Daily Pickup

คลีโอพัตราผิวดำจริงหรือเปล่า? ปัญหา Blackwashing ในสารคดีที่ไม่ตรงตามประวัติศาสตร์

"การนำเสนอคลีโอพัตราเป็นราชินีคนดำนั้นเป็นเรื่องเท็จอย่างสมบูรณ์ เพราะคลีโอพัตราเป็นคนเชื้อสายกรีก เธอมีผิวสว่าง (light-skinned) ไม่ใช่ผิวสีดำ" คือคำพูดจาก 'Zahi Hawass' นักอียิปต์วิทยาที่อธิบายถึงการนำเสนอคลีโอพัตราผิวดำในสารคดี Netflix ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไกลจากประวัติศาสตร์จริง และกำลังลบเลือนอัตลักษณ์ทางตัวตนบุคคลทางประวัติศาสตร์ การนำเสนอเช่นนี้ทำให้ชาวอียิปต์โกรธเป็นอย่างมาก จนในขณะนี้ทางฝั่งทนายความอียิปต์ก็กำลังทำเรื่องเพื่อต่อสู้ทางกฎหมายเกี่ยวข้องกับการนำเสนอที่เป็นปัญหานี้อยู่ 

บทความนี้เราอยากจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่อง ‘การฟอกดำ’ (Blackwashing) ในสื่อ, ผลกระทบของการสร้างสารคดีที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง และการลบเลือนอัตลักษณ์สีผิว เชื้อชาติที่นำไปสู่การสร้างปัญหาเหยียดสีผิวที่รุนแรงในอียิปต์ รวมทั้งความสำคัญของการออกมาส่งเสียงต่อต้านการนำเสนอเช่นนี้

Zahi Hawass นักอียิปต์วิทยา
Photo Credit: Al Majalla

คลีโอพัตราไม่ได้มีผิวดำ

เชื้อชาติ และรูปลักษณ์ของคลีโอพัตราเป็นประเด็นถกเถียงดังทั่วโลก โดยที่ทางฝั่งนักวิชาการส่วนใหญ่เล่าว่า จากหลักฐาน ภาพศิลปะ รูปปั้นที่ได้ค้นพบในยุคปัจจุบัน พวกเขาเห็นพ้องต้องกันว่า คลีโอพัตราราชินีแห่งอียิปต์มีผิวไปทางสว่าง เนื่องจากมีเชื้อสายที่ฝั่งกรีกมากกว่าทางฝั่งอียิปต์ ซึ่ง Zahi Hawass ได้เล่าเพิ่มเติมอีกว่า อารยธรรมของอียิปต์นั้นไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับอารยธรรมของคนดำเลย นอกจากอาณาจักรคุชในช่วงสิ้นสุดของอารยธรรมอียิปต์โบราณ

Tina Gharavi ผู้กำกับสารคดี ‘Queen Cleopatra’ / Elizabeth Taylor ในบท Cleopatra
Photo Credit: NIAC Action / Collider

ความต้องการสื่อสารประเด็นทางการเมือง และต่อต้าน ‘Whitewashing’

ประเด็นถัดมาที่ ‘Tina Gharavi’ ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงอย่างเช่น การลงชื่อในโลกออนไลน์เพื่อให้ยกเลิกสารคดีนี้ นั้นก็มาจากบทสัมภาษณ์ที่ผู้กำกับคนนี้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ทำไมไม่มีคลีโอพัตราเป็นคนผิวดำบ้าง และความต้องการของเธอที่อยากจะนำเสนออัตลักษณ์ของคลีโอพัตราแบบนี้ เป็นเพราะว่าเธอตั้งใจจะนำเสนอเรื่องราวนี้เพื่อเหตุผลทางการเมือง ให้ผู้คนสร้างบทสนทนาใหม่เกี่ยวกับสีผิว เชื้อชาติ และต่อต้าน ‘การฟอกขาว’ (Whitewashing) ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานใน Hollywood อย่างอดีตภาพยนตร์คลีโอพัตรา ที่รับบทโดยนักแสดงผิวขาวชาวอังกฤษอย่าง ‘Elizabeth Taylor’ 

ชะนวนเหตุแห่งปัญหาการเหยียดสีผิวที่ทวีความรุนแรงขึ้น

“ฉันเคยขอให้ชาวอียิปต์มองตัวเองเป็นคนแอฟริกัน หลังจากนั้นพวกเขาก็โกรธฉันมาก แต่ฉันรู้สึกโอเคกับเรื่องนี้นะ”

คือข้อความตอนหนึ่งจากผู้กำกับที่ให้สัมภาษณ์ไว้กับ Variety จนหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เธอรู้ว่าสิ่งที่เธอทำจะเป็นชะนวนให้ชาวอียิปต์โกรธ แต่เธอก็เลือกจะทำมันอยู่ดี เจตนานี้กำลังบ่งบอกว่า เธออยากจะนำเสนอสารคดีที่เป็นเหมือน ‘แฟนฟิคชั่น’ มากกว่าการนำเสนอตาม ‘ความถูกต้องตามประวัติศาสตร์’ ผู้เชี่ยวชาญ และสื่อหลายสำนักต่างออกมาเตือนผู้กำกับด้วยเจตนาที่ดีว่า ต้องการให้นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเพียงเท่านั้น เพราะการนำเสนอข้อมูลเท็จนี้ทำให้ชาวอียิปต์หลายคนโกรธเป็นอย่างมาก และออกมาส่งเสียงถึงปัญหา ‘การฟอกดำ’ (Blackwashing) ที่อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาการเหยียดผิวที่รุนแรงขึ้นในอียิปต์ และมันยังเป็นการลบประวัติศาสตร์ชาวอียิปต์อีกด้วย

Photo Credit: Qantara.de

แม้ว่าในปัจจุบันประเทศอียิปต์จะเปิดรับผู้อพยพจากแอฟริกาใต้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เข้ามาอยู่อาศัย และเป็นทางผ่านเพื่อช่วยให้ผู้อพยพเดินทางต่อไปที่ยุโรปได้ แต่ทว่าภายในอียิปต์เองก็มีปัญหาการเหยียดสีผิวที่รุนแรงอยู่ อย่างกรณีการปาหิน, ปาขยะ, การด่าทอด้วยคำเหยียดเชื้อชาติ, การรุมทำร้ายเด็ก และคนผิวดำอย่างรุนแรง การเหยียดสีผิวนี้เป็นผลมาจากการเชิดชูความผิวขาว และการได้รับอิทธิพลมาจากช่วงเวลาที่อียิปต์ตกเป็นอาณานิคมของอาหรับ อำนาจของจักรวรรดิตุรกี และยุโรป

ในปี 2020 วิดีโอไวรัลดังได้นำเสนอภาพวัยรุ่นอียิปต์กำลังทำร้าย พยายามขโมยกระเป๋าเป้ ล้อเลียนรูปร่างหน้าตาของ ‘John Manuth‘ เด็กผิวดำชาวซูดานใต้ ในวันถัดมาวัยรุ่นเหล่านั้นถูกตำรวจจับกุม ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งวันก่อนที่ครอบครัวของพวกเขาจะทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อไม่ทำการฟ้องร้องคดี เหตุการณ์นี้ทำให้ประธานาธิบดี ‘Abdel-Fattah el-Sissi’ ออกมากล่าวถึงปัญหาว่า การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แต่ก็ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมเพื่อยุติปัญหาการเหยียดสีผิว และเชื้อชาติ

Photo Credit: The New York Post

การส่งเสียงต่อต้านคือการกดดันให้สื่อมีความรับผิดชอบมากขึ้น

การนำเสนอคลีโอพัตราให้ออกมาเป็นราชินีผิวดำในสารคดีนี้คือ การนำเสนอที่ลบเลือนอัตลักษณ์ เชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของประเทศอียิปต์ เพราะการทำให้คลีโอพัตรากลายเป็นราชินีผิวดำ เป็นเหมือนการเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ด้วยการเปลี่ยนชาวอียิปต์ให้กลายเป็นคนผิวดำ แทนที่จะเล่าจากมุมของความเป็นจริง แม้ทุกวันนี้จะมีเสียงเรียกร้องให้การแคสติ้งในงานสร้างสรรค์ไม่จำกัดคนด้วยสีผิว หรือเชื้อชาติ ถ้าพวกเขามีความสามารถในการแสดง และเหมาะสมกับบทบาท ทว่าในกรณีของการฟอกดำคลีโอพัตรานี้ เกิดเป็นปัญหาก็เพราะ นี่คือผลงานจากสื่อที่นำเสนอตนเองว่าเป็น ‘สารคดี’ แต่กลับนำเสนอบิดเบือนความเป็นจริง

ท้ายที่สุดแล้วปัญหานี้ไม่สามารถจบได้ด้วยเพียงแค่บอกว่า ‘ใครไม่สนใจก็ไม่ต้องไปดู’ เพราะการออกมาส่งเสียงต่อต้านก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะยุติการผลิตสื่อ และกดดันให้เหล่าผู้ผลิตใส่ใจกับรายละเอียดในงานสร้างสรรค์มากขึ้น เพื่อที่ในอนาคตผู้ชมจะได้มีอำนาจในการต่อรองให้ผู้ทำสื่อรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูลให้ถูกต้องมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้

อ้างอิง

Ap News
Variety
Arabnews
NME
Egpyt Independent