Culture

อัตลักษณ์ทางเพศลื่นไหล สรรพนามยุคใหม่ก็เช่นกัน

เคยเป็นไหม? จะเรียกตัวเองว่า ‘ผม’ ก็ไม่ได้ เรียกว่า ‘หนู’ ก็ดูแปลกๆ เรียกว่า ‘ฉัน’ ก็ดูทางการเกิน หรือจะ ‘ข้า’ ก็ดูหลงยุค ทำไมสรรพนามถึงยากขนาดนี้นะ?

คงเพราะวัฒนธรรม แนวคิด ‘ภาษา’ และ ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ เป็นสิ่งที่ลื่นไหลไม่ตายตัว ทำให้อาจมีบ้างที่เราจะสับสนในการใช้ภาษา โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ ที่ไม่รู้ว่าจะเอาตัวเองไปอยู่ตรงไหนของระบบภาษาที่มีการแบ่งเพศอย่างชัดเจน เช่น การใช้ He และ She ในภาษาอังกฤษ ซึ่งที่มาของการแบ่งเพศในภาษาอังกฤษนั้นยังไม่ชัดเจนนัก มีหลายทฤษฎีที่กำลังถกเถียงกันอยู่ อย่างทฤษฎีที่บอกว่าการแบ่งเพศเป็น 2 เพศนั้นเกิดขึ้นจากทางตอนเหนือของอังกฤษ คือแต่เดิมภาษาอังกฤษโบราณ (Old English) นั้น มี 3 เพศ คือ เพศหญิง เพศชาย และเพศกลาง แต่ด้วยปัจจัยด้านภูมิประเทศและด้านวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานกับภาษานอร์สโบราณ (Old Norse) ทำให้คนใช้ภาษาเกิดความสับจนเกิดการเปลี่ยนแปลง และจัดระบบภาษาใหม่ หรืออีกหนึ่งปัจจัยที่อาจจะเป็นเหตุผลในการแบ่งเพศนั้น ก็เพื่อจัดระเบียบทั้งรูป เสียง และความหมายของคำให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น

แต่การจัดหมวดหมู่นั้น ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งก็ดูจะเป็นการแบ่งแยกหรือทำให้คนที่ไม่อยู่ในหมวดหมู่ใดเลยรู้สึกไม่เข้าพวก การแบ่งสรรพนามเพียงแค่สองเพศอย่าง He และ She จึงไม่ค่อยเหมาะกับบริบทของสังคมปัจจุบันที่ผู้คนนิยามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองกันอย่างหลากหลาย ทำให้เกิดการคิดค้นสรรพนามทางเลือกใหม่ๆ ที่เหมาะสม โดยสรรพนามเหล่านี้เรียกว่า ‘Neopronouns’

Credit: https://uwm.edu/lgbtrc/support/gender-pronouns/

ลิสต์คำศัพท์ข้างต้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของสรรพนามใหม่ๆ มากมายนับไม่ถ้วนที่เพิ่งเกิดขึ้นบนโลกเรา โดยคำเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างคำทางเลือกที่มี ‘ความเป็นกลางทางเพศ’ นอกเหนือจากคำว่า They/Them ที่อาจทำให้บางคนเกิดความสับสนว่าเป็นความหมายเชิงเอกพจน์หรือพหูพจน์กันแน่

แนวคิดเบื้องหลังของ Neopronouns นั้น คือการให้ผู้คนได้เลือกตัวตนของตนเอง หรือเลือกอัตลักษณ์ที่ตนเองพึงพอใจที่จะถูกเรียก ภายใต้แนวคิดนี้เอง ทำให้เราสามารถคิดค้น และพัฒนาสรรพนามของตนเองได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการแปลงจากคำนามทั่วๆ ไป เช่น Bun/Bunself หรือสำหรับใครที่อยากนิยามตัวเองว่าเป็นแมวเหมียวตัวน้อยจะตั้งสรรพนามเป็น Kitten/Kittenself ก็ย่อมได้

ทางด้านสื่อบันเทิง หนัง ซีรีส์ ต่างๆ ก็ได้เริ่มมีการเพิ่มตัวละครที่มีอัตลักษณ์เป็น LGBTQ+ เพิ่มมากขึ้น และยังมีการใช้สรรพนามอย่าง they/them ซึ่งถือเป็นการสื่อสารและแสดงออกถึงตัวตนของกลุ่ม LGBTQ+ ได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างตัวละคร Skye จากซีรีส์แนว Coming of age เรื่อง The Summer I Turned Pretty ที่นิยามตนเองว่าเป็น non-binary นอกจากนี้ยังมี Cal Bowman จากซีรีส์วัยรุ่นสุดกวนอย่าง Sex Education อีกทั้งนักแสดงที่รับบทนี้อย่าง Dua Saleh ยังได้กำหนดสรรพนามของตนเองว่า They/Them และ Xe/Xem อีกด้วย

 Credit: https://about.netflix.com/en/news/meet-the-actor-playing-sex-educations-non-binary-character

ฝั่งตะวันตกไปถึงขั้นกว่าของ They/Them จนใช้คำว่า Xe/Xem แล้ว 

ฝั่งไทยล่ะ ตอนนี้ไปถึงไหน? 

ถ้าต้องพูดถึงสรรพนามในบริบทของภาษาไทยแล้ว เรียกได้ว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่ประกอบขึ้นจากหลายวัฒนธรรม หลายกลุ่มความคิด จนมีการแบ่งทั้งเพศและระดับภาษา อย่างคำว่า She ที่แปลได้ทั้ง ‘เขา’ ‘เธอ’ ‘หล่อน’ ‘ชี’ ‘มัน’ ‘แก’ และอีกมากมายนับไม่ถ้วน แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว เรายังสามารถสังเกตเห็นกรอบหรือแนวคิดแบบ Binary ที่อยู่เบื้องหลังคำนั้นๆ ได้อยู่ เช่น ‘เขา’ ที่มีไว้ใช้กับผู้ชาย หรือ ‘หล่อน’ ที่มีไว้ใช้กับผู้หญิง 

ด้วยการประกอบขึ้นจากแนวคิดที่หลากหลายนี้เอง ทำให้ภาษาไทยนั้นลื่นไหลถึงขั้นสุด เรียกได้ว่ามีการผลิตคำศัพท์ใหม่ๆ ในทุกไตรมาส จนทำให้เราที่แม้จะเป็นคนไทยแท้ๆ ก็ยังแอบตกยุคไปบ้าง คือแบบโฮ่งเกิน ยมมาก ตามไม่ทันแล้วคุณน้า 

ความลื่นไหลในภาษาไทยดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่ในเชิงการใช้งานจริงๆ นั้น ก็เป็นเพียงการคุยกันแบบเฉพาะกลุ่ม จึงทำให้ภาษาไทยนั้นยังไม่ค่อยมีคำที่เป็นสรรพนามกลางในการสื่อสารกัน คำที่เรามักจะเห็นบ่อยก็คงเป็นคำว่า ‘เรา’ หรือ ‘นี่’ ซึ่งแทนได้ทั้งชายและหญิง แต่สุดท้ายแล้วก็ยังคงติดเรื่องระดับภาษาอีกเพราะเราคงไม่สามารถแทนตัวเองว่า ‘เรา’ หรือ ‘นี่’ ได้ตอนต้องคุยกับผู้ใหญ่ หรือใช้ในเชิงการทำงาน หรือกฏหมายได้

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยด้านภาษาศาสตร์โดย ดร.ภาวดี สายสุวรรณ ภาควิชาภาษาศาสตร์ จุฬาฯ เสนอไว้ว่าเหล่าพี่กะเทยในสังคมไทยก็พบปัญหาเรื่องการใช้สรรพนามเช่นเดียวกัน ถึงแม้พี่กะเทยส่วนใหญ่จะนิยามตัวเองว่าเป็นเพศที่ 3 ในสังคมไทย และใช้สรรพนามเพศหญิงแทนตัวเองกันส่วนมาก แต่พอต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นทางการ พี่กะเทยเหล่านั้นก็ยังคงเลือกที่จะใช้ สรรพนามบุรุษที่ 1 ตามเพศกำเนิดอยู่ดี

ด้วยข้อจำกัดที่หลากหลายนี้เองจึงทำให้เราไม่ค่อยได้เห็นคนทั่วไป คนในวงการบันเทิง หรือตัวละครที่มีอัตลักษณ์เป็น Non-binary และระบุสรรพนามของตนเองอย่างแจ่มแจ้งมากนักเมื่อเทียบกับฝั่งตะวันตก ทั้งนี้ ก็ยังคงมีคนในวงการบางคนที่ระบุสรรพนามของตนเองชัดเจนอย่างคุณซิลวี่ ภาวิดา ที่ใช้สรรพนามว่า She/Her และ They/Them

แล้วสรรพนามใหม่ๆ ที่ดูแปลกตาเหล่านี้จะใช้ได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ เหรอ?”

การใช้คำสรรพนามทางเพศที่มีอยู่มากมายนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีที่เป็นการสร้างอัตลักษณ์และการยอมรับให้กับกลุ่ม LGBTQ+ แต่ยังคงมีบางกลุ่มที่ดูเหมือนจะไม่พร้อม ไม่ยอมรับ และต่อต้านการใช้สรรพนามทางเพศใหม่ๆ เหล่านี้

ขณะที่เรายังเถียงกันเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ การมีรัฐธรรมนูญสำหรับใช้ในประเทศที่ผ่านการรัฐประหารมา แถมกฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่ได้ร่างด้วยซ้ำ เมื่อปี 2017 (พ.ศ. 2560) อีกฟากหนึ่งของโลกอย่างแคนาดา ก็ไปถึงขั้นการถกเถียงเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับสรรพนามทางเพศกันแล้ว

หลายคนอาจคุ้นหน้าชายผิวขาววัยกลางคนแต่งตัวเป็นสุภาพชน ขวัญใจรถทัวร์ชาวเน็ตนามว่า Jordan Peterson นักวิชาการที่ออกมาต่อต้านการใช้ร่างกฎหมาย ‘Bill C-16’ ซึ่งบังคับใช้ไปเมื่อปี 2017 โดยจุดประสงค์ของร่างกฎหมายนี้คือเพื่อไม่ให้เกิดการคุกคามอัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศ จึงทำให้นักวิชาการรายนี้ออกมาค้านเพราะกลัวว่าจะติดคุกจากการไม่เรียกสรรพนามตามเพศของคู่สนทนา โดยเขาบอกว่าเป็นการปกป้อง Freedom of speech แถมยังแย้งอีกว่าสรรพนามเหล่านี้จะเป็นปัญหาต่อโครงสร้างภาษา

Credit: https://thevarsity.ca/2016/10/17/tensions-flare-at-rally-supporting-free-speech-dr-jordan-peterson/

แต่! สิ่งที่เกิดขึ้นในสวีเดนกลับเป็นการพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าการใช้สรรพนามใหม่ที่มีความเป็นกลางทางเพศสามารถทำได้จริง ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาได้มีการคิดคำสรรพนามใหม่ในภาษาสวีดิช คือคำว่า hen ซึ่งเป็นสรรพนามกลางใช้เรียกได้ทุกเพศ เกิดมาจากการผสมคำว่า Hon (She) และ Han (He) เข้าด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ Hen ยังเป็นที่ยอมรับกันอย่างทั่วไป ทั้งการพูดกันในชีวิตประจำวัน สื่อ รวมทั้งวรรณกรรมอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงและความลื่นไหลของภาษาเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่คอยบอกว่าภาษานั้นยังมีชีวิตอยู่ อีกทั้งยังต้องยืดหยุ่นเข้ากับยุคสมัยไม่เก่าไปตามเวลา เพราะหากทุกภาษาถูกแช่ไว้ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง ก็ราวกับว่าเราแช่แข็งวัฒนธรรมไปด้วย และภาษาที่ไม่ตอบโจทย์การใช้งานของคนในแต่ละยุคสมัย ก็คงจะค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา

หากการยอมรับคำศัพท์ใหม่ๆ เป็นเรื่องยากจริงๆ สำหรับคนที่ตามความครีเอทในการคิดสรรพนามของเหล่า LGBTQ+ ไม่ทัน อีกหนึ่งวิธีที่ดูจะง่ายและเป็นทางสายกลางที่สุดก็คงต้องกลับไปที่คำว่า they/them ที่ดูจะเป็นคำกลาง ใช้ได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มความคิด โดยไม่ต้องให้คนอย่าง Peterson เปลืองเมมโทรศัพท์ในการวงเล็บข้างหลังชื่อคนว่า Xe/Xem ไม่ก็ Kitten/Kittenself ถึงอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าให้ปฏิเสธ Neopronouns ไปเลย เพียงแต่ให้คำว่า They/Them เป็นคำพื้นฐานทั่วไปที่ทำให้ทั้งคนที่อยู่ในคอมมูฯ และคนที่ตามกระแสสังคมไม่ทันได้ใช้สื่อสารกันอย่างทั่วถึง

ดังนั้นการสร้างสรรพนามใหม่ เพื่อให้ทุกคนได้เลือกอัตลักษณ์ของตัวเอง และถูกเรียกด้วยสรรพนามที่แสดงถึงการมีตัวตนในสังคม ก็เหมือนกับแนวคิดของ Judith Butler นักปรัชญา ผู้ให้กำเนิด Queer Theory ที่เสนอไว้ว่า เพศเป็นสิ่งที่ลื่นไหล ไม่ตายตัว และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อย่างนั้นแล้วในด้านภาษาก็คงไม่ต่างกัน ในอนาคตเราอาจเรียกแทนตัวเองว่า ‘เหมียว’ จนเป็นเรื่องปกติก็ได้ 

“Language is the road map of a culture. It tells you where its people come from and where they are going.” 

(ภาษาคือเส้นทางของวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงที่มาของเรา รวมถึงที่ที่เรากำลังจะไป)

Rita Mae Brown

อ้างอิง