Culture

“เราทุกคนคือคนทำงาน” – ปลดแอกจากทุนนิยม กับสหภาพคนทำงาน

เคยไหม? ที่เปิดข่าวดูแล้วเจอม็อบลูกจ้างประท้วงเรื่องค่าแรง หรือบาดเจ็บจากการทำงาน แต่ไม่ได้รับเงินชดเชยอย่างที่ควรจะเป็น

ในประเทศไทยซึ่งอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยม เรายังคงต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ นานา ที่ถูกจับใส่มือมาอย่างไม่เต็มใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม สัญญาจ้างอันไม่เป็นธรรม ไปจนถึงแรงงานที่ต้องรับมือกับการเอารัดเอาเปรียบ โดยปัญหานั้นก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขจนปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการเรียกร้องเกิดขึ้นอยู่หลายครั้งก็ตาม

เพราะทุกวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีคือวันแรงงาน ที่เหล่าลูกจ้างจะได้หยุดพักผ่อนจากการโหมงานแสนเหนื่อยล้า EQ จึงอยากจะเชิญชวนให้ทุกคนได้พูดคุยกับ สหภาพคนทำงาน หรือ Workers’ Union องค์กรที่ยึดมั่นกับการต่อต้านระบบทุนนิยม ในเรื่องของความเสมอภาคในที่ทำงาน อำนาจที่แตกต่างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และสิ่งที่ต้องแก้ไขกันต่อไป

เรื่องที่อยากให้สังคมตระหนัก

“เราพยายามที่จะสร้างสำนึกร่วมในการเป็นคนทำงาน ถ้าคุณยังต้องใช้ทักษะแลกเงินในการหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็แล้วแต่ เราเป็นพวกเดียวกัน ทุนนิยมมันได้สร้างมายาความเป็นอื่นให้กับพวกเราด้วยกันเอง โดยการกำหนดว่าอาชีพไหนมีเกียรติ ต้องได้รับการเชิดชู อาชีพไหนต่ำต้อย เป็นแรงงานระดับล่าง แต่ถ้าคุณเชื่อว่าคนเท่ากัน ทุกอาชีพจะมีคุณค่าในตัว ไม่มีอาชีพไหนสูงส่งกว่าอาชีพอื่น และเราต้องพึ่งพาอาศัยกัน ถ้าขาดอาชีพใดอาชีพหนึ่งไป สังคมก็จะไม่สมบูรณ์” 

“อีกประเด็นที่เราจุดคือประชาธิปไตยในที่ทำงาน หรือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ สรุปง่ายๆ คือการที่ลูกจ้างร่วมกันตัดสินใจว่าจะแบ่งปันผลกำไรที่ทำได้อย่างไร ซึ่งถ้าสุดโต่งเลยก็คือเท่ากัน”

ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่เป็นวิถีชีวิต

“ทางการเมือง เรามีสิทธิ์เลือกตั้งใช่ไหม ซึ่งเบื้องหลังการเลือกตั้งคือการที่เราสามารถกำหนดชีวิตได้ ว่าอยากให้ใครเข้าไปเป็นผู้แทนเรา ชอบนโยบายพรรคไหนก็เลือกพรรคนั้น แต่ทำไมเรากลับเลือกอะไรไม่ได้เลยในทางเศรษฐกิจ ต้องทำงานงกๆ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น เจ้านายสั่งงานมาแบบไหนก็ทำไปแบบนั้น ส่งงานให้ครบ ให้ตรงเวลา ไม่มีสิทธิ์ที่จะออกแบบพื้นที่การทำงานเองเลย ถ้าจะโต้กลับมาว่าก็เลือกได้นี่ ว่าจะทำงานอะไร ถามกลับแบบง่ายๆ เลย งานที่คุณทำอยู่ ณ ตอนนี้ เป็นงานที่คุณชอบ คุณอยากทำ หรือต้องทำเพราะไม่งั้นจะอดตาย”

วัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่ถ่วงสหภาพทำงาน

“วัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ที่ไม่เชื่อในความเสมอภาค โดยวัฒนธรรมแบบนี้มันได้สร้างชุดความเชื่อที่มองว่าคนไม่เท่ากันโดยชาติกำเนิด มีสถานะทางสังคม มีลำดับชั้น อย่างในพื้นที่การทำงาน เจ้านายจะถูกมองว่ามีสถานะสูงกว่า ลูกจ้างต้องเคารพยำเกรง จะล่วงละเมิดมิได้ เพราะเขาคือผู้ประทานเงินให้ ด้วยความสัมพันธ์แบบนี้มันทำให้เจ้านายมีอำนาจมากกว่าลูกจ้าง ดังนั้นเขาจะทำอะไรกับลูกจ้างก็ได้ จะให้งานทำเกินขอบเขต ใช้งานหนัก กลั่นแกล้ง หรือล่วงละเมิดทางเพศยังไงก็ได้ และวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์นี้ก็ยังขัดขวางการเจริญเติบโตของสหภาพแรงงานด้วย เพราะจะทำให้องค์กรตกอยู่ภายใต้อำนาจและการชักนำของบรรดาผู้อาวุโส”

“อีกวัฒนธรรมหนึ่งที่เป็นปัญหาต่อการเติบโตของขบวนการแรงงานในไทยก็คือ วัฒนธรรมแบ่งแยกแล้วปกครอง รัฐไทยได้แบ่งคนทำงานออกเป็นส่วนๆ ให้ตัดขาดจากกัน อยู่กันแบบกระจัดกระจาย แยกเป็นแรงงานในระบบกับแรงงานนอกระบบ คนทำงานเอกชนถูกแยกออกจากคนทำงานในภาครัฐ เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ให้พวกเรารวมตัวกัน การแบ่งแยกแล้วปกครองนี้ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกจากคนต่างอาชีพ และทำให้บางอาชีพดูสูงส่งกว่าอาชีพอื่นๆ”

คำถามที่โดนถามบ่อย และคำตอบต่อคำถามนั้นคืออะไร

“ส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน โดยเฉพาะประเด็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เรื่องเงินค่าจ้าง คำตอบต่อคำถามมันไม่เหมือนกันสักเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับว่าจะเข้ามาปรึกษาด้วยประเด็นอะไร ถ้าให้แนะนำแบบเบื้องต้นเลย เมื่อไหร่ที่เราเริ่มรู้สึกว่ามีปัญหากับนายจ้าง จะถูกเล่นงานแน่ๆ ให้พยายามรวบรวมหลักฐานทุกอย่างที่มีไว้ แล้วถ้าเกิดเขาให้เซ็นอะไรก็อย่าเพิ่งเซ็น จากนั้นไปปรึกษาทนาย นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน หรือจะเข้ามาปรึกษาสหภาพคนทำงานก็ได้ แต่ถ้าจะให้เราช่วยตั้งแต่ต้นจนจบ อันนี้ต้องสมัครสมาชิกก่อนนะ (หัวเราะ)”

ปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไขไม่ได้ 

“เยอะเหมือนกันนะ ไหนจะปัญหาเรื่องสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม มีทั้งสัญญาจ้างระยะสั้น จ้างแบบชั่วคราว หรือแบบเหมา แล้วก็เงินเดือนกับค่าครองชีพที่ไม่สัมพันธ์กัน ค่าแรงขั้นต่ำประเทศเราอยู่ที่ 300 บาท มาจะ 10 ปีได้แล้ว แต่ค่าครองชีพ ค่าน้ำมัน เครื่องอุปโภคบริโภคแพงขึ้นทุกๆ ปี นอกจากนี้ยังมีเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน บังคับให้ทำงานเกินเวลา เกินขอบเขตความรับผิดชอบ หรือนายจ้างมายุ่มย่ามกับวันลาพักร้อนของเรา เอาจริงนะ ประเทศไทยแทบจะมีวันลาพักร้อนน้อยสุดในโลกแล้วมั้ง แค่ 6 วัน/ปี แล้วเป็น 6 วันที่นายจ้างเล่นแง่หนักมากด้วย อนุมัติก็ช้า คือให้ใช้ได้นะ แต่ต้องเอางานไปทำ ในขณะที่สวีเดนมีวันลาพักร้อน 25 วัน/ปี แล้วจะจัดสรรยังไงก็เป็นสิทธิ์ของเรา”

สิ่งที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือมากที่สุด

“Back to Basic เลย คือบังคับใช้พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ให้คุ้มครองคนทำงานได้จริง แต่พูดกันตามตรง ไม่ได้คาดหวังให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลืออะไร เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แน่นอนว่า ในเมื่อไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน ก็ไม่มีทางที่จะเห็นหัวประชาชนอยู่แล้ว เห็นๆ กันอยู่ว่าฮั้วกับกลุ่มนายทุนขนาดไหน สิ่งที่เราต้องทำคือเปลี่ยนคำขอให้เป็นคำสั่ง ให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องของเรา ไม่ใช่การอ้อนวอขอความเมตตา”

Photo credit: Arsa.Plodaek

ถ้าอ่านจบแล้ว และอยากจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับคนทำงาน ในวันนี้ (1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565) เวลา 16:00 น. มีการเดินขบวนซึ่งจัดขึ้นโดยสหภาพคนทำงาน โดยจะรวมตัวกันที่แยกราชประสงค์ “เพื่อส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจ ว่าประชาชนคนทำงานคือผู้ถืออธิปไตยที่แท้จริง” ติดตามกิจกรรมกันได้ทางแฮชแท็ก #สหภาพคนทำงาน #MAYDAYรวมพลังคนทำงาน #เราทุกคนคือคนทำงาน

ติดตามและอัปเดตข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ ‘สหภาพคนทำงาน’ ได้ที่

Facebook: สหภาพคนทำงาน Workers’ Union

Instagram: workersunion_th

Twitter: workersunion_th

Email: workersunionthailand@gmail.com