Culture

วนวน (WonWon) แอปพลิเคชั่นซ่อมเสื้อผ้า ที่ช่วยให้หาร้านซ่อมเสื้อผ้าได้ง่ายขึ้นจาก Reviv คอมมูนิตี้ที่เชื่อว่าการซ่อมเสื้อผ้าคือ ‘ความยั่งยืน’

“การใช้เสื้อผ้าวนซ้ำ ซ่อมเซฟสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าการซื้อเสื้อผ้าใหม่ที่ทำมาจากวัตถุดิบที่แบรนด์เคลมว่าช่วยรักษ์โลกด้วยซ้ำ” คืออิมแพกของการใส่เสื้อผ้าซ้ำ ‘ภูมิ’ – ภาคภูมิ โกเมศโสภา’ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘Reviv’ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ส่งเสริมการซ่อมแซมเสื้อผ้าของคนรุ่นใหม่ได้เล่าให้เราฟังว่า พฤติกรรมเล็กๆ นี้สร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อม และช่วยให้สังคมไทยเข้าไปสู่สังคมที่มีเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้ เพราะปัจจุบันในไทยเมื่อพูดถึงระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คนลดใช้ ใซ้ซ้ำ รีไซเคิล เพื่อช่วยแก้ปัญหาวิกฤติส่งแวดล้อมโลกให้คนได้อยู่ในสังคมที่มีวิถีชีวิตยั่งยืนที่ภาคสังคม ธุรกิจ และรัฐบาลกำลังขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นกันอยู่ในไทยที่ส่วนใหญ่มักจะหลงลืม ‘การซ่อม’ ที่เป็นฟันเฟืองอันสำคัญที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงในไทย

ในบทความนี้เราอยากจะชวนทุกคนให้ได้มารู้จักกับแอปพลิเคชั่น ‘วนวน’ (WonWon) แพลตฟอร์มที่จะช่วยให้คนไทยหาร้านซ่อมเสื้อผ้าได้ง่ายขึ้น และช่วยสร้างรายได้ให้แก่คุณลุงคุณป้าช่างซ่อมเสื้อผ้า ผู้เล่นตัวเล็กในสังคมไทยให้อาชีพนี้อยู่ต่อไป

วนวน (WonWon) แอปพลิเคชั่นเกิดมาเพื่อแก้ไขปัญหาอะไรและทำอะไรได้บ้าง

แอปพลิเคชั่นนี้ถูกพัฒนาโดยทีมอาสาพัฒนาแอปพลิเคชั่น ซึ่งคุณภูมิ ในฐานะ Community Director ได้เล่าให้เราฟังถึงปัญหาสำคัญที่วนวนอยากจะแก้ไขว่า

“แพลตฟอร์ม วนวน เป็นแอปแรกที่ใช้สร้างมันขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อผู้บริโภคกับร้านซ่อมตัวเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเมือง เหตุผลที่เชื่อมผู้บริโภค เรามักจะเห็นแบรนด์ใหญ่ๆ มาเสนอตัวให้ช่างซ่อม จริงๆ มันมีผู้เล่นตัวเล่นๆ ที่ทำมาก่อน พวกแบรนด์ใหญ่จะมาเสนอหน้าเสนอตัว มันคือช่างซ่อมตัวเล็กๆ ที่เขาทำมาตั้งแต่มาอยู่แล้ว ทำมาจากโรงงาน มาเปิดร้านเล็กๆ ด้วยตัวเอง เขาทำเศรษฐกิจนี้ก่อนจะมีคำว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนที่พูดถึงกันเยอะๆ ในทุกวันนี้ซะอีก”

“ถ้าเราอยากที่จะผลักดัน Circular Economy ให้เกิดขึ้นในไทยเราต้องหาทางการสนับสนุนผู้เล่นตัวเล็กๆ อยากให้คนตัวเล็กที่มีพื้นที่เข้าถึงผู้คนและก็อยากให้แอปพลิเคชั่นนี้ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายเพราะปัจจุบันช่างซ่อมเขาอาจจะอยู่กระจัดกระจายกัน ผู้บริโภคเขาไม่รู้คุณลุงคุณป้าเชี่ยวชาญฮะไร ไม่มีข้อมูลว่าจะไปซ่อมที่ไหน ซ่อมอะไรได้บ้าง สิ่งที่เราทำใน ‘วนวน’ จึงเป็นเหมือนการสร้างเครือข่ายแพลตฟอร์มเหมือนการเล่าต่อ ปากต่อปากเหมือนวงในสำหรับร้านซ่อม”

แอปพลิเคชั่นนี้มีฟังชั่นอะไรบ้างและทำไมถึงเริ่มมาทำแอปพลิเคชั่นวนวน

“เราทำตั้งแต่เก็บข้อมูลร้านซ่อมเล็กๆ เปิดเมื่อไรบ้าง จ่ายคิวอาร์โค้ดได้ไหม มีรีวิวอย่างไรบ้าง มีฟังก์ชั่นอะไร ซ่อมอะไรบ้าง ช่างซ่อมอยู่ที่ไหน สิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายหลักของเรา ตอนนี้เราเริ่มมันในเว็บไซต์ เป็นรุ่นทดลอง โปรดักต์รุ่นทดลอง เริ่มจากร้านซ่อมเสื้อผ้าก่อน หนึ่งร้อยร้านก่อน เพราะเราเริ่มต้นจากการซ่อมเสื้อผ้า เพราะตอนนั้นเราอยากจะช่วยเหลือกลุ่มแม่ลี้ภัยชาวมง ชาติพันธุ์ที่อยู่ผิดกฎหมาย แต่เขามีความเชี่ยวชาญการซ่อมเสื้อผ้าเลยหาทางช่วยให้พวกเขามีรายได้ และจากการทำงานด้านการซ่อมเสื้อผ้ามามันทำให้พวกเรามีฐานข้อมูล (Database) สำหรับนำไปพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่อได้ ในอนาคตก็อยากจะพัฒนาให้คนทั่วไป ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มข้อมูลได้เองด้วย แต่ก็ยังคงพัฒนาฟังชั่นเหล่านี้กันอยู่”

“เหตุผลที่เราอยากมี Database มีแพลตฟอร์มอย่างวนวนก็คือถ้าในอนาคต Reviv ยังอยู่ เราอยากจะมีกลุ่มเครือข่ายของร้านซ่อม เราเอาตรงนี้ไปใช้ ไปร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เราสามารถช่วยเหลือร้านซ่อมอย่างไรมากขึ้น หนึ่งมีรายได้ดีขึ้น สองลดความเสี่ยงของการถูกไล่ ถ้าเราโตพอ ก็เป็นโปรเจกต์ที่อยากทำ เพราะอยากช่วยเหลือพวกเขา ไม่อยากเห็นแบรนด์ใหญ่ๆ มาแทรกแซงเยอะ บริษัทใหญ่แย่งงานคนตัวเล็ก”

ทำไมคนทุกวันนี้ถึงยังซ่อมเสื้อผ้ากันอยู่ ทั้งที่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ง่ายกว่า และอาจจะถูกกว่าซ่อมเสื้อผ้า

“การซ่อมในปัจจุบัน เหตุผลการซ่อมในอดีตกับการซ่อมในต่างกัน สมัยที่เราเป็นรุ่นก่อน เหตุผลในสมัยก่อนมันประหยัด มันคุ้มค่า นั้นคือเหตุผลการซ่อม มันประหยัดแลัวมันคุ้มค่าแต่ในโลกทุนนิยมยุคปัจจุบัน ของที่ผลิตมันราคาถูกลงเรื่อยๆ มันไม่ได้คิดถึงคุณค่าของผู้บริโภคเหมือนสมัยก่อนแล้ว ทุกวันนี้เน้นผลิตของห่วยๆ พังง่าย  ผลิตเร็ว ใช้เร็วทิ้งเร็ว และมันไม่คุ้มค่ากับการซ่อมมันเลยทำให้คนยุคนีัคิดว่าการซ่อมเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าซึ่งมันเป็นผลมาจากต้นสายการผลิตของแบรนด์ที่ไม่คำนึกถึงการออกแบบเสื้อผ้าที่ซ่อมแซมได้ทนทานซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปเยอะโดยที่คนส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้คำนึกถึงตรงนี้กันว่าเราควรจะมองเห็นกันว่าแบรนด์ไม่ควรจะผลิตเอาของง่ายๆ มาขาย”

ทำไมอาชีพช่างซ่อมเสื้อผ้าจึงดูเหมือนจะค่อยๆ หายไปในสังคมไทย พวกเขาหายไปไหน มันเกิดอะไรขึ้นกับอาชีพนี้

“ผมคิดว่าที่อาชีพนี้ดูเหมือนมันหายไป เหตุผลหนึ่งมันเพราะเสื้อผ้ามันราคาถูกลงเรื่อยๆ คนเน้นซื้อใหม่กันมากขึ้นกว่าการซ่อมเสื้อผ้าที่มีและใส่วนไป อย่างที่สอง พวกเขาถูกไล่ที่ทางเพราะส่วนใหญ่เรามักจะเห็นเขาเปิดร้านตามข้างทาง ตามข้างถนนหรือบางทีก็เช่าที่แต่อาชีพนี้ก็เป็นอาชีพที่อาจหารายได้มาจ่ายค่าเช่าไม่ไหวจึงต้องถูกไล่ที่ออกไปแม้บางร้านมีที่ของตัวเองบ้างแต่มันก็เป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเราเห็นช่างซ่อมเสื้อผ้าน้อยลง อย่างบางร้านที่เปิดตามข้างถนนซึ่งตรงนี้ตำรวจมีสิทธิที่จะไล่ที่คุณลุงคุณป้าได้

“คำถามคือเราจะแก้ไขตรงนี้ยังไง ส่วนใหญ่หลายที่เขาอยู่ได้ เขาไม่ได้สร้างเกินพื้นที่มากแต่เราจะสร้างความชอบธรรมให้พวกเขายังไงมันเหมือนปัญหาเดียวกันกับเรื่องร้านแผงลอย มันเหมือนในมุมหนึ่งคือเสน่ห์ของไทยเรานะแต่อีกมุมมันก็เกะกะ เราจะทำยังไงจะรักษาเสน่ห์สมดุลเพื่อลดปัญหาพื้นที่ นี่คือโจทย์ที่พวกเราตั้งคำถามกับคนที่ดูแลเรื่องการจัดสรรพื้นที่เหล่านี้ ถ้าพวกเขามีสเปซก็ได้แต่อาชีพช่างซ่อมในไทยมันต่างจากต่างประเทศที่รายได้ต่อเดือนของช่างซ่อมไทยไม่ได้มีเยอะ พวกเขาเน้นรายได้แบบวันต่อวัน ถ้าจะช่วยซัพพอร์ตให้พวกเขามีสเปซก็คงต้องเป็นความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอางบ CSR ลองมาช่วยตรงนี้ไหมหรือภาครัฐที่ต้องผลักดันกลไกให้ช่างซ่อมได้มันมีบทบาทในการช่วยให้เกิด Circular Economy เพราะถ้าจะผลักภาระให้เขาต้องหาเงินจ่ายค่าเช่ามันก็คงจะไม่ไหวกับอาชีพช่างซ่อมในไทย”

Reviv มีวิธีสื่อสารอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของการใส่วนไป และซ่อมเสื้อผ้า

“พวกเราใช้วิธีสื่อสารให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงเหตุผลว่าทำไมเราถึงซื้อเสื้อผ้ากันก่อนว่าเหตุผลจริงๆ คืออะไรกันแน่เพราะการซื้อเสื้อผ้าจริงๆ แต่ก่อนมันเป็นปัจจัยพื้นฐาน ปัจจัยสี่ที่สวมใส่เพื่อความอบอุ่น ปกปิดร่างกาย ซื้อเพราะจำเป็นแต่เมื่อระบบทุนนิยมเข้ามาจากการซื้อเสื้อผ้าใส่เราอุ่นสบายมันถูกเปลี่ยนเป็นการซื้อเพื่อให้รู้สึกบางอย่างกับตัวเองเช่นรู้สึกมีดีกับตัวเอง รู้สึกรีเลทกับไอดอล ได้รู้สึกบางอย่างซึ่งเป็นการไทน์อินกับผลิตภัณฑ์ที่มันทำให้คนส่วนใหญ่จะรู้สึกไม่มีความมั่นใจถ้าไม่ได้ซืัอเสื้อผ้าเหล่านี้ ระบบการขายแบบนี้มันเน่าเฟะเพราะมันกำลังทำให้คนขาดความพึงพอใจในตัวเองและเสนอว่าต้องมาซื้อเสื้อผ้า ซื้อผลิตภัณฑ์ของแบรนด์แล้วพวกเขาจะรู้สึกดีขึ้น มันกอบโกยผลประโยชน์ตรงนี้”

“เราอยากสื่อสารให้คนรุ่นใหม่เห็นกันว่าบางทีเหตุผลที่ซื้อเสื้อผ้ามันไม่ได้มาจากตัวคุณ มันมาจากอิทธิพลจากการตลาดและเศรษฐกิจในไทยที่อยู่ตรงนี้มากขึ้นพอพวกเขาเริ่มเห็นแล้วเราก็อยากจะชวนให้พวกเขาจะกลับมามองที่คุณค่าของเสื้อผ้าที่เรามี การใส่ซ้ำวนไป การให้คุณค่ากับการซ่อมแซม ให้คุณค่ากับความทนทานของเสื้อผ้ามากขึ้นเราคิดว่าจะเลือกที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ผ่านการสื่อสาร ถ้าพูดสั้นๆ เราทำคอนเทนต์ที่เปลี่ยน Mental Model ของลูกค้าในการบริโภคเสื้อผ้า”

ทางออกตอนนี้ที่มองเห็นของการสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนคืออะไร

“ตอนนี้ที่ประเทศไทยเรายังไม่มี Circular Economy เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้พูดถึงการซ่อมแซม (Repair) เพราะทุกคนพูดถึงรีไซเคิล ตอนนี้ก็จะมีแบรนด์เสื้อผ้าเยอะแยะที่พูดว่า โปรดักต์ฉันจากรีไซเคิลพลาสติกนะ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เก่าแล้ว เทรนด์นี้จริงๆ สำหรับผมฟังแล้วมันคลื่นไส้มาก มันโหลมาก มันเป็นเทคโนโลยีล้ำนะ เขาจะชอบพูดกันว่า เสื้อผ้าพวกนี้พัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่มัน Sustainable นะ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ทางออก ผมคิดว่า Ultimate Solution คืออยากให้คนหันมาพูดเรื่องการซ่อม การส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์มันซ่อมได้ง่ายมากขึ้น ทนทานมากขึ้น เพื่อที่จะมันทนทาน คุ้มค่ากับการซ่อม ส่งเสริมผู้เล่นตัวเล็กๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องซ่อมแซมให้มีบทบาทมากขึ้น ถ้าถามว่า เคยเสนอสิ่งเหล่านี้กับหน่วยงานรัฐไหม ก็ยังไม่มีโอกาสได้ไปคุยอย่างจริงจังแต่เคยถามๆ คุยกับคนรู้จักที่ทำงานแวดวงนี้ แต่เขาก็บอกว่าตามสไตล์งานราชการ ก็ไม่มีใครอยากทำงานเพิ่ม แต่ในอนาคตทางทีมผมก็อยากพัฒนาโปรเจกต์ที่เราจะทำวิธีเกณฑ์การให้คะแนน เก็บข้อมูลให้มีความโปร่งใสตามการซ่อมง่าย เชิญชวนให้สื่อมาพูดคุยในอนาคต  มาถกเถียงของการซ่อมง่ายของสินค้าที่แบรนด์ผลิตออกมา ที่วางแผนไว้ว่าจะเปิดตัวในช่วงปีหน้า เพราะการซ่อมแซมเป็นส่วนสำคัญที่ควรจะคำนึงถึงมากกว่านี้ในสังคมไทยตอนนี้”  

Reviv คือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีบริการซ่อมเสื้อผ้าออนไลน์ มีการขายโปรดักต์ชาติพันธุ์ชาวมงที่เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบให้มีงานทำ ได้ขายสินค้างานฝีมือ Upcycled จากการเย็บปักเสื้อผ้า บริการโปรดักต์คอลแลบกับแบรนด์ คอนเทนต์ที่ส่งเสริมการซ่อมแซมเสื้อผ้า และเป็นคอมมูนิตี้ที่ทำงานด้วยอาสาสมัครกว่า 30 คน ที่ต้องการจะสนับสนุนอุตสาหกรรมการซ่อมแซม และเศรษฐกิจหมุนเวียนในไทย

หากสนใจสามารถติดตามอ่านเรื่องราวของพวกเขาเพิ่มเติมได้ที่ Reviv Community