Culture

อาชีพตามประเพณีนิยม ผลผลิตของการกดขี่ผู้หญิง

“การมีอำนาจสิทธิเหนือกว่าเพศใดเพศหนึ่งมีมานานตั้งแต่สมัยโบราณ ที่โบราณมากๆ เป็นเรื่องราวของเพศเมียผู้ซึ่งมีความสามารถในการให้กำเนิดผู้คนจนเป็นที่บูชาของเพศผู้ ก่อนที่ในเวลาต่อมาเพศผู้จะกลัวการมีอำนาจของเพศเมียจึงค่อยๆ ยึดอำนาจ และทำสิ่งผิดพลาดอันใหญ่หลวงอย่างการกดขี่เพศเมียไว้ใต้ตีนตัวเอง เพื่อเพศผู้จะได้ครองโลก และมีอำนาจต่อไป”

สังคมไทยในอดีตเป็นสังคมที่มีความเป็นปิตาธิปไตยสูง สามารถเห็นได้จากการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ในสังคม ‘ผู้ชาย’ มักจะได้เข้าถึง หรือเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมมากกว่า ‘ผู้หญิง’ ที่เป็นเหมือนเบี้ยล่างผู้ชาย การเข้าถึงสิ่งต่างๆ ภายในสังคมอย่าง การศึกษา และหน้าที่การงาน จึงถูกยึดโยงกับผู้ชายจนเกิดเป็น ‘อาชีพตามแบบประเพณีนิยม’ (Typical) ที่เป็นเหมือนกับเครื่องมือจำแนกว่า อาชีพไหนที่คู่ควรกับผู้ชาย

อาชีพตามแบบประเพณีนิยมจะมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นชายเพราะ มันเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความสำเร็จของผู้ชายในสังคมไทย ที่ส่งผลมาจากอดีตในสมัยที่ผู้ชายยังเป็นผู้ปกครองเมือง ทำให้อาชีพการงานเป็นของผู้ชาย อาชีพตามแบบประเพณีนิยมจะประกอบไปด้วยอาชีพที่ถูกมองว่าสำคัญต่อประเทศ และสังคม เช่น ทหาร, ตำรวจ, นักเรียน, หรือพ่อค้า เป็นต้น ส่วนผู้หญิงจะถูกจัดให้ทำอาชีพ ‘ศรีภรรยา’ (หรือก็คือ แม่บ้านคอยดูแลคนในบ้าน) เพราะว่าผู้หญิงไม่ได้รับการศึกษา เนื่องจากสังคมให้ค่าผู้ชายมากกว่า และด้อยค่าผู้หญิงให้เหลือเพียงความเป็นแม่ ความเป็นเมีย ที่มีหน้าที่ดูแลลูกผัว

Photo Credit: BBC News Thai / สถาบันปรีดี พนมยงค์

แต่เมื่อเวลาผ่านไปการมาถึงของยุครัตนโกสินทร์ก็ทำให้เกิด Movement เกี่ยวกับสิทธิสตรีมากยิ่งขึ้น ผู้หญิงมีโอกาสได้เรียนหนังสือจนสามารถอ่านออกเขียนได้, เป็นกำนันตลาด อีกทั้งยังทำงานในสังคมได้เหมือนกับผู้ชายมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่มีบทบาททางการเมืองอยู่ดี ถึงอย่างนั้นก็นับเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้ผู้หญิงค่อยๆ มีสิทธิ และโอกาสในอาชีพทางสังคมมากยิ่งขึ้น กระทั่งปี พ.ศ. 2475 การประกาศความเท่าเทียมของผู้หญิงกับผู้ชายผ่าน ‘สิทธิในการเลือกตั้ง’ ก็ได้เกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศไทย ที่ทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการประกอบอาชีพตามแบบประเพณีนิยมได้ และส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน

บทบาทของผู้หญิงไทยในหน้าประวัติศาสตร์  

ในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาผู้หญิงมีสถานะภาพทางสังคมเป็นเพียงสมบัติของผู้ชาย โดยแรกเกิดมาเป็นสมบัติของพ่อ เมื่อเติบโตออกไปมีครอบครัวก็เป็นสมบัติของสามี เรื่องราวชีวิตของผู้หญิงก่อนยุครัตนโกสินทร์จึงเต็มไปด้วยการถูกกดขี่จากสังคม และไร้ซึ่งอิสรภาพในการใช้ชีวิต พงศาวดารจากสมัยอยุธยาบันทึกความกลัวที่มีต่อสิทธิเท่าเทียมของชาย และหญิงไว้ว่า “การมีอำนาจของผู้หญิงจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย” 

Photo Credit: Wikipedia / Twitter / พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ

แต่ในประวัติศาสตร์ไทย บุคคลสำคัญที่เป็นผู้หญิงก็มีมากมายไม่ว่าจะเป็น ‘ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม’ ผู้ก่อตั้งสภาสตรีแห่งชาติเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสังคมศาสตร์ และการพัฒนากิจการเพื่อผู้หญิงคนแรกๆ ในไทย, ‘แพทย์หญิงเพียร เวชบุล’ แพทย์หญิงคนแรกๆ ของประเทศไทยผู้อุทิศตนให้แก่การรักษาเด็ก และสตรี ทำให้โสเภณีเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้จนใครๆ ก็เรียกว่า ‘แม่พระ’

Photo Credit: @pouyingck_shin

อีกคนที่ขาดไปไม่ได้เป็นไอคอนิคของสตรีแห่งเกมการเมือง ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ นายกหญิงคนแรกของไทย เพียงแค่คำว่า ‘คนแรกของไทย’ ก็แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่อันเป็น Movement ที่น่าจดจำของประเทศไทยว่า ครั้งหนึ่งผู้หญิงเคยชนะการเลือกตั้งมาแล้ว

จากพงศาวดารที่กล่าวให้ร้ายการมีอำนาจของผู้หญิงว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวาย เหล่าวีรสตรีในประวัติศาสตร์ก็แสดงให้เห็นถึงความปกติที่เป็นไป หากผู้หญิงเข้าถึงสิ่งต่างๆ ในสังคมได้เฉกเช่นผู้ชาย โดยที่มันไม่ได้แสดงถึงความลำบากยุ่งยากอะไรเลย มีแต่จะช่วยเหลือสังคมให้ดียิ่งขึ้น ทั้งด้านการเมือง ด้านการแพทย์ และด้านสังคม 

เมื่อผู้หญิงปลดแอกสู่อิสรภาพ 

เห็นได้ว่าการกดขี่ผู้หญิงนั้นมีมานานแล้ว และพูดได้ว่าในปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งกว่าจะหายไปก็อาจจะไม่ใช่ง่ายๆ คงสามารถพูดได้เพียงว่า สถานการณ์มันดีขึ้น ผู้หญิงไทยได้มีอิสระในชีวิตมากขึ้น สามารถเป็นส่วนหนึ่งสังคมได้อย่างที่ควรจะเป็นแล้ว

เมื่อผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมผู้ชายแล้ว การเข้ารับการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ของสังคม และการเปลี่ยนแปลงก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อผู้หญิงเรียนจบจะทำอาชีพอะไรดีเพราะ อาชีพที่มีอยู่ก็เป็นอาชีพแบบประเพณีนิยมที่มีไว้ให้ผู้ชาย สังคมจึงเริ่มยอมรับให้ผู้หญิงสามารถทำงานในกลุ่มงานอาชีพเหล่านี้ได้

เราจึงได้เห็นการมีอยู่ของผู้หญิงในอาชีพทหาร, ตำรวจ, นักเรียน, และหมอ เป็นการเปลี่ยนแปลงภาพสังคมโดยการลบความเชื่อแบบเดิม ให้ผู้หญิงสามารถก้าวพ้นกรอบประเพณีได้ ทั้งยังสามารถทำได้ดีอีกด้วย เรามักจะเห็นเด็กผู้หญิงในยุคปัจจุบันถูกคาดหวังให้เรียนเก่ง เพราะว่ากรอบสังคมถูกตีจนแตก และเปลี่ยนแปลงไปแล้ว สังคมเริ่มคาดหวังกับผู้หญิงมากขึ้น อันมาจากตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกเธอได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีศักยภาพเทียบเท่า หรือมากกว่าผู้ชายในกลุ่มอาชีพตามประเพณีนิยม 

เราจึงสามารถบอกได้ว่า สังคมปิตาธิปไตยที่ส่งผลให้เกิดอาชีพแบบประเพณีนิยม ได้ถูกตีจนแตกไม่เหลือชิ้นดี ถึงแม้ว่าความเสมอภาคของผู้หญิงในสังคมปัจจุบัน ยังห่างไกลกับคำว่า ‘เท่าเทียม’ อยู่มาก แต่ก็ยังดีที่ในที่สุดอิสระได้เข้ามาสู่ผู้หญิงในสังคมไทยสักที 

บทบาทของผู้หญิงยุคใหม่

เมื่อผู้หญิงได้รับสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชายแล้ว กาลเวลาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การเท่าเทียมกันทางเพศไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับฝ่ายผู้ชายเลย และยังสามารถปลดเปลื้องคุณภาพชีวิตของผู้หญิงให้เป็นแบบที่ควรจะเป็นคือ เท่าเทียมกับผู้ชายในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่การเหนือกว่าอย่างที่ผู้ชายทำมาตลอดหลายร้อยปี

ผู้หญิงไทยในสายอาชีพนักบิน และนักกีฬา ซึ่งมีความหลากหลายกว่าในอดีต
Photo Credit: Thairath Online

ในยุคสมัยปัจจุบันอาชีพตามแบบประเพณีนิยมกลายเป็นตัวเลือกหนึ่งในสายการทำงานไปแล้วเพราะ ยุคสมัยเปลี่ยนไป โอกาส และวิธีการทำงานก็เปลี่ยนตาม ทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ เยอะมากขึ้น เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ของโลก แต่อาชีพที่เกิดมาใหม่นั้นก็ไม่ได้มีการแบ่งแยกเพศอย่างโจ่งแจ้งแบบในอดีตแล้ว อาจจะเป็นเพราะ สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ความเสมอภาคเริ่มมีมากขึ้น ที่สำคัญบทบาทของผู้หญิงค่อยๆ พัฒนาขึ้นจากในอดีต ไปทีละด้านๆ จากเศรษฐกิจ มาสู่ด้านการศึกษา และด้านสังคม

แม้ว่าการเมืองในปัจจุบันจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าไปทำหน้าที่มากขึ้น ตลอดจนการมีนายกที่เป็นผู้หญิง จะสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมไทยที่เท่าเทียม และก้าวพ้นกรอบประเพณีแบบเดิมๆ แต่ระยะเวลาที่ผู้หญิงต้องสู้กับการกดขี่ทางสังคมกว่าที่จะเดินมาจนถึงจุดนี้ได้ ก็ไม่ใช่เวลาน้อยๆ เลยที่เราต้องเสียไป เพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียม (ขึ้นมาบ้าง) อย่างทุกวันนี้

ผู้หญิงในปัจจุบัน กับทางเลือกในอาชีพที่หลากหลาย

ผลการศึกษาจากทางสำนักงานสถิติแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2564 ในหัวข้อ ‘การทำงานของสตรีในไทย’ ระบุว่า จำนวนของผู้หญิงที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีมากกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงกว่าร้อยละ 59.6 มีงานทำคิดเป็นผู้หญิงที่ทำงานในบริษัทเอกชนถึง ร้อยละ 35 รองลงมาคือ ผู้หญิงที่บริหารกิจการของตัวเอง ร้อยละ 29.1 ซึ่งจุดที่น่าสังเกตคือ ตำแหน่งงานในส่วนลูกจ้างรัฐบาล กับผู้บัญญัติกฎหมายข้าราชการอาวุโส ถูกผูกขาดโดยผู้ชายอย่างสิ้นเชิง สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้จะไม่ได้มีข้อห้ามให้ผู้หญิงเข้าถึงอาชีพตามประเพณีนิยม แต่ในสายอาชีพเหล่านั้น ก็ยังคงมีสัดส่วนของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายอยู่ดี

หมอแม้ว ศกุณี, มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ, แชนนอน กัลยาณมิตร ตัวแทนผู้หญิงที่ทำหน้าที่ในระดับ CEO
Photo Credit: TechSauce

แต่เราก็อาจจะมองได้ว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงโอกาสทางการศึกษาที่มากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากกว่าแค่เพียงสายงานตามแบบประเพณีนิยมที่อาจจะไม่ตอบโจทย์ผู้หญิงปัจจุบันไปแล้ว ดังนั้นอิสระทางความคิดที่ผู้หญิงในปัจจุบันมี ทำให้เกิดความต้องการที่หลากหลาย ไม่ยึดโยงอยู่กับความเชื่อในอดีต และพิสูจน์ว่า เมื่อผู้หญิงมีอำนาจ มีสิทธิ ก็ไม่ได้นำพาความเดือดร้อนมาสู่สังคมแต่อย่างใด 

ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้หญิงในประเทศไทยต้องผ่านเวลา และอุปสรรคมากมายกว่าที่จะสามารถเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมได้อย่างที่ผู้ชายได้รับ ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการขับเคลื่อนทางสังคมที่พยายามผลักดันให้ผู้หญิงได้รับความเท่าเทียมทางเพศในสังคม ตามหลักความยั่งยืนของ Sustainable Development Goals (SDGs) ข้อที่ 5 (Gender Equality) ที่ว่าด้วยความเท่าเทียมกันทางเพศ ซึ่งสังคมไทยในวันนี้ก็แสดงให้เห็นบ้างแล้วว่า ผู้หญิงหลุดออกจากกรอบประเพณี หรือวัฒนธรรมในอดีตได้แล้ว ทั้งยังมีสิทธิ์ มีเสียงในสังคมได้เทียบเท่ากับผู้ชาย ถึงแม้อำนาจใหญ่ๆ ของสังคมจะยังถูกยึดติดกับผู้ชาย แต่นี่ก็นับว่าเป็นก้าวสำคัญที่สร้างความเท่าเทียมให้กับผู้หญิง และล้างคำว่า อาชีพตามแบบประเพณีนิยมเพื่อผู้ชายทิ้งไป เพราะมันก็น่าแปลกที่คอนเซ็ปต์บอกว่าเป็น ‘อาชีพประเพณีนิยม’ แต่กลับยึดโยงอยู่แต่กับผู้ชาย เสียจนคิดว่าเป็น ‘อาชีพแบบบุรุษนิยม’

Photo Credit: Chulalongkorn University

ถึงแม้อัตราส่วนของผู้หญิงในกลุ่มอาชีพเหล่านี้จะยังมีน้อยกว่าผู้ชายมาก แต่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสุขของผู้หญิงที่มีต่อการทำงาน การประกอบอาชีพนอกเหนือจากประเพณีนิยมอาจจะเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ ที่นำไปสู่ความสุขก็ได้ หวังว่าทุกคน ไม่ว่าเพศใด ก็จะสามารถมีสวัสดิภาพทางสังคมได้เท่าเทียมกัน และได้รับโอกาสในสังคมอย่างเหมาะสม ให้คุ้มค่ากับความพยายามต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในสังคมที่ถูกครอบด้วยความปิตาธิปไตยแห่งนี้

“ประเพณีคือ สิ่งที่คนในสังคมสร้างขึ้นเพื่อการเข้าร่วมที่เท่าเทียมกัน แต่มันน่าแปลก และตลกมาก ที่อาชีพตามประเพณีนิยม กลับระบุว่าเป็น ‘อาชีพของผู้ชาย’ โดยให้สิทธิเหนือเพศอื่นๆ แล้วจะเรียกว่า ‘อาชีพประเพณีนิยม’ ไปเพื่อสิ่งใด เมื่อมันเป็น ‘อาชีพบุรุษนิยม’”

อ้างอิง

สสส
Brandthink
The Guardian
สำนักงานสถิติแห่งชาติ