“ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล” ศิลปินชาวไทยที่มีชื่อเสียงด้านการวาดภาพและฝีมือในการออกแบบลายผ้า ที่เคยร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นระดับโลกอย่าง Gucci หลายต่อหลายครั้ง ด้วยสไตล์งานที่มีเอกลักษณ์ในการหยิบจับวัฒนธรรมจีน มาสร้างเรื่องราว พร้อมผสมผสานลายเส้นละเอียดสุดปราณีต พร้อมสีสันตระการตา ทำให้ผลงานของเธอ ได้รับความสนใจ และถูกจับตามองเสมอ
Venus in the Shell คือผลงานการจัดนิทรรศการครั้งล่าสุดของเธอ โดยมีแรงบันดาลใจมากจาก “เทพวีนัส” เทพีแห่งความรัก ความงาม เพศ และความรุ่งเรือง เมื่อความเชื่อของผู้คน มองว่า เทพวีนัสนั้นเต็มไปด้วยความสมบูรณ์แบบ แต่ในความเป็นจริง วีนัสยังมีมุมมืดด้านอื่น เช่น ความผิดหวัง โศกเศร้า โกรธแค้น และสงสารไม่ต่างอะไรจากมนุษย์ธรรมดา นั่นจึงทำให้งานนิทรรศการในครั้งนี้ ถูกแบ่งเรื่องราวออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ Forbidden Flower, Moonlight Dive, Mandragora in the Vase และ The Wanderer ที่ให้ความรู้สึกราวกับกำลังเดินเข้าไปในเปลือกหอย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของเทพวีนัส ทั้งยังเปรียบให้เห็นถึงความลึกล้ำซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ที่ยากจะหยั่งถึง
จุดเริ่มต้นของงาน Exhibition ครั้งนี้
ก่อนหน้านี้ เราเคยมี exhibition ครั้งแรกไปคืองาน “Only For You” กับคอนเซ็ปต์ “The Meadows Universe” ที่เราพูดเรื่องความสัมพันธ์กับเรื่องงาน ตอนนั้นก็ได้รับการตอบรับที่ดี จากนั้นก็คิดมาตลอด ว่าอยากทำนิทรรศการอีก สำหรับ Venus in the Shell เราจึงอยากพูดถึง การใช้ชีวิตของตัวเอง โดยอยากทำในรูปแบบคล้ายๆ ไดอารี่บันทึกเรื่องราว หรือว่าความคิด ในช่วงเวลานั้นๆ
ทำไมต้องเป็น Venus in the shell
จุดเริ่มต้นมันมาจากการตั้งคำถามของเราเองว่า “คุณค่าของความเป็นมนุษย์ จริงๆ แล้วมันคืออะไร “ เรากำลังถูกอะไรบางอย่างกดทับอยู่หรือเปล่า การที่เราเอาคำว่า Venus เข้ามา ก็เพราะว่า ถ้าเรามองย้อนเข้าไปในเทพกรีกโรมัน คุณค่าของความเป็นมนุษย์หรือคุณค่าของความเป็นเทพมันไม่ได้ลดลงเลย แม้ว่าเทพแต่ละองก์จะมีความใกล้เคียงมนุษย์มาก มีโกรธ เกลียด แก้แค้น เสียใจ ทำผิด ทำถูก มีชู้ หรืออะไรก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของความเป็นตัวเขาลดลงเลย มันเลยย้อนกลับมาที่คำถามน่ะแหละ ว่าทำไมเราจึงยังมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของความเป็นมนุษย์กันอีก
ใช้เวลาเตรียมงาน Venus in the shell นานแค่ไหน
หนึ่งปีครึ่งค่ะ ทุกอย่างทำขึ้นมาใหม่หมด เลยใช้เวลานานหน่อย แต่ว่าโชคดีที่มีโอกาสได้ ร่วมทำงานกับแบรนด์อื่นๆ ซึ่งแต่ละแบรนด์น่ารักมาก คอยช่วยซัพพอร์ตเราตลอด งานเลยออกมาสมบูรณ์ ตรงกับภาพที่เราคิดไว้
นิทรรศการครั้งนี้ มีการนำ Material และเทคนิคมาผสมผสานในชิ้นงานมากขึ้น
ใช่ค่ะ เราก็กลับไปมองที่เทคนิค อยากนำความเป็นเด็ก ความตลก ความน่ารัก เข้ามาใส่ในชิ้นงานมากขึ้น ซึ่งเรามองว่า มันทำให้งานดูมีมิติและน่าสนใจ เช่น การทำตุ๊กตาเป็ด ใส่ชุดฟูฟ่อง แต่จริงๆ เขาสามารถดูดฝุ่นได้นะ ซึ่งงานนี้ได้ทีม Duckunit เข้ามาช่วยคิดในเรื่องของเทคนิคการใช้ไฟ ที่ทำให้งานมีมิติ และมีลูกเล่นมากขึ้น หรืองานครั้งนี้ มีการนำหวายมาสานเป็นล๊อบเสตอร์ตัวใหญ่ คือเราไม่อยาก ให้คนมาเดินชมงานเรา แล้วเจอแค่รูปภาพอย่างเดียว ความตั้งใจของยูน คืออยากดีไซน์งานนิทรรศการให้คนดูเข้าถึงให้มากที่สุด อยากให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม และได้รับประสบการณ์ดีๆ จากการมาชมงานศิลปะเรา สำหรับคนที่ไม่เข้าใจหรืออินกับคอนเซปต์ ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อย ก็ถือว่า คุณได้มาเสพความสวยงาม จะเห็นว่างานนิทรรศการของยูน ยูนอยากให้ทุกคนสบายๆ ไม่มีป้ายห้ามแตะชิ้นงานโชว์ ยูนไม่อยากให้ทุกคนรู้สึกว่า งานศิลปะอยู่เหนือเรา แต่อยากให้ทุกคนรู้สึกว่า เราได้เสพศิลปะแบบใกล้ชิดกัน
อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มในการวาดรูป
เป็นลูกคนเดียว ไม่ได้มีพี่น้องเล่นด้วยเหมือนบ้านอื่นๆ เลยรู้สึกว่า การวาดรูป ก็เหมือนกับการเล่นของเล่น เริ่มวาดรูปตอนประมาณ 3-4 ขวบ สมัยก่อนที่บ้านทำเสื้อ คุณแม่เป็นช่างเย็บผ้า มีพี่ที่ร้าน ชื่อ “พี่ใจ” เป็นหลานของช่างเย็บในร้านมาอาศัยอยู่ด้วยในช่วงปิดเทอม ซีงพี่ใจมีหน้าที่ติดกระดุมเสื้อ แต่พี่เขาไม่ชอบติดกระดุม ชอบนั่งดูโทรทัศน์ และวาดรูป พอเราเห็นนางวาดรูปเราก็อยากวาดด้วย เลยบอกว่า ไม่ต้องไปใส่กระดุมเสื้อแล้ว มาสอนยูนวาดรูปดีกว่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ติดใจการวาดรูปมาโดยตลอด พอเข้าโรงเรียน ครูทุกคนก็จะชื่นชมในฝีมือการวาดรูปของเรามาก เราก็ภูมิใจในตัวเองมากๆ เลยนะตอนนั้น (ยิ้ม) แต่ถ้าถามว่าเริ่มวาดแบบจริงจังตอนไหน ก็น่าจะตอนสมัยเรียนแฟชั่นดีไซน์ ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตอนเด็กๆ วาดรูปอะไร
รูปแรกที่วาดคือ “บ้าน” หลังคาสี่เหลี่ยมคางหมู แล้วก็มีนกมีปลาอะไรต่างๆ พอโตขึ้น เราก็ชอบดูการ์ตูน ก็เริ่มวาดหน้าเซเลอร์มูน โตขึ้นมาระดับมัธยม เริ่มเล่นการ์ดเกม ก็เริ่มวาดเลียนแบบการ์ดเกม พอรู้จักไพ่ทาโร่ ก็เริ่มวาดตาม ตอนนั้นยังวาดตามในสิ่งที่เห็น ยังไม่รู้จักการครีเอทขึ้นมาใหม่
อยากให้เล่าถึงช่วงที่เรียนแฟชั่นดีไซน์
สมัยนั้น ไม่ค่อยมีสื่อต่างๆ ให้เราดูเยอะเหมือนสมัยนี้ การเรียนแฟชั่นในตอนนั้น ทำให้เราได้เปิดโลกกว้างขึ้น ได้ศึกษา Movement ต่างๆ ของงานศิลปะ ได้รู้จักกับศิลปินทุกยุคสมัย พอเรียนแฟชั่นปุ๊บ ต้นไม้เธอก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสีเขียว ท้องฟ้าเธอก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสีฟ้า ก้อนเมฆเธอจะมีรูปทรงแบบใดก็ได้ มันเปิดโลกจินตนาการมากๆ และสอนให้เราไม่จำกัดกรอบทางความคิดของตัวเอง
การเรียนแฟชั่น ทำให้ยูนได้รู้จักการสร้างคอนเซ็ปต์ไอเดีย ก่อนลงมือสู่การสร้างผลงานจริง
ที่คณะจะสอนเรื่องการครีเอทชิ้นงานต่างๆ ต้องรู้จักกการสร้าง Concept และสร้าง Inspiration ซึ่ง 2 สิ่งนี้ สำคัญมากๆ ในการคิดงานอย่างเป็นระบบ รวมถึงการต้องรู้จักการคิดวิเคราะห์ ไม่สามารถนั่งเทียนสร้างงานได้ แน่นอนว่าเราต้องใช้จินตนาการในการสร้างงาน แต่ก็ต้องอย่าลืมหาข้อมูลจริงมาซัพพอร์ต นั่นก็คือเทรนด์ การสร้างงานออกแบบอะไรก็ตาม เราจำเป็นต้องหาข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ต้องรู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปถึงไหน เราจะสร้างผลงานแบบใส่ตัวตนของเราอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมี เทรนด์มากำหนดกรอบในการสร้างงาน
ตอนเรียนแฟชั่น ชอบดีไซน์เนอร์คนไหนเป็นพิเศษ
ชอบ “จอห์น กัลป์ลิอาโน” (John Galliano) เขาทำแฟชั่นกูตูร์สวยมาก สวยแบบ… เราจินตนาการไม่ออกเลยว่าต้องทำยังไง ถึงจะทำได้แบบเขา
ผลงานการออกตอนเรียน กับผลงานในปัจจุบัน แตกต่างกันมากไหม
ต่างค่ะ เพราะเราก็โตขึ้น แต่สิ่งที่มันคงอยู่ก็มี อย่างพวกลายเส้น พวกดีเทล หรืออารมณ์ของความแฟนตาซีก็ยังคงอยู่ เช่น ถ้าต้องออกแบบลายผ้า ก็จะชอบฟีลลิ่งของ Food & Flower อีกลายก็จะเป็นลายสัตว์กับดอกไม้ อาจจะเป็นเพราะเราโตมากับพวกวรรณกรรมเยาวชนต่าง ๆ เลยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างเยอะ
ยกตัวอย่าง วรรณกรรมที่ชอบ แล้วหยิบมาใช้
ที่ใช้บ่อยจะเป็นพวกเทพกรีก-โรมัน ถ้าถามวรรณกรรมเยาวชนที่ชอบ ก็คืองานเขียนของ โรอัล ดาห์ล (Roald Dahl) เป็นวรรณกรรมที่มีความดาร์กนิดนึง และมีความตลกร้าย เรื่องที่ชอบมากที่สุด คือ The Twits เป็นเรื่องที่อ่านกี่รอบก็ได้ เพราะว่าชอบมาก
พูดถึงวีนัส หรือเทพปกรณัม ที่มาจากฝั่งตะวันตก แต่ทำไมงานส่วนใหญ่จึงสะท้อนความเป็นเอเชียน หรือจีน ค่อนข้างเยอะ
เพราะที่บ้านก็เป็นคนจีน อากงมาจากจีน เพราะฉะนั้นของใช้อาม่าในบ้านสมัยก่อนก็จะมีความเป็นจีน ทุกวันนี้ก็ยังไหว้เจ้าอยู่ เรียกว่า มันคือความผูกพัน ส่วน Venus in the shell ด้วยคอนเซปต์ของนิรรศการ มันคือ การพูดถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเทพเจ้าต่างๆ ไม่ว่าจะ เทพปกรณัมจีน, เทพฮินดู หรือกรีกโรมัน ทุกเทพจะมีความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นงานนี้ เลยเป็นเหมือนการรวมรวบวัฒนธรรมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
เพื่อสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา
มีวิธีสร้าง Inspiration ยังไง
การดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ทุกอย่างคือแรงบันดาลใจหมด อย่างหนัง เรื่อง Cloud Atlas ก็จะดูหลายรอบมาก เพื่อเก็บรายละเอียดต่างๆ การอ่านนิยายก็ทำให้เราได้เห็นมุมมองความคิดหลายๆ อย่าง ทั้งมุมมองเชิงปรัชญา วิธีคิด หรือวิธีการวิเคราะห์สิ่งที่อยู่บนโลกนี้ที่เราสามารถนำกลับมาพัฒนาตัวเองได้
เป็นศิลปินที่หาไอเดียใหม่ๆ มาสร้างงานอยู่เสมอ ครั้งหน้าจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ อีก
ทุกครั้งที่จัดนิทรรศการ ก็จะพยายามคิดอะไรใหม่ๆ ต่อยอดได้เรื่อยๆ ยังคิดเสมอว่า คนดูต้องได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ จากงานเราเสมอ ก็จะพยายามคิด Mechanic หรืออะไรที่มันสามารถเชื่อมโยงกับคนได้มากที่สุด ก็คงจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ณ ตอนนี้ ก็คิดถึงนิทรรศการครั้งต่อไปแล้ว (หัวเราะ) แต่คิดว่า คงอีกสองถึงสามปี ขอเวลาเก็บเงิน และพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ ก่อนค่ะ
จะมีโอกาสเห็นผลงานยูน ร่วมกับดีไซเนอร์ระดับโลกอย่าง Gucci หรือคนอื่นๆ อีกไหม
ขึ้นอยู่กับจังหวะ ถ้ามีโอกาสเข้ามา ยูนไม่พลาดอยู่แล้ว พยายามคว้าทุกโอกาสที่มี ไม่หยุดตัวเองอยู่กับที่แน่นอน
ตอนนั้นที่ไปร่วมกับ Gucci ส่งผลงานไปหรือยังไง
Alessandro Michele เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็น Creative Director ของ Gucci ตอนนั้น ยูนทำงานประจำอยู่กับเพื่อนก็เป็น Creative Director เหมือนกัน ซึ่งยูนชอบผลงานของ Alessandro มาก แล้วตอนนั้น คือชอบ คอลเลคชั่นของเขามากๆ เราก็แค่อยากวาดรูป เลยลองวาดรูปจากคอลเลคชั่นนั้น แล้วแท็คหาเขา ปรากฏว่า เขาติดต่อมาว่าชอบผลงานเรา นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ร่วมกับเขา
ช่วยเล่างานที่ชาเลนจ์เรามากที่สุด
รู้สึกว่า ที่ผ่านมา เราเจองานที่ชาเลนจ์มาโดยตลอด ยกตัวอย่าง เวลามีคนมาขอคำปรึกษาจากเรา เราก็มองว่านี่คือการชาเลนจ์นะ หรือว่าเวลามีคนมาชวนร่วมทำโปรเจ็กต์ เราก็จะถามตัวเองแล้ว ว่าทำได้ไหม เพราะฉะนั้นเวลาที่ยูนเจออะไรที่ชาเลนจ์ ยูนจะต้องนั่งคิดวิเคราะห์ก่อนว่าเราถนัดหรือไม่ ท้ายที่สุด เราก็ได้คำตอบ ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก สิ่งที่เราไม่ถนัด เรายังมีคนที่สามารถช่วยเหลือเราได้ เราไม่ได้เกิดมาแล้วทำได้ทุกอย่าง บางอย่างเราก็ทำไม่เป็น บางอย่างก็ไม่ใช่องค์ความรู้ที่เราถนัด เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหา คือเราต้องขอความช่วยเหลือ และความร่วมมือจากคนที่ถนัด และมีความรู้นั้นๆ เพราะงานมันจะเดินไปได้ มันไม่ได้เกิดขึ้นจากคนๆ เดียว อยากจะบอกกับน้องๆ ทุกคนที่มีความฝัน เวลามีอะไรเข้ามา อย่าเพิ่งไปกลัวมัน ลองดูก่อน ว่าเรารับมือมันได้ขนาดไหน แล้วลองหาทางออกให้กับสิ่งนั้น
แสดงว่ายูนไม่ค่อยกลัว เวลาตัดสินใจจะลงมือทำอะไรซักอย่าง
การทำงานในอุตสาหกรรมแฟชัน เราจะเจอปัญหาในเกือบทุกขั้นตอน
ของการทำงาน การเจอปัญหาเป็นเรื่องปกติมาก เพราะฉะนั้น เราได้เรียนรู้มาโดยตลอด ว่าท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาทุกอย่าง มันแก้ได้ อย่างการทำแฟชันคอลเลคชันหนึ่งๆ ปัญหาเริ่มตั้งแต่ ออกแบบเสร็จแล้ว แต่แพทเทิร์นเพี้ยน ต้องแก้แพทเทิร์น แก้ลายปัก แก้ลายพิมพ์ ผลิตผ้ามา ผ้าหด พอถึงวันเดินแบบทุกอย่างสวย พร้อมหมด ปรากฏว่า นางแบบเกิดส้นรองเท้าหักบนเวที คือทุกอย่างเหนือการควบคุม แต่เราก็ต้องผ่านมันไปให้ได้ The show must go on
มีศิลปินบางคน ที่รู้สึกว่าออกแบบแล้วรู้สึกผลงานยังดีไม่พอ เคยรู้สึกแบบนั้นไหม
ยูนไม่เป็นนะ บางอย่างมันก็มีจุดที่ไปได้อีก แต่เราก็ต้องให้โอกาสมัน เพราะครั้งนี้มันก็ไม่ใช่วันสุดท้ายที่เราทำงาน การทำงานทำให้เราได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในทุกๆ วัน เหมือนแฟชั่นรันเวย์ ปีนี้ใหม่ แต่ปีหน้าก็จะมีอะไรใหม่ๆ มาทดแทนอีก รอบนี้รองเท้าส้นหัก รอบหน้าฉันจะไม่ออกแบบรองเท้าส้นแบบนี้ หรือถ้าจะเอ�