หากพูดถึง ‘รอยสัก’ ในภาพจำของผู้คนอดีต อาจจะไม่ได้ถูกจัดอยู่ในแง่มุมที่ดีมากนัก ด้วยวัฒนธรรมการสักในไทย นับตั้งแต่สมัยก่อนที่มักถูกผูกโยงกับสิ่งที่ดูผิดระเบียบ ไม่ว่าจะด้านไสยศาสตร์ ความเชื่อ การลงโทษ และการบ่งบอกสถานะในสังคม ซึ่งความหมายในลักษณะนี้ก็ดูจะค่อยๆ เลือนลางเรื่อยๆ จนแทบจะจางหายไปแล้ว
ณ ปัจจุบัน นิยามความหมายของรอยสักได้แปรเปลี่ยนและแทนที่ด้วยความหมายใหม่ให้กลายเป็นมุมมองทางศิลปะบนร่างกาย กลายเป็นกระแสนิยมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งชายและหญิง ที่ไม่ใช่เพียงแค่ลวดลายอันไร้ซึ่งที่มาที่ไป แต่กลับแฝงไว้ด้วยความหมายอันลึกซึ้ง เป็นร่องรอยจากประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างและเฉพาะตน
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘แท็ป – มฆรัตน์ ทวีชนม์’ ช่างสักวัย 30 ปี เจ้าของร้าน ‘Tosmile28’ และผู้ริเริ่มก่อตั้งคอมมูนิตี้สเปซที่มีชื่อว่า ‘ทูแชร์’ (To Chare) สถานที่ปลอดภัยที่เอาไว้พักใจ ปล่อยใจ ได้อย่างสุขใจ
ด้วยความรักในศิลปะมาตั้งแต่วัยเยาว์ เรียนก็เรียนศิลปะ เรียนจบมาก็ยังทำงานเกี่ยวกับศิลปะ จนในที่สุดได้ผันตัวมาเป็นช่างสักผู้เชื่อมั่นว่ารอยสักที่สร้างขึ้นจากความรู้สึกจะสามารถส่งต่อความสุขไปถึงลูกค้า จนนำไปสู่การส่งต่อให้แก่ผู้อื่นได้ เหมือนดั่งชื่อร้านที่ถูกคิดขึ้นมาอย่างตั้งใจ โดย ‘To Smile’ ที่เปรียบเสมือนการส่งต่อรอยยิ้มจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ผสมรวมกับเลข 28 ที่นับเป็นเลขที่สำคัญกับชีวิตของคุณแท็ปเอง
จุดเริ่มต้น Tosmile28
“จุดเริ่มต้นการเป็นช่างสักมาจากเลข 28 ซึ่งเป็นเลขที่เราชอบมาก เพราะชีวิตมีความเกี่ยวโยงกับเลขนี้เยอะ พออายุครบ 28 ปีก็เลยตัดสินใจสักเลขนี้ไว้ เราให้พ่อกับแม่เขียนเลขนี้ให้ แล้วก็เอาไปให้ร้านสักลงบนแขนทั้งสองข้าง เป็นลายมือพ่อฝั่งหนึ่ง ลายมือแม่อีกฝั่งหนึ่ง พอสักเสร็จรู้สึกว่าชอบมันมากๆ ซึ่งเราเป็นคนที่วาดรูปได้อยู่แล้ว ทำไมไม่ลองทำงานสักดู มันเหมือนการสร้างความทรงจำที่พอเราเห็นทุกครั้งก็มีความสุข ก็เลยคิดว่าสามารถเอางานวาดของเราไปสักให้คนที่เขาชอบก็ได้เหมือนกัน”
“ขั้นแรกเลยคือ เราถามร้านที่เราไปสัก ซึ่งเขาเป็นรุ่นพี่ในคณะ เป็นคนแรกที่อธิบายคร่าวๆ ให้ฟังเกี่ยวกับการสัก แล้วก็ให้เรายืมอุปกรณ์มาลองฝึกดู พอได้ลองฝึกสักพักก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ยากขนาดนั้น เหมือนกับว่าเราแค่เปลี่ยนจากปากกาเป็นพู่กัน เปลี่ยนจากพู่กันมาเป็นเครื่องสัก มันคือรูปแบบของการวาดรูปเหมือนกัน แต่แค่อุปกรณ์การวาดไม่เหมือนกัน เราฝึกประมาณ 2 เดือนก็ได้ลองสักกับคนจริง โชคดีที่เพื่อนๆ เขารู้อยู่แล้วว่าเราวาดรูปได้ เพราะเรียนมหาวิทยาลัยที่เดียวกันมา พอเขาเห็นเราเริ่มทำงานสักก็เลยบอกว่า อยากหาหุ่นที่จะมาสักไหม เดี๋ยวกูเป็นให้ ทำให้เราได้ลงคนจริงๆ ในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งจะไม่ค่อยเกร็งเท่าไหร่เพราะคือเพื่อนเรา”
28 นำทางชีวิต
“เลขนี้มันเข้ามาในชีวิตเราตลอด ตอนเรียนมัธยม เราอยู่รุ่นที่ 28 เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสาขานิเทศน์ศิลป์ก็รุ่นที่ 28 แถมยังเลขที่ 28 อีก มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยคิดเล่นๆ ว่าถ้าเลขนี้เป็นเลขที่ใช่สำหรับเรา ขอให้เราได้เจอเลขนี้เข้ามาในชีวิต แล้วอยู่ดีๆ เราก็เห็นรถเลขทะเบียน 2828 ขับผ่าน พอเห็นแบบนั้น สุดท้ายเราก็เลือกเลขนี้เป็นเลขนำทางชีวิตตัวเอง เป็นที่มาว่าทำไมเราเปิดรับคิวสักทุกวันที่ 28 ตอนเวลา 20.28น. เพราะถือว่าอะไรที่เข้ามาตอนเลขนี้มันดีหมด บางคนอาจจะคิดว่าเรามูเตลู แต่เปล่าหรอก เราแค่รู้สึกว่ามันเป็น lucky number พออายุครบ 28 เราตัดสินใจจะทำทุกอย่างที่อยากทำ ไปเป็นครูสอนเด็กหูหนวก ไปฝึกสัก จนได้เปิดร้านสักเป็นของตัวเอง เป็นช่วงที่โคตรสนุกกับชีวิตเลย”
การสักจากเรื่องราวของลูกค้า
“ส่วนใหญ่ร้านสักไม่ค่อยดีไซน์งานแบบฟังเรื่องราวเท่าไหร่ เราก็เลยอยากนั่งฟังเรื่องของแต่ละคน มันสนุกมากๆ เวลาเขามาเล่าเรื่องบางเรื่องที่ชอบ เราจะมีหน้าที่ตีเรื่องราวของเขาเป็นรูปภาพแล้วสักให้ อย่างบางคนมาเพราะอยากสักปลาทอง ซึ่งเป็นสัตว์ตัวแรกที่เลี้ยงตอน 4 ขวบ แต่ ณ เวลานั้นไม่มีรูปถ่ายเก็บไว้ เขาโดนแม่หลอกว่าปลาตายแล้วจะไปอยู่ดาวปลาทอง เราก็เลยสักเป็นรูปปลาทองที่อยู่ในดาวปลาทอง มันเป็นความรู้สึกที่ว่าแต่ละคนจะมีความชอบหรือเรื่องราวที่แตกต่างกันไป ซึ่งเราก็มีหน้าที่แปลงจากคำพูดของเขาให้ออกมาเป็นรูปภาพ”
ความแตกต่างจากการสักแบบทั่วไป
“ต่างกันค่อนข้างเยอะ สมมติลูกค้าบรีฟว่าอยากสักกระบองเพชร ถ้าเป็นการสักกับเราจะเป็นการคุยกันหน้างาน นั่งคุยและออกแบบให้ ณ วันสักเลย ซึ่งเราจะถามก่อนว่าทำไมถึงอยากสักสิ่งนี้ ปกติช่างสักจะไม่ค่อยถามอะไรแบบนี้ แต่เราถามเพราะอยากรู้จริงๆ ว่าทำไมถึงชอบ เขาอาจจะตอบว่าเพราะเคยปลูกมาตั้งแต่เด็ก โตมาแล้วรู้สึกว่าชอบ ก็เลยอยากขยายพันธุ์เยอะๆ อันนี้เป็นพันธุ์ที่ชอบ แล้วเราก็จะสนุกกับการถามต่อมากว่า เฮ้ย แล้วมันเลี้ยงยากไหม มันเป็นยังไง ทำให้เราได้เห็นอะไรบางอย่างที่เขาไม่ทันรู้ตัวว่าตัวเองสนใจแล้วพูดมันออกมา เราจะสามารถสัมผัสกับความรู้สึกของคนๆ นั้นได้ว่าเขาพูดแล้วมีความสุข มันจะทำให้ภาพที่เราวาดมันออกมาชัดเจนมากขึ้นว่าอยากวาดรูปนี้ให้ เราก็เลยไม่สามารถอินได้เวลาที่เป็นบรีฟแบบตัวหนังสือ เพราะมันก็จะกลายเป็นกระบองเพชรในรูปแบบที่เคยเห็นกันมาก่อน แต่พอได้พูดคุยกัน เราจะสามารถทำกระบองเพชรที่เป็นของเขาคนเดียวเท่านั้น”
“ไม่มีงานไหนที่ซ้ำกันเลย เพราะมันเป็นงานที่เราไม่ได้ออกแบบเพื่อให้เขาชอบอย่างเดียว แต่มันเป็นการออกแบบรวมกันระหว่างความคิดของเขากับการวาดของเรา เป็นการแชร์กันไปมาจนออกมาเป็นหนึ่งรูปที่สมบูรณ์”
สไตล์และเอกลักษณ์
“เวลามีคนถามว่าเราสักสไตล์ไหน เราตอบไม่ได้เลย ก็จะบอกว่าสไตล์แท็ปเนี่ยแหละ (หัวเราะ) มันไม่ได้เข้าไปอยู่ในประเภทไหนของงานสักที่มีมาก่อน เรามองว่ามันคล้ายกับ Tattoo Artist ก็คือการที่เราทำงานศิลปะให้คนอื่น แต่แค่ของเราจะซับซ้อนกว่าตรงที่ว่า งานศิลปะนี้ถูกแปลงมาจากเรื่องราวของลูกค้า งานของเราตอนนี้มีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ อันแรกคือเราวาดรูปตามใจเรา พอลูกค้าชอบงานของเราก็เอามาสัก อันนี้เรามองว่าคือการขายงานศิลปะตัวเอง กับ งานตีความจากเรื่องราวของลูกค้ามาเป็นรูปแล้วก็สักให้”
ส่วนใหญ่มาสักกันด้วยเรื่องอะไร?
“มีหลายแบบมาก เป็นเรื่องความชอบ ความฝัน หรือบันทึกความทรงจำในช่วงเวลาที่อยู่กับคนรักก่อนจะจากไปหรือใครสักคนที่จากไปแล้ว มีทั้งเคยเป็นนักกีฬาทีมชาติแล้วขาหัก ทำให้ไม่สามารถกลับไปเล่นได้อีก แล้วเขาก็ต้องกลับมาเปลี่ยนชีวิตตัวเอง สุดท้ายก็มาสักตรงข้อเท้าเป็นรูปคล้ายเส้นหนึ่งเส้นกับรูปหัวใจ แถวๆ ตรงที่กระดูกหัก แต่มันก็เป็นความทรงจำที่ดีเลยเลือกสักไว้ตรงนั้น”
ในระหว่างที่เราพูดคุยกันผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม คุณแท็ปได้หยิบสมุดจำนวนหนึ่งขึ้นมาและเปิดให้ผู้เขียนดู ลักษณะเป็นเหมือนไดอารี่ที่มีแบบรอยสักถูกแปะเอาไว้และเรียบเรียงอย่างบรรจง ในแต่ละหน้าเป็นการจดบันทึกของลูกค้าแต่ละคนเกี่ยวกับเรื่องราวรอยสักของตนเอง ขณะที่เปิดไปทีละหน้าก็ดูเหมือนว่ารอยสักต่างๆ ที่อยู่ในความทรงจำของคุณแท็ปได้ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ให้ผู้เขียนได้รับฟัง
“เรายังไม่เคยเปิดอ่านเลย ลูกค้าเขียนกันเก็บไว้ว่าเรื่องราวแต่ละเรื่องคืออะไรบ้าง อย่างอันนี้ก็สักภูเขาไฟฟูจิ เพราะว่าเขาจะไปขึ้นภูเขาไฟฟูจิทุกปี พอเกิดโควิดแล้วเขาไม่ได้ไป ก็เลยมาสักเก็บไว้ด้วยความคิดถึง หรืออย่างอันนี้เป็นคนที่ชอบชงกาแฟ ก็เลยมาสักเป็นรูปอุปกรณ์ของตัวเอง จนตอนนี้เปิดร้านกาแฟไปแล้ว”
เมื่อได้พูดคุยกันมาสักระยะ ผู้เขียนจึงได้ขอให้คุณแท็ปเลือกเรื่องราวของรอยสักที่อยากจะแชร์ให้กับผู้อ่านมาสักหนึ่งเรื่อง
“อันนี้เป็นครอบครัวที่แม่กับลูกมาสักคู่กัน ซึ่งน้องเป็นซึมเศร้า แล้วตอนที่คุณแม่โทรมาหาเรา น้องก็แอดมิทอยู่ที่โรงพยาบาล เรานัดวันมาสักที่ร้าน ซึ่ง ณ ตอนนั้นน้องหายแล้ว ก็ได้คุยกันหลายๆ อย่าง จนสุดท้ายสักเป็นรูปดอกทานตะวันกับพระอาทิตย์ คุณแม่เป็นรูปพระอาทิตย์ตรงข้อมือ ส่วนลูกเป็นดอกทานตะวันตรงหลัง คอนเซ็ปต์ของงานชิ้นนี้คือ ดอกทานตะวันอยากเจอพระอาทิตย์ มันคือการที่เวลาแม่กอดลูก มันคือการเติมพลังให้กันและกัน แม่เขาก็เอ็นจอย เพราะว่าพระอาทิตย์อันนั้นลูกเขาเป็นคนวาดให้ ส่วนดอกทานตะวัน เราวาดให้น้องเขาเอง สักดอกทานตะวันไว้ข้างหลังของน้อง ส่วนของแม่ก็สักเป็นรูปพระอาทิตย์ที่น้องวาดให้ตรงข้อมือ เวลากอดกัน พระอาทิตย์มันจะไปโดนกับดอกทานตะวันพอดี”
การเชื่อมต่อกับผู้คนผ่านเรื่องราวบนรอยสัก
“เราได้ฟังเรื่องราวจากมุมมอง ปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาจากลูกค้าเยอะ บางอย่างก็ได้เรียนรู้โดยที่เราไม่รู้ตัว การที่ลูกค้ามาแต่ละคนทำให้เราได้เรียนรู้วิชาต่างๆ ผ่านเรื่องราวของเขา อย่างเช่น เขาไปเที่ยวประเทศหนึ่งแล้วมาเล่าให้เราฟัง เราสักสิ่งนั้นให้เขา ก็เหมือนว่าเราได้รู้จักประเทศนั้นผ่านสิ่งที่เขาเล่าให้ฟังไปทีละนิด หรือคนนี้กำลังเผชิญกับปัญหาหนึ่ง แล้วเขาก็ผ่านพ้นมันมาได้ เราก็ได้ฟังจากเขา”
“มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เราอยากเล่าให้ฟัง เขามาสักเกี่ยวกับพ่อ ซึ่งพ่อเขาเสียไปในช่วงเดียวกับที่เขาจองคิวสักเราได้พอดี เขาเป็นคน CPR ด้วยตัวเองจนพ่อหมดลมหายใจ วันที่มาสักเขาดูมีความสุขมาก เราก็เลยถามว่า ทำยังไงถึงสามารถทำให้ตัวเองมีความสุขได้ แล้วเขาก็พูดกับเราว่า เขาไม่อยากให้พ่อเห็นจากข้างบนฟ้าว่าเขาดูเศร้าในวันที่พ่อจากไป ถึงแม้จะไม่ทันได้อวดรอยสักนี้ให้พ่อเห็น แต่เขาก็มีความสุขที่ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นมุมมองบางมุมที่เราเองก็ได้เรียนรู้จากลูกค้า มันเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้เรารู้สึกไม่เครียดและมีความสุขได้มากขึ้น”
“แต่จะมีอยู่อีกรอยสักหนึ่งที่ใช้เวลาสักทั้งหมดนานถึง 7 เดือน ซึ่งมันเป็นกุศโลบายของเรา เพราะลูกค้าที่มาสักมีความคิดว่าไม่อยากจะอยู่แล้ว เขาแค่อยากมาทำมิชชั่นของการสักให้สำเร็จก่อน เราก็เลยคิดว่า งั้นสักคำว่า ‘ความสุข’ แล้วกัน แต่จะขอสักแค่เดือนละหนึ่งตัวอักษร โดยมีโจทย์คือ ให้หาวันที่รู้สึกมีความสุขที่สุดในแต่ละเดือน เขียนตัวอักษรตัวนั้นมา แล้วเดี๋ยวเราสักให้ มันเป็นเรื่องบางเรื่องที่เราก็อธิบายไม่ถูก แต่อย่างน้อย 7 เดือนนี้เขาจะยังสามารถมาเจอกับเรา และสามารถหาความสุขของแต่ละเดือนได้ มันจะเกี่ยวกับเรื่องของความรู้สึกค่อนข้างเยอะ”
ทูแชร์ (To Chare)
“เรารู้สึกว่าอยากสร้างพื้นที่ที่คนสามารถมาผ่อนคลาย มาใช้ชีวิตโง่ๆ ง่ายๆ ที่นี่ได้ มันเป็นโปรเจกต์ยักษ์ของเราเลย แค่รู้สึกว่าอยากให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่ในลักษณะที่เราจะทำตรงนี้ได้ในอนาคต คอนเซ็ปต์ของทูแชร์คือการเป็นเซฟโซนที่หนึ่ง เรานิยามมันว่าคือพื้นที่ปลอดภัยที่คนเราสามารถมานอนเล่น นั่งพัก ทำอะไรก็ได้ โดยในพื้นที่ของทูแชร์จะมีร้านกาแฟและร้านสักอยู่ 4 ร้าน รวมร้านเราด้วย แล้วก็จะมีพื้นที่สนามหญ้าอยู่อีกนิดหน่อยให้คนสามารถมานั่งกันได้”
“ที่นี่มีความพิเศษในความรู้สึกเราก็คือ คนที่มาทูแชร์สามารถทักคุยกับใครที่ไม่รู้จักก็ได้ ลูกค้าก็เลยมากัน มานั่งปล่อยใจ นั่งคุยเล่น มาคนเดียวหรือมาหลายคนก็ได้เพื่อนใหม่จากที่นี่ไป ที่นี่เหมือนเป็นคอมมูนิตี้ที่คนนี้มา อีกคนเดินเข้ามาชวนคุย แต่ก็ไม่เสมอไป มันก็มีบ้าง ทั้งที่คุยแล้วก็นั่งเฉยๆ พักผ่อนของเขาไป
มีคนที่มาจนเขามีแก๊งของที่นี่ แล้วก็ไปกินข้าว ชวนกันไปทำนู่นทำนี่ ไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกัน มันทำให้เราได้ฟังเรื่องราวของคนอื่น และกลายเป็นว่าคนที่นี่มาคุยกัน แล้วก็ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ โดยที่ไม่ต้องเกี่ยวกับเรื่องสักก็ได้”
ร้านที่เปิดเพียง 3 ปี
“เราอยากสร้างตำนานแค่ 3 ปี เหมือนกับมันมีวันเค้าท์ดาวน์ ซึ่งมันมาจากหนังเรื่อง ‘มหา’ลัยเหมืองแร่’ ตอนนี้ที่เรากำลังมาอยู่กัน 5 คน เป็นการเรียนรู้ปี 1 แล้วพอจบปี 3 ที่ทูแชร์ปิดลง มันคือวันที่ทุกคนจะคิดถึงมัน เราไม่อยากปิดในวันที่มันเจ๊ง อยากปิดในวันที่เราคิดถึงกันอยู่ แยกย้ายกันไปแล้วมันเป็นความทรงจำที่ดี เหมือนกับเวลาที่เรากำลังจะเรียนจบมหาวิทยาลัย เราจะรู้สึกว่า เฮ้ย เหลืออีกไม่นานก็จะจบแล้ว ขอทำให้เต็มที่ที่สุด มันก็เหมือนกับ 3 ปีนี้ที่เราจะทำ�