หลังจากที่ซีรีส์วายเมดิคัลดราม่าอย่าง ‘ทริอาช’ (Triage) เป็นกระแสในโลกโซเชียลมีเดีย ได้ทำให้วลีฮิตที่ว่า “ยกระดับซีรีส์วาย” ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง เพราะด้วยเนื้อหาที่เจาะลึกไปถึงข้อมูลทางการแพทย์แบบเก็บครบทุกรายละเอียด จนคนได้ทั้งอรรถรสและความรู้ ประกอบกับเนื้อหาไม่ได้ยัดเยียดฉากเลิฟซีนที่มากจนเกินไปนัก หลายคนเลยออกมาชื่นชมในฐานะที่เรื่องนี้ได้ช่วยยกระดับวงการซีรีส์วายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าการพูดถึงของแฟนคลับซีรีส์วายจะไปในทิศทางบวก แต่เมื่อเทียบกระแสจากการเทรนด์ทวิตเตอร์หรือการพูดถึงในสื่อต่างๆ แล้ว กลับพบว่ายังจะไม่ได้บูมเท่าซีรีส์วายเรื่องอื่น เช่น ‘นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ’ (Cutie Pie Series) ‘กลรักรุ่นพี่’ (LOVE MECHANICS) ‘คินน์พอร์ช เดอะ ซีรีส์’ (KinnPorsche The Series) ที่ตัวบทอาจไม่ได้เน้นหนักเรื่องอาชีพหรือการให้ความรู้มากเท่าไหร่ แต่ติดเทรนด์ทั้งในไทยและอันดับโลกอยู่หลายครั้ง ทำให้น่าสงสัยว่าจริงๆ แล้ว การยกระดับที่หลายคนพูดถึงนั้นคืออะไรกันแน่ และคนดูต้องการให้ซีรีส์วายเป็นอย่างไรต่อไป EQ ไม่รอช้าที่จะหาคำตอบมาให้
วลี “ยกระดับซีรีส์วาย” ที่นิยมใช้กันบ่อยนั้น คงไม่อาจระบุได้ว่าใครใช้เป็นคนแรก แต่ผู้เขียนพบว่าเริ่มเห็นในทวิตเตอร์ในช่วงปี ค.ศ. 2018 จากแฟนคลับของซีรีส์ ‘พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง’ (SOTUS The Series) ที่กล่าวว่า ซีรีส์เรื่องนี้ร้อยเรียงเรื่องราวความรักได้อย่างละเมียดละไม ไม่เน้นความฉาว หรือการตบตีไร้สาระเหมือนเรื่องอื่น เป็นการยกระดับซีรีส์วายให้ดีขึ้น หลังจากนั้นก็พบเห็นการใช้อย่างแพร่หลายต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยสาเหตุหนึ่งมาจากการที่คนในสังคมให้ความสำคัญกับ LGBTQ+ กันมากขึ้น จึงอยากให้ซีรีส์ที่ถ่ายทอดชีวิตรักของกลุ่มเพศหลากหลายมีการพัฒนาไปในทางที่ดี และส่งเสริมภาพลักษณ์ของคนในคอมมูนิตี้ด้วย ดังนั้น เมื่อมีซีรีส์วายเรื่องใหม่ที่มีเนื้อหาหลุดออกจากกรอบของการขายเลิฟซีนแบบดุเดือด แล้วมาเน้นการสร้างอิมแพ็คเชิงบวกต่อสังคม ก็มักจะได้รับคำชมว่าช่วยยกระดับซีรีส์วาย
คินน์พอร์ช เดอะ ซีรีส์, นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ | Photo credit: Sanook, Workpoint Today
อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนดูความเห็นจากหลายคนอยู่เรื่อยๆ ก็พบว่าการยกระดับซีรีส์วายไม่ได้จำกัดความหมายอยู่แค่กับเรื่องที่ต้องซีเรียสหรือจริงจังเสมอไป เพราะกับบางเรื่องที่บางคนมองว่าฉากเน้นขายฉากเลิฟซีนมากเกินไป เช่น ‘คินน์พอร์ช เดอะ ซีรีส์’ หรือ ‘นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ’ ล้วนมีผู้ชมชื่นชมว่าช่วยยกระดับซีรีส์ด้วยเช่นกัน ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
จากการค้นคว้าและพูดคุยกับคนจำนวนหนึ่ง จึงได้ข้อสรุปว่า “ทุกคนไม่ได้มองการยกระดับซีรีส์วายไปในทิศทางเดียวกัน” เช่น คนที่กล่าวว่า ‘ทริอาช’ ‘พฤติการณ์ที่ตาย’ ‘คุณหมีปาฏิหาริย์’ ‘เขา...ไม่ใช่ผม’ (Not me) ช่วยยกระดับซีรีส์วาย ก็เพราะเป็นซีรีส์ที่สอดแทรกเรื่องราวที่น่าสนใจ นอกเหนือจากขายฉากรักใคร่ ทั้งเรื่องอาชีพของตัวละครที่สมจริง การสนับสนุน LGBTQ+ และการเสียดสีสังคม ขณะที่คนที่บอกว่า ‘นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ’ ‘คินน์พอร์ช เดอะ ซีรีส์’ และ ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ ช่วยยกระดับซีรีส์วาย นั่นหมายถึงเรื่องของโปรดักชั่น แสง สี เสียง ที่ให้อารมณ์เหมือนดูซีรีส์จากต่างประเทศ รวมถึงการแสดงของนักแสดงที่เป็นธรรมชาติ ดูมืออาชีพมากกว่าซีรีส์หลายเรื่องในอดีต
ดังนั้น “การยกระดับซีรีส์วาย” จึงอาจแปลความหมายโดยรวมได้ว่า “การทำซีรีส์วายให้หลุดออกจากขนบธรรมเนียมเดิมๆ” อาทิ บทบาทที่ไม่ขายเลิฟซีนจนเกินไป การช่วยผลักดันบทบาทของ LGBTQIA+ และสังคมในแง่มุมต่างๆ โปรดักชั่นคุณภาพที่แสดงออกถึงการลงทุนและความตั้งใจของทีมงาน รวมถึงฝีมือการแสดงของนักแสดงนำที่เป็นธรรมชาติ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้คนภายนอกเปิดใจดูซีรีส์วายกันมากขึ้น และมองการมีอยู่ของคู่รัก LGBTQ+ เป็นเรื่องปกติของสังคม
ซึ่งการมองต่างมุมกันนี้ มาจากคนดูที่แบ่งย่อยออกเป็นหลายกลุ่ม อาทิ
- คนที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งมองว่าซีรีส์วายในฐานะที่มีตัวละครเป็น LGBTQ+ ควรจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยขับเคลื่อนสังคม หากเรื่องไหนขายฉากเลิฟซีนหนักมาก เรื่องนั้นก็จะถูกลดคุณค่าด้วยการวิพากษ์วิจารณ์และการไม่เปิดดู
- คนที่เบื่อเนื้อหาซีรีส์รักวัยเรียน และต้องการประสบการณ์ที่แปลกใหม่ จะเป็นบทบาทใหม่ โปรดักชั่นใหม่ หรืออะไรใหม่ ก็ยินดีจะเปิดใจดู
- ชาวต่างชาติที่ต้องการเสพสื่อบันเทิงเบาสมอง ดีต่อใจ ฟินๆ เขินๆ แต่คุณภาพดี ซึ่งอาจหาได้ยากในประเทศของตัวเอง
- คนที่ว่ามองว่าซีรีส์วายเป็นเพียงคอนเทนต์บันเทิงรูปแบบหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนสังคมก็ได้ เพราะวาย (Yaoi) ไม่เท่ากับ LGBTQ+ ทำให้ยังคงมีคนดูซีรีส์ที่มีเลิฟซีนหนักหน่วง และหากมีการทำด้านใดด้านหนึ่งให้ดีขึ้นกว่าหลายเรื่องในอดีตแม้เพียงเล็กน้อย เช่น โปรดักชั่น หรือ ฝีมือนักแสดง ก็จะยิ่งเป็นชนวนที่ทำให้กระแสโด่งดังมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะพฤติกรรมการเสพสื่อของคนไทย อย่างไรก็ยังคงให้ความสนใจต่อความบันเทิงมากเป็นอันดับ 1
- คนที่รณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศตามกระแส โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้จริงๆ จึงพร้อมดูพร้อมเชียร์ซีรีส์ทุกเรื่องที่มีบทบาทหรือนักแสดงถูกใจ
โดยความน่าสนใจอยู่ที่ในกลุ่มคนดูนั้นมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเพศหลากหลาย เป็นหนึ่งในประชากรของทุกกลุ่ม นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมซีรีส์บางเรื่องที่หลายคนมองว่าดี กระแสจึงไม่ปังเท่าเรื่องที่ตนมองว่าไม่ดี หรือไม่เคยไต่อันดับสูงๆ ในเทรนด์โลกมาก่อน
พฤติการณ์ที่ตาย Photo credit: Kapook
และแม้ว่าการยกระดับซีรีส์วายจะมีหลายความหมาย หลายมุมมอง แต่ถ้าถามว่าจริงๆ แล้วแฟนคลับซีรีส์วายไทยส่วนใหญ่ชอบแบบไหนมากกว่ากันแน่ เมื่อจัดแบ่งคนออกเป็น 5 ประเภทตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็ดูเหมือนว่าสัดส่วนของผู้ที่ชมซีรีส์วายเพื่อความบันเทิงและเน้นไปทางมาตรฐานด้านโปรดักชั่นจะมีมากกว่า
แต่ท้ายที่สุดนี้ ในอนาคตก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่แน่ว่าเมื่อสังคมดี การเมืองดี ชีวิตความเป็นอยู่ของหลายคนดีขึ้น จนไม่ต้องหันมาพึ่งพาการดูซีรีส์ซึ่งเป็นความบันเทิงเพียงอย่างเดียว หรือไม่ต้องออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมให้ใครอีก คนดูซีรีส์วายทั้งหมดอาจมองการยกระดับไปในทิศทางเดียวกัน และซีรีส์วายที่ดีอาจเป็นเรื่องเดียวกับที่ดังก็เป็นได้