ถ้าไม่นับท้าวเวสสุวรรณที่อยู่ในกระแสตอนนี้ ‘ยักษ์วัดแจ้ง และยักษ์วัดโพธิ์’ น่าจะเป็นยักษ์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคู่หนึ่งเลยก็ว่าได้ ด้วยความเป็นที่รู้จักของยักษ์ทั้ง 2 ตน เราจึงมักจะเห็นยักษ์ทั้ง 2 ปรากฏในสื่ออยู่บ่อยๆ ทั้งการ์ตูน ภาพยนตร์ และงานศิลปะร่วมสมัย แม้แต่ของที่ระลึกก็ยังมี แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น มาทำความรู้จักกับยักษ์วัดแจ้ง และยักษ์วัดโพธิ์กันก่อนดีกว่า
ใครคือยักษ์วัดแจ้ง – ยักษ์วัดโพธิ์?
‘ยักษ์วัดแจ้ง’ หรือ พญายักษ์วัดแจ้ง เป็นพญายักษ์ใหญ่ 2 ตน ที่อยู่ขนาบประตูทางเข้าพระอุโบสถของวัด ตนที่มีกายสีเขียวคือ ‘ทศกัณฐ์’ เจ้าแห่งกรุงลงกา ส่วนที่มีกายสีขาวคือ ‘สหัสเดชะ’ เจ้าเมืองปางตาล ซึ่งทั้ง 2 ตนถือเป็นยักษ์ใหญ่ที่สุด เทียบได้กับข้าราชการระดับสูงในปัจจุบัน ยักษ์ทั้ง 2 ตนนี้จะต้องยืนคู่กันเสมอ เพราะด้วยศักดิ์ที่มีความยิ่งใหญ่มากของทั้งคู่ จึงไม่สามารถจับคู่กับใครได้เลยนอกจากจับคู่กันเอง
โดยปกติ ‘ยักษ์’ มักจะถูกมองว่าต้องตัวใหญ่ ทำให้บรรดาตุ๊กตาศิลาจีน หรือ 'ลั่นถัน' ที่ยืนเฝ้าประตูทางเข้าหลักของวัด ถูกเข้าใจผิดว่าเป็น ‘ยักษ์วัดโพธิ์’ แต่จริงๆ แล้ว ยักษ์วัดโพธิ์เป็นยักษ์ตัวเล็ก ที่ยืนเฝ้าประตูทางเข้าพระมณฑป หรือหอไตรจตุรมุข ในปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 4 ตนด้วยกัน ซึ่งต่างก็เป็นยักษ์จากเรื่องรามเกียรติ์เหมือนกับยักษ์วัดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็น ‘พญาขร’ ยักษ์กายสีเขียวเจ้าเมืองโรมคัล คู่กับ ‘สัทธาสูร’ ยักษ์กายสีหงเสน (สีสนิมดีบุกเจอสีขาว) เจ้าเมืองอัสดงค์ เฝ้าประตูด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนประตูทางฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้มี ‘มัยราพณ์’ (ปัจจุบันนิยมสะกดว่า ไมยราพ) ยักษ์ที่มีกายสีม่วงอ่อน ผู้เป็นเจ้าแห่งเมืองบาดาล ยืนคู่กับ ‘แสงอาทิตย์’ ยักษ์กายสีแดงชาด โอรสของพญาขร (ที่เฝ้าอยู่ประตูข้างๆ)
ตามจารึกที่ว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ระบุว่า จริงๆ แล้ว ยักษ์วัดโพธิ์แต่ดั้งเดิมมีทั้งสิ้น 4 คู่ 8 ตน ดังความที่ปรากฎว่า “แลกำแพงนั้นประกอบด้วยสิลาเขียวแผ่นใหญ่ มีประตูซุ้มสามยอดไว้รูปอสูร หล่อด้วยสังกะสีผสมดีบุกสูงสามศอกคืบ ยืนกุมตระบองอยู่ในช่องซุ้มสองข้างประตูละสองรูป เหมือนกันทั้งสี่ประตูสี่ด้านเป็นรูปอสูรแปดรูป”
ถึงแม้ว่าจารึกของวัดจะบอกไว้ชัดเจนว่า ดั้งเดิมมีรูปยักษ์ (หรือที่ในจารึกเรียกว่าอสูร) อยู่ 8 ตน แต่ในปัจจุบัน อีก 4 ตนก็ไม่ปรากฎอยู่แล้ว เนื่องจากถูกรื้อออกไปพร้อมกับซุ้มประตูฝั่งทิศตะวันออกทั้ง 2 ซุ้ม ในตอนที่มีการสร้างพระเจดีย์สุริโยทัย พระมหาเจดีย์องค์ที่ 4 ของวัดโพธิ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยยักษ์ตนที่หายไปก็คือ ‘อินทรชิต’ ยักษ์กายสีเขียว บุตรของทศกัณฐ์ ยืนเฝ้าประตูทิศตะวันออกเฉียงใต้คู่กับ ‘สุริยภพ’ (หรือที่ปัจจุบันสะกดว่าสุริยาภพ) ยักษ์กายสีแดงชาด โอรสท้าวจักรวรรดิ ส่วนประตูทางเข้าหอไตรฝั่งทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นคู่ของ ‘ทศกัณฐ์’ และ ‘สหัสเดชะ’ เช่นเดียวกับที่เฝ้าทางเข้าอุโบสถวัดอรุณฯ นั่นเอง
ตำนานท่าเตียน
พูดถึงยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์ ถ้าจะไม่พูดถึงตำนานท่าเตียนก็กระไรอยู่ ฉะนั้นเอาแบบสั้นๆ เลยแล้วกัน
ตำนานท่าเตียนที่ว่านี้เล่าถึงเรื่องของยักษ์ทั้ง 2 วัด ที่แต่เดิมเป็นเพื่อนกัน กระทั่งวันหนึ่ง ยักษ์วัดโพธิ์ไม่มีเงิน ก็เลยข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้ง ซึ่งยักษ์วัดแจ้งก็ให้ยืม แต่ปรากฏว่า พอถึงกำหนดคืนเงิน ยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมคืนเงิน ยักษ์วัดแจ้งจึงข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาทวงเงิน จนได้ทำการสู้กัน แต่ด้วยพลังของยักษ์ทั้งสองที่มากเกินไป ทำให้ต้นไม้ในบริเวณที่ยักษ์ทั้ง 2 เดินผ่านราบเลี่ยนเตียนโล่ง จนสุดท้าย พระอิศวรจึงเสด็จมาลงโทษยักษ์ทั้ง 2 โดยสาปให้กลายเป็นหิน และให้ยักษ์วัดโพธิ์ไปยืนเฝ้ามณฑป ยักษ์วัดแจ้งไปเฝ้าพระวิหาร ส่วนบริเวณที่ยักษ์ทั้ง 2 รบกันก็คือ 'ท่าเตียน' นั่นเอง
แต่หากสังเกตให้ดี ในตอนท้ายของตำนานนี้มีจุดที่น่าสนใจอยู่ 2 จุด คือ
- คนแต่งตำนานรู้ว่ายักษ์วัดโพธิ์เป็นยักษ์ขนาดเล็กที่อยู่บริเวณทางเข้ามณฑป ไม่ใช่ยักษ์จีนเหมือนที่คนรุ่นหลังเข้าใจ
- ยักษ์วัดแจ้งนั้น จริงๆ แล้วเฝ้าประตูทางเข้าพระอุโบสถ ไม่ใช่พระวิหาร ก็น่าสนใจดีเหมือนกันว่า ทำไมตำนานนี้ถึงเล่าแบบนี้ ทั้งที่ก็เห็นอยู่ทนโท่ว่ายักษ์ทั้ง 2 ตนไม่ได้เฝ้าพระวิหาร
พญายักษ์ในวงการภาพยนตร์
ถึงจะมีวัดหลายแห่งที่ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำละคร หรือภาพยนตร์ แต่น่าจะไม่เคยมีสิ่งที่อยู่ภายในวัดไหนๆ ถูกหยิบจับมาเป็นตัวละครในภาพยนตร์ได้เหมือนอย่างยักษ์วัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพยนตร์เรื่อง 'ท่าเตียน' ที่เข้าฉายเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2516 ที่น่าจะถือว่า เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ตัวละครยักษ์ทั้ง 2 ตน ได้เฉิดฉายอยู่บนจอเงิน โดยผู้กำกับ ‘สมโพธิ แสงเดือนฉาย’ ได้แรงบันดาลใจจากสมัยที่อยู่ในกองถ่ายภาพยนตร์ชุด ‘ก๊อดซิลล่า’ และซีรีส์ ‘อุลตร้าแมน’ ที่ประเทศญี่ปุ่น จึงนำไอเดียภาพยนตร์เกี่ยวกับยักษ์ หรือสัตว์ประหลาดของไทยมาใช้ และเลือกยักษ์วัดแจ้ง - ยักษ์วัดโพธิ์มาเป็นตัวละคร พร้อมทั้งหยิบยกเอาตำนานของท่าเตียนที่เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่คนส่วนใหญ่คุ้นหูกันอยู่แล้วมาดัดแปลงได้อย่างน่าสนใจ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก และประสบความสำเร็จอย่างสง่างาม
จุดที่น่าสนใจก็คือ ‘ยักษ์วัดโพธิ์’ ที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่ใช่ยักษ์ตัวเล็กที่เฝ้าประตูทางเข้าพระมณฑป แต่กลับเป็นตุ๊กตาศิลาจีน แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า ยักษ์วัดโพธิ์คือ ‘ยักษ์จีน’ น่าจะเป็นเกิดขึ้นมานานมากแล้ว ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะถ้าเราพูดถึง 'ยักษ์' เราก็จะนึกถึงสิ่งมีชีวิตที่ขนาดใหญ่กว่าคน ในเมื่อยักษ์วัดโพธิ์ของจริงเป็นยักษ์ขนาดเล็ก ในขณะที่ตุ๊กตายักษ์จีนนั้นตัวใหญ่กว่ามาก จึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะคิดว่า 'นี่สิ ยักษ์วัดโพธิ์ของจริง'
ถัดมาอีกแค่ปีเดียว สมโพธิ แสงเดือนฉาย แห่งไชโยภาพยนตร์ ก็ได้จับมือกับสึบุรายะโปรดักชั่น เจ้าของซีรีส์อุลตร้าแมน สร้างภาพยนตร์เรื่อง 'ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ' โดยนำเอา ‘จัมโบ้เอ’ ตัวละครจากซีรีส์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ออกฉายในปี พ.ศ 2516 มาเจอกับยักษ์วัดแจ้ง โดยได้เล่าเรื่องว่า ที่วัดแจ้งมี 'เพชรสุริยคราส' วัตถุที่มีพลังมหาศาล มนุษย์ดาวอังคารจึงได้บุกลงมายังโลกเพื่อชิงเพชรนี้ และจัมโบ้เอได้ร่วมมือกับยักษ์วัดแจ้งสู้กับมนุษย์ดาวอังคาร โดยนางจังกล และมนุษย์กลางหาว ได้รับชัยชนะ แม้จะไม่ได้ถูกพูดถึงในชื่อเรื่อง แต่ในเรื่องก็มียักษ์วัดแจ้งปรากฏตัวมาสู้กับมนุษย์กลางหาวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน และในเวอร์ชั่นนี้ เขาก็ยังเป็นยักษ์จีนเหมือนเดิม
ยักษ์วัดแจ้ง – วัดโพธิ์ในงานร่วมสมัย
หลังจากนั้น แม้ยักษ์ทั้ง 2 วัดจะยังมีชื่อเสียงอยู่ แต่ก็ไม่ได้มีการปรากฏตัวในสื่ออีกเลย ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง สาเหตุหนึ่งก็อาจจะมาจากการที่ทั้ง 2 ตัวละคร เป็นสิ่งที่คนไทยส่วนหนึ่งเคารพนับถือในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น การจะหยิบจับมาสร้างเป็นผลงานละคร หรือภาพยนตร์นั้นมีความละเอียดอ่อนมาก เว้นเสียแต่จะปรากฏตัวในรายการสารคดี หรือเป็นฉากหลัง
กระทั่งในปี พ.ศ.2561 มีการจัดเทศกาลศิลปะนานาชาติ ‘Bangkok Art Biennale 2018’ คุณคมกฤษ เทพเทียน ได้สร้างผลงาน 'ยักษ์แฝด' ซึ่งได้นำยักษ์ปูนปั้นแบบไทย กับนักรบหินแกะสลักแบบจีน หรือยักษ์จีน มาเชื่อมบริเวณลำตัวให้ติดกันแบบแฝดอิน-จัน ซึ่งถ้าเราดูดีดีก็จะเห็นว่า ยักษ์แบบไทยกับยักษ์จีนที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานชิ้นนี้น่าจะเป็นยักษ์วัดแจ้ง และยักษ์วัดโพธิ์ที่คนไทยคุ้นเคยกัน โดยในปัจจุบัน ผลงานยักษ์แฝดนี้ได้ย้ายจากบริเวณศาลาริมน้ำ ด้านหน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม สู่หน้าทางเข้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ และผลงานยักษ์แฝดนี้ยังได้ถูกนำไปต่อยอดเป็นผลงานชื่อ ‘Giant Twins’ ในปี 2022 รวมถึงมีการทำออกมาในรูปของสติกเกอร์ด้วย
ผลงาน 'ยักษ์แฝด' นี้ถือเป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการประยุกต์เอางานศิลปกรรมโบราณ มาทำให้ดูร่วมสมัย ทันสมัย เข้ากับคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น ทำให้เราเห็นว่า ไม่ใช่แค่ลายไทยตามวัดเท่านั้น ที่จะสามารถนำมาออกแบบให้ร่วมสมัยได้ แต่งานประติมากรรมต่างๆ ภายในวัดเองก็สามารถทำได้เช่นกัน และน่าสนใจมากว่า ในอนาคตจะมีใคร หรือผลงานชิ้นใหม่ๆ ที่นำเอาไอเดียแบบนี้มาใช้อีกหรือเปล่า