จากแอ็กเคานต์เรื่องเล่าเขย่าขวัญที่เกิดขึ้นทั่วโลกบนทวิตเตอร์ ติ๊กต็อก และยูทูป สู่สารคดีติดอันดับคนดูมากที่สุดในเน็ตฟลิกซ์ ไปจนถึงรายการพอดแคสต์แนว ‘True Crime’ ที่เล่าเรื่องราวการสืบสวนคดีฆาตกรรม หรือประวัติของฆาตกรต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้คือคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำไมคนเราถึงหลงใหลในการติดตามเรื่องราวคดีฆาตกรรมที่น่ากลัวและชวนให้จิตตก แล้วความนิยมคอนเทนต์แนวนี้ที่เพิ่มมากขึ้นสะท้อนความเป็นไปของสังคมอย่างไร EQ จะร่วมหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้
คนชอบเรื่องราวเลือดสาดมานานแล้ว
จริงๆ แล้วความชอบเรื่องเล่าอาชญากรรมเลือดสาดสุดสยองขวัญไม่ใช่เรื่องใหม่ ถ้าเคยได้ยินเรื่องเล่าของคนสมัยก่อนที่ยอมจ่ายเงินเข้าไปดูการประหารชีวิต ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะทำให้เราเห็นภาพความชื่นชอบเรื่องราวน่ากลัวของคน
หลักฐานแรกๆ ที่แสดงให้เห็นว่าคนชอบเรื่อง True Crime คือในช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราการรู้หนังสือของคนเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ที่ได้รับการพัฒนา ก็ทำให้เรื่องราวอาชญากรรมถูกเผยแพร่มากขึ้น เกิดเป็นจุลสารขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 6-24 หน้า ที่บรรยายเหตุการณ์ฆาตกรรมอันแสนโหดร้ายทารุณอย่างละเอียด และได้รับความนิยมจากคนในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ต่อมาในยุควิคตอเรียน ซึ่งเป็นยุคที่ผู้คนหมกมุ่นอยู่กับความตาย ก็มีเรื่องราวของ ‘แจ็ค เดอะ ริปเปอร์’ (Jack the Ripper) ฆาตกรต่อเนื่องผู้โด่งดัง ที่กลายเป็นเรื่องที่สร้างความเขย่าขวัญให้กับคนในสมัยนั้น โดยวิธีการฆ่าของเขาถูกบรรยายอย่างละเอียดในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
แม้ความนิยมคอนเทนต์ True Crime ในรูปแบบของสารคดี ภาพยนตร์ หรือพอดแคสต์จะเป็นเรื่องใหม่ แต่เรื่องเล่าและนิยายที่บรรยายเรื่องราวอาชญากรรมซึ่งเกิดขึ้นจริงก็ได้รับความนิยมในหมู่คนทั่วไปมาเป็นเวลานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากความนิยมอ่านนิยายหรือหนังสือแนวอาชญากรรม ที่มักจะติดอันดับยอดนิยมอยู่เสมอ
ทำไมคนจึงชอบเรื่อง True Crime
แล้วทำไมคนถึงชอบเสพเรื่องราวเหล่านี้? ‘ดีน ไฟโด’ (Dean Fido) อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา University of Derby Online Learning ระบุว่า True Crime มีความแตกต่างจากรายการทั่วไปที่มีเรื่องราวพื้นหลังอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากมันคือสิ่งที่เราต้องให้ความสนใจในรายละเอียดของเรื่องราวที่ถูกเล่าออกมา เราจะไม่สามารถเล่นโทรศัพท์ในขณะที่ฟังเรื่องเล่าพวกนี้ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็อาจจะพลาดส่วนที่สำคัญของเรื่องไปเลย
“ในฐานะมนุษย์ เราต่างมองหาบางอย่างที่เป็นเรื่องที่มีความแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม เราต้องการอะไรบางอย่างที่จะช่วยสร้างความตื่นเต้นให้กับเรา เมื่อผสมความต้องการเหล่านี้เข้ากับเรื่องราวอาชญากรรม มันก็จะกระตุ้นอารมณ์พื้นฐานของคนเรา นั่นคือความกลัว แต่เป็นความกลัวในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย” ดีนกล่าว
เมื่อเราทำตัวเป็น ‘นักสืบบนโซฟา’ หรือในยุคนี้อาจเรียกว่าเป็น ‘นักสืบโซเชียล’ เราก็พร้อมที่จะซึมซับทุกรายละเอียดของคดีที่เกิดขึ้น เหตุผลข้อหนึ่งของพฤติกรรมดังกล่าวคือความสนุกที่ได้ไขคดีที่เป็นปริศนา แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือ เราต้องการจะได้เห็น ‘คนร้าย’ ได้รับการลงโทษจากการกระทำของตัวเอง ‘ลินดี บูสเต็ดท์’ (Lindy Boustedt) โปรดิวเซอร์และผู้กำกับแห่ง First Sight Productions ชี้ว่า True Crime ทำให้คนทั่วไปมองเห็นว่าท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย การเกาะติดข่าวคดีฆาตกรรมก็ทำให้มองเห็นความยุติธรรมอยู่บ้าง ว่าในท้ายที่สุดแล้ว คนดีจะได้รับชัยชนะ และคนชั่วจะได้รับการลงโทษ
ด้าน ‘รอส วอตกินส์’ (Roz Watkins) นักเขียนหนังสือชุด DI Meg Dalton อธิบายว่า ความหลงใหลใน True Crime ก็เหมือนกับความหลงใหลในเรื่องเล่าทั่วไป และเรื่องเล่า True Crime เหล่านี้ก็มักจะสอนเราเกี่ยวกับเรื่องคนอื่น เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยบนโลกใบนี้ โดยมันจะเปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสประสบการณ์ที่เลวร้ายของคนอื่น ทำให้เราเข้าใจการกระทำของอาชญากร พร้อมวิธีการเอาตัวรอดและหาทางออกจากสถานการณ์นั้นๆ ของเหยื่อ โดยที่เราไม่ต้องตกอยู่ในอันตรายจริง ซึ่งเหตุผลนี้ก็สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมผู้หญิงจึงติดตามเรื่องราวอาชญากรรมมากกว่าผู้ชาย
ผู้หญิงติดตามเรื่อง True Crime มากกว่าผู้ชาย
ในปี ค.ศ. 2010 งานวิจัยเรื่อง “Captured by True Crime: Why Are Women Drawn to Tales of Rape, Murder, and Serial Killers?” ของ University of Illinois พบว่า 70% ของคนที่รีวิวหนังสืออาชญากรรมบนเว็บไซต์ Amazon คือผู้หญิง ความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ติดตามคอนเทนต์ True Crime มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อ ‘ไมค์ บูเด’ (Mike Boudet) ซึ่งเป็นพิธีกรพอดแคสต์เกี่ยวกับอาชญากรรมสุดโด่งดัง รายการ Sword and Scale ระบุว่า มากกว่า 70% ของแฟนรายการคือผู้หญิง อายุระหว่าง 25-45 ปี
จากงานวิจัยข้างต้น ระบุว่าเหตุผลที่ผู้หญิงติดตามเรื่อง True Crime เพราะเรื่องราวเหล่านี้ช่วยให้ข้อมูลที่ผู้หญิงรู้สึกว่า สามารถช่วยให้พวกเธอหลีกเลี่ยงภัยต่างๆ รอบตัวได้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้าที่ชี้ว่า ผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าผู้ชาย และการเรียนรู้จากเรื่องราวของผู้รอดชีวิต หรือคนที่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมาก่อน ก็ทำให้ผู้หญิงสามารถที่จะหาทางหนีทีไล่ให้กับตัวเองได้
อย่างไรก็ตาม ดีนเสริมว่ารายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร ปี ค.ศ. 2018 ระบุว่าผู้ชายกว่า 2.3% มักตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าผู้หญิงอยู่ที่ 1.2% แต่ผู้หญิงจะรู้สึกหวาดกลัวอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นกับพวกเธอมากกว่า เป็นสาเหตุว่าทำไมผู้หญิงจึงสนใจที่จะหาวิธีเข้าใจอาชญากรและสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเธอ ผ่านการติดตามคอนเทนต์ True Crime
“มันคือความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคม ผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกสอนให้ระมัดระวังการกระทำของตัวเอง รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิด และบางครั้งก็ให้ระวังจินตนาการของตัวเอง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงชอบเรื่อง True Crime เพราะเวลาที่พวกเธอเห็นว่าพวกโรคจิตได้รับการลงโทษ หรือเห็นคนร้ายถูกจับเข้าคุก ผู้หญิงจะรู้สึกโล่งใจ โดยที่ไม่ถูกคนอื่นตัดสิน” – ‘ฟรานเซสกา ดอร์ริคอตต์’ (Francesca Dorricott) นักเขียนแนวอาชญากรรม
“ผู้หญิงที่ติดตามเรื่อง True Crime ส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกสงสารเหยื่อด้วย อาจเพราะมันเป็นเรื่องง่ายที่ผู้หญิงจะเอาตัวเองไปอยู่ในจุดเดียวกับเหยื่อผู้หญิงที่ปรากฏอยู่ในรายการเหล่านั้น” – ดีน
แน่นอนว่าผู้ชายและผู้หญิงต่างก็มีความชื่นชอบเรื่อง True Crime ได้เหมือนกัน แต่ในสังคมที่ยังมีความไม่เท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้น ‘เพศหญิง’ ซึ่งถูกมองว่าอ่อนแอกว่าเพศชาย ก็ยังได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างและมีอันตรายมากกว่า ดังนั้น คงจะดีกว่าหากทุกคนร่วมด้วยช่วยกันสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับคนทุกเพศและทุกวัยอย่างแท้จริง แล้วให้เรื่องราว True Crime กลายเป็นแค่เรื่องเล่าในอดีต ให้พวกเราได้เรียนรู้ และหาทางป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
อ้างอิง
- “The Bloody History of the True Crime Genre” by Pamela Burger
- “Why are we so obsessed with true crime? Here’s what the experts say” by Evelyn Richards
- “Why are we so obsessed with true crime?” by University of Derby
- “The Psychology Behind Society’s True Crime Obsession” by Jess Scherman
- “Women, more than men, choose true crime over other violent nonfiction” by Diana Yates