Culture

เข้าใจ “วูซู” ศาสตร์ ศิลป์ และวัฒธรรม ผ่านมุมมองของ ‘โจ แซ่ลี’ คนรุ่นใหม่ที่เลือกสานต่อให้คงอยู่

สำหรับคอหนังจีนกำลังภายในที่ตัวละครต่างก็โชว์ความสามารถในการเตะ ต่อย กระโดด และร่ายรำกระบวนท่า เชื่อว่าต้องเพลิดเพลินไปกับบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้แน่นอน เพราะเราจะพาไปพูดคุยกับ ‘โจ แซ่ลี’ (Jo Saelee) นักกีฬาวูซูทีมชาติไทย วัย 23 ปี ที่เริ่มต้นพัฒนาฝีมือมาตั้งแต่เด็ก นอกจากความเท่อันเป็นที่ประจักษ์แล้ว กีฬานี้ยังมีมุมมองไหนน่าสนใจอีกบ้าง ที่ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างเขาเลือกที่จะสานต่อมันอย่างจริงจัง

จริงหรือไม่ที่ ‘วูซู’ ไม่เท่ากับ ‘กังฟู’

ก่อนที่จะไปพูดคุยให้ถึงแก่นของ ‘วูซู’ (Wushu) โจได้ขยายความให้ทุกคนทำความเข้าใจกันก่อนว่าวูซูคืออะไร เพราะเชื่อเหลือเกินว่าหากเราไม่ได้เกริ่นนำถึงหนังจีน บางคนก็อาจจะไม่เคยรู้จักกีฬานี้มาก่อน และส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกับคำว่า ‘กังฟู’ มากกว่า แต่ความจริงแล้ว ทั้ง 2 อย่างนี้คือสิ่งเดียวกัน

“วูซูเป็นชื่อสากลของกังฟู เหมือนคำว่าสยามกับประเทศไทยนั่นแหละครับ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนตาม แต่กับบางคนที่บอกว่ามันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน พยายามแยกมันออกจากกัน ก็เพราะเขาพยายามสร้างข้อแตกต่าง ด้วยเหตุผลเรื่องอายุ ข้อจำกัดด้านร่างกาย การปรับตัวให้เข้ากับระบบการแข่งขัน และอาจจะเป็นเรื่องเชิงพาณิชย์ต่างๆ”

“ในอดีต คนจีนเขามีหลายแซ่ (สกุล) แต่ละแซ่ก็จะมีท่ามวยเป็นของตัวเอง วูซูคือการเอาความโดดเด่นของแต่ละมวยนี้มารวมกัน แล้วมีกฎเกณฑ์มากำหนดว่าท่าที่ถูกต้องคือแบบไหน โดยมีการแข่งขันอยู่ 3 ประเภท คือ ท่ารำหรือยุทธลีลา ต่อสู้ และราชสีห์หรือเชิดสิงโต” 

คุณสมบัติที่ทำให้เล่นได้ดี

“ ‘มีใจ มีวินัย ไม่หนัก ไม่สูงเกิน’ จะเล่นวูซูให้ได้ดี อย่างแรกต้องมีใจที่จะเล่น และมีวินัยในการฝึกซ้อม เพราะเราต้องเจอโค้ชที่หลากหลาย บางคนสอนกระโดด บางคนสอนร่ายรำ ถ้าไม่ชอบหรือไม่เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ก็จะทำให้ฝีมือไม่พัฒนา ส่วนเรื่องน้ำหนักตัวก็มีผลต่อการเล่นมากครับ ถ้าน้ำหนักเยอะเกินไปก็จะกระโดดไม่ค่อยขึ้น และสรีระจะต้องไม่สูงเกินไป เพราะมันเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความคล่องแคล่วว่องไว”

เสน่ห์เฉพาะตัวของวูซู

“วูซูเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มีเสน่ห์ วิธีการ ความหลากหลาย และปรัชญาคำสอนที่ส่งต่อกันมาแต่ดั้งเดิม อีกอย่างคือมันเป็นสิ่งที่เล่นได้ทุกเพศทุกวัย เช่น ถ้าเป็นผู้สูงอายุก็เลือกรำช้าๆ แบบ ‘ไท่เก๊ก’ แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นก็เล่นมวยยาวได้”

สิ่งที่ยากที่สุดในการเล่นวูซู

“ช่วงแรกที่ต้องดัดขาครับ เพราะนักกีฬาวูซูต้องฉีกขาเป็นเส้นตรงหรือมากกว่านั้นให้ได้ด้วย”

‘โจ แซ่ลี’ กับการหล่อหลอมตัวเองให้เป็นนักกีฬาทีมชาติ

“ตั้งแต่จำความได้ ผมก็วนเวียนอยู่ในการเล่นของการเล่นกีฬาวูซูอยูาแล้วครับ เพราะพ่อผมเล่นกังฟูของม้ง เขาก็จะสอนตีลังกาและท่ารำมาตั้งแต่เด็กๆ ผมชอบที่มันสนุกและเท่ดี เหมือนหนังจีนกำลังภายใน แต่ตอนแรกผมจะเน้นฝึกมวยโบราณมากกว่า เพิ่งจะมาเล่นกีฬาวูซูแบบจริงจังตอนอายุ 10-11 ขวบ เพราะได้ไปฝึกซ้อมกับสมาคมกีฬาวูซูแห่งประเทศไทย และเป็นนักกีฬาทีมชาติครั้งแรกตอนซีเกมส์ ปี ค.ศ. 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์ แข่งแบบชุดต่อสู้ (ตุ้ยเลี่ยน) ประเภททีม และยุทธลีลาฉางฉวนประเภทเดี่ยว ส่วนตอนนี้จะแข่งยุทธลีลาเป็นหลัก มีประเภทอื่นบ้างตามโอกาส”

“ซีเกมส์ 2015 เป็นรายการที่ไม่ได้รางวัลเลย แถมตอนแข่งเดี่ยวยังโดนตีล้มจนไหล่หลุด ต้องกลั้นใจหยิบอาวุธ ทำความเคารพ แล้วเดินออกจากสนามไปแบบไม่แสดงว่าตัวเองเจ็บ แต่เป็นแมตช์ที่ประทับใจมากที่สุด มันทำให้รู้ว่าฝีมือตัวเองอยู่ในระดับไหน ต้องพัฒนาตรงจุดไหนเพิ่มเติม เลยพยายามพัฒนาฝีมือตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ”

สิ่งที่ทำให้เดินหน้าต่อ

“บางครั้งที่แพ้ ผมก็เสียใจร้องไห้ เพราะคิดว่าตัวเองน่าจะได้คะแนนดีกว่านี้ แต่สุดท้ายก็คิดได้ว่าทุกกีฬามีแพ้มีชนะ ความสำเร็จขึ้นอยู่กับหลายอย่าง ทั้งระยะเวลาในการฝึกซ้อม ทักษะของแต่ละบุคคล สรีระที่ไม่เหมือนกัน หรือพรสวรรค์ก็มีส่วน มันทำให้ต้องหันกลับมาดูตัวเอง แก้ไขในจุดบกพร่อง เพื่อพัฒนาตัวเองให้มีคุณสมบัติมากพอที่จะชนะเขา”

เทคนิคฝึกฝีมือ

นอกจากการฝึกซ้อม 6 วันต่อสัปดาห์เหมือนนักกีฬาประเภทอื่นแล้ว โจมีเทคนิคอะไรอีกไหมที่ทำให้ฝึกฝนได้ดีขึ้น?

“เวลานั่งรถกลับบ้านหลังจากซ้อมเสร็จ ผมจะหลับตาและเปิดเพลงที่ใช้ตอนแข่ง แล้วซ้อมในความคิดไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นการพัฒนาในจิตให้รู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะในสนามจะมีเวลาแสดงให้กรรมการดูเพียงแค่ 1-3 นาทีเท่านั้น ซึ่งต้องใช้สมาธิสูงมาก ผมก็เลยฝึกแบบนี้มาตลอดครับ”

ก้าวต่อไปกับความคาดหวังสูงสุด

จากวันแรกที่เริ่มเล่นจนถึงวันนี้ โจได้พัฒนาฝีมือให้ชำนาญขึ้นเรื่อยๆ และคว้ารางวัลมามากมาย เช่น 1 เหรียญทอง (ทีม) 2 เหรียญเงิน (เดี่ยว) จากรายการ “The 10th Zhengzhou China International Shaolin Wushu Festival” อีก 1 เหรียญทองแดง (ทีม) จาก “15th World Wushu Championships” และ 2 เหรียญทอง (เดี่ยว) จาก “47th The Sun Games 2020” ฯลฯ เขาได้กลายเป็นรุ่นพี่และครูที่เทรนนักกีฬารุ่นใหม่ให้ไปแข่งขันในรายการต่างๆ ด้วยความหวังที่เขาอยากจะทำให้ได้

“ผมมีความฝันว่าอยากติด 1 ใน 3 ประเภทเดี่ยวใน World Wushu Championships และส่งต่อความรู้ให้คนรุ่นหลังสามารถก้าวข้ามเราไปให้ได้ เพื่อทำให้กีฬาวูซูเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก และช่วยสืบสานกีฬากับวัฒนธรรมของจีนในอีกทางหนึ่ง เพราะการจะเข้าถึงวิทยายุทธวูซูได้อย่างลึกซึ้ง ผู้เล่นจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมที่เป็นรากฐานด้วย”

ถ้าวันนี้มีคนสนใจจะเรียนวูซู ควรเริ่มอย่างไรบ้าง

โจกล่าวทิ้งท้ายว่า “แนะนำให้เรียนในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนแบบได้มาตรฐาน เพราะวูซูเป็นกีฬาที่เสี่ยงต่อความบาดเจ็บได้ง่าย ต้องมีโค้ชผู้เชี่ยวชาญดูแล แตกต่างจากไทชิหรือไท่เก๊กที่เรียนตามสวนสาธารณะได้ กีฬาวูซูนั้นไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ง่าย มันอยู่กึ่งกลางครับ เพราะถ้าเราตั้งใจและชื่นชอบ เราก็จะสามารถเล่นได้ดี แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบ เขาก็จะไม่เอาเลย”

เร็วๆ นี้โจกำลังเตรียมตัวลงแข่งในรายการ World Wushu Championships ที่เขาใฝ่ฝันจะคว้าแชมป์ให้ได้ และกีฬามหาวิทยาลัยโลกที่เพิ่งมีโอกาสได้เข้าไปแข่งขันประเภทเดี่ยวเป็นครั้งแรก

สามารถติดตามและให้กำลังใจ ‘โจ แซ่ลี’ ได้ที่

Facebook: Jonathan Lee