Wasteland คอมมูนิตี้ร่วมดื่มของผู้รักษ์สิ่งแวดล้อม

บ้านไม้ทรงไทยหลังสวยพร้อมสระน้ำที่ห้อมล้อมไปด้วยต้นไม้เขียวขจีใจกลางซอยสุขุมวิท 53 ที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยในชื่อของ Bo.lan ร้านอาหารไทยพรีเมี่ยมติดอันดับโลก ในวันนี้พื้นที่ภายในบ้านได้รับการปรับเปลี่ยนเกิดเป็นบาร์คอกเทล ร้านไวน์ และร้านอาหารใหม่โดยเหล่าพาร์ทเนอร์ผู้มีอุดมการณ์รักษ์ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ร่วมสร้างสรรค์พื้นที่ร่วมสำหรับประสบการณ์กินและดื่มในแบบยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด หนึ่งในนั้นก็คือร้าน Wasteland ภายใต้คอนเซ็ปท์ ‘Community Sipping Space’ หรือ คอมมูนิตี้ร่วมดื่มของผู้รักษ์สิ่งแวดล้อม มาในวันนี้เราได้ไปทำความรู้จักกับทีมผู้สร้างสรรค์เครื่องดื่ม นำโดยกอฟ-กิติบดี ช่อทับทิม และฝาเบียร์-สุชาดา โสภาจารี ที่มาพร้อมกระบวนการจัดการวัตถุดิบอย่างคุ้มค่า ให้เกิดขยะน้อยที่สุด Zero Waste to Landfill 

Wasteland ดินแดนหลังวันสิ้นโลก

ไอเดียชื่อ Wasteland มาจากกอฟ ที่ชอบภาพยนตร์ไซไฟยุค 80 เล่าถึงหลังวันสิ้นโลก Apocalypse ที่เหล่ามนุษย์ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วยการนำเอาทุกอย่างมาใช้เป็นปัจจัยสี่ และไม่มีสิ่งไหนที่สูญเปล่า นั่นเลยกลายเป็นคอนเซ็ปท์และชื่อเรียกของบาร์ว่า Wasteland 

Waste ที่ไม่ใช่ขยะ

ฝาเบียร์ เล่าให้ฟังถึงช่วงเริ่มต้นของการทำบาร์ ที่เธอก็เป็นหนึ่งในบาร์เทนเดอร์ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิดระบาด ทำให้ร้านที่เธอทำงานอยู่ต้องปิดลง ผู้คนงดออกจากบ้าน ทุกอย่างเงียบเหงา และหดหู่ เธอเปรียบความรู้สึกตอนนั้นเหมือนโลกกำลังจะแตก จากการว่างงานเกิดเป็นการสรรหาความท้าทายใหม่ ที่ทำให้เธอได้มาพบกับทีมของ Bo.lan ที่กำลังมองหาพาร์ทเนอร์มาร่วมทำบาร์คอนเซ็ปท์รักษ์โลก ที่เลือกใช้ศักยภาพของวัตถุดิบมาครีเอทเมนูเครื่องดื่มได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

วัตถุดิบต่างๆ เล่านี้ไม่ใช่ขยะ แต่เป็นส่วนของการทำอาหารในขั้นสอง (Second Process) ที่ทางฝาเบียร์ได้เลือกวัตถุดิบเหล่านี้มาทดลองแบ่งแยกปรับเปลี่ยน และสร้างสรรค์เป็นส่วนผสมคอกเทล

“Zero Waste มันเป็นไปไม่ได้ แต่เราทำยังไงให้ได้ขยะน้อยที่สุด ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการการจัดการกับวัตถุดิบ เราจัดการใช้ซ้ำ และต่อยอดไปให้ได้”

นอกจากตัวเครื่องดื่มแล้ว ทางตัวบาร์ยังถูกสร้างขึ้นมาด้วยการนำเอาวัสดุต่างๆ มารีไซเคิล อาทิ เสื่อ ตู้ หัวก๊อก และเก้าอี้ต่างๆ ที่ต้องผ่านกระบวนการคิดก่อนถูกเลือกสรรมาใช้งานอีกครั้ง

สร้างสรรค์คอกเทลด้วยกระบวนการคิด

จากการเรียนรู้เทคนิคขั้นตอนการทำอาหาร ผสมประสบการณ์การกินอาหารที่หลากหลาย ทำให้ฝาเบียร์เลือกนำวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารมาทดลองทำส่วนผสมเมนูเครื่องดื่มใหม่ อาทิ เอาก้านพริกมากลั่นทำน้ำมัน ใช้เปลือกฟักที่เหลือจากการทำแกงมาทำอบแห้ง เป็นต้น ทุกอย่างที่ฝาเบียร์เลือก จะผ่านกระบวนการคิดในการใช้ทุกส่วนให้คุ้มค่า และนำมาต่อยอดผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ใช้ในการทำคอกเทลได้รสชาติที่แปลกใหม่และเป็นเอกลักษณ์

Community Sipping Space

แหล่งสังสรรค์ร่วมดื่มสไตล์ New Normal ที่เวลาเปิดตั้งแต่ 11 โมงเช้าถึงช่วงกลางคืน ทางฝาเบียร์หวังให้ Wasteland เป็นคอมมูนิตี้ให้คนได้มาร่วมดื่มและแลกเปลี่ยนไอเดียความคิดได้อย่างเสรี ภายใต้จิตสำนึกของการรักษ์โลก ที่เธอเองตั้งแต่เริ่มทำบาร์มาก็ปรับเปลี่ยนตัวเอง หันมาสนใจการใช้พลาสติกให้น้อยลง การแยกขยะรีไซเคิล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“การดื่มอย่างมีสติจะ unlock พลังและความคิดต่างๆ ที่อยู่ข้างในของคนออกมา ทำให้เกิดไอเดียใหม่มาแลกเปลี่ยนกัน”

ความท้าทายของบาร์เทนเดอร์

ในฐานะเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Wasteland ฝาเบียร์มองเห็นว่าการพัฒนาตัวเองเป็นความท้าทาย การเป็นบาร์เทนเดอร์ต้องศึกษาหลายอย่าง  ฝาเบียร์มองว่ามันไม่ใช่แค่การบริการ แต่มันเป็นการโชว์ศักยภาพของตัวเอง การเตรียมรับมือลูกค้า และพัฒนาผลงานตัวเองไปดีขึ้นเรื่อยๆ

“ไม่อยากโดนคนมองว่าเราเป็น Fake Zero Waste แต่เราก็คือบาร์ที่พยายามยามให้เห็นผลของการใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่าและเกิดขยะน้อยที่สุด จนทำให้คนอื่นทำตาม นั่นคือความสำเร็จของเรา”

หากคุณมีความรักษ์ในสิ่งแวดล้อม และพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไปลองจิบคอกเทล พร้อมเสวนากับเหล่าบาร์เทนเดอร์ของ Wasteland สุขุมวิท 53 ไม่แน่คุณอาจจะได้เปิดมุมมองและเพิ่มไอเดียใหม่ให้ตัวเองก็เป็นได้