“ฮาลา-บาลา” ผืนป่าอเมซอนแห่งอาเซียน ส่องฝูงนกเงือกที่บินว่อน ก่อนลองลิ้มชิมรสอาหารใต้แบบฮาลาบาลาสไตล์ (HALABALA STYLE)
หมู่บ้านจุฬาภรณ์ 9 อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ชุมชนที่โอบล้อมไปด้วยภูเขา ติดกับอุทยานแห่งชาติบางลาง และยังเป็นดินแดนอดีตพรรคคอมมิวนิสต์มลายา แต่ใครจะรู้บ้างว่า ที่นี่ไม่ได้มีดีแค่สถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็น อู่ข้าวอู่น้ำ แหล่งอาหาร และ “แหล่งวัตถุดิบ” อันอุดมสมบูรณ์
ชนะ แซ่อู๋ หรือ หลิงปิง ไกด์ชุมชนคนรุ่นใหม่ ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านทริปเที่ยว กิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงเมนูอาหาร ผ่านบทสนทนาและการพูดคุยกับนักท่องเที่ยวในฐานะไกด์มายาวนานกว่า 7 ปี ในวัยแค่ 24 ปี
อาหาร คือ “แรงดึงดูดนักท่องเที่ยว”
“อาหารมุมมองของผมกับคนในชุมชนคือ เวลานักท่องเที่ยวมาจากกรุงเทพฯ หรือมาจากต่างพื้นที่ เขาก็ต้องการกินอาหารที่เขาไม่เคยกินหรือไม่ได้กินอยู่บ่อยๆ โดยอาหารในชุมชนใช้วัตถุดิบในชุมชนทำล้วนๆ ผักที่ปลูกก็เป็นผักปลอดสารออแกนิค ปลาที่เลี้ยงไว้ในเขื่อนก็ทำความสะอาด มันเลยกลายเป็นความดึงดูดในรสชาติของอาหาร มีความพิเศษอย่างที่เขาไม่สามารถหากินที่อื่นได้ อาหารเลยมีความสำคัญและเป็นตัวที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวที่บ้านเราครับ”
แตกฉานการท่องเที่ยวชุมชน จนนำ “วัตถุดิบในท้องถิ่น” ทำอาหารให้นักท่องเที่ยวกิน
“เดิมอาหารที่ทำให้สหาย (ใช้เรียกแทนนักท่องเที่ยวจากประเทศอดีตคอมมิวนิสต์) เป็นอาหารที่ค่อนข้างหรู และต้องซื้อวัตถุดิบที่ตลาด ซึ่งห่างจากหมู่บ้าน 90 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง ทำให้ต้นทุนสูงพอเราเริ่มเข้าใจการท่องเที่ยวชุมชน ผ่านอาจารย์หลายๆ ท่าน ได้ทำการวิจัยการท่องเที่ยวโดยชุมชน และผมได้รับการอบรมเมื่อประมาณ 5-6 ปี เราก็เข้าใจพื้นที่และเข้าใจวิถีของคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น เข้าใจว่าวัตถุดิบในชุมชนสามารถนำมาทำอาหารได้ ทำให้ต้นทุนลดลงและเพิ่มการกระจายรายได้ เพราะเราเพาะปลูกเพาะเลี้ยงเอง และยังได้เมนูอาหารรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์”
ทำเมนูตามวัตถุดิบที่มี บนพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์
“พื้นที่ที่ชุมนชนของเราอยู่ห่างไกล มันทำให้กลายเป็นจุดแข็งของชุมชน พอพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองหรือสังคมเมืองเราต้องปลูกผักเอง นี่คือจุดเริ่มต้นของเรา ตอนตั้งหมู่บ้านใหม่ ๆ เราใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ชาวบ้านเขาจะปลูกผักของเขาเองเลย ซึ่งจะปลูกผักไม่ซ้ำกันด้วย มีทั้งถั่วฝักยาว ข้าวโพด พริกขี้หนูสวน ฯลฯ หมู่บ้านเราติดกับเขื่อนบางลาง มีทั้งหาปลาแต่ละชนิดซึ่งแตกต่างกันออกไป เพราะเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างเยอะมาก เลยสามารถทำเป็นอาหารให้ชาวบ้านในชุมชนและนักท่องเที่ยวกินได้”
5 เมนูซิกเนเจอร์แบบฉบับฮาลาบาลาสไตล์
“น้ำซุปต้าลิหวัง” (เป็นภาษาจีน แปลว่า ยาจอมพลัง) ใส่ในซุปกับเก๋ากี้ ทำให้ซุปมีรสชาติดี หอมอร่อย และกลมกล่อม และยังช่วยทำให้ร่างกายเราแข็งแรง นำรากยาสมุนไพรต้มกับน้ำและดื่ม จะช่วยเสริมสมรรถภาพทางร่ายกาย
“ปลากระโดดชุบแป้งทอด” (หรือปลาตับเต่า) เวลาเราล่องเรือ มันจะกระโดดอยู่ข้างๆ เรือ พบที่เขื่อนบางลางเท่านั้น โดยชาวบ้านจะนำไปแปรรูปเป็นปลากระโดดตากแห้ง และเอาไปชุบแป้งทอด กรอบนอกนุ่มใน กินได้ยันกระดูกปลา เสิร์ฟคู่น้ำชุบคือ ‘หรอยแรง’
“ผักกูดผัดน้ำมันหอย” ผักกูดเด็ดสดๆ จากต้น นำมาผัดกับน้ำมันหอย เมนูง่ายๆ ที่นักท่องเที่ยวหลายๆ คนชื่นชอบ
“ผัดหมี่เบตง” รับรองว่าไม่เหมือนที่อื่น เพราะของที่นี่เป็นสูตรลับเฉพาะของคนจีนในพื้นที่ ซึ่งที่นี่จะนิยมเสิร์ฟให้นักท่องเที่ยวเป็นอาหารเช้า
“จาโก้ย หรือ จาก้วย” (หรือปาท่องโก๋) ปกติจะแบ่งเป็นสองซีกและแบ่งครึ่งได้ แต่ที่นี่จะทำออกมาลักษณะกลมๆ คล้ายซาลาเปาทอด เสิร์ฟพร้อมสังขยารสละมุนที่ชาวบ้านทำเอง กินกับน้ำชาหรือกาแฟเข้ากันดีสุดๆ
นักท่องเที่ยวยินดีจ่าย เพื่อได้กินอาหารแสนอร่อย
“นักท่องเที่ยวเขาตั้งใจมาอยู่แล้ว เพราะชุมชนของเราไม่ได้เป็นทางผ่าน และไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวกระแสหลัก ต้องจองล่วงหน้า และเราเป็นการท่องเที่ยวที่จัดการโดยชุมชน เมื่อเราแจกแจงให้เขาทราบว่า เงินที่เขาจ่ายมาเขาได้ช่วยเหลือชุมชน และช่วยเรื่องอาหารที่เราทำกันเอง เขาก็ยินดีมากเลยที่จะจ่ายค่าทริป ซึ่งเรานำวัตถุดิบในชุมชนมาทำอาหารให้นักท่องเที่ยวกินมา 7 ปีแล้ว และถ้าให้เรียงความสำคัญ อาหารคืออันดับ 2 รองจากธรรมชาติและความสวยงามของที่นี่ครับ”
การจัดการอาหารกันเองภายในชุมชน
“น้าสบาย คือ ฝ่ายอาหาร แกเป็นคนทำอาหารเก่งอยู่แล้ว ผมได้ชิมฝีมือของแกบ่อย ๆ ผมเลยให้แกไปคัดคน ทำเมนูต่างๆ โดยทุกเมนูจะใช้วัตถุดิบจากชุมชน ซึ่งมันง่าย สะดวกสบาย และประหยัดต้นทุน ตอนแรกแกก็กลัวว่ากับข้าวบ้านๆ นักท่องเที่ยวจะกินไหม สรุปคือนักท่องเที่ยวสนใจอาหารเรามากขึ้น จนเรามีมาตรฐานที่ชัดขึ้น มีการตกแต่งมากขึ้นโดยเราเอาเงินค่าทริปที่นักท่องเที่ยวจ่ายไปซื้อของในชุมชน เพราะต้นทางของอาหารคือหมู่บ้านของผม
กระจายรายได้สู่ชุมชน จนล้นออกไปยังเพื่อนบ้านชาวอัสรี!
“เรามีทริปนักท่องเที่ยวมา 10 คน แม่ครัวจะจัดการหรือทำเมนูอะไรให้นักท่องเที่ยวกิน เขาจะรู้เลยว่าวัตถุดิบที่จะต้องใช้มีอะไรบ้าง มีกี่อย่าง สัดส่วนเท่าไหร่ คนหาปลาจะมีประมาณ 5-6 คน เราก็จะเวียนซื้อไปเรื่อยๆ และเป็นเจ้าประจำ ผักเรารับซื้อ และเราก็มีร้านค้าชุมชน เช้าๆ มีชาวบ้านเอาผลผลิตของตัวเองมาวางขายและจำหน่าย บางคนเอามะเขือห่อใส่ถุงมา บางคนมีพริกขี้หนู มีฟัก วางหน้าร้านค้าชุมชน อาแปะที่เป็นเจ้าของร้านค้า เขาก็จะเอาเงินให้ชาวบ้านที่เขามาฝากขาย ผลผลิตที่หลากหลายและมีการหมุนเวียน ทั้งเราไปหาเขาและเขามาหาเรา ชนเผ่าอัสรี หรือ ซาไก เขาก็ไปหารากยาสมุนไพรต้าลิหวังและเห็ดหลินจือ เพื่อเอามาแลกกับข้าวสารอาหารแห้งหรือเอามาขาย ช่วยกระจายรายได้ในชุมชน และได้ช่วยเหลือเพื่อนบ้านเรือนเคียงอย่างชนเผ่าอัสรีด้วยครับ”
ทิ้งท้ายถึงคนอ่าน EQ
“อยากเชิญชวนทุกท่านให้มาท่องเที่ยวที่ฮาลาบาลา หมู่บ้านจุฬาภรณ์ 9 ของเราจริงๆ หมู่บ้านเรามีทั้ง คนไทยพุทธ คนไทยจีน คนไทยมุสลิม วัฒนธรรมที่หลากหลาย จะส่งผลให้อาหารมีรสชาติและมีความพิเศษมากยิ่งขึ้นครับ อยากเชิญชวนทุกท่านมาท่องเที่ยวที่นี่ เพราะมีความหลากหลายเรื่องแหล่งท่องเที่ยว ไหนๆ ก็มายะลาแล้ว แวะมาจุฬาภรณ์ 9 ก่อนกลับด้วยครับผม”
จบบทสนทนาครั้งนี้กับหลินปิง ทำให้เราอยากกลับไปที่นั่นอีกครั้ง เรายังจำตอนที่ไปที่นั่นได้ ธรรมชาติที่งดงาม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ คือที่สุดของการท่องเที่ยวแล้ว หลินปิงย้ำกับเราเสมอว่า “พื้นที่ดี ดินอุดมสมบูรณ์ อากาศดี มีความชื้นตลอดทั้งปี ทุกอย่างมีความเกี่ยวข้อง ปลูกอะไรก็ขึ้น เลี้ยงอะไรก็ดี” มันทำให้ภาพจำ…ชัดเจนยิ่งขึ้น