‘TUK UP’ สตาร์ทอัพเพื่อสังคม กับการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแฟนคลับ

ภาพจำของกลุ่มแฟนคลับสำหรับคุณแล้วคืออะไร? ซีรีส์ คอนเสิร์ต เสียงกรี๊ด งานอีเว้นท์ ป้ายโฆษณา หรือคนที่รอกันเต็มสนามบิน แต่สำหรับผู้เขียนนั้นมองว่า ‘แฟนคลับ’ คือกลุ่มคนที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ยิ่งในช่วงที่บ้านเมืองต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต ก็ยิ่งช่วยตอกย้ำว่าความคิดนี้ไม่ได้เกินจริงเลย เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อตุลาคม 2563 ที่มีกระแสการแบนพื้นที่ป้ายโฆษณาของกลุ่มนายทุนจากกลุ่มแฟนคลับ ก็ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ป้ายว่าง” ครั้งใหญ่ขึ้นในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ จากเดิมที่จะต้องมีการทำโปรเจกต์เฉลิมฉลองให้ศิลปินตลอดทั้งปีจนต้องจองป้ายกันข้ามเดือนหรือข้ามปี ก็กลายเป็นความเงียบในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ และนอกจากจะทำให้กลุ่มนายทุนขาดรายได้แล้ว แรงขับเคลื่อนของพวกเขายังได้ช่วยกระจายรายได้สู่คนตัวเล็กๆ เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงนี้ได้อีกด้วย ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้พิสูจน์แล้วโดย โต๊ด - ฐิติพงศ์ โลหะเวช ผู้ก่อตั้ง TUK UP กลุ่มสตาร์อัพวัยเรียนที่รวมตัวกันมาช่วยคนขับตุ๊กตุ๊กทั่วกรุง

“ผมมองว่ากลุ่มแฟนคลับสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมและช่วยเหลือคนในสังคมได้จริง การกระทำของพวกเขามันเป็นสุดยอดความคิดที่เจ๋งมาก”

จากความคิดนิสิตสู่ธุรกิจเพื่อสังคม

โต๊ดเล่าให้เราฟังถึงที่มาของโปรเจกต์นี้ว่า TUK UP เป็นธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนขับตุ๊กตุ๊กในเมืองหลวงนับร้อยคันให้อยู่รอดได้ในช่วงโควิด-19 ดูแลโดยกลุ่มสตาร์อัพวัยเรียน 11 คนจากรั้วสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

“บ้านผมเปิดอู่ตุ๊กตุ๊กให้เช่าอยู่ที่ศาลาแดงมาเป็นสิบปีแล้ว พอมีโควิดและมีคำสั่งล็อกดาวน์ ธุรกิจก็ลำบากมาก น้าคนขับตุ๊กตุ๊กขาดรายได้เพราะไม่มีผู้โดยสาร หลายคนต้องกลับต่างจังหวัด เพราะไม่มีเงินเช่าห้อง จากปกติจะมีคนขับอยู่เกือบ 40 คัน ก็เหลือแค่ 5 คัน แล้วบ้านผมเป็นแค่ SMEs ยังต้องกู้เงินมาหมุนเวียนทำธุรกิจอยู่ พอไม่มีคนขับ รายได้ก็ไม่เข้า เดือดร้อนกันไปหมด และด้วยความที่ผมอยู่กับน้าๆ เขามานาน เลยเข้าใจดีถึงความลำบากของคนหาเช้ากินค่ำ ก็เลยมาคุยกับเพื่อนในกลุ่มว่าอยากลองทำสตาร์ทอัพอะไรสักอย่างเพื่อช่วยคนขับตุ๊กตุ๊ก และเกิดเป็น TUK UP ขึ้นเมื่อ ก.พ. 64 ครับ ซึ่งตอนแรกจะมีแค่บริการส่งคนก่อน ขอรถจากที่บ้านและน้าคนขับที่สมัครใจให้มาวิ่งรับส่งคนในมหา’ลัย โดยที่บ้านผมจะซัพพอร์ทค่าแก๊สให้ และให้ขับฟรีเลย ถ้าขับได้เท่าไหร่ก็รับไปเต็มๆ แล้วขยายไปเป็นรับส่งคนจากม.เกษตร - บางบัว – เซ็นลาดฯ ในราคา 30 บาทตลอดสาย เพื่อเพิ่มรายได้ให้คนขับและช่วยนิสิตให้ได้นั่งรถราคาถูก”

เจาะตลาดแฟนคลับ

หลังจากมีบริการส่งคนแล้ว โควิดดันหนักขึ้นอีก ทำให้คนไม่ออกจากบ้าน รายได้คนขับไม่ดีอย่างที่คิด เราเลยต้องเพิ่มบริการรับ – ส่งสัตว์เลี้ยงที่มาใช้บริการรพ.สัตว์เกษตร แต่ก็มีคนใช้บริการน้อย พอดีกับที่มีกระแสแฟนคลับแบนป้ายโฆษณาของนายทุน บวกกับมีเพื่อนในกลุ่มที่เป็นแฟนคลับอยู่ด้วย เราเลยคิดว่าการทำป้ายโปรเจกต์ให้ศิลปินติดหลังป้ายตุ๊กตุ๊กเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ เพราะยังไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ และคิดว่าน่าจะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งให้คนขับได้ ก็ตกลงว่าจะทำ โดยให้เพื่อนที่เป็นแฟนคลับชูก้า วง BTS ลองทำป้ายโปรเจกต์แปะรถตุ๊กตุ๊กที่วิ่งในมอดูก่อน ปรากฏว่ากระแสดี และมีคนติดต่อเข้ามาทำโปรเจกต์มากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้บริการติดตั้งป้าฮิตแซงอันอื่น เราเลยหันมาเน้นบริการด้านทำป้ายติดป้ายศิลปินแบบครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบ ติดตั้งป้าย และพารถไปถ่ายรูปกับวิวสวยๆ ในกรุงเทพ ซึ่งตอนแรกเรามีรถจำกัด ต้องปฏิเสธแฟนคลับไปหลายคนเลย แต่พอเราทำแล้วได้รับผลตอบรับดี ก็เริ่มมีคนขับตุ๊กตุ๊กจากภายนอกอู่เข้ามาติดต่อขอเป็นพื้นที่ติดป้ายเองด้วย ทำให้ตอนนี้มีจำนวนตุ๊กตุ๊กที่พร้อมให้บริการกว่า 100 คันแล้ว

“รายได้ของคนขับไม่ได้มาจากค่าติดป้ายอย่างเดียวนะครับ แต่ยังมีสินน้ำใจที่แฟนคลับให้น้าๆ เขาต่างหากด้วย เพราะตุ๊กตุ๊กจะไม่ได้อยู่ที่เดิมตลอด ถ้าหากแฟนคลับอยากถ่ายรูปกับป้ายก็ต้องติดต่อมาที่เราเพื่อเรียกตุ๊กตุ๊กให้ไปตามจุดต่างๆ ซึ่งเงินพวกนี้เราจะไม่มีการหักเปอร์เซ็นต์ใดๆ ทั้งสิ้น คนขับรับเต็มทั้งหมด มันเลยทำให้พวกเขามีกำลังใจขึ้นเยอะ ผมคิดว่ามันสุดยอดมาก เพราะในขณะที่ไม่มีลูกค้าใช้บริการ แต่เขาก็ยังมีแรงสนับสนุนจากกลุ่มแฟนคลับ”

ยึดหลักแฟร์ - แฟร์

ตอนที่เริ่มรับติดป้ายโปรเจกต์ก็มีดราม่าเกิดขึ้นบ้าง เช่น คนขับตุ๊กตุ๊กแอบแกะป้ายออก หรือแฟนคลับหาป้ายไม่เจอ ซึ่งผมไม่อยากให้ใครต้องเสียความรู้สึก เลยจะพยายามให้บริการที่แฟร์กับทุกคนอย่างเต็มที่ เพราะการที่แฟนคลับเลือกติดป้ายกับเราก็เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับศิลปินและช่วยเหลือคนขับตุ๊กตุ๊กด้วย ดังนั้นคนขับก็ต้องช่วยโปรโมตให้ลูกค้าเต็มที่ ซึ่งเวลาติดป้ายผมจะมีเงื่อนไขชัดเจนว่าคนขับต้องทำอะไรบ้าง และจะลงไปช่วยควบคุมดูแลทุกอย่างให้เรียบร้อย ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรไม่ดี หรือผิดไปจากที่ตกลงกัน ทีมเราก็จะรีบเทคแอ็คชั่นทันทีครับ

พลังขับเคลื่อนจากแฟนคลับ

“ผมรู้สึกขอบคุณกลุ่มแฟนคลับมากๆ ที่มาช่วยเหลือคนขับตุ๊กตุ๊กในโปรเจกต์ของเรา เพราะมันไม่ได้ช่วยแค่บ้านผม แต่มันยังช่วยเหลือคนขับตุ๊กตุ๊กอีกเยอะมาก แม้ค่าติดป้ายจะหักลบออกมาแล้วเหลือเพียงหลักร้อย แต่มันเป็นราคาที่ก็ทำให้ทุกคนอยู่ได้ เมื่อก่อนมีคำพูดที่ว่าคนตัวเล็กแบบพวกเราจะทำอะไรได้ แต่ตอนนี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่ามันเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงจริงๆ พอกลุ่มแฟนคลับที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเดียวกับเรามารวมพลังกัน มันสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมและช่วยเหลือคนได้จริง วันนี้แฟนคลับเขากระจายรายได้กลับคืนมาให้สังคมเยอะมาก ไม่ใช่แค่ตุ๊กตุ๊กเท่านั้นแต่ยังมีร้านรถเข็นสตรีทฟู้ด การบริจาคเงินให้โรงพยาบาล และการจัดงานที่คาเฟ่ต่างๆ ซึ่งมันช่วยช่วยขับเคลื่อนสังคมและพยุงเศรษฐกิจบ้านเราได้ในระดับหนึ่งเลย” 

เราจะเห็นได้ว่า TUK UP อาจช่วยเหลือคนขับตุ๊กตุ๊กมากมายขนาดนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่มีแรงสนับสนุนจากกลุ่มแฟนคลับหลากหลายด้อม ซึ่งงานนี้ EQ ก็ไม่พลาดที่จะพาไปคุยกับแฟนคลับที่ร่วมแบนนายทุนและหันมาอุดหนุนสตาร์ทอัพเพื่อสังคมเจ้านี้กันด้วย เพื่อให้เห็นมุมมองที่น่าสนใจมากขึ้นว่า คิดเห็นอย่างกับการที่วันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนสังคม และสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

แอคเคาท์ทวิตเตอร์ @jangkiyongTH กลุ่มแฟนคลับของนักแสดงหนุ่มจางกียง​ จากซีรีส์​เกาหลี 'My​ Roommate​ is​ a Gumiho' ที่ทำป้ายโปรเจกต์ฉลองวันเกิดให้เมนตัวเองตลอดทั้งเดือนสิงหาคม บอกกับเราว่า “เมื่อครั้งที่มีการปิดบริการระบบขนส่งมวลชนบางแห่งในช่วงที่มีการชุมนุมตอนปลายปี 63 ทำให้ประชาชนได้รับความลำบาก ​ส่วนตัวก็รู้สึกไม่ค่อยพอใจ​ เลยเลือกใช้สื่ออื่นๆ อย่าง TUK UP ในการโปรโมทศิลปินแทนพื้นที่ของนายทุน เพราะราคาเข้าถึงได้ และอยากช่วยคนตัวเล็กที่ลำบากจากสถานการณ์โควิดให้มีรายได้มากขึ้น พอเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งนอกจากติดป้ายที่รถตุ๊กตุ๊กแล้ว เรายังมีการรวบรวมเงินจากเพื่อนๆ แฟนคลับไปบริจาคกับทางมูลนิธิกระจกเงา​ เพื่อให้ทางมูลนิธินำทุนไปช่วยสังคมต่อไปด้วยค่ะ”

ทางด้าน @JaabvesOfficial ที่ได้เลือกทำโปรเจกต์ฉลองวันเกิดปีที่ 21ให้นักแสดงนำจากซีรีส์ Ydestiny อย่าง จ๊าบ - ภูมิสิทธิ์ เวศกิจกุล แบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจว่า “พลังของแฟนคลับก็คือพลังของประชาชน ถ้าถอดคำว่าแฟนคลับออก เราก็คือประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนประเทศและเศรษฐกิจ ผมคิดว่าทุกคนสามารถขับเคลื่อนสังคมได้หมดครับ การกระทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ย่อมมีผลทั้งนั้น การร่วมกันแบนพื้นที่สื่อของนายทุนที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมมันก็เหมือนการแบนสินค้าอื่นๆ ที่เราย่อมมีสิทธิ์ทำได้ ถึงเราอาจจะไม่ใช่กลุ่มลูกค้าหลักของเขา แต่เชื่อว่ารายได้ที่หายไปย่อมมีผลกระทบ อย่างน้อยก็กับ cash flow ของบริษัท ซึ่งการอุดหนุนพื้นที่สื่อของรถตุ๊กตุ๊กวันนี้มันยังดูแปลกใหม่ แต่นานวันเข้ามันก็จะถูก normalize ให้เป็นพื้นที่สื่อทั่วไปที่คนใช้กัน”

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ EQ รวบรวมมาให้ผู้อ่านได้มองเห็นถึงอีกมิติหนึ่งของกลุ่มแฟนคลับ ว่าแท้จริงแล้วพลังของพวกเขานอกจากจะแบกกล้อง ปีนเก้าอี้ ตามเชียร์ศิลปิน หรือกดบัตรคอนเสิร์ตได้ภายในไม่กี่วินาทีแล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนสังคมให้ไปในทางที่ดีขึ้นได้อีกด้วย 

ติดตาม TUK UP และแฟนด้อมไหนที่ต้องการทำโปรเจกต์ให้ศิลปินติอต่อได้ที่ 

Twitter: @tuk_up
Instagram: tuk_up.official
Line: @tuk.up