หลายคนอาจรู้จักทรานส์แมน (Transman) ว่าเป็นบุคคลที่เดิมมีเพศกำเนิดเป็นผู้หญิง เปลี่ยนแปลงตัวเองเพศตนเองเป็นผู้ชาย พวกเขามีความพึงพอใจกับอัตลักษณ์ทางเพศที่ตรงข้ามเพศกำเนิด แต่ในปัจจุบันคอมมูนิตี้ของกลุ่มทรานส์แมนยังไม่กว้างมาก ผู้คนในสังคมมีเรื่องที่อาจยังมีเรื่องที่เข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับทรานส์แมนอยู่อีกมาก
วันนี้ EQ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักคุณ “ฉลามไม่ใช่วาฬ” (นามสมมติ) พนักงานออฟฟิศ อายุ 30 ปี ที่เปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นทรานส์แมนเข้าสู่ปีที่ 4
รับรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ตั้งแต่เด็กคุณฉลามนิยามตัวเองว่าเป็น ทอมบอย คุณฉลามบอกกับเราว่า ไม่รู้สึกอยากเป็นผู้หญิงตั้งแต่เด็ก ไม่ชอบที่สังคมยัดเยียดความเป็นผู้หญิงให้แก่ตัวเองทั้งการใส่กระโปรง การพูดคะ/ค่ะ หรือการตั้งคำถามถึงการตัดผมและแต่งตัวเหมือนผู้ชาย
“ผมรู้สึกได้ตั้งแต่เด็กว่าตัวเองไม่ได้อยากเป็นผู้หญิง ผมเชื่อว่าทรานส์แมนหลายๆ คนคิดว่าเราอยู่ผิดที่ผิดทาง ผมฝันตั้งแต่เด็กๆ เลยว่าถ้าวันหนึ่งมีโอกาสหรือเงินมากพอจะสามารถเป็นในสิ่งที่ผมอยากเป็น ผมเริ่มเก็บเงินตั้งแต่เด็กๆ ความตั้งใจในการเปลี่ยนเป็นผู้ชายเป็นแรงบันดาลใจในการเก็บเงินของผมเลยครับ ผมเก็บอั่งเปาทุกปีไม่เคยใช้เลยเพราะผมอยากเก็บไว้ใช้ในการผ่าตัดหรือเปลี่ยนแปลงในอนาคต”
จากผู้หญิงสู่ทรานส์แมน
“การเปลี่ยนเป็นทรานส์แมนอย่างแรกคือ ต้องพบจิตแพทย์ก่อน เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าร่างกายที่มีอยู่มันไม่ใช่ เราไม่สามารถเดินเข้าไปหาสูตินรีแพทย์หรืออายุรแพทย์โดยตรงแล้วบอกหมอว่า ผมอยากจะเทคฮอร์โมน อยากเอาหน้าอกออก แล้วหมอจะทำให้ได้เลย หมอจะให้ไปคุยกับจิตแพทย์ก่อน เพื่อเป็นคอนเฟิร์มว่า ถ้าเราทำการเปลี่ยนแปลงไปแล้วจะมีผลยังไงบ้าง เรารู้ไหม และคนรอบข้างรู้ไหม เรารับแรงกดดันของสังคมได้ไหม หลังจากพบจิตแพทย์แล้ว การเปลี่ยนแปลงก็แล้วแต่บุคคลซึ่งอาจมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงร่างกายบางคนเริ่มจากการเทคฮอร์โมนก่อน หรือตัดหน้าอกก่อนก็ได้ครับ ตอนที่ผมเลือกตัดหน้าอกก่อน เพราะตอนนั้นคิดว่าตัดหน้าอกอย่างเดียวก็น่าจะเติมเต็มความต้องการของตัวเองได้แล้ว เพราะการตัดหน้าอกไม่ได้มีผลเสียอะไรนอกจากหน้าอกหายไป แต่การเทคฮอร์โมนส่งผลต่อร่างกายกว่ามาก เช่น ตับ ไต หัวใจ ไขมันในเลือด แล้วก็สภาพร่างกายต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไปด้วย”
“ตั้งแต่เปลี่ยนเป็นทรานส์แมน ผมมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้นแบบ 300% มันคือสิ่งที่อยากเป็นมาตลอด ทุกอย่างเป็นไปตามที่เราฝันไว้ และคนรอบตัวซัพพอร์ทด้วยมันก็รู้สึกมีความสุขมากขึ้นไปอีกด้วย”
ผลกระทบต่อร่างกายที่เกิดขึ้น
คุณฉลามบอกว่า หลังจากเปลี่ยนเป็นทรานส์แมนแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อร่างกายค่อนข้างมาก ซึ่งแต่ละคนมีผลกระทบที่แตกต่างกันไป
“ตัวผมเองมีไขมันในเลือดสูง คลอเลสเตอรอลสูงมากจนหมอดุมาหลายครั้ง สุดท้ายต้องกินยาเพื่อลดคลอเลสเตอรอล นอกจากนี้เรารู้สึกว่าร่างกายแข็งแรงน้อยลง ต้องดูแลร่างกายมากขึ้น เพิ่มการออกกำลังกาย รวมทั้งลดการดื่มแอลกอฮอร์ให้น้อยลง เพราะยาที่ฉีดและรับประทานมีผลต่อตับอยู่แล้ว”
“ตอนมีคนทักว่าเหมือนผู้ชาย ผมรู้สึกว่าหัวใจพองขึ้นมา เข็มที่เราปักลงไปในเนื้อทุกสองอาทิตย์ การผ่าตัดที่เคยต้องผ่านมันมามันโอเคและสวยงามแล้วตอนนี้”
ครอบครัวและสังคมกับทรานส์แมน
เนื่องจากทรานส์แมนไม่ได้อยู่เพียงตัวคนเดียวเท่านั้น ครอบครัวและผู้คนสังคมจึงมีบทบาทต่อทรานส์แมนด้วย โดยเฉพาะครอบครัวมีผลต่อการเปลี่ยนเป็นทรานส์แมนค่อนข้างมาก ต้องมีการพูดคุยและปรับความเข้าใจหลายครั้ง คุณฉลามเล่าว่า
“ผมก็เข้าใจหัวอกพ่อแม่ว่ามีลูกสาวมาโดยตลอด แต่แล้ววันหนึ่งลูกบอกว่า อยากเป็นผู้ชาย แว็บแรกสำหรับพ่อแม่ยุคเบบี้บูมน่าจะรู้สึกว่าลูกเราผิดปกติหรือเปล่า เขาอาจไม่เข้าใจความแตกต่างและหลากหลายทางเรื่องเพศ ทำให้ต้องปรับความเข้าใจค่อนข้างเยอะ ตัวผมเองหลังจากเปลี่ยนเป็นทรานส์แมนแล้ว คิดเอาเองว่าพ่อกับแม่น่าจะทำใจว่าลูกคงเลือกทางที่อยากจะเป็นได้ในที่สุด พ่อแม่ก็พยายามชื่นชมในสิ่งที่เราเป็น ซึ่งแบบนี้น่าจะดีกว่าการฝืนเพื่อให้ลูกกลับมาเป็นเหมือนเดิม สำหรับคนอื่นรอบตัวที่เจนเนอเรชันเด็กลงมา เขาก็จะเฉยๆ จะเป็นอะไรก็เป็นไปเถอะ เลือกในสิ่งที่อยากเป็นไป”
ความลื่นไหลของความรักและความสัมพันธ์
เราอาจคิดว่าทรานส์แมนมีความรักและความสัมพันธ์กับผู้หญิงเท่านั้น แต่สำหรับคุณฉลามผู้หญิงอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป คุณฉลามบอกกับเราว่า “ก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบันผมก็มีแฟนเป็นผู้หญิงมาตลอด ผมเลิกกับแฟนที่เป็นผู้หญิงไปประมาณ 2 ปี ก็ไม่ได้มีแฟนใหม่อีกเลย ช่วงหลังๆ ผมเริ่มหมดความสนใจกับผู้หญิงไป ตอนนี้ไม่ได้มองผู้หญิงเท่าเมื่อก่อนแล้ว ก็จะมองผู้ชายมากกว่า”
“ผมคิดว่าความรักและความสัมพันธ์ไม่ได้อยู่ที่เพศ มันอยู่ที่การพูดคุย การใช้ชีวิต และการอยู่ร่วมกันมากกว่า”
คอมมูนิตี้ทรานส์แมน
ปัจจุบันคอมมูนิตี้ทรานส์แมนในไทยยังไม่เปิดกว้างมากเท่ากับต่างประเทศ เป็นเพียงการพูดคุยเฉพาะกลุ่มมากวว่า คุณฉลามบอกกับเราว่า
“ในไทยเท่าที่ผมรู้คือ มีเพจเฟซบุ๊กและกรุ๊ปไลน์ เราเป็นคอมมูนิตี้ไม่ใหญ่มาก น่าจะมีทรานส์เมนสัก 2,000 - 3,000 คน ส่วนใหญ่คุยเรื่องการเทคฮอร์โมน การผ่าตัด แต่อาจไม่เยอะเท่าคอมมูนิตี้ของต่างประเทศ ต่างประเทศนั้นเเปิดกว้างกว่าประเทศเรามาก เขามีบล็อก และมีที่ปรึกษาให้คำแนะนำเป็นคุณหมอหรือทรานส์แมนที่เทคฮอร์โมมาแล้วเป็นสิบปี คอมมูนิตี้ของคนไทยเป็นกลุ่มทรานส์แมนที่มาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้คำปรึกษาและแนะนำกันเอง”
“ถ้าพูดถึงด้านกฎหมาย ผมอยากให้เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกคำนำหน้าได้”
คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเปลี่ยนเป็นทรานส์แมน
“ถ้ารู้สึกว่าตัวเองอยากเปลี่ยนแปลง อยากให้คุยกับคนที่บ้าน คุยกับคนรอบตัว คุยกับแฟน ให้เคลียร์ก่อนว่าเราตัดสินใจแล้วนะ มันจะมีผลกระทบแบบนี้ ซึ่งเราต้องไปทำการบ้านมาก่อนด้วยว่า การเทคฮอร์โมนไม่ใช่การเทคแค่ 1 - 2 เดือนแล้วหยุด มันคือจากวันนี้จนเราอายุ 60 ปี แปลว่าเราต้องยอมรับกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ยอมรับกับสุขภาพที่อาจจะแย่ลง และการดูแลร่างกายที่มากขึ้น นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เพราะมีค่าใช้จ่ายในการหาหมอและมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกตกครั้งละ 2,000 - 3,000 บาท”
นิยามความสุขของตัวเอง
“การที่ตื่นมาแล้วยังมีชีวิตอยู่”
“ผมเคยเป็นทุกข์กับร่างกายตัวเองมาก ผมเกลียดทุกอย่างที่แสดงถึงความเป็นหญิงในตัวเอง ผมไม่อยากตื่นขึ้นมา ผมอยากจะหายไป ผมไม่อยากอยู่ในร่างกายนี้ แต่พอถึงจุดนึงที่เราก้าวข้ามตรงนั้นมา เราไปเจอคุณหมอ เราผ่าตัด เรารู้สึกว่าเฮ้ยนี่แหละคือชีวิตของเรา เราอยากตื่นมามีความสุขดี และยังหายใจอยู่ เราชื่นชมตัวเองและร่างกายของเรา มีความสุขในสิ่งที่เราเป็นตอนนี้ นี่คือความสุขในทุกๆ วันเลย”
ติดตามและอัพเดทเรื่องราวเกี่ยวกับคุณฉลามได้ที่ @SnicketShark