Culture

การทำหมันเพศชาย และ Fragile Masculinity – ไม่ยอมทำหมันเพราะกลัวความเป็นชายลดลง?

เมื่อปลายเดือนกันยายน (2023) ที่ผ่านมา หลายๆ คนที่ติดตามอินสตาแกรมของ ‘ลิเดีย’ – ศรัณย์รัชต์ ดีน ก็คงจะได้เห็นข้อความที่โพสต์ถึงสามี ‘แมทธิว ดีน’ เอาไว้ว่า “จะทำหมันหรือจะให้เปลี่ยนผัวคะ” ตามด้วยแคปชั่น “ก็บอกดีๆ แล้ว เคยฟังมั้ยคะ ทำซะทีจบๆ @matthew.deane1 Book your vasectomy now! No more babies and no more sex until you get snipped! #DesperateTimesCallForDesperateMeasures” แต่ที่ชวนพีคไปกว่านั้นก็คือ อีกข้อความหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายๆ กันก็ได้ปรากฏบนจอ LED กลางถนนอีกด้วย โดยมีเนื้อหาใจความเดียวกันว่า หากแมทธิวไม่ทำหมันก็จะไม่ยอมร่วมเตียงด้วยอีกเด็ดขาด

Photo Credit: @LittleBirbMame

เรื่องนี้ตกเป็นประเด็นร้อนในโซเชียลมีเดียแทบจะทันที เพราะในวันเกิดครั้งล่าสุดของลิเดีย เธอก็ได้ขอให้แมทธิวทำหมันกลางวงสื่อ เน้นย้ำว่าไม่อยากจะมีลูกคนที่ 4 อีกแล้ว ฝ่ายแมทธิวเองก็ตอบว่าไม่รู้จะพูดอะไร ในเมื่อภรรยาขอมาก็ไม่กล้าปฏิเสธ แต่ต้องศึกษาข้อมูลมาก่อน ยาวมาจนถึงวันที่ฝ่ายภรรยาทนไม่ไหว ล่าสุด ในบทสัมภาษณ์ที่ทั้งลิเดีย และแมทธิวให้กับทางรายการคุยแซ่บ Show พวกเขาเผยว่า การทะเลาะกันออกสื่อครั้งนั้นไม่ใช่คอนเทนต์โปรโมตรายการเรียลลิตี้แต่อย่างใด และลิเดียก็ยังคงยืนยันตามเดิมว่าอยากให้แมทธิวทำหมันจริงๆ

Photo Credit: Medicover Hospitals

จากกรณีของหนึ่งครอบครัว ทางโลกโซเชียลก็เปิดบทสนทนาวงกว้างขึ้นมาว่า มีผู้ชายอีกหลายคนที่หลีกเลี่ยงการไปทำหมันด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น กังวลเรื่องระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ไม่สมดุล กลัวว่าอวัยวะเพศจะไม่แข็งตัว ไม่สามารถหลั่ง หรือไม่สามารถถึงจุดสุดยอดได้ และอีกมากมายหลายสาเหตุ ทั้งที่แพทย์และงานวิจัยจำนวนหลายชิ้นก็ได้ยืนยันว่า การทำหมันในเพศชายไม่มีผลต่อระดับเทสโทสเตอโรนแต่อย่างใด อวัยวะเพศจะยังสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ มีการหลั่งตามเคย เพียงแค่จะไม่มีอสุจิในน้ำเชื้อก็เท่านั้น นอกจากนี้ การผ่าตัดทำหมันเพศชายยังทำได้ง่ายกว่าเพศหญิง ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ แผลมีขนาดเล็ก ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล ราคาไม่แพง (หากเทียบกับการทำหมันเพศหญิง) และมีอัตราความสำเร็จสูงถึง 99% ทีเดียว

Photo Credit: Men's Group

อย่างไรก็ตาม ผู้ชายจำนวนมากยังคงปฏิเสธการทำหมัน บางคนเลือกจะผลักให้เป็นภาระของผู้หญิงในการคุมกำเนิดแทน ทั้งที่การทำหมันในเพศหญิงนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าเพราะต้องผ่าช่องท้อง พักฟื้นนานกว่า และยังมีค่าใช้จ่ายสูงอีกด้วย อนึ่ง บางคนก็ไม่ต้องการให้แฟนสาวหรือภรรยาของตนทำหมันถาวร จึงให้ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีผลข้างเคียงนับสิบ เรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาเรื้อรังในชีวิตของใครอีกหลายๆ คู่ แต่ถ้าเราสามารถกำจัด ‘ความเป็นชายที่เปราะบาง’ (Fragile Masculinity) ออกไปจากสังคมได้ ก็จะมีผู้ชายอีกมากที่ไม่กลัวการทำหมันด้วยเหตุผลอันเป็นคำลวงอย่าง “ความเป็นชายลดน้อยลง”

ความเป็นชายที่เปราะบาง หมายถึงการที่ผู้ชายยึดติดกับอัตลักษณ์ความเป็นชายมากจนเกินไป และรู้สึกอับอายเมื่อกระทำสิ่งตรงข้ามกัน เช่น ไม่กล้าร้องไห้เพราะถูกสอนว่าลูกผู้ชายต้องเข้มแข็ง ไม่สามารถแสดงความรักหรือกอดเพื่อนชายกันเอง เพราะรู้สึกว่ามันดู ‘หน่อมแน้ม’ หรือไม่สามารถยอมรับได้หากคู่รักของตนมีสถานะทางการเงินและสังคมที่ดีกว่า เป็นต้น การไม่ยอมทำหมันด้วยเหตุผลที่ว่า ‘กลัวไม่แมน’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะหากปฏิเสธด้วยเหตุผลดังกล่าว อย่างการกลัวอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ไม่หลั่งน้ำเชื้อ หรือกระทั่งกลัวว่าตนจะไม่สามารถสืบพันธุ์ได้อีกต่อไป คงถึงเวลาแล้วที่ต้องถามตัวเองว่า เพียงแค่กังวลไปเองเฉยๆ หรือไม่อยากสูญเสียความหมายของการเป็นผู้ชายตามขนบกันแน่

Photo Credit: The Telegraph

ทั้งนี้ การทำหมันในเพศชายจึงยังถูกมองในแง่ลบ และไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ เมื่อต้องการคุมกำเนิดอย่างจริงจัง ทั้งที่แทบจะไม่มีความยุ่งยากในเชิงปฏิบัติเลย แสดงให้เห็นชัดเจนว่า หลายๆ ครั้ง ความคิดที่เทิดทูนความเป็นชายตรงกรอบก็ทำให้แม้แต่ผู้ชายเองรู้สึกแย่ ขอเพียงให้คุณผู้ชายทุกคนรับรู้ว่า แนวคิดแบบปิตาธิปไตยมักจะกดทับเราทุกคนเสมอ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม การกลัวต่อการลดลงของความเป็นชายก็เป็นผลผลิตของมันเช่นกัน ทั้งที่แท้จริงแล้ว ความเป็นชายไม่ได้ผูกติดเอาไว้กับอวัยวะเพศหรือเชื้ออสุจิเลยสักนิดเดียว

อ้างอิง

3 Plus News
Sanook

Mayo Clinic