Culture

‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของ ’ซีรีส์วาย’ และเม็ดเงินที่ไหลวนอยู่ในวัฒนธรรมเอเชีย

Photo credit: ข่าวสด

ในช่วง 10 ปีผ่านมานี้ หากพูดวัฒนธรรมย่อยที่โลดแล่นขึ้นมากลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักได้คงไม่พ้น ‘Yaoi Culture’ โดยเฉพาะการสร้างและขยายวัฒนธรรมนี้ภายในประเทศไทย และได้แพร่สะพัดไปทั่วทั้งเอเชีย ที่สำคัญคือวัฒนธรรมวายได้สร้าง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (soft power ซึ่งก็คืออำนาจในการเปลี่ยนแปลงความคิดและการกระทำของผู้คนในสังคมให้ไปในทางใดทางหนึ่ง โดยที่การปรับเปลี่ยนนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และซอฟต์พาวเวอร์จากวัฒนธรรมวายก็ผลิดอกออกผลมามากมาย หนึ่งในนั้นคือ ‘ซีรีส์วาย’ ของไทยที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับภาพลักษณ์และมูลค่าทางเศรษกิจของประเทศไทย

แต่กว่าที่ Subculture จะขยับขึ้นมาเป็น Main Stream ได้อย่างในทุกวันนี้ มาดูกันว่าซีรีส์วายเริ่มโด่งดังจนกลายเป็นของส่งออกขึ้นชื่อของไทยได้อย่างไร และซอฟต์พาวเวอร์จากสื่อประเภทนี้มีผลกระทบอะไรบ้างทางเศรษฐกิจและสังคม ไปหาคำตอบกับพวกเราได้เลย 

ต้นกำเนิดของซีรีส์วายไทย และจุดเริ่มต้นของความดัง

เป็นที่รู้กันว่า ‘วัฒนธรรมวาย’ (Y Culture) นั้นก่อขึ้นมาจากสื่อประเภท ‘วาย’ ซึ่งหลายคนมักจะเข้าใจว่ามันหมายถึงสื่อที่แสดงถึงความรักระหว่างเพศชายด้วยกันเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้ว ‘วาย’ ย่อมาจากคำภาษาญี่ปุ่น ‘ยาโอย’ (やおい/Yaoi) ที่หมายถึงชายรักชาย และ ‘ยูริ’ (百合/Yuri) หรือก็คือหญิงรักหญิงนั่นเอง โดยที่วาย (ยาโอย) จะเน้นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครชายทั้งสองในเชิงโรแมนติก สื่อประเภทนี้ตกอยู่ภายใต้ร่มของคำว่า BL (Boy’s Love) บ่อยครั้งที่ตัวละครชายจะไม่เคยชอบผู้ชายมาก่อน หรือสื่อสารทำนองว่า “ผมสามารถชอบคุณ (ที่เป็นผู้ชาย) ได้แค่คนเดียว” ทำให้เรื่องราวเหล่านี้แลดูมีความโรแมนติกในแบบเฉพาะที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับ ทั้งที่แท้จริงแล้วตัวละครนั้นเองก็รู้สึกดึงดูดต่อคนเพศเดียวกัน เพียงแค่อาจจะยังไม่แน่ใจถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตน ถึงอย่างนั้นสื่อวายจำนวนมากก็มักจะนำเสนอความรักที่เต็มไปด้วยแพชชั่นเหนือจินตนาการ เป็นความโรแมนติกในรูปแบบดั้งเดิมที่ “ฉันจะรักใครสักคนไปจนตาย” แต่นำมาปรับให้เข้ากับพล็อตสมัยใหม่ อาจจะเรียกว่าเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ก็ยังได้

Photo credit: Yaoi Italia

ในระหว่างนี้ วัฒนธรรมซีรีส์วายก็ได้เติบโตและแตกหน่อ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันเรื่องสมมติจากการชิปของคนกลุ่มเล็กๆ การเขียนและเผยแพร่ฟิกชั่นทำมือที่ต้องใช้รหัสลับในการซื้อขาย ขยายกว้างเป็นคอมมูนิตี้ในเว็บบอร์ดต่างๆ อย่าง “เล้าเป็ด” และ “เด็กดี” นักเขียนเริ่มมีชื่อเสียง มีแฟนคลับคอยติดตามอ่านเรื่องราว และกลายเป็น subculture ที่แข็งแรง จนถึงการมาของ “Love Sick the Series” (2014) ที่สร้างมาจากนิยายเรื่อง “ชุลมุนหนุ่มกางเกงน้ำเงิน” ซีรีส์เรื่องนี้ได้มีการถ่ายทอดสดบนทีวีรวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ ด้วยเนื้อเรื่องซึ่งเข้าถึงง่ายและเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชม ทำให้ในช่วงทศวรรตที่ผ่านมา ซีรีส์วายไทยก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

Soft Power จากซีรีส์วาย มีอิทธิพลมากแค่ไหนในสังคม

หลังจากกระแสนิยมของ “Love Sick the Series” ซีรีส์วายก็เริ่มเป็นที่รู้จักในคนหมู่มาก และโด่งดังยิ่งขึ้นเมื่อ “SOTUS the Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง” (2016) ออกฉายและประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ถึงขั้นถูกทางสำนักพิมพ์มังงะ Asuka Comics CL-DX ซื้อลิขสิทธิ์ไปทำฉบับหนังสือการ์ตูน เพราะตัวซีรีส์นั้นเป็นที่พูดถึงอย่างมากในหมู่ฟุโจชิ (คำเรียกสาววายในภาษาญี่ปุ่น) แถมยังทำให้เครื่องดื่มอย่าง ‘นมชมพู’ ที่ปรากฎเป็นกิมมิกอยู่ในซีรีส์กลายเป็นกระแสที่แฟนๆ ในต่างแดนอยากลองชิม

Photo credit: Japanese Book Store

ซีรีส์วายเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น โดยเฉพาะกับแฟนคลับชาวต่างชาติ และขึ้นสู่จุดพีคของกระแสในช่วงต้นปี 2020 กับซีรีส์เรื่อง “2gether เพราะเราคู่กัน” หรือท “คั่นกู”​ เริ่มจากการที่มีคนญี่ปุ่นโพสต์ลงโซเชียลมีเดียว่า “2gether สนุกมากๆ” จึงมีคนตามเข้าไปดูและเกิดเป็นคลื่นลูกใหญ่ในวงการบันเทิง ซึ่งผลักดันให้ซีรีส์ได้ถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ และฉายบนโทรทัศน์ ตกแฟนๆ ชาวญี่ปุ่นได้อีกมาก ปัจจุบันนี้สถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ TV Asahi ก็ได้จับมือร่วมกับ GMMTV และได้จัดงานนิทรรศการ “GMMTV EXHIBITION in JAPAN 2021” เมื่อปีที่ผ่านมา (2021) ภายในงานมีการจัดแบ่งเป็นโซนของซีรีส์วายแต่ละเรื่อง เช่น ‘โซนไบร์ท-วิน (เพราะเราคู่กัน)’ และ ‘โซนอ๊อฟ-กัน (ทฤษฎีจีบเธอ)’ ประดับด้วยวิดีโอคัทจากซีรีส์ รูปภาพ ชุดที่นักแสดงจากซีรีส์เรื่องต่างๆ สวมเข้าฉาก ฯลฯ และแน่นอนว่าสินค้าลิขสิทธิ์ที่ทางค่ายนำไปขาย สร้างเม็ดเงินสะพัดได้อย่างไม่ยากเย็นนักเพราะแฟนคลับชาวญี่ปุ่นก็ขึ้นชื่อเรื่องการสนับสนุนศิลปินที่ตนชื่นชอบเป็นอย่างดี 

Photo credit: DACO Thai

นอกจากนี้แล้ว ด้วยความที่ซีรีส์วายกำลังเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะแถบเอเชีย แรงกระเพื่อมในกระแสบันเทิงนั้นก็ส่งผลให้มีคนเรียนภาษาไทยมากขึ้น มีโพสต์หนึ่งบนทวิตเตอร์ ซึ่งคาดว่าเจ้าของโพสต์น่าจะเป็นครูสอนภาษาไทยในญี่ปุ่น ได้บอกเอาไว้ว่าเมื่อก่อนมีคนสมัครเรียนภาษาไทยไม่ถึง 50 คนด้วยซ้ำ แต่ปีนี้ (2022) กลับสมัครกันเข้ามาประมาณ 270 คน แทบจะไม่ต้องเดาเลยว่าเป็นเพราะอิทธิพลของซีรีส์วาย ที่ทำให้คนญี่ปุ่นอยากเรียนภาษาไทยกันมากถึงขนาดนี้ และหากไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เงินเยนก็จะสะพัดเข้าประเทศไทยเป็นกอบเป็นกำอย่างไม่ต้องสงสัย คงจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากท่องเที่ยวตามรอยตัวละครในซีรีส์ อย่างเช่นจังหวัดภูเก็ตที่เป็นฉากหลังของซีรีส์วายชื่อดังเรื่อง “I Told Sunset About You แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ที่แม้แต่คนไทยเองเห็นแล้วก็ยังอยากไปเที่ยวตาม

Photo credit: marumura

ไม่ใช่แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นที่ซีรีส์วายไทยได้เข้าไปเจาะตลาดและตกแฟนคลับมามากมาย ชาวไต้หวัน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ละตินอเมริกา ฯลฯ เองก็พากันเสพและพูดถึงซีรีส์วายจากประเทศไทย ไม่ต่างจากที่คนไทยจำนวนมากดูซีรีส์เกาหลี ในวันที่ทาง GMMTV ได้จัดมีตติ้งผ่านทางไลฟ์สดให้แฟนๆ ได้พบ ‘ไบรท์’ และ ‘วิน’ จากเรื่อง “2gether เพราะเราคู่กัน” ตั้งแต่ตอนที่ไลฟ์เริ่มขึ้น แฮชแท็ก #GlobalLiveFMxBrightwin ก็พุ่งทะยานขึ้นสู่เทรนด์ทวิตเตอร์ทันที โดยรวมแล้วมียอดทวีตติดแฮชแท็กนี้ทั้งหมดมากกว่า 2 ล้านทวีต ซึ่งเต็มไปด้วยโพสต์หลากหลายภาษา และตัวไลฟ์ในแอปพลิเคชัน VLive เองก็ได้รับการกดไลก์มากกว่า 1,165 ล้านครั้ง นับเป็นศิลปินกลุ่มแรกที่มียอดไลก์เยอะถึงเพียงนี้หากไม่รวมไลฟ์ของศิลปินเกาหลี

ซีรีส์วายไทยและการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ

อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว เราก็คงสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าประเทศไทยได้ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งด้านการส่งออกซีรีส์วายไปสู่โลก ด้วยอุตสาหกรรมที่ยังผลิตสื่อประเภทนี้ออกมาอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมอย่างล้นหลามไม่มีตก ทั้งจากในและนอกประเทศ ซีรีส์วายจึงทำเงินให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาล ด้วยมูลค่าทางตลาดรวมไม่ต่ำกว่า 1,000 พันล้านบาท (ข้อมูลนี้อัปเดตล่าสุดเมื่อปี 2021) และจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) มีรายงานมาว่าการเจรจาผ่านธุรกิจออนไลน์เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2021 มีประเทศที่สนใจซื้อคอนเทนต์วายมากที่สุด และ 3 อันดับแรกนั้นก็คือประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งสามารถทำรายได้แตะ 360 ล้านบาทโดยประมาณ ต้องย้ำว่าซีรีส์วายไทยคือสื่อที่ผลิตกันเองในอุตสาหกรรม และไร้ซึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐ ถ้าหากว่าได้รับการโปรโมตอย่างจริงจังจะไปได้ไกลขนาดไหน?

Photo credit: Camel Clutch Blog

ทั้งสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้ไทยเป็นที่ยอมรับในต่างแดน และยังเรียกเม็ดเงินให้สะพัดเข้าประเทศ ถือว่าซีรีส์วายของบ้านเรานี้ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว กับการก้าวขึ้นสู่ยอดพีระมิดของซีรีส์จากทวีปเอเชียที่ได้รับความนิยมสูงสุด คงจะดีไม่น้อยถ้าซีรีส์วายของไทยจำนวนมากมีการสอดแทรกซอฟต์พาวเวอร์ที่ส่งผลกระทบด้านบวกในแง่ของกฎหมาย ส่งเสริมให้มีการสมรสเท่าเทียมระหว่างคนทุกเพศ ความรักอันสวยงามและเป็นอิสระที่เห็นบนหน้าจอจะได้กลายเป็นจริง

อ้างอิง

Yaoi Wiki

Dgtl8

MThai

DACO Thai

Marumura

RYT9