Culture

The Victorians and Romanticization of Death: เรื่องราวความคลั่งไคล้ในความตายของผู้คนยุควิกตอเรีย

Trigger Warning: บทความนี้ประกอบไปด้วยรูปภาพและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความตาย โรคระบาด และศพของมนุษย์

Photo credit: Mystic Investigations

‘ความตาย’ คำนี้มีความหมายที่แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน บ้างก็ยอมรับมันได้เหมือนเป็นเรื่องปกติ บ้างก็ต้องใช้เวลาในการรับรู้ความจริงของวัฏจักรแห่งชีวิต แต่สำหรับผู้คนในยุควิกตอเรียนั้น ความตายมีบทบาทเป็นอย่างมาก จนเรียกว่าหมกมุ่นเลยก็ว่าได้

นั่นเป็นเพราะในยุคสมัยนั้น โรคภัยหลากหลายชนิดได้ระบาดกว้างโดยไม่มียาขนานใดสามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น วัณโรค กาฬโรค ไข้หัด ลักปิดลักเปิด ฯลฯ อายุขัยของมนุษย์เองก็ไม่ได้ยืนยาวเท่าปัจจุบัน การเห็นคนเสียชีวิตต่อหน้าต่อตาจึงสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆ เรียกได้ว่าความตายนั้นรายล้อมอยู่รอบกายของทุกคน จนเกือบเป็นเรื่องปกติที่จะได้ยินข่าวอันน่าสลดใจเป็นครั้งคราว

Photo credit: Morbid Anatomy

และด้วยอิทธิพลของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียผู้สวมเพียงชุดเดรสสีดำตั้งแต่เสียพระสวามีให้กับไข้ไทฟอยด์ การไว้ทุกข์ในช่วงเวลานั้นก็ถือเป็นเรื่องใหญ่มากเลยทีเดียว ผู้หญิงจะถูกคาดหวังให้แต่งกายสีดำและไม่เข้าร่วมงานรื่นเริงอย่างต่ำ 2 ปี ขึ้นอยู่กับความสนิทที่มีต่อผู้ตาย นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมยิบย่อยอีกมากที่ต้องปฏิบัติตาม อย่างการคลุมกระจกทุกบาน พันลูกบิดประตูด้วยผ้าดำ หยุดนาฬิกาไว้ตรงเวลาที่มีคนตายในบ้าน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิด ‘วัฒนธรรมหลังความตาย’ ที่มีชื่อเสียง ประณีต และชวนขนหัวลุกในคราวเดียวกัน รับรองเลยว่าคุณจะต้องประหลาดใจถ้ารู้ว่ามันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

ภาพถ่ายผู้วายชนม์ (Post-Mortem Photography)

จริงที่การวาดภาพเสมือน (portrait) นั้นเป็นที่นิยมมานานในหมู่ชนชั้นสูง แต่เมื่อนวัตกรรมภาพถ่ายแบบ daguerreotype ได้ถูกคิดค้นในช่วงปี 1840s การได้ถ่ายรูปที่ชัดแถมราคาไม่แพงเกินเอื้อมสำหรับชนชั้นกลางก็เริ่มเป็นที่นิยม และหลายครอบครัวก็ได้มีการบันทึกภาพผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้ายก่อนพิธีฝัง มันไม่ใช่รูปศพในโลงแต่อย่างใด มันเป็นภาพของศพที่ถูกแต่งเนื้อแต่งตัวและจัดท่าทางศพให้ดูเหมือนตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ บางครั้งก็จะใช้วัสดุค้ำเปลือกตาให้ลืมขึ้น หรือวาดรูปตาทับลงไปเสียแทน ซึ่งอย่างหลังจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น จึงมีบ้างที่ศพจะถูกจัดท่าให้ดูเหมือนหลับไปเฉยๆ โดยมักจะถ่ายคู่กับญาติคนสนิท ตุ๊กตา หรือดอกไม้

Photo credit: Sanook / Number One London

นับว่าน่าเศร้าที่มีรูปภาพ post-mortem photography นี้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรูปศพเด็กเล็ก เนื่องจากอัตราการตายด้วยโรคระบาดที่สูงในยุควิกตอเรีย ทำให้เด็กมากกว่า 30% เสียชีวิตก่อนอายุครบ 5 ปี และเพื่อให้ผู้ที่จากไปได้ถูกจดจำ ก็จะมีการแจกรูปที่ถ่ายเอาไว้ให้กับเครือญาติ บ้างก็ใส่กรอบเก็บเอาไว้ บ้างก็นำไปใส่เครื่องประดับอย่างล็อกเก็ตหรือกำไลข้อมือ พร้อมกับเส้นผมของคนๆ นั้น

Photo credit: Thought Co.

ตุ๊กตาขี้ผึ้ง ตัวแทนของเด็กที่จากไปก่อนวัยอันควร

ในเมื่อมีเด็กเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ชาววิกตอเรียนที่ไม่สามารถต้านทานโรคภัยได้จึงสรรหาวิธีไว้ทุกข์แบบใหม่ขึ้นมา นั่นก็คือการทำตุ๊กตาขี้ผึ้งขนาดเท่าตัวจริงให้เป็นตัวแทนของเด็กที่เสียชีวิต เพื่อที่ครอบครัวจะได้เก็บเอาไว้เป็นความทรงจำ ส่วนใหญ่แล้วตุ๊กตาจะถูกนำมาใส่เสื้อผ้าจริงของเด็กคนนั้นๆ และตั้งโชว์ในพิธีศพ บางครั้งทางครอบครัวก็จะทิ้งตุ๊กตาตัวนั้นเอาไว้ที่สุสาน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะพากลับบ้านไปนอนเปล เปลี่ยนชุดให้ราวกับว่าเป็นเด็กที่มีชีวิตจริงๆ

(รูปที่ 1-2: ตุ๊กตาขี้ผึ้งยุควิกตอเรีย / รูปที่ 3: ตุ๊กตารีบอร์นในปัจจุบัน)

Photo credit: Paranormal Hauntings / Thomas Watson / EDAC

อาจจะฟังดูน่าขนลุกไปสักนิด ถึงอย่างนั้นในปัจจุบันก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ตุ๊กตารีบอร์น’ (reborn dolls) ไว้เยียวยาจิตใจพ่อแม่ที่เสียลูกเล็กไปเช่นกัน ซึ่งดูเหมือนเด็กทารกยิ่งกว่าตุ๊กตาขี้ผึ้งของยุควิกตอเรียเสียอีก

นอกจากนี้ ตุ๊กตาเองก็ยังมีบทบาทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความตาย เช่น นำมาให้เด็กเล่นเพื่อฝึกฝนการไว้ทุกข์ที่เหมาะสม เพราะแม้แต่คนอายุน้อยก็ต้องเข้าร่วมพิธีศพเหมือนผู้ใหญ่ทั่วไป ทำให้การฝึกฝนนี้มาในรูปแบบของการละเล่น ไม่ต่างจากที่พวกเราเคยเล่นพ่อแม่ลูก โดยตุ๊กตาจะเป็นตัวแทนของศพ และหากทางบ้านมีฐานะร่ำรวยสักหน่อย ก็จะมีโลงศพขนาดเล็กและเสื้อผ้าสำหรับใส่ไปพิธีเพื่อเพิ่มความสมจริงอีกด้วย

ปาร์ตี้แกะห่อศพมัมมี่ กิจกรรมยามว่างของเหล่าไฮโซฯ

Photo credit: Atlas Obscura / Journal of Art in Society

ใช่แล้ว คุณอ่านไม่ผิด นี่เป็นหนึ่งในกิจกรรมฆ่าเวลาที่แปลกประหลาดที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ได้เยี่ยมเยือนประเทศอียิปต์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1798 นักท่องเที่ยวชาวยุโรปในเวลานั้นก็เริ่มซื้อมัมมี่ตัวจริงเสียงจริงจากโจรปล้นสุสานกลับมาเป็นของฝาก ซึ่งมัมมี่จากต่างแดนเหล่านี้ก็ได้ไปเตะตาเหล่าชนชั้นสูง ทำให้เกิดปาร์ตี้ส่วนตัวที่เจ้าของงานจะจ้างคน (มักจะเป็นศัลยแพทย์) มาแกะห่อผ้าลินินทีละชั้น และชำแหละร่างของมัมมี่ให้ทุกคนดู ถือเป็นความบันเทิงชวนสยองที่ให้ความรู้ไปในตัว แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับคนในยุคนั้นที่มัมมี่เองก็เคยถูกบดเป็นผงเพื่อทำยารักษาโรค ชื่อว่า ‘มัมเมีย’ (Mumia)

Photo credit: Everything Grande Prairie

ไม่ใช่แค่ยาเท่านั้น ผงจากการบดมัมมี่ยังได้กลายเป็นพิกเมนต์สียอดฮิตที่ใช้ในหลายๆ ภาพวาด ด้วยเฉดน้ำตาลอมเทาคล้ายกับสีของศพที่เน่าเปื่อย และยังได้รับการรีวิวจากจิตรกรยุคก่อนว่าเมื่อผสมเข้ากับสีน้ำมันแล้วก็จะได้สีที่ไม่แตกยามแห้งติดผ้าแคนวาส แม้จะมีรีวิวที่ไม่ดีเกี่ยวกับมันบ้าง ก็ถือว่าเป็นที่นิยมมากพอให้เฉดสี ‘มัมมี่ บราวน์’ (Mummy Brown) เป็นที่จดจำในโลกศิลปะจนถึงปัจจุบัน

Cabaret du Néant ไนต์คลับแห่งความว่างเปล่าและความตาย

Photo credit: Paris en 1900

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายๆ คนก็คงจะพอเดาได้ว่าความบันเทิงไม่ใช่สิ่งที่หาได้ง่ายสำหรับยุควิกตอเรีย แต่ในย่านมงมาร์ตของกรุงปารีส ช่วงปี ค.ศ. 1890s ก็ได้มีไนต์คลับและร้านอาหารจำนวนหนึ่งที่จัดโชว์คาบาเรต์ในธีมของความตาย หนึ่งในนั้นคือร้าน ‘Cabaret du Néant’ หรือ ‘คาบาเรต์แห่งความว่างเปล่า’ ที่ตกแต่งสไตล์โกธิค มีโคมระย้าเป็นโครงกระดูก โต๊ะทำจากหีบศพ และเครื่องดื่มที่ต้ังชื่อตามโรคระบาด เสิร์ฟโดยบริกรที่แต่งตัวเป็นนักบวชหรือสัปเหร่อ แถมยังมีไฮไลต์สำคัญเป็นคาบาเรต์ที่ชวนให้ผู้ชมรู้สึกวูบโหวงไปกับความไม่จีรังของชีวิตมนุษย์

Photo credit: Wikiwand

ก่อนที่จะมาเป็นร้าน Cabaret du Néant สถานที่นี้เคยเป็นร้านอาหารภายใต้ธีมคล้ายๆ กันมาก่อน ชื่อ ‘Cabaret de l'Enfer’ ที่แปลว่า ‘คาบาเรต์แห่งนรก’ ก่อตั้งโดย ‘อ็องตอแน็ง อเล็กซานเดอร์’ (Antonin Alexander) ในปี ค.ศ. 1892 ซึ่งได้ย้ายไปตั้งในสถานที่ใหม่พร้อมหน้าร้านที่บ่งบอกธีมอย่างชัดเจน  และในเมื่อมีนรกก็ต้องมีสววรค​์ ข้างๆ กันจึงเป็นร้าน ‘Cabaret du Ciel’ หรือก็คือ ‘คาบาเรต์แห่งท้องนภา’ นั่นเอง น่าสนใจที่ร้านเหล่านี้เคยมีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย แม้จะเปิดในยุคที่ความเชื่อทางศาสนายังคงเข้มข้น และซาตานคือสิ่งชั่วร้ายที่แทบจะถูกห้ามไม่ให้พูดถึง น่าเสียดายที่ภายหลังทั้งสองได้ถูกทุบทิ้งและแทนที่ด้วยซูเปอร์มาร์เก็ต Monoprix แต่ด้วยรูปถ่ายกับเรื่องเล่าที่ยังคงอยู่ ร้านเหล่านี้จะยังเป็นตำนานของกรุงปารีสไปอีกนานแสนนานอย่างแน่นอน

คงต้องบอกว่าเรื่องราวที่เราหยิบมาเล่าในบทความนี้เป็นเพียงแค่น้ำจิ้มเท่านั้น ยังมีประเพณีและความเชื่อที่สื่อให้เห็นอีกว่าผู้คนในยุควิกตอเรียคลั่งไคล้ความตายมากแค่ไหน เช่น ความนิยมต่อการสตัฟฟ์สัตว์ การรับจ้างร้องไห้หน้าศพ ปาร์ตี้น้ำชาในสุสาน ฯลฯ แล้วสังคมไทยที่ยังคงผูกติดกับหลักของศาสนาพุทธล่ะ ภาพวาดฝาผนังกับสถาปัตยกรรมของวัด และคำสอนที่ยึดโยงกับนรก-สวรรค์ จะพอทำให้พูดได้หรือเปล่าว่าชาวพุทธไทยหมกมุ่นกับชีวิตหลังความตาย? เป็นคำถามที่น่าคิดมากเลยทีเดียว

อ้างอิง

The Unhinged Historian

Thought Co.

Victorian Traditions

The Conversation

Journal of Art in Society

Listverse

Wikiwand