึงศุกร์จะเริ่ม 10.00 – 12.00 น. เป็นการซ้อมส่งบอล ตีบอลตระกร้า และน็อคบอล 15.00 – 18.00 น. จะเน้นเรื่องการเล่นแต้มจากสถานการณ์จริง 18.30 – 19.30 น. จะไปยิม ส่วนช่วงว่างระหว่างวันจะหมดไปกับการทำการบ้าน และเข้านอน 22.00 น. ทุกวัน แต่มันก็ไม่ได้หนักเกินไป มันโอเค ยังมีเวลาให้พักผ่อนและออกไปเที่ยวกับเพื่อนไม่ต่างกับคนอื่น เพราะพุธกับเสาร์จะซ้อมแค่ครึ่งวัน และอาทิตย์เป็น Day Off”
ตัวเองและคนรอบข้างคือส่วนผสมความสำเร็จ
แน่นอนว่าต้นไม้ก็เหมือนนักกีฬาหลายคนที่อาจไม่ได้คว้าแชมป์รายการใหญ่มาตั้งแต่เริ่มเล่น บางครั้งได้รับแค่รองแชมป์ หรือบางครั้งอาจทำไม่ได้อย่างที่คาดหวัง ต้องใช้เวลาพัฒนาตัวเองสักพักถึงจะคว้าแชมป์รายการใหญ่ได้ติดๆ กันในปีก่อน
ต้นไม้แชร์ว่าความสำเร็จของเขาเกิดจาก “การตั้งเป้าหมายของตัวเอง” ว่าอยากทำอะไรบ้างในแต่ละปีและจะพยายามทำให้ได้ตามนั้น เช่น ปี 2021 แรงค์จะต้องสูงขึ้น ดังนั้นเขาจะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น โดยเฉพาะกับการเทรนด์ เพราะต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรงขึ้น เข้ายิมทุกวัน และกินอาหารที่ดีขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนความกดดันมา “เป็นแรงผลักดัน” เพราะความกดดันหนึ่งเดียวในการเล่นเทนนิสเกิดจากความอยากชนะของเขาเอง เขาเลยเอามันมาเป็นไฟในการพัฒนาตัวเอง จะไม่ปล่อยให้มันกลายเป็นความเครียด
นอกจากนั้นก็ได้รับการซัพพอร์ตจากครอบครัว โดยเฉพาะแม่ที่ดูแลในหลายๆ เรื่อง เชื่อใจว่าเขาจะทำทุกอย่างได้อย่างมีความรับผิดชอบ ทั้งการซ้อมเทนนิสและเรียน และสนับสนุนให้เขาได้ไปแข่งไปทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ซึ่งคุณยีน พิมพิสมัย เล่าว่า “ไม่เคยกดดันลูก และจะไม่เอาเขาไปเทียบกับใคร เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และจากประสบการณ์สมัยเป็นนักกีฬาสอนว่าถ้าไปกดดันเด็กมากๆ สุดท้ายมันจะ Burn Out เราเลยแค่ปล่อยให้เขาเล่นสนุกไป ถ้าได้ดีก็ดีไป ถ้าไม่โอเคก็มองบวก แล้วให้กำลังใจ ซึ่งที่ผ่านมาฝีมือน้องจะเรื่อยๆ มาตลอด แต่อยู่มาวันหนึ่งเขาก็ทำได้เอง คว้าแชมป์รายการใหญ่ได้ เราเลยเชื่อว่าความไม่กดดันจะดีที่สุด”
ส่วนผสมลำดับสุดท้าย ต้นไม้ยกให้สปอนเซอร์อย่างบุญรอดบริวเวอรี่ (คุณสันติ ภิรมย์ภักดี) ดันลอป และสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยฯ ที่สนับสนุนเขาในการแข่งขันทุกสนาม
Home School ทางออกของนักกีฬาที่ให้ความสำคัญกับการเรียน
การจะทำตามความฝันการเป็นนักเทนนิสอาชีพ ทำให้ต้นไม้ต้องไปๆ มาๆ ระหว่างอเมริกา ประเทศไทย และสนามแข่งในหลายประเทศ แต่เขาก็ไม่คิดจะทิ้งการเรียน ซึ่งสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุดคือ Home School ที่ช่วยบาลานซ์เรื่องเรียนและความฝันได้เป็นอย่างดี
สำหรับประเทศไทย นักกีฬาที่เรียนนอกระบบการศึกษาอาจจะทำให้ดูแปลกแยก แต่กับสังคมอเมริกันนั้นต่างออกไป ที่นี่ใครๆ ก็เรียน Home School เพราะจะได้จัดตารางชีวิตเองได้ ต้นไม้เลยเรียนระบบนี้ตั้งแต่ 10 ขวบ เพื่อให้เส้นทางนักกีฬาของเขาเดินต่อไปได้ ในขณะที่สิ่งสำคัญอย่างการเรียนก็ยังคงอยู่ ซึ่งทางคุณแม่แชร์ในเรื่องนี้ว่า การ Home School ไม่ใช่เรื่องแปลกและดีไม่ต่างจากโรงเรียนทั่วไป แค่ต้องเลือกโปรแกรมให้ดีว่าเขาสอนอะไรบ้าง เหมาะสมกับลูกเราหรือไม่ ระบบได้มาตรฐานหรือเปล่า และที่สำคัญจะต้องรับให้ได้ด้วยว่างานที่ครูสั่งจะเยอะกว่าไปโรงเรียน เพื่อให้เด็กจบมาแบบได้มาตรฐาน รู้เรื่อง และสามารถไปต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้
สิ่งที่ได้จากเทนนิส
เล่นเทนนิสมานานกว่า 10 ปีแล้วและยังวางแผนจะเดินหน้าต่อในอีกหลายปีข้างหน้า ต้นไม้คิดว่าการคลุกคลีกับมันมานานขนาดนี้ นอกจากรางวัลแล้ว เทนนิสยังให้อะไรกับเราอีกบ้าง?
“เทนนิสทำให้ได้มีโอกาสได้เปิดโลก ไม่ได้อยู่แค่อเมริกาหรือเมืองไทย แต่ได้เดินทางไปเที่ยวทั่วโลก ได้พบกับเพื่อนใหม่จากหลายประเทศ เพราะส่วนใหญ่รายกายแข่งจะจัดต่างประเทศ และทำให้กลายเป็นคนที่ชีวิตมีระเบียบมากๆ มีความรับผิดชอบกับตัวเอง สามารถจัดตารางชีวิตตัวเองได้ดีขึ้น”
ท้ายนี้ต้นไม้ฝากขอบคุณทุกคนที่ส่งกำลังใจมาให้ แม้เขาจะอ่านภาษาไทยไม่ได้ แต่แม่ก็อ่านคอมเมนท์ให้ฟังตลอด รู้สึกดีใจที่มีคนเห็นความพยายามของเขา มันทำให้มีกำลังใจที่จะสู้ต่อ ซึ่งตอนนี้เขากำลังอยู่ในช่วงแข่งขันรายการ AUSTRALIAN OPEN JUNIOR CHAMPIONSHIPS 2022 หวังว่าทุกคนจะส่งแรงเชียร์ให้เขาเหมือนที่ผ่านมา
สำหรับใครที่กำลังอยู่ตรงกลางระหว่างความชอบและสิ่งที่ผู้ใหญ่ตีกรอบไว้ให้ เราหวังว่าเรื่องราวบางช่วงบางตอนของต้นไม้ ธนภัทร จะเป็นแรงผลักดันเล็ก ๆ ให้คุณได้กล้าทำสิ่งใหม่ไม่มากก็น้อย
ติดตามและอัปเดตเรื่องราวชีวิตของต้นไม้ได้ที่ t_nirundorn04
ขอบคุณรูปภาพจาก Jean Kansuth , สมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยฯ