“Z1MPLEX NFT LAB” วิทยาศาสตร์ ความกล้า และ NFT ดื่มได้ชิ้นแรกในโลก

“อย่างหนึ่งที่อยากจะทำมากๆ คืออยากเป็นตัวของตัวเองให้โลกเห็น ต่อให้งานมันจะขายไม่ได้ แต่อย่างน้อยมันทำให้คนรู้จัก Z1MPLEX มากขึ้น”

นี่คือแนวคิดของ ทอม - พริษฐ์ อัธยาตมวิทยา เจ้าของร้าน Z1MPLEX MIXOLOGY LABORATORY คนแรกในโลกที่นำเส้น สี แสงในแก้วเหล้ามาแปลงร่างเป็น Z1MPLEX NFT LAB ภาพศิลปะสุดแปลกตาบนบล็อกเชนให้ผู้เสพงานศิลป์และนักสะสม (Collector) ได้ชมกัน

ถ้าใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวของแวดวง NFT ไทยในช่วง 1-2 ปีมานี้ จะเห็นเลยว่ามีศิลปินก้าวเข้าสู่วงการนี้กันแทบจะรายวัน ทำให้เหล่า Creator มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง “ความแตกต่าง” เลยกลายเป็นสิ่งที่ศิลปินหน้าใหม่ต้องกล้าทำ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้ตัวเองไม่โดนกลืนหายไปท่ามกลางงานนับล้านชิ้น ซึ่ง Z1MPLEX NFT LAB เป็นหนึ่งในความกล้าที่จะต่าง ที่ EQ อยากให้ทุกคนได้ลองทำความรู้จักกัน จะน่าสนใจขนาดนั้น มาหาคำตอบด้วยตัวเองได้ที่นี่เลย

ก้าวแรกของความกล้าที่จะต่าง

ศิลปิน NFT ส่วนใหญ่เป็นคนที่ทำงานด้านศิลปะกันอยู่แล้ว การที่คนไม่มีพื้นฐานด้านนี้แต่อยากเข้าไปแข่งขันด้วยอาจจะดูยากสักหน่อย แต่คุณทอมก็พิสูจน์แล้วว่ามันทำได้ถ้าใจอยากทำ เพราะจุดเริ่มต้นของ Z1MPLEX NFT LAB คือการที่ร้านของเขาโดนสั่งปิดในช่วงโควิด

“ตอนแรกกะว่าปิดร้านแล้วจะไปเล่นสเก็ตทุกวัน แต่แค่วันแรกก็ล้มไหล่หลุดแล้ว กลายเป็นต้องอยู่บ้านแบบหงอยๆ แทน ก็ทำให้ต้องมาคิดต่อว่าจะทำอะไรดี มีอะไรที่พอทำได้บ้าง เป็นโอกาสให้ได้รู้จัก NFT ซึ่งบอกก่อนว่าเป็นคนที่ไม่มีพื้นฐานงานอาร์ตเลย ทำเป็นแต่โปรแกรม ส่วนงานที่ทำด้วยมือได้มีแค่เครื่องดื่ม เลยอยากลองเอาจุดนี้มาทำเป็นงาน NFT ดู รุ่นพี่ที่เข้าวงการไปก่อนแล้วก็บอกว่าน่าจะสนใจ เพราะยังไม่มีใครทำมาก่อน มันเลยเป็นจุดเริ่มต้นให้ได้ศึกษาเรื่องนี้จริงจัง จากคนที่ไม่เคยเทรดคริปโทและไม่เคยคิดว่าทำได้ ก็ต้องมาเรียนภายใน 1 อาทิตย์ แล้วเริ่มเอางานที่ตัวเองเคยทำเล่นๆ เป็นรูปถ่ายเครื่องดื่มที่ลบแก้วออกไปแล้ว เหลือแต่มวลสารข้างในไปลงขาย เซ็ตแรกขายไปได้ 3 ชิ้นแล้ว”

คิดแบบ Z1MPLEX 

ตอนทำเครื่องดื่ม เราอยากทำสิ่งที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน เอาวิทยาศาสตร์มาสร้างศิลปะที่ดื่มได้ในคอนเซ็ปท์ วิทยาศาสตร์ อวกาศ และโลกใต้บาดาล โดยใช้เหล้าที่มีความใส เช่น วอดก้า จิน เตกีล่า เป็นเบส ใช้เหล้าครีมลิเคียวและเหล้าลิเคียวมาสร้างเป็นสีสันต่างๆ แล้วควบคุมทิศทางของมันด้วยหลักของความหนาแน่น พอตอนเสิร์ฟก็เอาไฟส่องเข้าไปใต้แก้วให้เห็น Texture ที่ลอยอยู่ในนั้น 

เราจะชอบถ่ายรูปงานเก็บไว้ ตั้งค่า exposure ให้มันมืดหน่อย เวลาถ่ายก็จะเหมือนแก้วหายไปเลย เส้นต่างๆ ก็ชัดขึ้น ก็เลยลองลบแก้วออกให้เหลือแต่เส้น พบว่านี่มันคืองานอาร์ตเลยแหละ สองปีแล้วเลยทำแบบนี้กับทุกเมนู แล้วเอามาเพิ่มลูกเล่นทำเป็น Mirror Image ให้สมมาตรกัน แต่พอกลายเป็น NFT คนก็อาจจะไม่รู้ถึงความวิทยาศาสตร์ อวกาศ หรือโลกใต้บาดาลแล้ว แต่เราเห็นว่ามันมีมิติของมันอยู่ ทั้งเส้น เงา และแสงตกกระทบ เลยเอารูปมา Flip ให้เป็นคอนเซ็ปท์ ของ Fluid 3D และ Kaleidoscope

โลกที่ต้องสู้

จริงๆ ตอนสร้างผลงานในร้านก็เหมือนมีอีโก้ประมาณหนึ่งเลยนะ เพราะเราทำมาจนมั่นใจว่าไม่มีใครเกินแล้ว แต่พอได้มาอยู่บนโลก NFT เราต้องเปลี่ยนเป็นอีกคนเลย จากปกติที่ชอบให้งานมันพูดเองว่ามันเจ๋งโดยที่เราไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมาก ก็ต้องเปลี่ยนมาขยันขายงานมากขึ้น ทวิตเตอร์ไหนเขาเปิดพื้นที่ให้ฝากงาน (Shill) ก็ต้องตามไปฝาก เพราะวงการนี้ต่อให้เก๋าแค่ไหน ถ้าไม่ป่าวประกาศก็ไม่มีใครเห็น”

มือใหม่กับการก้าวกระโดด

ตอนลงงานภาพนิ่งเซตแรกไปแค่ 6 ชั่วโมง ก็มีคนมาประมูล (Bid) แล้ว และถึงขนาดที่เว็บไซต์ Foundation เอารูปไปขึ้นหน้าแรกด้วย ทีนี้พอขายงานไปได้ 3 ชิ้น มันเกิดความกังวลว่าเซ็ตถัดไปเนี่ยมันต้องไปเลเวลไหนถึงจะดี ความที่คิดเยอะไปหน่อย เลยทำให้เซ็ต 2 พัฒนาแบบก้าวกระโดด เคยเห็นมีมเด็กข้ามบันไดทีละหลายขั้นๆ ไหม นั่นแหละ เราเป็นแบบนั้นเลย ก้าวทีไปถึงบนสุด งานออกมาสุดมาก เป็นภาพเคลื่อนไหวนานนาทีกว่า ที่เป็นเรื่องราวของการทำเครื่องดื่ม เห็นมวลสารค่อยๆ ไหลไปตามความหนาแน่น แล้วมีเพลงที่เราทำเองใส่เข้าไปประกอบ ตอนทำมั่นใจมากนะ กล้าที่จะก้าวกระโดด สรุปขาแหก (หัวเราะ) งานอยู่บนนั้นมาสักพักแล้ว

“คนอื่นบอกว่างานเรามันแปลก ไม่ใช่ทุกคนจะชอบ หรือถึงแม้ทุกคนจะชอบ ก็ใช่ว่าทุกคนจะอยากได้ ต้องรอเนื้อคู่จริงๆ แต่เราใจร้อนอะ พอต้องรอก็มีแอบท้อบ้าง”

ปรับความคิดแล้วเดินต่อ

สองอาทิตย์แรกที่ลงงานแล้วขายไม่ได้ เราอยู่ในสภาพหลายอารมณ์มาก เพราะเทรนด์ของตลาดมันเปลี่ยนเร็ว แล้วไม่รู้ว่าเมื่อไหร่งานเราจะเป็นที่ต้องการ เพราะมันไม่ได้อยู่ในเทรนตั้งแต่แรก ระหว่างนี้ก็อยากรู้มากว่าทำไมงาน Generative Art ถึงขายได้ในราคาแพง เลยลองทำบ้าง ถึงได้เข้าใจว่าถ้าจะออกมาเป็นภาพสวยราคาสูง จะต้องอยู่กับมันทั้งวัน ส่วนงานเราเนี่ยจุดเริ่มต้นของมันคือเครื่องดื่ม ไม่เหมือนคนอื่น จากเครื่องดื่ม 1 แก้วกลายมาเป็นงานขนาดนี้ได้ สำหรับเรามันโคตรว้าวแล้วนะ สุดท้ายเลยคิดว่าต่อให้งานเรามันจะขายไม่ได้ แต่ว่าแรงโปรโมตของงานมันจะทำให้คนรู้จัก Z1MPLEX มากขึ้น และเวลาที่เราทำงาน มันมักจะได้ความสามารถใหม่กลับมาเสมอ ไม่ว่ายังไงก็ไม่มีด้านลบสำหรับการข้ามมาทำอะไรแบบนี้

ความกล้ากับการจุดประกาย

เมื่อก่อนเวลาคนมาถามว่าก้าวต่อไปของร้านเราคืออะไร ก็ตอบได้แค่ว่าต้องไปเปิดเมืองนอกมั้ง หรือว่าอยู่กับมันไปจนแก่ ซึ่งมันเป็นคำตอบที่จริงๆ ตัวเองไม่ได้รู้สึกแบบนั้น แต่พอขายงาน NFT รอบแรกผ่าน ก็รู้สึกเหมือนจุดประกายเลยว่านี่คืออนาคตของเรา ถ้าวันหนึ่งทำร้านไม่ไหว Z1MPLEX ก็จะไม่มีวันตาย มันจะยังคงอยู่ต่อไปได้

“มันทำให้รู้สึกมีความหวัง ในขณะที่ประเทศเรามองว่าร้านเหล้าผิดศีลธรรม ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจาย เราเลยพยายามบอกเพื่อนทุกคนว่าถ้าใครพอจะมีความสามารถก็ให้ข้ามไป NFT จะขายได้หรือขายไม่ได้ ก็อยากให้ลองก่อน ต้นทุนมันไม่ได้สูงขนาดนั้น”

NFT ไทยในสายตาศิลปินใหม่

ตอนนี้ศิลปินไทยในตลาด NFT มีเยอะมากเพราะมันกำลังบูม จนบางคนอาจคิดว่าไม่ต้องอาศัยความสามารถอะไรเลย ขึ้นอยู่กับดวงว่ามันจะขายได้หรือเปล่า ซึ่งไม่อยากให้คิดแบบนั้น ผลงานไม่ควรเอาไปฝากไว้กับดวง เราอยากให้คนที่เข้ามาในตลาดนี้ ลองทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่ทำให้พอขายผ่าน ถ้าใส่ฝีมือลงไปสุดแล้ว ถึงจะขายไม่ได้ในทันที แต่ผลลัพธ์ที่ตามมามันจะเป็นอีกแบบหนึ่งเลย 

ความกล้าถัดไปของ Z1MPLEX

ตอนนี้ที่ทำอยู่เป็น Side Project ลองเอา Generative Art ที่เพิ่งเรียนรู้มาผสมกับงานเดิม เพื่อเตรียมลงในแพลตฟอร์มใหม่ชื่อ EVO-DAO ใช้เหรียญ Solana ซึ่งเขาเชิญเราไปเป็น 1 ใน 6 Founder Artists แต่ถ้าระหว่างนี้ค้นพบว่าตัวเองมีความสามารถด้านอื่นอีก ก็อาจขยับขยายไปทางนั้น ก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ จะไม่ยึดติดกับความสำเร็จ และมัวแต่ภูมิใจกับมันจนไม่ขยับไปข้างหน้า 

“เมื่อก่อนจะชอบโม้กับลูกค้าว่าเครื่องดื่มของเรามันจะไม่อยู่ในแก้วแล้ว ตอนนั้นนึกถึงภาพของเหลวลอยอยู่ในอากาศแบบไม่ต้องมีแก้ว ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งเราจะทำได้จริงในแบบของเรา”

และนี่คือความกล้าที่จะต่างในแบบ Z1MPLEX NFT LAB เราหวังว่ามันจะทำให้ทุกคนเกิดแรงบันดาลใจในการจะทำอะไรสักอย่าง ที่ไม่ใช่แค่เรื่อง NFT แต่หมายถึงทุกเรื่องที่จะเกิดกับชีวิตคุณหลังจากนี้

ติดตามและชมผลงานศิลปะสุดล้ำได้ที่ Z1MPLEX NFT LAB

Foundation: @z1mplexnftlab