Culture

สังคมไทยกับความพยายามพูดในเรื่องที่พูดไม่ได้

Photo credit: Financial Times

ว่ากันตามจริงแล้ว ในสังคมไทยไม่มีเรื่องอะไรที่พูดไม่ได้ เพียงแต่ว่ามันเป็นการพูดในระดับไหน วงกว้างหรือวงแคบ พูดในพื้นที่แบบใด และปลอดภัยแค่ไหนมากกว่า แต่ดูเหมือนว่าหลายๆ เรื่องที่กลายมาเป็นเรื่องที่พูดได้ทั่วไปในปัจจุบัน ก็เพิ่งจะกลายมาเป็นเรื่องที่พูดได้เมื่อไม่นานมานี้นี่เอง หลังจากที่เป็นเรื่องที่พูดได้แบบกระซิบๆ หรือในพื้นที่จำกัดมานาน

ปรากฏการณ์ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์

ในหนังเรื่อง ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ (Harry Potter) เรามักจะกล่าวถึงตัวละครตัวหนึ่งโดยหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงชื่อของเขาโดยตรง โดยใช้คำว่า ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ ซึ่งในสังคมไทยก็มีคนที่คุณก็รู้ว่าใครอยู่หลากหลายคน ในหลากหลายประเด็น แต่เราก็พยายามที่จะพูดถึงเขาคนนั้นในที่สาธารณะให้ได้

Photo credit: Benar News

หนึ่งในความพยายามแรกๆ ที่เป็นวงกว้าง ซึ่งอาจถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ทำให้สังคมไทยพยายามจะพูดถึงคนที่คุณก็รู้ว่าใครในพื้นที่สาธารณะ นั่นคือการชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 หรือที่เรียกกันอย่างย่นย่อว่า ‘ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์’ ที่ผู้ชุมนุมหลายคนแต่งกายมาในชุดพ่อมดแม่มดราวกับงานเปิดตัวหนังแฮร์รี่พอตเตอร์ ในขณะที่รูปของลอร์ดโวลเดอมอร์ จากหนังเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนคนที่คุณก็รู้ว่าใคร ในกรอบรูปสีทองที่ดูศักดิ์สิทธิ์และหรูหรา

Photo credit: The Guardian

นี่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ครั้งแรกๆ ที่เราได้เห็นถึงวิธีการเลี่ยงบาลี โดยนำเอาวัฒนธรรมร่วมสมัยซึ่งเป็นรู้จักและเข้าใจกันในหมู่มวลชนมาใช้กล่าวถึงเรื่องที่ไม่อาจพูดหรือกล่าวนามได้ในที่สาธารณะ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพูดถึงตรงๆ เพียงแต่เป็นการใช้รหัสที่รับรู้และเข้าใจร่วมกัน อาจจะด้วยความบังเอิญของประเด็นในหนังกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ดันพ้องต้องกัน การพยายามหาสัญลักษณ์ ภาพ คำ ตัวแทน ฯลฯ เพื่อจะกล่าวถึงเรื่องที่ไม่อาจพูดถึงได้ หรือคนที่ไม่อาจกล่าวนามได้ (อย่างตรงไปตรงมา) จึงอุบัติขึ้นตั้งแต่บัดนั้น

และแน่นอนว่า ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์นี้อาจจะเป็นต้นสายธารที่ยิ่งใหญ่อันนำไปสู่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์กับม็อบในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563

เมื่อป๊อปคัลเจอร์ถูกนำมาใส่รหัสทางการเมือง

หลังจากม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ได้เกิดม็อบครั้งใหญ่และย่อยตามสถานศึกษาตามมาอีกมากมาย ทั้งที่จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ ศิลปากร เกษตรศาสตร์ ก่อนที่การชุมนุมจะลงสู่ท้องถนนในเวลาต่อมา ซึ่งคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าการชุมนุมส่วนใหญ่นั้นถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ ไม่แปลกที่ในทุกๆ การชุมนุมมักจะมีการหยิบเอาวัฒนธรรมร่วมสมัยมาใช้เพื่อเปล่งเสียง ในเรื่องที่ถูกห้ามหรือพูดถึงบุคคลที่พวกเขาไม่อาจกล่าวถึงได้ เพื่อนำมาใช้ในการสื่อความหมายทางการเมืองอื่นๆ

Photo credit: parisjpt

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดนอกจากลอร์ดโวลเดอมอร์ จากม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็คือการมาของ ‘จัสติน บีเบอร์’ (Justin Bieber) ที่ถูกนำมาใช้เรียกแทนบุคคลที่ไม่อาจพูดถึงได้ นอกจากนั้นเรายังเห็นการใช้ประเด็นเรื่อง ‘เผ่ามังกรฟ้า’ จากการ์ตูนเรื่อง ‘วันพีซ’ (One Piece) มาใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องพูดถึงโดยตรง หนังตลกอย่าง ‘หอแต๋วแตก’ เองก็ถูกหยิบมาดัดแปลงให้เข้ากับบริบททางการเมือง เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์ ‘The Lord of The Rings’ ที่มีการนำเอา ‘เซารอน’ มาใช้เป็นสัญลักษณ์แทน หรือตัว ‘มินเนี่ยน’ (Minions) จากการ์ตูนเรื่อง ‘Despicable Me’ หรือการนำเอาเรื่องราวในหนังเรื่อง ‘Mean Girls’ มาดัดแปลง กลายมาเป็น ‘Meme Girls’ ที่ยังคงเป็นอมตะและคลาสสิกมาจนถึงทุกวันนี้

Photo credit: Matichon Online

หรือแม้กระทั่งอักษรย่ออย่าง ‘ผนงรจตกม’ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีความหมายอย่างหนึ่ง และถูกใช้กับคนๆ หนึ่ง แต่ก็ถูกหยิบมาใช้ใหม่เพื่อสื่อถึงบุคคลใหม่ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องเอ่ยนาม 

ทั้งหมดจึงเป็นความพยายามหาทางออกของคนรุ่นใหม่ ภายใต้สถานการณ์ที่มีความจำกัดทั้งในแง่สังคมและกฎหมาย เพื่อสื่อสารในประเด็นที่พวกเขาอยากจะพูด แต่อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากมากนัก และวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีความใกล้ตัวและเป็นที่รับรู้ร่วมกันในหมู่เจเนอเรชั่นของพวกเขานั่นแหละ จึงกลายมาเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดในการหยิบมาใช้สื่อสารระหว่างกัน และสื่อสารไปยังผู้อื่น

จาก ‘กูKult’ สู่ ‘Uninspired by Currrent Events’ เมื่อศิลปะถูกนำมาใช้พูดแทนในเรื่องที่ไม่อาจพูดได้ตรงๆ

ไม่เพียงแค่ ‘มีม’ ที่เกิดขึ้นในม็อบ หรือการใช้วัฒนธรรมร่วมสมัยที่ถูกนำมาใช้เพื่อสื่อทางการเมืองเท่านั้น แต่ศิลปะก็ยังกลายมาเป็นตัวแทนในการพูดถึงเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอีกด้วย

Photo credit: มานีมีแชร์

ในอดีตเราเคยมีเพจอย่าง ‘มานีมีแชร์’ ที่นำเอาตัวละครจากหนังสือเรียนภาษาไทยในอดีตที่รู้จักกันในนาม ‘มานีมานะ’ มาใช้ดัดแปลงสร้างเรื่องราวเพื่อบอกกล่าวเสียดสีประเด็นทางการเมืองสังคมที่เกิดขึ้น และเมื่อการเมืองเข้มข้นยิ่งกว่าที่เคย เราก็มีเพจอย่าง ‘กูKult’ ที่ใช้ศิลปะในการสร้างสรรค์ภาพขึ้นมา เพื่อสื่อความหมายในเชิงสังคมการเมืองเช่นเดียวกัน โดยครั้งหนึ่ง แอดมินเพจ กูKult ก็ได้ให้สัมภาษณ์เรื่อง พลังมีม เขย่า"ลัทธิบูชาบุคคล" กับ Voice TV เอาไว้ว่า

“การใช้สัญลักษณ์หรือว่างานศิลปะ หรืออะไรก็ได้ที่เป็นของมนุษย์ แล้วมันมีการส่งต่อดัดแปลงใหม่ อะไรใหม่ แล้วมันมีการส่งต่อ เกิดความแมสไปเรื่อยๆ ... จนมันแมสในการสื่อสาร หรือสูญเสียความหมายดั้งเดิมของมันไป ทำทุกอย่างให้มันดูเป็นเรื่องเสียดสี เรื่องตลกขบขัน ทำเรื่องที่มันดูเครียดๆ เรื่องที่ดูจริงจังอย่างการเมืองให้มันซอฟต์ลงได้ เข้าหาได้ กล้าพูดได้”

Photo credit: กูKult

เช่นเดียวกันกับผลงานของ ‘แก่น – สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์’ เจ้าของเพจ ‘Uninspired by Current Events’ ที่แม้ชื่อเพจจะบอกว่า ‘ไม่ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ปัจจุบัน’ แต่ผลงานที่ออกมาแต่ละรูปล้วนสะท้อนประเด็นที่กำลังเกิดขึ้น ณ เวลานั้นได้อย่างเจ็บแสบ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องการเมืองเท่านั้น แต่เป็นประเด็นต่างๆ ในสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ โดยใช้ภาพในการเล่าแทนคำพูด

Photo credit: Uninspired by Current Events

เรื่องที่พูดยาก สู่ภาพบนไพ่ทาโร่ต์ กับ ‘Thai Political Tarot’

จากการต่อสู้ของม็อบการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายระหว่างทาง ‘ส้ม – ปนัดดา เต็มไพบูลย์กูล’ ได้บันทึกเรื่องราวเหล่านั้นลงบนหน้าไพ่ทาโรต์ ที่ดัดแปลง ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับภาพต้นฉบับ ตีความความหมายของไพ่ออกมาให้มีความร่วมสมัยและเข้ากับเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น ด้วยภาพลายเส้นที่น่ารัก แต่ก็ไม่ได้ไปลดทอนหรือ romanticize เรื่องราวเหล่านั้นแม้แต่น้อย กลายเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านภาพวาดที่ถูกส่งต่อไปได้ในความเข้าใจเดียวกันทั่วโลก

Photo credit: Thai Political Tarot

แน่นอนว่ามีทั้งเรื่องที่พูดได้และพูดไม่ได้ แต่แม้ภาพเหล่านั้นจะพูดไม่ได้ เราก็ล้วนเข้าใจความหมายร่วมกัน เหมือนกับทุกภาพ ทุกมีม ทุกสัญลักษณ์ที่ผ่านมา ที่เราก็ล้วนรับรู้และเข้าใจร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงทั้งภาวะความจำกัดในการพูดในเรื่องที่ไม่อาจพูดตรงๆ ได้ ในขณะเดียวกันก็เห็นถึงความสร้างสรรค์ในการพยายามจะพูดในเรื่องที่แม้จะห้ามพูดตรงๆ ก็ตาม 

ถึงอย่างนั้น คำถามที่สำคัญก็คือ...เมื่อไรที่ทุกเรื่องในสังคมไทยจะสามารถพูดตรงๆ กันได้เสียที