เรื่องความหลากหลายในวงการแฟชั่น เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงและมีการรณรงค์มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาติพันธุ์ สีผิว เพศ ไซซ์ และความแตกต่างอื่นๆ จนเป็นที่แจ้งเกิดของเหล่าโมเดลที่เราเรียกกันว่า ‘Ugly Models’ ซึ่งไม่ได้มีความหมายตรงตัวเชิงเหยียดหยันว่า ‘ขี้เหร่’ แต่เป็นคำเชิงประชดประชันว่าไม่ได้อยู่ในขนบของมาตรฐานความสวยงามของวงการแฟชั่น พูดง่ายๆ ก็คือไม่ได้มาในลุค ‘เบลล่า ฮาดิด’ (Bella Hadid), ‘จีจี้ ฮาดิด’ (Gigi Hadid), ‘เคนดัล เจนเนอร์’ (Kendall Jenner) หรือ ‘ไคอา เกอร์เบอร์’ (Kaia Gerber)
เราเพิ่งจะเห็นความเคลื่อนไหวในเรื่องความแตกต่างที่หลากหลายจริงๆ ไม่ใช่เรื่องสีผิวหรือชาติพันธุ์ ก็ลามเข้ามาในช่วงปี ค.ศ. 2016 ที่กระแสเรื่อง Ugly Models เริ่มมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง เริ่มต้นจาก ‘ชานเทลล์ วิทนีย์ บราวน์ ยัง’ (Chantelle Whitney Brown-Young) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘วินนี่ ฮาร์โลว’ (Winnie Harlow) นางแบบสาวที่มีสภาพผิวที่เรียกว่าโรคด่างขาว (Vitiligo) หรือการที่ผิวในบางจุดไม่มีการเจริญเติบโตของเม็ดสี จึงทำให้ผิวดูเหมือนมีความด่างเป็นจุดๆ เหมือนโดนไฟคลอก หรือในแบบที่เธอถูกล้อในตอนเด็กว่าผิวดูเหมือนวัว
วินนี่ ฮาร์โลวเข้าประกวดในรายการ American’s Next Top Model ในปี ค.ศ. 2014 แม้จะไม่ชนะ ความแตกต่างนี้ก็ทำให้เธอเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และก้าวขึ้นมาเป็นนางแบบระดับแถวหน้าของวงการแฟชั่น พร้อมๆ กับการรณรงค์ความแตกต่างหลากหลายในวงการแฟชั่น คนที่ดังควบคู่กับวินนี่ ฮาร์โลว ก็คือ ‘ฌอน รอสส์’ (Shaun Ross) นายแบบผิวเผือก ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของยีนส์ในร่างกายเช่นเดียวกัน โดยทั้งคู่กลายมาเป็นนางแบบนายแบบสุดฮอตที่ได้ขึ้นรันเวย์ และถ่ายแคมเปญให้กับแบรนด์ต่างๆ ในช่วงเวลานั้น หลากหลายแบรนด์ต่างก็พยายามจะโอบรับความแตกต่างหลากหลายเป็นอย่างดี
แต่ถามว่าหลังจากนั้น มีนางแบบนายแบบอย่าง วินนี่ ฮาร์โลว หรือ ฌอน รอสส์ ที่ก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงและได้ทำงานในวงการนี้บ้างอีกหรือเปล่า...เราแทบจะนึกชื่อไม่ออก
ในช่วงเดียวกันนั้นยังมีนางแบบพลัสไซซ์อย่าง ‘แอชลีย์ เกรแฮม’ (Ashley Graham) ที่กำลังก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงและช่วยให้วงการแฟชั่นหันมารวมนางแบบพลัสไซซ์เป็นส่วนหนึ่งในความหลากหลายบนรันเวย์อีกด้วย หากเปรียบเทียบนางแบบนายแบบที่มีความผิดปกติทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยีนส์ หรือความพิการ กับนางแบบนายแบบพลัสไซซ์ ดูเหมือนว่าส่วนหลังนั้นจะมีความยั่งยืนมากกว่า ในขณะที่ส่วนแรกนั้น นอกจากจะมีจำนวนน้อยแล้ว ยังกลายเป็นเพียง ‘เทรนด์’ อย่างประเดี๋ยวประด๋าวอีกด้วย
กลายเป็นเหมือนกับว่าแบรนด์แฟชั่นไม่ได้สนใจ หรือใส่ใจที่จะใช้นางแบบนายแบบที่มีความแตกต่างหลากหลายจริงๆ (ยกเว้นเรื่องสีผิวและชาติพันธุ์) มันเป็นเพียงแค่เทรนด์ที่ออกมาตอบรับกระแสสังคมเป็นช่วงๆ จนดูราวกับว่าเป็นเพียงข่าว CSR ของแบรนด์แฟชั่นเพื่อให้สังคมรับรู้ว่าแคร์เรื่อง diversity ในการใช้นางแบบนายแบบ อีกหนึ่งเฉดของเรื่อง diversity ในวงการแฟชั่นก็คือ ความหลากหลายทางเพศ หากย้อนกลับไปก็จะเห็นว่ากระแสโมเดลข้ามเพศ (trans model) นั้นเริ่มเข้มข้นขึ้นมาในช่วงปี ค.ศ. 2010 ที่มีทรานส์ซูเปอร์โมเดลคนแรกอย่าง ‘ลีอา ที’ (Lea T) ที่ได้ทำงานให้กับ Givenchy ตามมาด้วย ‘อังเดรจ์ เพชิค’ (Andrej Pejic) ที่เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นหนุ่มหน้าสวยหรือที่เรียกว่า androgynous model ก่อนที่จะกลายมาเป็นทรานส์โมเดลในเวลาต่อมา และหากเป็นผู้ชายข้ามเพศ ซึ่งมีน้อยมาก ก็จะมีชื่อของ ‘นาธาน เวสต์ลิง’ (Nathan Westling) เพียงหนึ่งเดียว ที่สร้างชื่อจากรันเวย์ Prada ในคอลเลคชั่น Spring/Summer 2020
ลีอา ที, อังเดรจ์ เพชิค, นาธาน เวสต์ลิง | Photo credit: Observatório G / Paris Match / i-D Magazine
ที่จริง Ugly Models นั้นยังมีความหมายถึงกลุ่มคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการพิจารณาจากเพศ สีผิว ชาติพันธุ์ รูปร่าง หรือความผิดปกติทางร่างกายที่ไม่ได้อยู่ในขนบตามมาตรฐานของวงการแฟชั่นเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง ‘หน้าตา’ ที่อาจไม่ได้สวยหล่อในแบบท็อปโมเดลอย่างที่เราเห็นๆ กัน จนเกิดเป็นคำถามว่า “หน้าตาแบบนี้ก็เป็นนางแบบ/นายแบบได้เหรอ?”
กระแส Ugly Models ในแบบนี้มาพร้อมกับกระแสแฟชั่นที่เรียกว่า Anti-Fashion นำโดยแบรนด์อย่าง Vetements และตอนนี้ก็มีแบรนด์อย่าง Balenciaga ขึ้นมาเป็นหัวหอก ที่นำเอาโมเดลที่ไม่ได้อยู่ในขนบของมาตรฐานความสวยหล่อของวงการแฟชั่นมาใช้ รวมไปถึงแบรนด์รุ่นใหม่ต่างๆ ที่เกิดตามมาหลังจากนั้น โดยเฉพาะในฝั่งนิวยอร์ก และลอนดอน ที่ราวกับเอาเพื่อนๆ เพื่อนของเพื่อน คนรู้จัก คนข้างบ้าน ใครก็ตามมาเดินแบบพรีเซนต์เสื้อผ้าบนรันเวย์ โดยไม่จำเป็นต้องสวยหล่อในแบบนางแบบนายแบบ หรือหุ่นดีตามขนบเดิม รวมไปถึงอีกหนึ่งในความหลากหลายของนางแบบนายแบบในเฉดนี้ก็คือ อายุ ซึ่งจะเห็นว่า Vetements หรือ Balenciaga เองก็เริ่มใช้นางแบบนายแบบที่มีอายุมากในการนำเสนอเสื้อผ้าในทุกๆ คอลเลคชั่น จนเกิดเป็นความเคลื่อนไหวอีกหนึ่งเฉดของเรื่อง diversity ในวงการแฟชั่น
Photo credit: Vogue / i-D Magazine
แม้จะดูเหมือนว่าประเด็นเรื่อง diversity ในวงการแฟชั่นมีความก้ำกึ่งระหว่างการเป็นเพียงข่าวโปรโมตของแบรนด์กับความใส่ใจในการที่จะขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งนั้นจริงๆ แต่จากข้อมูลในฤดูกาลล่าสุด Fall 2022 ก็จะเห็นว่าประเด็นเรื่อง diversity บนรันเวย์แฟชั่นนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้น (เล็กน้อย) อยู่บ้าง
จาก The Fashion Spot พบว่าจากการพิจารณาจำนวนโมเดลที่เดินแบบในซีซั่นนี้จำนวน 4,409 คน ใน 193 โชว์ มีโมเดลผิวสี (Non-White) ถึง 48.6% เพิ่มขึ้นจากซีซั่นที่แล้วเล็กน้อยจากเดิม 40% และเมื่อพิจารณาจากแฟชั่นวีคหลักทั้ง 4 เมือง จะพบว่านิวยอร์กแฟชั่นวีคเป็นเมืองที่มีความหลากหลายในการใช้โมเดลมากที่สุด รองลงมาก็คือลอนดอน ปารีส และมิลาน
Photo credit: Fashionista
ในบรรดาท็อปโมเดล 12 คนที่ได้เดินเป็นจำนวนหลายโชว์ พบว่าครึ่งหนึ่งเป็นนางแบบผิวสี โดยอันดับหนึ่งคือ ‘อเมริกา กอนซาเลซ’ (América González) นางแบบชาวเวเนซูเอล่า ได้เดินแบบทั้งสิ้น 29 โชว์ รองลงมาก็ยังเป็นนางแบบเอเชีย-อเมริกัน ‘เชร์รี สือ’ (Sherry Shi) จำนวน 28 โชว์ ‘วิคตอเรีย ฟาโวล’ (Victoria Fawole) นางแบบชาวไนจีเรียน 26 โชว์ และ ‘อี้หลาน หัว’ (Yilan Hua) นางแบบชาวจีน 25 โชว์
อเมริกา กอนซาเลซ, เชร์รี สือ, วิคตอเรีย ฟาโวล, อี้หลาน หัว | Photo credit: Muy Cosmopolitas / IMG Models / Anne of Carversville / Fashion Model Directory
ในส่วนของนางแบบพลัสไซซ์นั้นก็เพิ่มมากขึ้น มีทั้งหมด 103 คนที่ได้เดินในแฟชั่นวีคซีซั่นนี้ คิดเป็น 2.34% เพิ่มขึ้นจากซีซั่นที่แล้ว ที่มีเพียง 1.81% ส่วนโมเดลที่เป็นคนข้ามเพศหรือนอน-ไบนารีก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จากเดิมที่ได้เดิน 41 คน ซีซั่นนี้ได้เดินบนรันเวย์ 59 คน หรือเพิ่มขึ้น 1.34% แต่ถ้าเปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 2019 จะพบว่าลดลง เพราะซีซั่น Spring 2019 นั้นได้เดินสูงถึง 91 คน แต่นิวยอร์กแฟชั่นวีคก็ยังคงเป็นแชมป์ในด้านความหลากหลายทางเพศอยู่เช่นเดิม ในส่วนของอายุ จะพบว่าโมเดลที่มีอายุมากกว่า 50 ปีนั้นมีจำนวนลดลง จาก 35 คนในคอลเลคชั่น Spring เหลือเพียง 23 คนในคอลเลคชั่นนี้ และปารีสแฟชั่นวีคก็เป็นเมืองที่ใช้โมเดลที่มีอายุมากกว่า 50 ปีมากที่สุด
แม้เราจะเห็นถึงความก้าวหน้าในเรื่องความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพศ สีผิว ชาติพันธุ์ ไซซ์ อายุ บนรันเวย์แฟชั่นวีคมากขึ้น แต่หากดูระดับอินไซด์ จะเห็นว่าแบรนด์ที่มีการใช้โมเดลที่มีความแตกต่างหลากหลายจริงๆ มักจะเป็นแบรนด์หน้าใหม่และแบรนด์เล็กๆ มากกว่าแบรนด์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลก และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คำว่าวงการแฟชั่น ไม่ได้หมายถึงแค่บนรันเวย์ นอกจากบนรันเวย์ หน้านิตยสาร หรือโฆษณาแคมเปญจะต้องมี diversity แล้ว คนทำงานในส่วนอื่นๆ ล่ะ มีความแตกต่างหลากหลายมากพอหรือยัง?