“Missing The Missing” ส่วนผสมของธรรมชาติและดิจิทัลอาร์ตฉบับ วอร์ วนรัตน์

“Missing The Missing คือการเล่นกับคำว่า ‘คิดถึง’ และ ‘สูญหาย’ คอนเซ็ปท์ของชิ้นงานเลยหมายถึงการหวนคิดถึง ‘ธรรมชาติ’ ที่ช่วยเยียวยาจิตใจคนเราได้ แต่วันนี้มันค่อยๆ สูญหายไป”

นี่คือความคิดอันน่าสนใจหรือถ้าเรียกกันง่ายๆ ก็คือ เฉียบ! จาก วอร์ - วนรัตน์ รัศมีรัตน์ เจ้าของโปรเจกต์ NFT: Missing The Missing by olulo objects ที่ทำให้เราเข้าใจงานของเขามากขึ้นว่าทำไมคาแรกเตอร์ทุกตัวถึงมีศีรษะโปร่งใส แล้วทำไมผืนน้ำ ต้นไม้ ใบหญ้า รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นต้องไปอยู่ในนั้น

วอร์เป็นนักแสดงคนหนึ่งที่มีความชื่นชอบด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ทำให้ทุกครั้งที่เขาทำงานศิลปะหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใด ก็มักจะมีมุมมองและการร้อยเรียงเรื่องราวที่ค่อนข้างเฉพาะตัวอยู่เสมอซึ่ง Missing The Missing เป็นอีกหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าความคิดของเขาดีมากทีเดียว เลยไม่รอช้าที่จะชวนเจ้าตัวมาพูดคุยถึงโปรเจกต์ของเขา รวมถึงมุมมองต่อ NFT และงานศิลป์ในด้านต่างๆ เพราะเชื่อว่ามีคนอีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับ ผู้เสพคริปโทอาร์ต หรือแม้กระทั่งนักอ่านของ EQ คงตั้งตารอกันอยู่ 

จากโปรเจ็กต์มหา’ลัยสู่ NFT 

ก่อนจะมาเป็น Missing The Missing ให้นักสะสมได้จับจองกัน วอร์เล่าว่าในอดีตเคยทำโปรเจกต์สมัยเรียนอยู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเซรามิกเทอร์ราเรียม (สวนขวด) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิด “ธรรมชาติ” ให้ชีวิตและชีวา เป็นทั้งสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายและเป็นทรัพยากรในการดำรงชีวีต แต่การกระทำของมนุษย์ทำให้สิ่งเหล่านั้นจางหายไป จนในที่สุดอาจเหลือให้เห็นแค่เพียงขวดใบเดียว พอมาปีนี้ที่กระแสคริปโทเคอร์เรนซีเริ่มมา เลยได้โอกาสปรับเปลี่ยนให้เป็น NFT

“ผมรู้สึกว่าธรรมชาติมันเยียวยาจิตใจคนที่ได้เห็น พอมันค่อยๆ หายไปจนเห็นได้น้อยลง สมองก็จะหรือนึกถึงภาพที่ตัวเองอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ผมเลยเปรียบว่าโลกคือสวนขวดขนาดใหญ่ ถ้าหากวัฏจักรดี รดน้ำแค่ครั้งเดียวก็จะอยู่ได้ตลอด แต่ถ้าโดนทำลายเรื่อยๆ สุดท้ายก็อาจจะย่อส่วนลงเหลือเล็กเท่าขวดใบหนึ่ง เพราะทรัพยากรอาจจะเหลืออยู่เท่านั้น โดยจะสื่อสารผ่านบุคลิกต่างๆ เช่น คนปกติที่วาดเหมือนผมหรืออาจจะแทนหลายๆ คน ชิบะอินุ Rare Item ที่ล้อไปกับเหรียญ SHIBA INU (SHIB) ที่อยากจะไปถึงดวงจันทร์ หรือวาฬที่แทนนักลงทุนรายใหญ่ในคริปโทฯ”

ที่มาที่ไปของ olulo

“ผมชอบการมองสิ่งของเหมือนหน้าคน เวลาไปเจอแบบนี้ที่ไหนก็จะชอบถ่ายรูปลง IG เวลาออกแบบโลโก้ก็อยากแทนความเป็นสิ่งที่ชอบ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า olulo เป็นรูปภาพมากกว่าคำ และสะกดชื่อหน้า – หลังได้คำเดิมเสมอ รู้สึกว่ามันสมมาตรดี ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ”

มุมมองต่อ NFT และโลกคริปโท

วอร์เป็นคนหนึ่งที่เข้าสู่วงการ NFT จากการเล่นบิตคอยน์มาก่อน ซึ่งแตกต่างจากศิลปินหลายคนที่เพิ่งมาศึกษาเหรียญดิจิทัลไปพร้อมๆ กับการขายงาน เราเลยมีโอกาสได้ถามถึงมุมมองต่อเรื่องนี้ด้วย ซึ่งวอร์บอกกับเราว่า

“ตอนแรกเคยมองว่าบิตคอยน์เป็นแชร์ลูกโซ่ แต่พอได้ศึกษาจริงๆ ก็คิดว่าเป็นสกุลเงินที่แข็งแรงมาก เลยเริ่มอินกับสังคมนี้ แล้วพอได้ศึกษาอีเธอเรียม (ETH: Ethereum) ก็รู้สึกว่าเป็นแพลตฟอร์มที่เจ๋ง เลยอยากจะเข้าไปเป็นหนึ่งใน community นั้นด้วย พอดีกับที่ช่วงโควิดนี้ว่าง เลยลองใช้เวลาศึกษา NFT ก็นานเป็นเดือนเหมือนกัน เพราะว่าวิธีการทำค่อนข้างมีรายละเอียดยิบย่อย ทั้งการดูค่า Gas แลกเงินเข้า e-wallet และการลงรูปที่เป็นลักษณะเฉพาะ ต้องวางแผนให้ดีก่อนจะลงงาน ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ยังงงๆ อยู่เลย (หัวเราะ)” 

“จุดเด่นของ NFT คือ มันสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ 100% ว่าเป็นของจริงและใครเป็นเจ้าของ โดยไม่ต้องให้ใครมาพิสูจน์ ต่างกับรูปวาดมือที่พอเวลาผ่านไปนานๆ เราอาจไม่มีทางรู้เลยว่ารูปไหนคือของจริง”

คริปโทอาร์ตกับงานวาดมือ

ในฐานะผู้ชื่นชอบการสร้างสรรค์งานศิลป์และเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงคริปโทเคอร์เรนซีด้วย วอร์คิดว่าอนาคตวงการศิลปะจะออกมาแบบไหน จะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งหายไป หรือคิดว่าแบบไหนดีกว่ากัน 

“มันทดแทนกันไม่ได้และไม่สามารถวัดได้ว่าอันไหนดีกว่า แต่มันจะโตควบคู่กันไป” 

นี่คือคำตอบที่เราได้รับ เพราะเขาเชื่อว่ามันมีเสน่ห์คนละอย่าง และยังมีคนอีกมากที่อินกับงานศิลป์แบบจับต้องได้อยู่ ส่วนงาน NFT จะเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ชื่นชอบในบางอย่างที่งานวาดมือไม่สามารถทำได้ 

NFT ควรแยกออกจากการอนุรักษ์พลังงาน

ถ้าใครที่ตามข่าวสารอยู่ในแวดวง NFT มาสักพักแล้ว จะเห็นกระแสหนึ่งที่มีมาอย่างต่อเนื่อง คือการต่อต้าน NFT เพราะมองว่าไม่ใช่งานศิลปะ มันสิ้นเปลืองพลังงานและทำลายสิ่งแวดล้อม สำหรับคนทำงานศิลป์ที่มีสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญ เราอยากรู้ว่ามีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

“ผมคิดว่าการทำงานศิลปะไม่ควรเอาเรื่องของความสิ้นเปลืองทรัพยากรมาเป็นตัวตัดสินว่ามันไม่ดีหรือไม่ใช่ศิลปะ ยกตัวอย่างเช่นงานปั้นเซรามิกต้องใช้ดิน น้ำ เชื้อเพลิง และต้องใช้เวลาย่อยสลายหลักพันปีกว่าสสารนั้นจะกลับสู่ธรรมชาติ นั่นแสดงว่าเซรามิกคือตัวทำลายทรัพยากรหรือเปล่า ก็ไม่น่าจะใช่ ส่วน NFT มันก็เป็นแค่การสื่อสารงานศิลปะรูปแบบหนึ่ง ถ้ามองในแง่ของการไม่อนุรักษ์พลังงาน ผมเชื่อว่าในอนาคตโลกดิจิทัลจะสามารถพัฒนาไปได้อีกไกล จนเราอาจจะไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรแล้วหันไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนก็ได้ ซึ่งจะทำให้สนุกขึ้นอีก”

คุณค่างานศิลป์เชื่อมโยงกับรัฐ

อีกหนึ่งประเด็นที่คิดว่าต้องถามให้ได้เมื่อมีโอกาสคุยกับวอร์ คืองานศิลป์และการเชื่อมโยงกับรัฐบาล เพราะเท่าที่เราเคยพูดคุยกับศิลปินหลายคนล้วนมีความเห็นที่น่าสนใจว่า ถ้าสิ่งแวดล้อมดี การเมืองดี คนก็จะให้คุณค่ากับงานศิลปะมากขึ้นไปด้วย 

“มุมมองหรือการให้คุณค่ากับงานศิลปะมันเป็นปัญหามานานสำหรับคนไทย จริงๆ แล้ว ศิลปะมันอยู่รอบตัวเราและคุณค่าศิลปะมันเท่าเดิมตลอด แต่หลายคนมองไม่เห็น เพราะว่าระบบของรัฐบาลมันทำให้เครื่องมือในการมองเห็นคุณค่านั้นหายไป เขากำลังพัฒนาไปทางที่ผิดอยู่พอสมควร ยิ่งช่วงนี้มีโควิดเข้ามา ทำให้คนในสังคมต้องพยายามเอาชีวิตรอด สนใจสิ่งรอบตัวที่ให้ความสุขน้อยลง เลยเผลอลดคุณค่าความงามของงานศิลปะลงไปยิ่งกว่าเดิมโดยอาจไม่ได้ตั้งใจ ถ้าพูดกันจริงๆ แล้วเรื่องศิลปะต้องเริ่มตั้งแต่การปลูกฝังเยาวชน เพราะที่ผ่านมาหลักสูตรการเรียนทำให้คนกลายเป็นหุ่นยนต์ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ศิลปะมันเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ ถ้าเกิดไม่มีทักษะนี้ก็จะมองไม่เห็นคุณค่าของมัน”

ฝากถึงคนที่อยากทำ NFT

“ผมเริ่มมีแรงกระตุ้นให้ตัวเองกล้าทำ NFT ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าแฟนคลับอยากให้ลองทำดู เลยตัดสินใจลองดู เพราะอยากรู้เหมือนกันว่าจะเป็นยังไง จะได้มาเล่าให้คนที่เขาอยากทำตามได้ถูก พอได้ลองแล้วก็อยากแชร์ว่าถ้าใครอยากลองทำก็ให้วาดไปเลย อย่างน้อยมันก็เป็นการฝึกตัวเอง ถ้าทำไปเรื่อยๆ แล้วผลงานทัชใจคนขึ้นมาได้ เดี๋ยวก็จะประสบความสำเร็จ ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญคือจะต้องมีทางเลือกให้ชัดเจนว่าจะทำออกมาแบบไหน ถ้าเป็นภาพคอลเลกชั่น ก็ควรดูว่าจะวาดต่อเนื่องยังไงให้เร็วและมีคุณภาพเท่ากัน หรือถ้าวาดรูปคอนเซ็ปท์ก็ต้องทำให้คนเห็นแล้วอยากเก็บงานของเรา”

ก่อนจากกันวอร์ได้ฝากถึงทุกคนที่กำลังติดตามผลงานอยู่ว่า ในอนาคตจะมี NFT คอลเล็กชั่นใหม่ออกมาอีกเรื่อยๆ เพราะเจ้าตัวคิดว่ามันสนุกและมีความสุขที่ได้ทำ และแน่นอนว่าจะมีงานศิลปะแบบอื่นให้ติดตามกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นเซรามิก งานโปรดักส์ที่จับต้องได้ หรือความฝันสูงสุดอย่างอาร์ตแกลอรี่ก็อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน 

ติดตามและอัปเดตผลงานทั้งหมดของวอร์ได้ที่

IG: warwanarat, olulo.objects

OpenSea: https://opensea.io/olulo

Twitter: warwanarat